ที่มา ประชาไท
ซะ การีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์ปี 2553 พูดเรื่องวรรณกรรมในงานเรื่อง “วรรณกรรมใต้-มลายู-ไทย : สถานะและบทบาทนักเขียนท้องถิ่นภาคใต้บนเส้นทางพัฒนาการของวรรณกรรมหลัง 14 ตุลาคม 2516”
ซะการีย์ยา อมตยา
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 29 – 30 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมวิทยาลัยอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี กองทุนวรรณกรรมไทย-มลายู- โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา, สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ. วิทยาเขตปัตตานี, สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, ภาควิชาภาษาไทย ม.อ.ปัตตานี, วารสารรูสสะมีแล, ซีพีออลล์, และไทยแอร์ เอเชียจัดสัมมนาระดับชาติ เรื่อง “วรรณกรรมใต้-มลายู-ไทย : สถานะและบทบาทนักเขียนท้องถิ่นภาคใต้บนเส้นทางพัฒนาการของวรรณกรรมหลัง 14 ตุลาคม 2516”
นายซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์ปี 2553 กล่าวในการสัมมนาว่า เป็นไปได้ยากมาที่จะให้คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เขียนกวีเป็นภาษามลายู เพราะคนในพื้นที่อ่านหนังสือน้อย ยิ่งเป็นบทกวีก็ยังอ่านขึ้นลงไปอีก เพราะภาษากวีเป็นภาษาที่เข้าใจยาก แม้แต่ในระดับชาติคนก็ยังอ่านบทกวีน้อยด้วย
นายซะการีย์ยา กล่าวต่อไปว่า จึงเป็นเรื่องยากที่ตนจะเขียนบทกวีหรืองานวรรณกรรมด้วยภาษามลายูออกมา เพราะเขียนแล้วก็ไม่มีคนอ่าน จึงไม่รู้จะเขียนไปทำอะไร เขียนไปก็เปล่าประโยชน์
นายซะการีย์ยา กล่าวอีกว่า โดยปกติคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ค่อยอ่านหนังสืออยู่แล้ว ยิ่งเป็นวรรณกรรมภาษามลายูก็ยิ่งไม่อ่าน เพราะการเขียนวรรณกรรมเป็นการใช้ภาษาที่ยากกว่าภาษาโดยทั่วไป
นายซะ การีย์ยา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้น ปัจจุบันนี้ คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้ภาษาภาษามลายูผสมกับภาษาอื่นๆ จึงทำให้การใช้ภาษามลายูเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แม้เยาวชนรุนใหม่จะพูดภาษามลายูได้ แต่อ่านและเขียนไม่ได้แล้ว
นายซะ การีย์ยา กล่าวว่า ดังนั้น จึงควรวางรากฐานการศึกษาภาษามลายูและคำภีร์อัลกุรอ่าน ของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นการเรียนคัมภีร์อัลกุรอ่าน ตั้งแต่ระดับโรงเรียนตาดีกา(โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามระดับพื้นฐาน) ให้เข้าใจคัมภีร์อัลกุรอ่านและภาษามลายูอย่างลึกซึ้ง เพื่อปูทางสำหรับการเป็นนักกวีภาษามลายูในอนาคต
นายมนตรี ศรียงค์ กวีซีไรต์ปี 2550 กล่าวว่า ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีนักเขียนวรรณกรรมอยู่น้อยมาก จึงไม่ค่อยมีวรรณกรรมหรือบทกวีที่สะท้อนปัญหาต่างๆของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นำเสนอออกมาต่อสาธารณชน ทำให้คนนอกพื้นที่ไม่รู้ปัญหาที่แท้จริงของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านบทกวีหรืองานวรรณกรรม ทั้งที่คนในพื้นที่สามารถสะท้อนปัญหาออกมาได้ดีกว่านักเขียนวรรณกรรมจากนอก พื้นที่ เพราะคนในพื้นที่จะรู้บริบทหรือวัฒนธรรมในพื้นที่ได้กว่านอกพื้นที่
“ใน การประกวดรางวัลพานแว่นฟ้า ซึ่งเป็นการประกวดงานวรรณกรรมเกี่ยวกับการเมือง นักเขียนที่ส่งผลงานเข้าประกวดส่วนใหญ่ มักจะเขียนงานที่เกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งเรื่องสั้น บทกวีและนวนิยาย แต่นักเขียนเหล่านั้นไม่รู้ปัญหาชายแดนใต้อย่างลึกซึ้ง เพียงแต่นำข้อมูลจากข่าวมาเป็นฐานในการเขียนงาน ทำให้งานเขียนที่ออกมาไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร แทนที่ผลงานที่ออกมาจะช่วยสร้างสรรค์ภาพลักษณ์ที่ดีต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้มากขึ้น
นาย มนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีนักเขียนวรรณกรรมเพียง 5 คน เช่น นันท์ บางนรา นายซะการีย์ยา อมตยา เป็นต้น
ในการจัดสัมมนาครั้งนี้ มีนักเขียนวรรณกรรมเข้าร่วมหลายคน เช่น นายเจน สงสมพันธ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย นายหะมินิง สานอ นายซะการีย์ยา อมตยา นายอับดุลรอยะ ปาแนมานา นายพิเชฐ แสงทอง นายจรูญ หยูทอง นายสถาพร ศรีสัจจัง นายมนตรี ศรียงค์ ผศ.ธัญญา สังขพันธานนท์ ฯลฯ