ที่มา ประชาไท
“ตนพูดอยู่เสมอว่า อย่าสงสัยเรื่องความจงรักภักดี
ถ้าสงสัย แสดงว่าไม่ใช่คนไทย
เพราะฉะนั้น คนไทยต้องไม่มีความสงสัยเรื่องความจงรักภักดี
เพราะเราเกิดมากับ คำๆ นี้ และเราต้องตายไปกับคำนี้
ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.
(ประชาไท,26 ก.ค.54)
มนุษย์ เป็น “สัตว์ที่มีเหตุผล” (rational being) ธรรมชาติของความเป็นผู้มีเหตุผล คือความสงสัยใคร่รู้ และต้องการแสวงหาคำอธิบายที่สมเหตุสมผลว่า ทำไมเราจึงควรยอมรับว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งคือความจริง ความดี ความยุติธรรม ฯลฯ
ฉะนั้น หากพูดในเชิงตรรกะ (ไม่ใช่แค่เล่นสำนวน) การห้ามสงสัยเท่ากับห้ามเป็นมนุษย์ และที่ ผบ.ทบ.บอกว่า “คนไทยต้องไม่มีความสงสัยเรื่องความจงรักภักดี” ประโยคนี้มีความหมายทางตรรกะว่า
1. ผู้พูดกำลังจัดประเภทของ “คนไทย” ให้อยู่คนละประเภทกับ “มนุษย์”
2. ผู้พูดกำลังทำให้ “ความจงรักภักดี” เป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล หรือเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผล เพราะในโลกของความเป็นจริงมีแต่สิ่งที่สงสัยได้เท่านั้นที่อยู่ใน “ปริมณฑลของเหตุผล” หรืออยู่ในขอบเขตที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล
3. การทำให้ความจงรักภักดีเป็นเรื่องที่สงสัยไม่ได้ หรืออยู่นอกปริมณฑลของเหตุผล ย่อมเท่ากับ (ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม) เป็นการทำให้ความจงรักภักดีมีสถานะเป็น “อำนาจเหนือเหตุผล” ที่กดทับความเป็นมนุษย์ของคนไทย หรือเป็นอำนาจที่แยกประเภทของ “คนไทย” ให้อยู่กันคนละประเภทกับ “มนุษย์”
ถึงตรงนี้ บางคนอาจมองว่าผมตีความคำพูดของ ผบ.ทบ.แบบจริงจังเกินไป ผบ.ทบ.อาจแค่ต้องการพูดเพื่อปรามฝ่ายที่เขามองว่าจาบจ้วงหรือหมิ่นสถาบัน และต้องการกระตุ้นให้คนไทยทุกคน ทุกฝ่ายจงรักภักดีต่อสถาบันเท่านั้น
แต่ ถึงจะมีเจตนาเช่นนั้นจริง ก็ไม่ควรใช้ “คำพูดเชิงเผด็จการทางความคิด” เช่นนี้ และขอให้สังเกตว่า คำพูดทำนองคล้ายๆ กันนี้ มักเป็นคำพูดที่ตีขลุม คลุมเครือ เช่น เมื่อมีผู้วิจารณ์ ผบ.ทบ.เขาก็ปรามว่าอย่าวิจารณ์ทหาร (ผบ.ทบ.= ทหารทั้งหมด?) อย่าวิจารณ์กองทัพ (ผบ.ทบ.=กองทัพ?)
ซึ่ง เป็นเจตนาที่ทำให้คนเข้าใจเสมือนว่า ผบ.ทบ.คือทหารทั้งหมด ผบ.ทบ.คือกองทัพ ติติงหรือวิจารณ์ ผบ.ทบ.อาจกระทบต่อ “ศักดิ์ศรีทหาร” กระทบต่อความมั่นคงของกองทัพ กระทั่งเลยเถิดไปถึงกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
ทว่าที่แย่กว่านั้นคือ คุณกำลังห้ามติติง วิพากษ์วิจารณ์ “ความรับผิดชอบ” ของผู้บังคับบัญชาทหาร การทุจริตคอร์รัปชันภายในกองทัพโดยโยงมาสู่กรณี ฮ.ตก 3 ลำ ไล่เลี่ยกัน และมีทหารเสียชีวิตเกือบยี่สิบนาย พร้อมกับการห้ามดังกล่าว คุณก็เสนอให้ซื้อ ฮ.เพิ่มอีก 30 ลำ โดยฝากให้รัฐบาลใหม่พิจารณา
ตกลง จะทำให้ทุกเรื่องอยู่นอกปริมณฑลของเหตุผล หรือความสงสัยใคร่รู้ไปหมดเลยใช่ไหม ความจงรักภักดีก็สงสัยไม่ได้ ผบ.ทบ.ก็ไม่ควรติติง หรือวิจารณ์ ฮ.ตก 3 ลำ จะขอซื้อเพิ่มเป็น 30 ลำ เป็นเรื่องที่มีเหตุผลอย่างไร และมันยิ่งทำให้คนสงสัยมากขึ้นอีกเมื่อมีการพูดถึงกรณีผิดปกติเรื่องจัดซื้อ “ไม้ชี้ผี” มาตรวจจับวัตถุระเบิด และจัดซื้อเรือเหาะที่เหาะไม่ได้ ฯลฯ
ความ ไม่ไว้วางใจกัน ไม่เชื่อถือ ไม่สามัคคีกันอย่างที่ ผบ.ทบ.พูดถึง มันไม่มีวันแก้ได้ด้วยการ “ใช้อำนาจบังคับ” ไม่ว่าจะบังคับเรื่องความจงรักภักดี (ห้ามสงสัย!) หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม เพราะเราจะแก้ปัญหาโดยการปิดกั้น ลดทอนการใช้เหตุผลได้อย่างไร
การ ลดทอนการใช้เหตุผลคือการลดทอนความเป็นมนุษย์ ห้ามสงสัย ห้ามใช้เหตุผลวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งเท่ากับห้ามเป็นมนุษย์ และถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาตามหลักตรรกะ การล็อกสเป็ค “คนไทย” ว่า ต้องเป็นคนที่ไม่สงสัยเรื่องความจงรักภักดี (หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม) เท่ากับล็อกไม่ให้คนไทยเป็น “มนุษย์”
แต่ ในความเป็นจริง ประชาชนเป็น “มนุษย์” (สัตว์ที่มีเหตุผล) ก่อนจะเป็น “คนไทย” มันจึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะทำให้ประชาชนละทิ้งความเป็นมนุษย์เพื่อที่จะ เป็น “คนไทย” ที่ถูกห้ามสงสัยในเรื่องใดๆ ก็ตาม
และ หากจะพูดให้ถูก ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ข้าราชการที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน ควรอย่างยิ่งที่ต้อง “จงรักภักดีต่อประชาชน” ความจงรักภักดีต่อประชาชนเป็นเรื่องที่สงสัยไม่ได้ เพราะแผ่นดินนี้คือของประชาชน อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน รัฐบาลและข้าราชการภายใต้รัฐบาล คือผู้รับใช้ประชาชน
มี แต่ข้าราชการ อำมาตย์ ต้องเกิด “จิตสำนึกใหม่” และเกิด “จิตใหญ่” ที่ “จงรักภักดีต่อประชาชน” ประดุจดังข้าทาสผู้ซื่อสัตย์ดังกล่าวนี้แล้วเท่านั้น ประเทศชาติ ประชาชนทุกฝ่าย ทุกสถาบันจึงจักเกิด “ความรู้รักสามัคคี” คือ รักเสรีภาพ สามัคคีภายใต้หลักความยุติธรรมที่เท่าเทียม หรือมีความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย เสมอภาคในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์