ที่มา ประชาไท
หมายเหตุ: การเน้นเป็นการเน้นโดยประชาไท
ปู่ คออี้ กะเหรี่ยงดั้งเดิมแก่งกระจาน พ่อของหน่อแอ ผู้เดินป่าเข้าไปช่วย 4 ตชด.พ้นจากป่านรกบางกลอย เมื่อปี 2535 วันนี้เขาถูกจับกุมฐานบุกรุกป่า เด็กหญิงคือลูกของหน่อแอ หลานปู่คออี้...ขอขอบคุณ หนุ่ม เดลินิวส์ ผู้ถ่ายภาพ
"ในป่าสงวนซึ่งทาง ราชการได้ขีดเส้นไว้ว่าเป็นป่าสงวน หรือป่าจำแนก แต่ว่าเมื่อเราขีดเส้นไว้ประชาชนก็อยู่ในนั้นแล้ว เขาจะเอากฎหมายป่าสงวนไปบังคับคนที่ยังอยู่ในป่าที่พี่งสงวนทีหลัง โดยขีดเส้นบนแผ่นกระดาษ ก็ดูชอบกลอยู่ แต่มีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อขีดเส้นแล้ว ประชาชนทีอยู่ในนั้นก็กลายเป็นฝ่าฝืนกฎหมายไป ถ้าดูในทางกฎหมายเข้าก็ฝ่าฝืน เพราะตราเป็นกฎหมายอันชอบธรรม แต่ถ้าดูตามธรรมชาติ ใครเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ก็ผู้ที่ขีดเส้นนั่นเอง เพราะว่าบุคคลผู้อยู่ในป่านั้นเขาอยู่ก่อน เขามีสิทธิในความเป็นมนุษย์หมายความว่า ทางราชการบุกรุกบุคคลไม่ใช่บุคคลรุกบ้านเมือง"
บาง ตอนจากพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานวันรพี ณ พระตำหนักจิตรลดา เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2516
000
ผม อ่านเอกสารประกอบการเสวนา "ฮ.ตก กับปัญหาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเช้าวันนี้ ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก่อนจะลงชื่อในเอกสารลงทะเบียนสำหรับสื่อมวลชน ผมกรอกชื่อ นามสกุล แล้วชะงัดนิดหนึ่งเมื่อเห็นช่องต้องกรอก "ที่ทำงาน" แล้วตัดสินใจเขียนลงไปว่า "ผู้สื่อข่าว..." ตามด้วย e-mail และหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ผมไม่มีสังกัดเป็นผู้สื่อข่าวมานานกว่า 1 ปีแล้วจึงไม่มีที่ทำงาน แต่ผมคิดว่าผมไม่ได้หลอกลวงผู้ใดว่าผมเป็นผู้สื่อข่าว เพราะผมมาที่นี่เพื่อทำข่าวและรายงานข่าว
ห้องนี้เคยใช้จัดงานมอบ รางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ อันเป็นรางวัลสำหรับสื่อมวลชนผู้มีผลงานข่าววิทยุและโทรทัศน์ยอดเยี่ยม เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2548 วันนั้น ผมเดินขึ้นบนเวทีรับรางวัลข่าวสืบสวนสอบสวนยอดเยี่ยมโทรทัศน์จากข่าว "ปล่อยแพะ จอบิ" จาก พล.อ.พิจิตร กุลละวาณิชย์ องคมนตรี ประธานในพิธี ท่ามกลางเสียงปรบมือกึกก้องและการแสดงความยินดีจากเพื่อนๆร่วมอาชีพสื่อมวล ชน
"เชิญคุณลุงนั่งที่โต๊ะผู้สื่อข่าวค่ะ"
หญิงสาววัย 20 ปีเศษ ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่สมาคมกล่าวและมองไปที่โต๊ะยาวรูปเกือกม้า ด้านโค้งในสุดเป็นที่นั่งสำหรับผู้เข้าร่วมเสวนา 3 คนกับผู้ดำเนินรายการอีก 1 ตามแนวยาว 2 ด้านเป็นที่สำหรับผู้สื่อข่าวด้านละประมาณ 10 ที่นั่ง ในห้องยังมีที่นั่งสำหรับผู้สื่อข่าวอีกหลายแถวประมาณ 20 ที่นั่ง
ผม เลือกที่นั่งไกลสุดด้านขวามือของผู้ร่วมเสวนาซึ่งเป็นเก้าอี้เปล่า ไม่มีโต๊ะเพื่อรองสมุดจดบันทึกการเสวนาที่กำลังจะเริ่มขึ้น ผมกระดากใจที่จะไปนั่งที่เก้าอี้ซึ่งอยู่ที่โต๊ะรูปเกือกม้า โต๊ะนั้นเหมาะสำหรับสื่อมวลชน "ตัวจริง" มากกว่า นักข่าวสาวหลายสำนักนั่งอยู่ที่นั่นพร้อมโน้ทบุ้ค ขณะที่ผมดึงสมุดจดบันทึกข่าวเล่มเก่าจากกระเป๋าสะพาย เป็นสมุดเล่มเก่าที่ใช้บันทึกข่าวครั้งสุดท้ายเมื่อผมยังทำงานอยู่ในสำนัก ข่าวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศนี้
"ผู้ร่วมสัมมนาวันนี้คือ คุณชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คุณสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงเพื่อการพัฒนา และคุณวุฒิ บุญเลิศ ประธานประชาคมอำเภอสวนผึ้ง"
คุณชุติมา นุ่มมัน ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชน ผู้ดำเนินรายการกล่าวเมื่อผู้ร่วมเสวนา "ฮ.ตก กับปัญหาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน"
ทั้ง 3 นั่งประจำที่ ช่างภาพข่าวโทรทัศน์ 2 คนต่างสถานีเริ่มบันทึกภาพ
ผู้ ดำเนินรายการเริ่มคำถามแรก ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกล่าวถึงความเป็นมาของยุทธการผลักดัน ชนกลุ่มน้อยออกจากพื้นที่ป่าแก่งกระจาน ซึ่งตามมาด้วยเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตกถึง 3 ลำในเวลาไล่เลี่ยกัน มีผู้เสียชีวิตเป็นทหาร 16 นาย ช่างภาพโทรทัศน์ 1 คน รวม 17 คน บาดเจ็บสาหัสอีก 1 ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ที่รู้กันดีอยู่แล้ว
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวถึงยุทธการผลักดันชนกลุ่มน้อยว่า เนื่องจากมีชนกลุ่มน้อยจากประเทศเพื่อนบ้านคือชาว "กะหร่าง" เข้ามาทำไร่เลื่อนลอยในเขตอุทยานฯมานานแล้ว โดยสภาพป่ามีพื้นที่กว้างใหญ่มาก การเดินป่าเพื่อปฏิบัติงานต้องใช้เวลานานถึง 15 วัน จึงสามารถเดินป่าได้เพียง 1 ใน 4 ของพื้นที่ จึงต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ของทหารเข้าร่วมปฏิบัติงาน
"เมื่อปี 2537-2541 เคยมีการอพยพชาวกะหร่างมาจัดสรรที่ทำกินให้ มีโครงการณ์ในพระราชดำริให้ความช่วยเหลือ หลังจากนั้นไม่มีโครงการณ์อีก ในปี 2552 เจ้าหน้าที่พบว่ามีการทำไร่เลื่อนลอยจากวงเดิมในผืนป่า จึงจำเป็นต้องผลักดันให้คนเหล่านี้ออกไป"
" ตั้งแต่ปี 2552-2554 อุทยานฯได้ปฏิบัติการตามยุทธการผลักดัน 5 ครั้ง โดยครั้งแรกเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวกะหร่างให้เข้าใจว่า เป็นผู้บุกรุกเข้ามาตัดโค่นต้นไม้ทำให้ป่าเสื่อมโทรม ขอให้ออกไป คิดว่าคงได้ผลแต่ไปดูอีกทีก็ยังมีการบุกรุกอยู่เหมือนเดิม เข้าใจว่าคงไม่ไปแน่คงต้องอพยพ ครั้งที่ 3 ชาวกะหร่างก็ยังอยู่เหมือนเดิมอีก จึงสั่งการให้รื้อบ้านทิ้ง 5 หลัง ครั้งที่ 4 ได้ไปกับทหาร ใช้ ฮ.บินเข้าไป ผมสั่งให้เผาบ้าน 5 หลังนั้นที่รื้อไว้ ส่วนชาวบ้านไม่อยู่ คงอยู่แถวๆนั้น ครั้งที่ 5 พบอีก 22 จุด ที่มีการบุกรุกทำไร่ พบบ้าน 7 หลัง บ้านยังอยู่ คนยังอยู่แต่คงหนีออกจากบ้าน เข้าใจว่าชาวกะหร่างคงรู้แล้วว่าอยู่ต่อไปในประเทศไทยไม่ได้แล้ว ที่น่าห่วงก็คือมีการพบแปลงกัญชาบริเวณชายแดนและในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน"
ผม นั่งฟัง ทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จำได้ว่าเมื่อราวต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีข่าวในโทรทัศน์ว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานร่วมกับทหารค่ายทัพ พระยาเสือ ปฎิบัติการตามยุทธการอพยพชนกลุ่มน้อยในเทือกเขาตะนาวศรี โดยนำเฮลิคอปเตอร์ขึ้นบิน มีการเดินเท้าเข้าไปผลักดันชนกลุ่มน้อย คงเป็นครั้งนี้เองที่เป็นครั้งที่ 4 ที่มีการเผาบ้านของผู้ที่ถูกเรียกว่า"กะหร่าง"
"พื้นที่ที่ผลักดันคือโซน 1"
หัว หน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอธิบาย โดยพับกระดาษขนาดเอ 4 เป็น 4 ส่วน ส่วนบนสุดด้านซ้ายมือคือโซน 1 ผมดูจากแผนที่คือบริเวณพื้นที่ที่เป็นบ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน โซนที่ 3 ใต้โซนที่ 1 คือจุดที่ ฮ.ตกเลยเข้าไปในพม่าไม่มาก
"ตามยุทธการครั้งที่ 3 4 5 ใช้กำลัง 118 นาย ประกอบด้วย ตชด.ตำรวจภาค 7 เจ้าหน้าที่อุทยาน และทหารหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ ครั้งที่ 6 วันที่ 11-15 กรกฎาคม มีเจ้าหน้าที่อุทยานร่วมด้วย 4 นาย" ครั้งนี้เป็นครั้งที่นำมาซึ่งการนำเฮลิคอปเตอร์ไปปฏิบัติอีกครั้ง และตามมาด้วยเฮลิคอปเตอร์ตกถึง 3 ลำ
000
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์กะเหรี่ยงศึกษาเพื่อการพัฒนา ผู้ร่วมเสวนาคนที่ 2 เริ่มเสวนาด้วยการชี้ลงไปชัดเจนเลยว่า ชนกลุ่มน้อยหรือชาวกะหร่างที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอ้างถึงไม่ใช่ ชาวกะหร่างซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างหากแต่อย่างใด หากแท้จริงแล้วคือชาวกะเหรี่ยงนั่นเอง และเป็นชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมในพื้นที่ป่าแก่งกระจานนั่นเอง
"ผมขอชี้แจงว่า กะหร่างในประเทศไทยไม่มี!!"
เสียง ค่อนข้างดังผ่านไมโครโฟนทำให้ผมต้องเงยหน้าดูสีหน้า ท่าทางของผู้พูด แต่ไม่มีอะไรผิดปกติ ผมรู้จัก ผอ.สุรพงษ์ดี ว่าเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม นอกจากผมเคยร่วมไปทำข่าวในกิจกรรมของชาวกะเหรี่ยงหลายต่อหลายครั้ง โดยส่วนตัว เรารู้จักกันมานานคั้งแต่เป็นนักศึกษา จนถึงวันนี้ก็นานถึง 30 ปีแล้ว
"คนกะเหรี่ยงในประเทศไทยมีประมาณ 5 แสนคน เผ่าใหญ่คือสกอร์หรือปกากะญอ อีกเผ่าคือโพล่ง หรือโผล่ว "
ผู้ อำนวยการศูนย์กะเหรี่ยงศึกษาเพื่อการพัฒนา อธิบายต่อไปว่า ตั้งแต่ปี 2539 ได้มีความพยายามของหน่วยงานต่างๆให้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยให้ถูก ต้อง กลุ่มกะเหรี่ยงก็คือกะเหรี่ยง ไม่เรียกว่ากะหร่าง
"กะหร่าง เป็นคำเรียกเหมือนการดูถูก กะเหรี่ยงเผ่าโพล่ง ในกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เป็นเผ่าหนึ่งของกะเหรี่ยง และเรียกกะเหรี่ยงสกอร์ว่ากะหร่างเพราะพูดสำเนียงต่างกัน เช่นเดียวกัน ปกากะญอในจังหวัดภาคเหนือเช่นเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก เรียกกะเหรี่ยงโพล่งว่ากะหร่าง แท้จริงคือกะเหรี่ยงเหมือนกัน"
"ในพม่าก็ไม่มีกะหร่าง มีแต่กะเหรี่ยง !!"
"มี หลักฐานชัดเจนว่าชาวกะเหรี่ยงในโป่งลึก บางกลอย คือกะเหรี่ยงดั้งเดิมหรือกะเหรี่ยงติดดิน ปี 2512 และ 2513 ทางการไทยได้สำรวจชาวกะเหรี่ยงและให้เหรียญชาวเขา นั่นคือการยอมรับว่าทางการต้องการให้กะเหรี่ยงยอมรับว่าตัวเองคือคนของ ประเทศไทย"
ถึงตรงนี้ ภาพในจอโปรเจคเตอร์แสดงรูปเหรียญชาวเขา เป็นเหรียญโลหะสีเงิน ก่อนหน้านั้นเป็นภาพบ้านกะเหรี่ยงสร้างด้วยไม้ไผ่ มุงหญ้าแฝกถูกทหาร ผูกผ้าพันคอสีฟ้าเผา ภาพของกลางถูกยึดเป็นอุปกรณ์การเกษตรเช่นเคียวเกี่ยวข้าว มีดพร้า
"อย่าง นายจอบิ คนร้ายคดียิงรถนักเรียนที่ราชบุรี ที่เป็นแพะและศาลปล่อยตัวไป ก็เป็นกะเหรี่ยงในพื้นที่นี้ ปัจจุบันได้บัตรประชาชนเป็นคนไทยไปแล้ว"
คดี คนร้ายยิงรถนักเรียน โรงเรียนบ้านคาวิทยา จังหวัดราชบุรี เมื่อปี 2545 ผมได้ติดตามทำข่าวนี้ยาวนานเกือบ 2 ปี จึงได้รู้ว่านายจอบิ เมื่อจะถูกผลักดันให้ออกนอกประเทศที่จังหวัดกาญจนบุรี เพราะไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนไทย นายจอบิไม่รู้ว่าตัวเองเข้ามาทางไหน เข้ามาในประเทสไทยได้อย่างไร เกิดมาก็อยู่ในป่าแก่งกระจาน ไม่เคยทำบัตรประชาชน การผลักดันนายจอบิออกไปก็เท่ากับว่าผลักดันคนในประเทศไทยไปประเทศอื่น เพียงเพราะว่าเขาพูดภาษาไทยไม่ได้ พูดได้แต่ภาษากะเหรี่ยง หน่วยงานของรัฐเลยเหมาไปเลยว่าเป็นคนจากประเทศเพื่อนบ้าน !
"ไม่ เคยมีใครบอกได้ว่ากะเหรี่ยงเหล่านี้เข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านช่อง ทางไหน เข้ามาเมื่อไหร่ ก็เพราะเขาอยู่กันที่นั่นมานานแล้ว เป็นร้อยปีขึ้นไป อย่างน้อยก็ก่อน 2527 ป่าแก่งกระจานคือบ้านของกะเหรี่ยงดั้งเดิม"
" ชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่งคือหน่อแอ ลูกของปู่คออี้ ผู้เฒ่าอายุ 103 ปี คือผู้ที่ช่วย ตชด.จากป่าบางกลอยให้พ้นจากความตายในป่า วันนี้ เขาตกเป็นผู้บุกรุกป่าไปแล้ว " เสียงนายสุรพงษ์ดังขึ้น จนผมต้องเงยหน้ามองอีกครั้ง
"ปี 2535 ผมบอกได้เลยว่า ตชด.เข้าไปปฏิบัติงานในป่าแก่งกระจาน ปะทะกับฝ่ายตรงข้าม เสียชีวิต 4 ศพ ที่เหลืออีก 4 ติดอยู่ในป่าบางกลอย หน่อแอ ลูกปู่คออี้เป็นชาวกะเหรี่ยงที่เข้าไปช่วยค้นหาและเป็นผู้ช่วยชีวิต ตชด.ที่ติดในป่า 35 วัน ขึ้น ฮ.กลับออกมาได้"
เขาชูหนังสือ 35 วันนรกในป่าบางกลอย ของเริงศักดิ์ กำธร นักเขียนชื่อดังโชว์ต่อสื่อมวลชน
ปู่ คออี้ที่อ้างถึงก็คือชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน เจ้าของฉายาจอมขมังเวทย์แห่งเทือกเขาตะนาวศรี ด้วยความเชื่อว่าคนที่เป็น "จอมพราน"นั้น คือผู้ที่สามารถติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติได้ นอกเหนือไปจากฝีไม้ลายมือ และความรอบรู้ในเรื่องของป่า ป่าอันเป็นต้นกำเนิดของชาวกะเหรี่ยง ถ้าเป็นคนไทยที่เชื่อถือในไสยศาสตร์ เรื่องลี้ลับ สิ่งศักดิ์ศิทธิ์ในธรรมชาติก็คือเจ้าป่า เจ้าเขา นั่นเอง
000
บรรยากาศ ในห้องเสวนาดูเหมือนว่าจะร้อนแรงขึ้น ทั้งๆ ที่แอร์เย็นฉำ เมื่อนายวุฒิ บุญเลิศ ประธานประชาคมชาวอำเภอสวนผึ้งถึงคิวพูด เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมและประเพณีกะเหรี่ยง ผู้ที่ได้รับการยอมรับกว้างขวางในความรอบรู้เรื่องของชาวกะเหรี่ยง คนจำนวนมากเรียกเขาว่า "อาจารย์วุฒิ" แม้ว่าจะมีอาชีพเป็นชาวนาก็ตามที
"ผมเป็นกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงโพล่ง"
"มี หลักฐานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว ฝรั่งมาสำรวจป่า เขียนบันทึกเรื่องชาวกะเหรี่ยง เรื่องสัตว์ป่า หน่วยงานของรัฐไม่รู้ว่ากะเหรี่ยงคืออะไร กะหร่างคืออะไร"
"ใน เรื่องพื้นที่ ชาวกะเหรี่ยงอยู่กันมานานแล้ว ตั้งแต่ปากท่อ หนองหญ้าปล้อง ป่าเด็ง บางกลอย ป่าละอู เหรียญชาวเขาปี 2512 ที่ให้กะเหรี่ยงก็บ่งบอกความเป็นไทย บริเวณใจแผ่นดิน เพชรบุรี คือพื้นที่ดั้งเดิมของกะเหรี่ยงในแก่งกระจาน "
"การใช้คำเรียกที่ไม่ชัดเจนว่าชนกลุ่มน้อย เป็นใคร เป็นการสร้างวาทะกรรมคลุมเครือ นำไปสู่การปฏิบัติต่อกลุ่มคนส่วนหนึ่ง (ว่าเป็นคนละพวก) เหมือนกับครั้งหนึ่งที่เคยมีการเรียกคนกลุ่มหนึ่งว่า ผกค. (ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์) เช่นการใช้คำว่ากะหร่าง ไม่เรียกกะเหรี่ยง ทำให้มีความชอบธรรมในการทำลายล้าง"
"ส่วนเรื่องการเผายุ้งข้าว มีการเผาจริงๆ!"
ประธานประชาคนสวนผึ้งเน้นเสียงหนักแน่น สั่นเครือคล้ายกำลังสะอื้นไห้
ผม ยังจำได้ดีว่า หลังจากได้รู้ข่าวเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับทหาร ขึ้น ฮ.ไปผลักดันชาวกเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน ผมได้โทรไปหาอาจารย์วุฒิ สอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น แม้ว่าผมจะไม่ได้ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวแล้วก็ตาม
"มีเผาบ้าน เผายุ้งฉางข้าว ผมกำลังติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังองค์กรคริสต์ นำข้าวไปช่วยชาวบ้าน ตอนนี้คนที่ถูกผลักดันไปอาศัยญาติพี่น้อง มีปู่ที่ล่าแรดรวมอยู่ด้วย"
อาจารย์วุฒิ หมายถึงเพื่อนเก่าของพ่ออายุ 103 ปี ต่อมาก็รู้กันทั่วว่าคือปู่คออี้ นั่นเอง
"ชาวบ้านไปขอข้าว เจ้าหน้าที่ไม่ให้ บอกว่าดัดนิสัย"
หลัง จากนั้นไม่นาน อาจารย์วุฒิได้เดินทางไปแก่งกระจานเพื่อนำข้าวสาน อาหารแห้งไปให้ชาวกะเหรี่ยงที่เดือดร้อน แต่ไม่ได้นำขึ้นไป คงฝากไว้ที่เจ้าหน้าที่อุทยานแก่งกระจาน
"ฝนตก เข้าไปลำบาก ฝากข้าวไว้ที่อุทยานฯ"อาจารย์วุฒิบอกผมในเวลาต่อมา
ผมเพิ่งมารู้ในวันนี้เองว่า ทำไมข้าวที่อาจารย์วุฒิจะนำไปให้ชาวกะเหรี่ยงจึงไปไม่ถึงมือพวกเขาในวันนั้น
"พี่น้องกะเหรี่ยงบอกผมว่า ข้าวถูกเผา เขามองกะเหรี่ยงไม่ใช่คน !"
ข้าวไปไม่ถึงมือ ไม่ถึงท้องชาวกะเหรี่ยงที่ถูกบอกว่าเป็นกะหร่างก็เพราะติดอยู่ที่อุทยานฯ ไม่ได้เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ
"ผู้นำท้องถิ่นบอกผมว่า พระธุดงค์มีเจ้าหน้าที่ไปรื้อเพิงพักที่จัดไว้ให้พระธุดงค์"
"เรื่อง ฮ.ตก นี่ใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น พอ ฮ.ตก ทหารในสวนผึ้งซึ่งเคยไปร่วมงานงานชาวบ้านกะเหรี่ยงก็ไม่ไป"
"พวก กะเหรี่ยงที่ถูกกระทำก็ถือว่าต้องอดทน อดทนต่อไป ไม่ตอบโต้ ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าทุกสิ่งมีชีวิต มีวิญญาณ คนมีวิชาอาคมเขาจะทำหรือไม่ทำ เขาจะไม่บอก"
อาจารย์วุฒิกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เฮลิคอปเตอร์ตกถึง 3 ลำ ที่มีข่าวตามสื่อต่างๆเรื่องอาถรรพณ์ในป่าแก่งกระจาน
"คนกะเหรี่ยงเชื่อเรื่องเลข 7 ซึ่งหมายถึงเรื่องดีและร้ายสุดๆ พอ ฮ.ตกมีผู้เสียชีวิต 17 คน ผมบอกจบแล้ว
000
ใน รอบ 2 ของการเสวนา คุณชุติมา นุ่มมัน ผู้ดำเนินรายการ ให้ผู้ร่วมเสวนาพูดอีกรอบ ผมมองนาฬืกาข้อมือ เพิ่งรู้ว่าได้มีการพูดกันกว่า 1 ชั่วโมงแล้ว ในรอบนี้จึงเป็นการสรุปเรื่องที่พูดในรอบแรกมากกว่า
"ผมยืนยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่เผายุ้งข้าวชาวบ้าน และกระทำตามหลักมนุษยธรรมด้วยซ้ำ"
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกล่าวในตอนหนึ่ง
"เราจับกุมยึดปืนได้ มีอาวุธสงครามด้วยแต่เราไม่ยึดไว้ มีฐานปืน ค.ด้วย เรายึดปืนมากระบอกเดียว"
"ผมรู้ว่าอาจารย์วุฒินำข้าวของไปแจก ผมไม่เห็นด้วย เท่ากับไปส่งเสริมคนพวกนี้"
"มติ คณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่องนโยบายในการฟื้นฟูชีวิตชาวกะเหรี่ยง ข้อ 2.1 ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็น ชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม"
"เรื่อง การจัดการทรัพยากร มติ ครม.ยังได้ระบุให้ส่งเสริมและยออมรับระบบไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถีวัฒนธรรม ของกะเหรี่ยงที่เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและพอเพียง รวมทั้งผลักดันระบบไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม มติให้ส่งเสริมไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงเพื่อผลักดันให้เป็นมรดกโลก ไม่ใช่ให้ทำลาย" สุรพงษ์ กองจันทึก กล่าว
"ความผิดบาปต่อแม่โพสพ การกระทำรุนแรงต่อข้าว บาปสูงเสียดฟ้า หนักกว่าแผ่นดิน การตอบแทนต่อผู้กระทำก็คือการตอบแทนของธรรมชาติ" อาจารย์วุฒิกล่าวถึงความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง
เวลา 12 นาฬิกา ผมเดินออกจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คิดว่าจะนำเสนอข่าวนี้อย่างไร เวลานั้น ผมยังไม่ยอมรับความจริงว่าผมไม่ใช่ผู้สื่อข่าวอีกต่อไปแล้ว เรื่องที่ผมได้ไปฟังมา นักข่าวรุ่นลูกก็คงกลับสำนักพิมพ์ กลับสถานีโทรทัศน์ เขียนข่าวรายงานกันไปแล้ว ผมนึกถึงโน้ทบุ้คของผู้สื่อข่าวแต่ละคน บางทีพวกเขาอาจจะเขียนข่าวเสร็จตรงนั้น ส่งจากตรงนั้นไปแล้วก็ได้
ผม นั่งรถเมล์กลับมาบ้าน แล้วเขียนรายงานเรื่องนี้เพื่อให้เพื่อนๆได้อ่านกัน เพิ่งเขียนเสร็จเมื่อเวลา 21 นาฬิกา 15 นาทีนี่เอง ถ้ามีใครกด "ถูกใจ"สัก 10 คน ผมก็พอใจแล้วครับ