ที่มา มติชน
โดย สมเกียรติ พงษ์กันทา วิศวกรอิสระ spongkanta@gmail.com
|
ตรงกับคำพังเพยของชาวอเมริกันที่ว่า If you need it badly - You are going to get it badly...
ประมาณ สองทุ่มครึ่ง ของวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2554 รถไฟความเร็วสูง ขบวนหมายเลข ดี 3115 (D3115) ประเภทซีอาร์เฮช 1 (CRH1-046B) มี 16 ตู้ ผลิตโดยบริษัทบอมบาร์ดิเอ (Bombardier) ร่วมกิจการกับจีน มีผู้โดยสาร 1,072 คน เดินทางจากเมืองหังโจว (Hangzhou) ไปยังเมืองฝู่โจว (Fuzhou) ประสบอุบัติเหตุ
อ้างว่าไฟดับ ขาดแรงไฟฟ้าขับเคลื่อนหยุดอยู่กับที่บนราง ทางวิ่งยกระดับสูงจากพื้นดิน ประมาณ 20 เมตร ที่เมืองชวนหยู ใกล้เมืองเหวินโจว (Wenzhou District) มณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang Province)
ในเวลาเดียวกัน มีรถไฟความเร็วสูงอีกขบวนหนึ่ง หมายเลข ดี 301 (D301) ชนิด ซีอาร์เฮช 2 (CRH2-139E) มี 16 ตู้ เช่นกัน ผลิตโดยบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีเลียนแบบคาวาซากิ (kawasaki) ของญี่ปุ่น ขนคน 558 ชีวิต ออกเดินทางจากกรุงปักกิ่งเพื่อไปเมืองฝู่โจว ปลายทางที่เดียวกันวิ่งมาชนท้ายด้วยความเร็วและแรง ทำให้ตกราง 8 ตู้ สองตู้สุดท้ายของขบวนแรกและสองตู้แรกของขบวนหลังหล่นจากสะพานซึ่งเป็นทางยก ระดับ ลงนอนกับพื้นดินสามตู้และพิงอยู่กับโครงสร้างของทางยกระดับอีกหนึ่งตู้
มีผู้เสียชีวิต 39 คน และบาดเจ็บกว่า 210 คน มี 12 คน อาการสาหัสมาก ในจำนวนผู้เสียชีวิตนี้มีชาวอเมริกัน 2 คน
หน่วย ปฏิบัติการกู้ภัยที่ปฐมพยาบาล นำผู้บาดเจ็บส่งสถานพยาบาลและหน่วยเก็บกู้อุปกรณ์ซ่อมรางนั้น ทำงานกันอย่างเร่งรีบ ขาดแผนการปฏิบัติที่รอบคอบ หลังยุติการค้นหาผู้บาดเจ็บ และเริ่มตัดชิ้นส่วนของซากรถแล้ว อีก 21 ชั่วโมงของวันต่อมา ได้พบเด็กผู้หญิงชื่อ เชียง เหวยอี้ อายุ 2 ขวบ คาดว่าทั้งบิดาและมารดาของเธอคงจะเสียชีวิตในรถขบวนแรก
เป็น ที่น่าสังเกตว่า ในการเก็บกู้ซากตัวรถและอุปกรณ์ต่างๆ ของรถนั้น เป็นไปอย่างรีบเร่งและมักง่าย ปราศจากกระบวนการพิสูจน์หลักฐานตามมาตรฐานความปลอดภัยของสากล ซากรถได้ถูกตัดทำลายโดยปั้นจั่นขนาดใหญ่ (backhoes) นำไปฝังกลบอยู่ใกล้กับที่เกิดอุบัติเหตุ โดยปราศจากขั้นตอนการนำไปวิเคราะห์หาหลักฐานสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุ
ทางราชการของจีนได้ออกแถลงการณ์เพียงแต่ว่าสาเหตุนั้น เกิดจากฟ้าผ่า ทำให้ระบบสายส่งกระแสไฟขัดข้องเท่านั้น
ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา (Chinese President Hu Jintao) นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า (Premier Wen Jiabao) และ รัฐมนตรีว่าการรถไฟ เฉิง กวงสู (Minister of Railway, Sheng Guangzu) ต่างก็ออกมาสั่งการให้ช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตโดยจ่ายค่าชดเชยให้คนละ 2 ล้านบาทเศษ เมื่อถูกประท้วงต่อมา เพิ่มเป็น 4 ล้านบาทเศษ บางครอบครัวปฏิเสธไม่ยอมตกลง ด้วยเห็นว่าน้อยไปสำหรับคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว
การแก้ไขวิกฤตของ อุบัติเหตุครั้งนี้ เป็นไปอย่างไม่โปร่งใสนัก กรมโฆษณาการของพรรคคอมมิวนิสต์ (The Chinese Communist Party′s Propaganda Department) พยายามกอบกู้ภาพลักษณ์ของการรถไฟความเร็วสูงของประเทศ ได้ออกคำสั่งให้สื่อมวลชน งดการส่งนักข่าวลงพื้นที่ ไม่ควรให้ความสำคัญกับข่าวนี้ งดเสนอข่าวเกี่ยวกับการพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายอื่นของประเทศ ให้นำเสนอเฉพาะภาพที่เป็นทางบวกต่อประเทศเท่านั้น
คำสั่งเหล่านี้ได้รับการวิจารณ์จากประชาชน และต่อต้านอย่างรุนแรงจากสื่อทางอินเตอร์เน็ต
ผล จากการกดดันของครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุ ทำให้รัฐบาลจีนต้องออกคำสั่ง เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 ให้ตรวจสอบและรณรงค์เกี่ยวกับความปลอดภัยของรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศและ ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน
ฉี ชิกซิน (Qi Qixin) ศาสตราจารย์ของสถาบันวิจัยการขนส่งของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ให้ความเห็นว่า อุบัติเหตุการชนท้ายนี้ น่าจะเกิดจากการควบคุมการเดินรถ (dispatching management) มากกว่าที่จะเป็นปัญหาความผิดพลาดทางเทคโนโลยี ระบบความปลอดภัยของรถน่าจะสามารถส่งสัญญาณเตือนภัยให้ขบวนหลังรับรู้ และสามารถหยุดได้ในระยะทางที่ปลอดภัย
เป็นที่น่าสงสัยว่าปัญหาไฟฟ้า ดับที่เกิดจากฟ้าคะนอง (thunder storm complex) นี้ มีศูนย์กลางเกิดขึ้นที่ 97 ก.ม. ห่างจากอุบัติเหตุรถไฟชนกัน ไปทางตะวันตก และ 32 ก.ม.ไปทางทิศใต้ จะเป็นสาเหตุให้ไฟฟ้าขับเคลื่อน (traction power) ที่ส่งไปตามสายไฟที่ขึงสูงเหนือหลังคารถไฟ (catenary) ให้ดับได้
แต่ ถึงแม้ไฟฟ้าขับเคลื่อนจะดับ ระบบความปลอดภัยของรถ (Automatic Train Protection, ATP) ซึ่งเป็นระบบย่อยอยู่ในระบบการควบคุมอัตโนมัติ (Automatic Train Control, ATC) ของระบบใหญ่ ก็น่าจะยังทำงานอยู่
ถ้า หากไม่มีคำสั่งจากศูนย์ควบคุมการเดินรถ (Central Control and Dispatcher) ให้ปลดระบบอัตโนมัติออกและให้เดินรถโดยการควบคุมจากคนขับ (Manual Mode)
อาจเป็นสาเหตุในการสั่งปลดผู้รับผิดชอบการเดินรถ 3 คน คือ นายลอง จิง หัวหน้าการรถไฟเซี่ยงไฮ้ (Long Jing, head of Shianghai Railway Bureau) นายฮี แชงลี ผู้ช่วย (He Shengli, Deputy Chief) และ นายลี เจีย เลขาธิการพรรค (Li Jia, Party Secretary)
และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลจีนก็ได้สั่งปลดนายหลิว ชีจุ่น รัฐมนตรีกระทรวงการรถไฟคนก่อน (Liu Zhijun, previous Railway Minister) ในข้อหารับสินบนจากงานก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นเงิน 800 ล้านหยวน
พนักงานขับรถขบวนที่สอง แป้น หยี่เฮง (Pan Yiheng) ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษในอุบัติเหตุครั้งนี้ เพราะได้พยายามเหนี่ยวคันห้ามล้อเพื่อให้รถหยุดอย่างเต็มที่
จน กระทั่งคันห้ามล้อนั้นได้ทิ่มแทงเข้าไปในหน้าอกเสียชีวิตคาที่ ซึ่งหาไม่แล้วจะเกิดความรุนแรง (more collision impact) เพิ่มจำนวนรถตกราง และมีผู้เสียชีวิตมากกว่านี้
จีนเพิ่งจะเริ่มพัฒนารถไฟความ เร็วสูงอย่างจริงจังใน ค.ศ.2004 โดยเริ่มงานก่อสร้าง และนำเอาเทคโนโลยีการผลิตหัวรถจักรของทั่วโลก จาก ยุโรปและญี่ปุ่น มาถอดแบบแล้วต่อยอด ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนที่จะจดลิขสิทธิ์ใหม่เป็นของตนเอง สร้างความไม่พอใจให้แก่เจ้าของ ผู้คิดค้นเทคโนโลยีเดิมหลายราย รวมทั้งคาวาซากิ และบริษัทที่เป็นต้นแบบของรถไฟหัวกระสุนในญี่ปุ่น ได้กล่าวหาว่าจีนผิดจริยธรรมของทรัพย์สินทางปัญญา (patent theft)
สำหรับ ระบบการควบคุมรถไฟ จีนได้ต่อยอดจากระบบการควบคุมรถไฟของยุโรป (European Train Control System, ETCS) ดัดแปลงมาเป็นของตนเอง เรียกว่า ระบบซีทีซีเอส (Chinese Train Control System, CTCS) ประยุกต์ใช้ระบบไร้สายให้สื่อสารกันระหว่างราง ทางวิ่ง หัวรถจักร กับศูนย์ควบคุมการเดินรถ ระบบการควบคุมรถไฟของจีนปัจจุบัน ดำเนินงานภายใต้อาณัติของบริษัทโฮลลี่ซิส ออโตเมชั่นเทคโนโลยี (Hollysys Automaion Technologies) ซึ่งมีอายุไม่มากนัก อยู่ในอุตสาหกรรมการควบคุมที่หลากหลาย บริษัทนี้ยังไม่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับเกี่ยวกับการควบคุมรถไฟ (Train Control System) ของนานาชาติ
จากการสำรวจทางอินเตอร์เน็ต สองแสนห้าหมื่นคนในประเทศจีน ร้อยละ 54 บอกว่าจะไม่ใช้รถไฟความเร็วสูง และหลายคนได้ส่งข้อความลงอินเตอร์เน็ตว่า ประเทศจีนเต็มไปด้วยปัญหาการคอร์รัปชั่น โกงกินกันมาก เพียงแต่ฟ้าผ่าก็สามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุรถไฟความเร็วสูงชนกันได้
ถ้าเปรียบก็เสมือนว่า ประเทศจีนเป็นรถไฟ ประชาชนทุกคนเป็นเพียงผู้โดยสารรอเวลาเพียงแต่ว่าเมื่อไรฟ้าจะผ่าลงมาเท่านั้นเอง
จุด ประสงค์ของบทความนี้เพื่อเพียงเป็นข้อมูลให้แก่รัฐบาลและประชาชนชาวไทยที่ เฝ้ารอรับการช่วยเหลือในโครงการรถไฟความเร็วสูงจากประเทศจีน หลังจากการช่วยเหลือเช่นเดียวกันแก่ประเทศลาวนั้น ได้สะดุดหยุดลงแล้ว ด้วยเหตุผลที่ประเทศลาวเห็นว่าประเทศจีนเอาเปรียบมากเกินไป