ที่มา มติชน
โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์
(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 11 สิงหาคม 2554)
วิลเลียม ลี อดัมส์ คอลัมนิสต์นิตยสารไทม์ ยกคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยขึ้นอันดับ เป็น 1 ใน 12 ผู้นำหญิงโลก ตามหลัง อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
คริสตินา เฟอร์นันเดซ เดอ เคิร์ชเนอร์ ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา, ดิลมา รูสเซฟฟ์ ประธานาธิบดีบราซิล, จูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย, เอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีพ ประธานาธิบดีไลบีเรีย ฯลฯ
เป็น ทั้งความชื่นชมและท้าทายในเวลาเดียวกัน เพราะยิ่งผู้นำระดับโลกเหล่านี้ ทำเพดานบินไว้สูงเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มแรงเสียดทาน และความคาดหวังต่อคุณยิ่งลักษณ์ ต้องทำงานหนักมากขึ้น
เพราะสายตาที่จับจ้องไม่ได้มีแค่เฉพาะผู้คนในสังคมไทยเท่านั้นแต่กลายเป็นเป้าของคนทั่วทั้งโลก
โดยเฉพาะประเด็นที่ ลี อดัมส์ ชี้ว่า คุณยิ่งลักษณ์นอกเหนือจากจะต้องเอาชนะเสียงวิจารณ์ว่าพี่ชายคือผู้อยู่ เบื้องหลังในการบริหารประเทศแล้ว จะต้องทำตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ให้ได้
ต้องบริหารคนรอบข้างทุกทิศทุกทางและบริหารนโยบาย ให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งไม่ง่าย
ยิ่งยกเอา อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเยอรมนีและเป็นคนแรกที่มาจากฝั่งเยอรมันตะวันออก ขึ้นมาเป็นต้นแบบด้วยแล้ว น่าเห็นใจคุณยิ่งลักษณ์มากขึ้นไปอีก
อังเกลา แมร์เคิล เธอสั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองและการบริหารมายาวนานในฐานะสมาชิกพรรค Christian Democratic Union พรรคแกนนำรัฐบาลเยอรมนี จนกระทั่งได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค และเป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกันสองสมัย ขณะที่คุณยิ่งลักษณ์เพิ่งเริ่มต้นสมัยแรก
แต่ไม่เป็นไร เส้นทางต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา ถ้ายึดคติที่ว่า คนฉลาดเรียนรู้จากผู้อื่น คนโง่เอาตัวเองเป็นใหญ่เสียแล้ว มีโอกาสก้าวเดินต่อไปได้
นโยบาย หนึ่ง ที่อังเกลา แมร์เคิล เพิ่งสร้างความฮือฮาไปทั่วโลก แต่ก็สามารถผลักดันได้สำเร็จจนสภาผู้แทนและวุฒิสภาเยอรมนีออกกฎหมายรองรับ เมื่อไม่นานมานี้ก็คือ การปิดโรงไฟฟ้าปรมาณูทั่วประเทศ 17 โรง ภายในปี ค.ศ.2022
เป็นคำประกาศที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน สดๆ ร้อนๆ ภายหลังเกิดเหตุพายุสึนามิถล่มญี่ปุ่น โรงไฟฟ้าปรมาณูเสียหาย กัมมันตรังสีรั่วไหล จนคนเยอรมันบางส่วนรู้สึกว่าเธอตัดสินใจ ยูเทิร์น เร็วเกินไป
เพราะก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 หลังจากที่เธอได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ใหม่ๆ เธอแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า การใช้พลังงานนิวเคลียร์ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น รัฐบาลจะขยายเวลาการดำเนินการของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปอีก
เวลา ผ่านไป เพียงปีเศษๆ กลับหลังหันทันที แต่แทนที่จะเกิดการต่อต้านเนื่องจากเยอรมนีเป็นประเทศอุตสาหกรรมต้องใช้ พลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์เป็นฐานการผลิต ชาวเยอรมันส่วนใหญ่กลับเห็นด้วยและให้การสนับสนุนเธอ
การตัดสินใจ ใช้ Strong Policy กลับมาหาพลังงานทางเลือก คิดถึงสภาพแวดล้อม ชีวิตความปลอดภัยของคนส่วนใหญ่ ก่อนตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความร่ำรวยของผู้ประกอบการธุรกิจ อุตสาหกรรม ทำให้คะแนนนิยมของอังเกลา แมร์เคิล เพิ่มขึ้น
ย้อนกลับมาเมืองไทย การบริหารนโยบายพลังงานเป็นปัจจัยที่มีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลมาตลอด ไม่น้อยกว่านโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ
คณะ กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เคยให้ความเห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิต ไฟฟ้า จะเริ่มใช้พลังงานนิวเคลียร์ใน พ.ศ.2563 พ.ศ.2564 พ.ศ.2569 พ.ศ. 2570 และ พ.ศ.2573 กำหนดให้เข้าระบบเพียงปีละ 1 โรง ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ควบคู่ไปกับการจัดหาพลังงานสำรองจากแหล่งอื่น
รัฐบาลยิ่ง ลักษณ์จะกำหนดนโยบายเรื่องนี้อย่างไร เป็นบททดสอบความสามารถการบริหารจัดการของคุณยิ่งลักษณ์ ที่น่าสนใจติดตามบทหนึ่งทีเดียว
เพราะการแข่งขันเรื่องต้น ทุนการผลิต ราคาพลังงานไฟฟ้า กับประเทศที่ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งของไทย อย่างเวียดนาม เป็นสิ่งที่ผุู้บริหารนโยบายพลังงานไทยคำนึงถึง เทียบเคียงมาตลอด
ตามแผนผลิตพลังงานเดิม เวียดนามจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่งกระแสไฟเข้าสู่ระบบภายในเวลาไล่เลี่ยกับไทย
ถ้าเวียดนามยังเดินหน้าต่อไป ไม่ทบทวนนโยบาย ทางเลือกของไทยจะเป็นอย่างไร
คุณ ยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้แสดงท่าทีเรื่องนี้ ขณะนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรค ว่าที่รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติ ประกาศล่วงหน้าแล้วว่าจะปิดฉากแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างสิ้นเชิง
คุณยิ่งลักษณ์จะประสานให้นโยบายเกิดความพอดี และเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ได้อย่างไรต้องติดตาม