ที่มา มติชน
...ผบ. ทบ. ดุ โวยไม่เคยอ้อน ฉวยซื้อ ฮ. ออกโรงโต้คนวิจารณ์ดุเดือด
...ประยุทธ์ วีนสื่อพาดหัว เซ็งจัดอ้างไม่กล้าขึ้น ฮ.
...ประยุทธ์ ยัวะ โต้อ้อนซื้อ ฮ.
...ผบ.ทบ. ฟิวส์ขาด สื่อพาดหัว
นี่คือ หัวข่าวในเช้าวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 เป็นข่าวที่น.ส.พ.ทุกฉบับ เปิดพื้นที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. แบบเต็มๆ
ใจความของข่าวเจ้าปัญหา ตอนหนึ่งมาจากการให้สัมภาษณ์ของ ผบ.ทบ. ดังนี้....
"วัน ก่อนผมเดินทางไปร่วมพิธีรดน้ำศพของผู้ เสียชีวิตที่กาญจนบุรี ซึ่งเรามีแผนการเดินทางของผู้บังคับบัญชาจากฝ่ายอำนวยการเตรียมการทั้งเดิน ทางด้วยรถยนต์ หรือฮ. ถ้าโดยปกติถ้าอากาศไม่ดีก็จะไม่บินขึ้น เว้นแต่สถานการณ์ไม่ปกติ คือ สถานการณ์ที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในการกู้ภัย แต่ไม่ใช่ว่าไปเขียนกันว่ารมว.กลาโหม ผบ.ทบ.ไม่กล้าขึ้นฮ. แต่ให้ลูกน้องขึ้นแทน ซึ่งผมไม่ได้โกรธ แต่เป็นธรรมหรือไม่"
เป็นคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์หันมาถามผู้สื่อข่าวว่า เป็นธรรมหรือไม่กับเรื่องอย่างนี้ อยากถามว่าความคิดของสื่อกับการเขียนไปนั้นเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยก็จะให้เดินทางด้วยฮ.ไปด้วยทุกครั้ง
เมื่อ ผู้สื่อข่าวชี้แจงว่าเนื้อหาข่าวระบุว่าผบ.ทบ.เดินทางด้วยรถยนต์แทน ขึ้นฮ. เพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว ตอบว่า ข่าวที่ออกมาไม่ใช่อย่างนั้น ฉะนั้นก็ต้องจำไว้ว่าใครพาดหัวข่าว ถ้าอย่างนี้วันหลังก็ไม่ต้องมาสัมภาษณ์กันแล้ว จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์เดินไปขึ้นลิฟต์ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว
ก่อนเดิน ออกมาชี้หน้าผู้สื่อข่าวพร้อมกับย้ำว่า "ถ้าไม่ตอบคำถามตนว่าใครพาดหัวข่าว ก็ไม่ต้องมาถามกันอีก ต่อไปนี้จะไม่ให้สัมภาษณ์แล้ว"
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. แสดงอาการไม่พอใจบทบาทของ "สื่อ"
ย้อน ไปเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ เคยออกรายการมีการถ่ายทอดผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 และช่อง 7 ก็พูดในลักษณะเดียวกัน
นั่นคือ บทบาทของสื่อ
ครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความห่วงใยเรื่องคดีความที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสถาบัน เหตุการณ์สลายการชุมนุม
พร้อมระบุว่า "สื่อ" คือตัวปัญหาที่ทำให้กองทัพมีปัญหากับประชาชน
"..สื่อ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ประชาชนได้ รับรู้ความเป็นไปมาของบ้านเมือง เป็นฐานันดรหนึ่งที่สำคัญ แต่ผมเรียนว่าปัจจุบันมีผลกระทบมากกับสังคม และประชาชน เพราะว่าประชาชนถูกชักจูงไปโดยกลุ่มคนบางประเภท บางจำพวกที่ไม่ได้ปรารถนาดี หรือคิดว่าปรารถนาดีก็ตาม แต่สิ่งที่กลับมาทำให้เกิดผลตอบสนองย้อนกลับมาทำให้กองทัพมีปัญหากับ ประชาชน.."
หากมองในมุมของ "นาย" ที่รัก "ลูกน้อง" การแสดงท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของทหารกับประชาชนห่างไกลกันมากขึ้น ก็เข้าใจได้
เพราะทหารคือผู้ใต้บังคับบัญชาของรัฐบาล
การที่ทหารถูกวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจความรู้สึกได้
เช่นกันการแสดงท่าทีปกป้อง "ลูกน้อง" และ "ภาพลักษณ์" ของกองทัพ จากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ 3 รุ่น 3 ลำ ของกองทัพบกตกที่ป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ทำให้สูญเสียทหารกล้าไปเป็นจำนวนมาก แบบดุเดือด
ด้วย การกล่าวตำหนิการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน นักวิชาการ ที่ไปตั้งข้อสงสัยถึงเหตุการณ์ ฮ.ตก ว่าอาจมีเรื่องการทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้อง เกี่ยวพันหรือไม่
ถือเป็น "บทบาท" ของผู้นำกองทัพ ที่ต้องรักษาขวัญและกำลังใจให้กับกำลังพลที่เหลือ
ไม่ ต่างจากประชาชนคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้ง สื่อ นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน ก็รู้สึกถึงสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ที่ไม่แตกต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์
นั่นเป็นมุมหนึ่ง
แต่อีกมุมหนึ่ง "เสียงวิจารณ์" ที่เกิดขึ้น น่าจะทำให้ผู้ถูกวิจารณ์มองเห็นความเป็นตัวตนมากขึ้น
เพื่อนำไปปรับเปลี่ยน เพราะมองในแง่ของความสูญเสีย คงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เกิด "ซ้ำ" ขึ้นอีก
เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียทั้งกำลังพล และทรัพย์สินของกองทัพ
โดยเฉพาะ "ความเชื่อมั่น" ในอุปกรณ์ที่ใช้ในการออกปฏิบัติการของกำลังพลทุกครั้ง เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
หาก พล.อ.ประยุทธ์ นำเสียงวิพากษ์วิจารณ์ มาสร้างความเชื่อมั่นให้กับกำลังพลและคนไทยทั้งประเทศ น่าจะเป็นผลดีมากกว่า
เพราะต้องยอมรับว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การจัดซื้ออาวุธของกองทัพ ถูกตั้งข้อสงสัยมาโดยตลอด
แต่เป็นการตั้งข้อสงสัยที่จับมือใครดมไม่ได้
ไม่ ว่าจะเป็นอภิมหาโปรเจ็กต์ของกองทัพบก ในการจัดซื้อรถหุ้มเกราะล้อยางยูเครน โครงการจัดซื้อเครื่องบินกริพเพน ของกองทัพอากาศ ที่หลายคนสงสัยในประสิทธิภาพ และกังขาในเรื่องราคาว่า "พี่ไทย" ใจใหญ่ซื้อแพงเกินหน้าเกินตาชาวบ้านหรือไม่
ไม่ นับ "เรือเหาะ" และเครื่องมือตรวจระเบิด หรือ จีที 200 ที่นำไปใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกวิจารณ์หนักว่า "ไม่สมประกอบ"
ต่างๆ เหล่านี้ ไม่มีคำตอบเชิงเทคนิค
แต่เมื่อมีคำยืนยันจากชายชาติทหารระดับแม่ทัพ ว่า "ไม่มีการทุจริต ตรวจสอบแล้วโปร่งใส"
จะด้วยเครดิตของ ผบ.เหล่าทัพ หรือไม่อยากจะไปยุ่งเกี่ยวกับกองทัพหรือไม่ ไม่ทราบ
แต่เมื่อมีเสียงจากผู้นำกองทัพออกมาการันตี เสียงของผู้คนในสังคมก็จะเงียบหายไป
ไม่มีคำถาม ไม่มีเสียงวิจารณ์
จนกลายเป็น "ประเพณี" ปฏิบัติกันไปแล้ว
หากมองเสียงวิจารณ์ของคนนอกกองทัพอย่างเข้าใจว่า ไม่ได้มีเจตนามากไปกว่าการปกป้องกำลังพล และทรัพย์สินของชาติ
บวกเข้ากับการมองย้อนกลับเข้าไปในคลังอุปกรณ์ของกองทัพในฐานะคนในของ พล.อ.ประยุทธ์
อาจ จะเข้าใจถึง "เจตนา" อันบริสุทธิ์ที่แท้จริงของเสียงวิจารณ์ได้อย่างถ่องแท้ว่า ไม่ต่างจาก "เจตนาอันบริสุทธิ์" ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ปกป้องเกียรติกองทัพเลยแม้แต่น้อย
( จาก หน้า 3 มติชนรายวัน 28 ก.ค.2554 )