ที่มา มติชน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 8 สิงหาคม 2554)
|
สำนัก ข่าว TCIJ รายงานว่า ในสภาที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งมาครั้งนี้ มี ส.ส.89 คนที่มีญาติอยู่ในสภาเดียวกัน เพราะต่างมาจากตระกูลการเมือง 42 ตระกูล
คอลัมนิสต์ท่านหนึ่งของบางกอกโพสต์บอกว่า ที่จริงมีมากกว่านี้เสียอีก เพราะมี ส.ส.ที่นามสกุลไม่ตรงกัน แต่เป็นญาติกันอีกจำนวนหนึ่ง ซ้ำหากมองให้กว้างกว่านั้นขึ้นไปอีก คือรวมไปถึงนักการเมืองที่ถูกห้ามเล่นการเมือง ก็ยังมีพ่อ, เมีย และญาติสายอื่นๆ เข้ามานั่งในสภาอีกจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน
การเมืองในระบบสภาของเรา จึงเป็นเรื่องของการต่อรองกันระหว่างกลุ่มตระกูลหรือครอบครัว (และเครือข่าย) เพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้น
ใครๆ ก็คงเห็นพ้องต้องกันว่า นี่เป็นอาการเจ็บป่วยกระเสาะกระแสะของประชาธิปไตยไทยแน่ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าความเจ็บป่วยนี้เกิดขึ้นจากอะไร หลายคนคงยกความผิดให้แก่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งฝ่ายเดียว คนเหล่านี้มี "บารมี" อย่างสูงในท้องถิ่นของตน เป็นที่พึ่งของคนในท้องถิ่น ทั้งครอบครัวและเครือข่ายได้รับความภักดีจากคนในท้องถิ่น จนสมัคร ส.ส.เมื่อไรก็ได้รับเลือกตั้งเมื่อนั้น
นี่เป็นวิธีมองที่ว่า การเถลิงอำนาจของครอบครัวการเมืองเป็น "กิริยา" กล่าวคือเป็นการกระทำของนักการเมือง (ชั่วๆ) เอง แต่เราอาจมองในทางกลับกันได้ว่า การเถลิงอำนาจของครอบครัวการเมืองเหล่านี้เป็น "ปฏิกิริยา" กล่าวคือครอบครัวตอบสนองต่อเงื่อนไขทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม, วัฒนธรรมอย่างหนึ่ง โดยการรวมพลังของกลุ่มใกล้ชิดที่เรียกว่าครอบครัว เพื่อเข้าไปหาประโยชน์ในเงื่อนไขดังกล่าว
ถ้ามองให้กว้างกว่าสภา (และการเมือง) ครอบครัวคือสถาบันที่เข้มแข็งที่สุดของสังคมไทย เพราะสามารถปรับตัวรองรับเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด ดีกว่าสถาบันใดๆ ในประเทศไทยทั้งสิ้นด้วย
จากการร่วมแรงและเฉลี่ย ทรัพย์สินในครอบครัว เพื่อการผลิตพอยังชีพในอดีต เผชิญกับภัยพิบัติตามธรรมชาติ และภัยจากโจรและรัฐมาจนถึงยุคทุนนิยม ครอบครัวไทย (และไทยจีน) ปรับตัวมาตลอด ร่วมทุนเพื่อเข้าสู่ตลาดอย่างมีพลัง ส่งสมาชิกไปหาเงินสดในเมือง หรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ ใช้ครอบครัวเป็นฐานในการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและอำนาจ (นับตั้งแต่ลูกสาวได้เป็นเจ้าจอมไปจนถึงได้เป็นเมียเก็บผู้มีอำนาจ)
ไม่ เฉพาะแต่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น หากมองไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหมดในประเทศไทย ไม่ใช่ครอบครัว (และเครือข่าย) หรอกหรือที่กุมทรัพย์สินส่วนใหญ่ของบริษัทไว้ในมือมาหลายชั่วคน แม้ระเบียบของธนาคารชาติและตลาดหลักทรัพย์ ก็ไม่เคยสามารถละลายการยึดกุมธุรกิจสาธารณะเหล่านี้จากครอบครัวได้
มอง การเมืองให้ไกลจากสภา แล้วสังเกตนามสกุลของ "ผู้ใหญ่" ในกรมกองราชการกับกองทัพให้ดี ไม่เคยได้ยินนามสกุลอย่างนี้มาก่อนหรือ เหตุใดคนนามสกุลอย่างนั้นๆ จึงได้ดีเด่นดังมาเป็นชั่วโคตรได้อย่างนี้ แล้วยังสถาบันทางการเมืองอื่นๆ นอกสภาอีกมาก ไม่ใช่ครอบครัวหรอกหรือ
การเมือง (ในความหมายกว้าง) ของไทยทั้งหมด คือธุรกิจครอบครัวทั้งนั้น ไม่เฉพาะแต่สภาผู้แทนราษฎรอย่างเดียว
ยิ่ง ไปกว่านี้ ยังน่าสนใจอย่างยิ่ง หากวิเคราะห์ลงไปถึงว่า ครอบครัวซึ่งกุมอำนาจทางการเมืองไทยเป็นใครมาจากไหน สร้างสายสัมพันธ์ข้ามไปสู่ครอบครัวอื่นๆ หรือไม่อย่างไร ก็จะมองเห็นทั้งความเปลี่ยนแปลงและความไม่เปลี่ยนแปลง และนี่คือการวิเคราะห์ "ชนชั้นนำ" ท้องถิ่นของไทย ในบริบทของ "ชนชั้นนำ" ระดับประเทศ หรือภาวะการนำระดับประเทศ
และดังที่กล่าวแล้วว่า นี่เป็นการมองบทบาทของครอบครัวในเงื่อนไขทางสังคม ไม่ใช่มองระดับปรากฏการณ์ว่าครอบครัวใดแผ่อิทธิพลอย่างไร ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงจึงไม่น่าสนใจเท่าความไม่เปลี่ยนแปลง
นับแต่ การเลือกตั้งครั้งแรกๆ ส่วนใหญ่ของ ส.ส.ประเภทหนึ่งที่มาจากต่างจังหวัดคือชนชั้นนำท้องถิ่น และจำนวนไม่น้อยของคนเหล่านี้ สัมพันธ์เชื่อมโยงกับชนชั้นนำตามประเพณีในท้องถิ่น เช่นเป็นลูกหลานเจ้าเมืองเดิม ชนชั้นนำตามประเพณีในท้องถิ่นเคยมีสายสัมพันธ์โยงไยมาถึงชนชั้นนำตามประเพณี ในส่วนกลาง จึงไม่แปลกอะไรที่บางคนในกลุ่ม ส.ส.ชนชั้นนำท้องถิ่นร่วมสร้างพรรค ปชป.ขึ้นด้วย
นี่ก็เป็นเรื่องของครอบครัวเหมือนกัน
ใน เวลาต่อมา ส.ส.เริ่มมีชนชั้นนำท้องถิ่นรุ่นใหม่เข้ามาปน คนเหล่านี้เป็นครูหรือผู้มีการศึกษาในท้องถิ่น บางคนอาจเชื่อมโยงกับชนชั้นนำท้องถิ่นตามประเพณี แต่ก็เป็นรุ่นหลังซึ่งสายสัมพันธ์กับชนชั้นนำตามประเพณีในส่วนกลางเจือจางลง แล้ว คนเหล่านี้หันมาสนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นชนชั้นนำรุ่นใหม่ ซึ่งแม้เชื่อมโยงกับชนชั้นนำตามประเพณีของส่วนกลางอยู่บ้าง แต่ก็ค่อนข้างห่าง และไม่ได้รับความไว้วางใจจากชนชั้นนำตามประเพณีนัก
อัน ที่จริงไม่ใช่เฉพาะท่านปรีดี แม้แต่ศัตรูหรือคู่แข่งของท่านอื่นๆ ในคณะราษฎร ก็ล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชนชั้นนำตามประเพณีเพียงห่างๆ เหมือนกัน แต่คณะราษฎรยังสามารถกำราบชนชั้นนำตามประเพณีในส่วนกลางได้ ก็ด้วยเหตุผลสองประการ คือคณะราษฎรยังคุมกองทัพได้อยู่ และในขณะนั้น มีความแตกร้าวในหมู่ชนชั้นนำตามประเพณีอย่างสูง
ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาเกิดขึ้นจากนโยบายพัฒนาของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะก่อให้เกิดการแตกตัว (diversification) ของชนชั้นนำทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นอย่างมโหฬาร
ใน ส่วนกลาง ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์ของเขาทำให้กองทัพเข้ามาเป็นแกนกลางของการเมืองไทยเต็ม ตัว ครอบครัวและเครือข่ายของนายทหารจำนวนมากสร้างฐานะจากระดับรองๆ หรือปลายแถวของชนชั้นนำ ขึ้นมาเป็นระดับแนวหน้า รวมถึงข้าราชการพลเรือนบางครอบครัว และ "นักวิชาการ" ที่สฤษดิ์ดึงเข้าไปทำงานในหน่วยงาน "พัฒนา" ใหม่ๆ ด้วย
ในขณะเดียว กัน เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์ของตน สฤษดิ์ก็ฟื้นฟู "ภาวะการนำ" เชิงสัญลักษณ์ให้แก่ชนชั้นนำตามประเพณี เป็นโอกาสให้คนเหล่านี้สามารถขยายเครือข่ายออกไปอย่างกว้าง ดังนั้นจึงเกิดขั้วของภาวะการนำขึ้นสองขั้วในส่วนกลาง
ได้แก่ขั้วของ "ขุนนางใหม่" ของระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์ขั้วหนึ่ง และขั้วของชนชั้นนำตามประเพณีอีกขั้วหนึ่ง
ที่ น่าสนใจคือการที่ชนชั้นนำตามประเพณีสามารถผนวกกลืนเอาอีกขั้วหนึ่ง เข้าไปให้เชื่อมโยงกันได้อย่างสนิทแนบแน่น มีการแต่งงานข้าม "ชนชั้น" กันหลายกรณีในช่วงนี้ จนเราเคยชินที่จะเห็น ม.ร.ว.นามสกุลเจ๊ก จะว่าไปความสำเร็จสุดยอดของชนชั้นนำตามประเพณี ที่สามารถขยายอำนาจของตนในเศรษฐกิจและการเมืองได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง และผันผวนครั้งนี้ ก็คือการสร้างสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเหล่าคนที่ไม่รู้หัวนอนปลายตีนได้ อย่างสนิทแนบแน่น กลายเป็นกลุ่มครอบครัวชนชั้นนำที่ยึดกุมเศรษฐกิจและการเมืองไทยสืบมาจนถึง ทุกวันนี้
บทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองของชนชั้นนำจึงมีฐานที่ครอบ ครัวและเครือข่ายของครอบครัว แต่น่าเสียดายที่การแตกตัวของชนชั้นนำไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทำให้เกิดชนชั้นนำรุ่นใหม่ในส่วนกลางตามมาอีก อย่างไม่หยุดหย่อน
ชนชั้นนำตามประเพณีต้องขยายเครือข่าย ของตนออกไปเรื่อยๆ ในขณะที่เหมือนสถาบันชนชั้นนำในทุกสังคม กล่าวคือมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยน "สถานะ" ของตนเองไปเป็น "ชนชั้น" การผนวกกลืนจึงทำได้ยากขึ้น และอาจไม่ประสบความสำเร็จในหลายกรณี
เช่นเดียวกับในส่วนกลาง ในท้องถิ่นก็เกิดการแตกตัวของชนชั้นนำอย่างรวดเร็วเหมือนกัน การผลิตเชิงพานิชย์อย่างเข้มข้นขึ้นเพียงอย่างเดียว ก็ทำให้เกษตรกรรมไทยเปลี่ยนไป และภายใต้เงื่อนไขใหม่นี้ก็เกิดชนชั้นนำรุ่นใหม่ขึ้นทั่วไป ตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
คนเหล่านี้ ไม่เกี่ยวข้องสืบเนื่องอย่างไรกับชนชั้นนำตามประเพณีในท้อง ถิ่น เป็นคนที่ไม่รู้หัวนอนปลายตีนที่ไม่ได้ผ่านการอบรมของกระบวนการการศึกษาแบบ ที่ชนชั้นนำตามประเพณีได้วางเอาไว้ (เช่นไม่ได้จบจุฬาฯ, หรือจปร. หรือออกซ์ฟอร์ด)
และคนเหล่านี้แหละที่ส่งตนเองหรือคนในครอบครัวและ เครือข่ายมาเป็น ส.ส. ซ้ำเป็น ส.ส.ส่วนใหญ่ในสภาด้วย แต่ก็เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ถูกผนวกกลืนเข้าไปในกลุ่มชนชั้นนำส่วนกลาง และด้วยเหตุดังนั้น สภาจึงเป็นเครื่องมือควบคุมการเมืองของชนชั้นนำได้น้อยลง ส.ส.เหล่านี้น่ารังเกียจเย้ยหยัน และสภาก็เป็นเวทีตลกร้ายของชนชั้นนำตามประเพณีและเครือข่ายของตนมากขึ้น ทุกที
ในขณะที่ปัญหาเก่าซึ่งเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทาง เศรษฐกิจ-สังคมยังแก้ไม่ได้ ชนชั้นนำที่ส่วนกลางกลับต้องเผชิญปัญหาใหม่ การเลือกตั้งที่ผ่านมาสองครั้ง ชี้ให้เห็นว่า แม้ผู้สมัครจะอาศัยเครือข่ายของครอบครัว แต่ประชาชนผู้เลือกตั้งอาจไม่ได้เลือกจากเครือข่ายอุปถัมภ์ระหว่างครอบครัว ของนักการเมืองกับครอบครัวของตนอีกแล้ว (อย่างน้อยก็ประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งมีทีท่าว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นด้วย) ผู้เลือกตั้งจำนวนหนึ่งในท้องถิ่นเริ่มกลายเป็นปัจเจกบุคคล แทนที่จะเป็นสมาชิกของครอบครัวและเครือข่าย
ตรงตามอุดมคติ ประชาธิปไตยที่ชนชั้นนำส่วนกลางชอบอ้าง (แม้ว่า ตัวชนชั้นนำเองกลับใช้ครอบครัวเป็นฐานในการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและการ เมือง) แต่เพราะใช้วิจารณญาณในการเลือกตั้งแบบปัจเจกนี้แหละ ที่ทำให้คนซึ่งได้เป็น ส.ส.นับวันก็จะไร้หัวนอนปลายตีนมากขึ้น
เวลานี้ หัวหน้า "ไพร่" ได้เป็น ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ ครั้งหน้าก็จะมีหัวหน้า "ไพร่" ได้เป็น ส.ส.เขต
ความไม่เปลี่ยนแปลงของการเมืองระบบครอบครัวของชนชั้นนำที่ส่วนกลาง จึงน่าสนใจตรงนี้