ที่มา มติชน
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง -พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์
คอลัมน์ รายงานพิเศษ ข่าวสด
แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคประชาธิปัตย์อยู่บ้าง เรื่องการเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จากพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ซึ่งสมัครใจย้ายไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และเตรียมเสนอชื่อ พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผบ.ตร.อาวุโสสูงสุดขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
แต่เสียงดังกล่าวก็บางเบาอย่างยิ่ง แม้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ พยายามออกมากรีดการโยกย้ายครั้งนี้ แต่ก็โดนสวนกลับอย่างหนักหน่วง
เพราะในสมัยนายอภิสิทธิ์ ก็ทำเรื่องกระทบวงการตำรวจอย่างรุนแรงด้วยการไม่มีผบ.ตร.ตัวจริงนานถึง 1 ปี ในช่วงพ.ศ.2552-2553 สาเหตุเพียงเพราะไม่สามารถตั้งคนที่ตัวเองต้องการได้ แม้จะใช้สารพัดกลเม็ดก็ตาม
สุดท้ายใช้วิธีตั้งคนที่ตัวเองต้องการรักษาราชการแทนผบ.ตร.ไปเรื่อยๆ จนเกษียณอายุราชการ จึงตั้งพล.ต.อ.วิเชียร เป็นผบ.ตร.ตัวจริงได้สำเร็จ
แม้แต่การจะวิพากษ์รัฐบาลที่ให้นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาฯ สมช. มาช่วยราชการสำนักนายกฯ เพื่อเปิดทางให้พล.ต.อ.วิเชียร มานั่งเก้าอี้ตัวนี้ ก็พูดได้ไม่เต็มปาก
เพราะสมัยนายอภิสิทธิ์ ก็สั่งเด้งพล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. และพล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เลขาฯ สมช. มาช่วยราชการ แล้วตั้งคนของตัวเองเข้าไปแทน
รวมทั้งการโยกย้ายอีกหลายกระทรวง และที่ถูกสับเละที่สุดคือปัญหาการโยกย้ายในกระทรวงมหาดไทย
พูดง่ายๆ ว่าสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ และพรรค ประชาธิปัตย์ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เกี่ยวกับการโยกย้าย ล้วนแต่เป็นสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ และรัฐบาลประชาธิปัตย์ทำมาแล้วทั้งสิ้น!??
จนถูกฝ่ายรัฐบาลเหน็บกลับว่า "ความจำสั้น"
โดยเฉพาะตำแหน่งผบ.ตร. หากเทียบไปแล้ว การเปลี่ยนตัวผู้นำสีกากีระหว่าง "นายกฯ หล่อ" กับ "นายกฯ สวย" แม้ผลจะเหมือนกัน แต่ขั้นตอนและความเรียบร้อยแตกต่างกันราวฟ้ากับเหวก็ไม่ปาน
พลิกปูมมาร์คเด้งพัชรวาท
หลังจากนายอภิสิทธิ์ ได้ขึ้นเป็นนายกฯ ช่วงปลายปี 2551 ท่ามกลางเสียงวิจารณ์อย่างหนักเรื่องการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และ "งูเห่า" ภาค 2 เพราะ นายเนวิน ชิดชอบ ที่เคยอยู่พรรคพลังประชาชน พาส.ส.แยกออกมาตั้งพรรคภูมิใจไทย สนับสนุนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
เก้าอี้ผบ.ตร.ของพล.ต.อ.พัชรวาท ก็ถูกเพ่งเล็งในทันที เนื่องจาก "ขาใหญ่ม็อบ" ไม่พอใจที่พล.ต.อ.พัชรวาท เอาจริงเอาจังเรื่องคดีความต่างๆ ทั้งการยึดทำเนียบ และสนามบินสุวรรณภูมิ
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่นายอภิสิทธิ์ ดึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ชายพล.ต.อ. พัชรวาท มาเป็นรมว.กลาโหม เพื่อเชื่อมกับกองทัพ ทำให้เก้าอี้ผบ.ตร.ยังนิ่งอยู่
กระทั่งวันที่ 17 เมษายน 2552 เกิดเหตุมือปืนยิงถล่มนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ มอบหมายให้ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร. (ในขณะนั้น) กำกับดูแลคดีนี้ และให้รายงานความคืบหน้าถึงนายอภิสิทธิ์ โดยตรง จนถูกมองว่าไม่เหมาะสมเหมือนข้ามหัวผบ.ตร.
จากนั้นเก้าอี้ผบ.ตร.ก็เริ่มร้อน เมื่อมีรายงานว่าผู้ยิ่งใหญ่บางคนใช้คดีนี้เขย่าบัลลังก์ผบ.ตร. โดยกล่าวหาว่าพยายามแทรกแซงคดี
พล.ต.อ.พัชรวาท ตัดสินใจลาพักร้อนช่วงปลายเดือนกรกฎาคม เพื่อให้ทำงานกันไปเต็มที่ ซึ่งปกติแล้วเมื่อผบ.ตร.ไม่อยู่ต้องให้รองผบ. ตร.อาวุโสสูงสุด รักษาราชการแทน แต่เนื่องจากรองผบ.ตร.อาวุโสสูงสุดชื่อ "พล.ต.อ. เพรียวพันธ์" ทำให้นายอภิสิทธิ์ตั้งพล.ต.อ. วิเชียร ขึ้นมารักษาการผบ.ตร.แทน
แม้พล.ต.อ.พัชรวาท เหมือนกับจะปล่อยวางแล้วเพราะตัวเองกำลังจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน แต่ก็ไม่วายโดนตามล้างตามเช็ดเมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดคดีอาญาและวินัยร้ายแรงจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551
นายอภิสิทธิ์ ฉวยดาบนี้สั่งเด้งพล.ต.อ.พัชรวาท มาช่วยราชการสำนักนายกฯ ในวันที่ 9 กันยายน พล.ต.อ.พัชรวาท จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง และต่อสู้ตามกระบวนการจนพ้นความผิดเรื่องสลายม็อบ
มีรายงานว่าสาเหตุสำคัญที่พล.ต.อ.พัชรวาท โดนเด้งทั้งๆ ที่กำลังจะเกษียณในอีกไม่กี่วัน ไม่ใช่เพราะเรื่อง ป.ป.ช.ชี้มูลเท่านั้น แต่น่าจะมาจากเรื่องโผแต่งตั้งนายพล และการแต่งตั้งผบ.ตร.คนใหม่ ซึ่ง พล.ต.อ.พัชรวาท ยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับนายอภิสิทธิ์
ตั้งผบ.ตร.ยุคชุลมุน
นายอภิสิทธิ์ มีความพยายามจะดัน พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ มาเป็นผบ.ตร.คนใหม่ ซึ่งเป็นการแหกประเพณีของวงการสีกากีที่ปกติแล้วจะให้รองผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1 ขึ้นมาเป็นผบ.ตร.
แต่พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ซึ่งเป็นรองผบ.ตร. อาวุโสสูงสุด ไม่ มีทางได้ขึ้นอยู่แล้วเพราะเป็นเครือญาติกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
กระนั้นก็น่าจะเลือกรองผบ.ตร.อาวุโสรองๆลงมา แต่กลับโดดข้ามไปเลือกจเรตำรวจแห่งชาติแทน
ช่วงนั้นวิเคราะห์กันมากมายว่าเหตุใดพล.ต.อ.ปทีป จึงเข้าตานายอภิสิทธิ์ ทั้งๆ ที่ดูตามเส้นทางชีวิตแล้ว ทั้งคู่แทบไม่เคยรู้จักหรือสนิทสนมกันเลย
อีกทั้งประวัติการรับราชการของพล.ต.อ. ปทีป ก็ไม่ได้โดดเด่นกว่ารองผบ.ตร.คนอื่นๆ
จนมีรายงานว่าพล.ต.อ.ปทีป ได้แรงหนุนจากขาใหญ่ม็อบที่ตอนนั้นยังญาติดีกับนายอภิสิทธิ์
และที่สำคัญเชื่อว่านายอภิสิทธิ์ ถูกใจพล.ต.อ.ปทีป เพราะเก่งเรื่องการบริหารงบประมาณอย่างมาก!??
นายอภิสิทธิ์ เสนอชื่อพล.ต.อ.ปทีป ขึ้นเป็นผบ.ตร.คนใหม่ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2552 แต่ก.ต.ช. เสียงข้างมากไม่เห็นชอบ!!!
นับเป็นว่าที่ผบ.ตร.คนแรกที่ถูกก.ต.ช. คว่ำชื่อกลางวงประชุม
สำหรับรายชื่อก.ต.ช.ในขณะนั้นประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี, นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม, นายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นก.ต.ช.โดยตำแหน่ง
ที่เหลืออีก 4 คนเป็นก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายเรวัต ฉ่ำเฉลิม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย, นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านงบประมาณ, นายนพดล อินนา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาองค์กร และพล.ต.อ.สุเทพ ธรรมรักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการวางแผนหรือการบริหารจัดการ
มีคนที่โหวตเห็นด้วยเพียง 3 คนคือ นายพีระพันธุ์, นายถวิล และนายปิยพันธุ์
เบื้องหลังคว่ำชื่อปทีป
ก.ต.ช.เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าผบ.ตร.คนใหม่น่าจะเป็นพล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รองผบ.ตร. เพราะโดดเด่นทั้งงานบริหารและปราบปราม รวมทั้งมีสายสัมพันธ์อันดีกับคนในหลายแวดวง แม้แต่ในระดับสูง
นอกจากนี้ ก.ต.ช.เสียงส่วนใหญ่ได้ "ข้อมูลสำคัญ" ที่มิอาจเพิกเฉยได้ เป็นข้อมูลส่งผ่านนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกฯ (ในขณะนั้น)
"ข้อมูลสำคัญ" นี้นอกจากก.ต.ช.ทุกคนจะรู้แล้ว นายอภิสิทธิ์ เองก็ทราบเช่นกัน แต่เหมือนไม่สนใจหรือไม่เชื่อ จึงดึงดันเสนอชื่อพล.ต.อ.ปทีป แทนที่จะเป็นพล.ต.อ.จุมพล
ผลที่ออกมาจึงคว่ำไม่เป็นท่า
บรรดาส.ส.รุ่นใหม่ของประชาธิปัตย์ ดาหน้าออกมาถล่มก.ต.ช.กันสนุกปาก เหมือนไม่รู้คำว่า "ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ"
ขณะที่ส.ส.รุ่นใหญ่แม้แต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ยังต้องเงียบเสียง เพราะรู้ดีถึงที่มาของ "ข้อมูลสำคัญ"
หลังโดนสอนเชิงในก.ต.ช. แต่นายอภิสิทธิ์ยังแสดงบท "ดื้อ" ด้วยความพยายามจะส่งชื่อพ.ล.ต.อ.ปทีป เข้าที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 16 กันยายน
โดยก่อนหน้านั้นก็พยายามเดิมเกม "แย่งเสียง" ชนิดที่อึ้งกันไปทั้งบาง
แรกสุดที่เข้าทางคือพล.ต.อ.พัชรวาท ซึ่งถูกเด้งไปช่วยราชการจากคดีสลายม็อบ 7 ตุลาคม 2551 แล้วตั้งพล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผบ.ตร.ขึ้นมารักษาราชการแทน
โดยนายอภิสิทธิ์ เลี่ยงที่จะตั้งพล.ต.อ.ปทีป ซึ่งเคยเป็นรักษาราชการแทนผบ.ตร.มาก่อนหน้านี้ เพราะต้องการให้พล.ต.อ.ธานี ใช้สิทธิ์ออกเสียงในก.ต.ช.ได้นั่นเอง
รายถัดมาคือ พล.ต.อ.สุเทพ ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีลูกชายเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจลาออกจากก.ต.ช.เพราะแบกรับความกดดันไม่ไหว
สุดท้ายคือนายกิตติพงษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งบังเอิญต้องไปราชการในวันเลือกผบ.ตร.พอดี ซึ่งคนที่มารักษาการแทนคือนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม
ตั้งเป็นรรท.ยันเกษียณ
หากดูเสียงตอนนี้เหมือนกับฝ่ายหนุนพล.ต.อ.จุมพล เหลือเพียง 4 เสียงนำโดย นายชวรัตน์ ส่วนฝ่ายนายอภิสิทธิ์ นอกจาก 3 เสียงเดิมแล้วยังเพิ่มพล.ต.อ.ธานี ที่มาแทนพล.ต.อ.พัชรวาท และนายชาญเชาวน์ รวมเป็น 5 เสียง
แต่ทว่าเมื่อถึงวันประชุมจริง นายอภิสิทธิ์ ก็โดนน็อกรอบ 2 เพราะก.ต.ช.ฝ่ายนายอภิสิทธิ์ อย่างน้อย 3 คนปิดห้องคุยกับนายกฯ ก่อนการประชุมก.ต.ช.ไม่นาน โดยระบุว่าไม่สามารถโหวตหนุนพล.ต.อ.ปทีป ได้
เนื่องจากได้รับรู้ถึง "ข้อมูลสำคัญ" ที่ย้ำมาอีกรอบ
นายอภิสิทธิ์ ตัดสินใจเลื่อนการแต่งตั้งผบ.ตร.ออกไปไม่มีกำหนด และใช้วิธีที่ไม่มีใครคาดคิดคือตั้งพล.ต.อ.ปทีป รักษาราชการแทนผบ.ตร.นานถึง 1 ปีเต็มๆ กระทั่งพล.ต.อ.ปทีป เกษียณอายุพร้อมพล.ต.อ.จุมพล ในเดือนกันยายน 2553
ผลจากนั้นนอกจากทำให้วงการตำรวจต้องติดขัดในการทำงาน เพราะไม่มีผู้นำตัวจริงแล้ว แม้แต่นายนิพนธ์ ยังต้องลาออกจากเลขาธิการนายกฯ เพื่อรับผิดชอบที่ไม่สามารถทำให้นายอภิสิทธิ์ ยอมรับฟัง "ข้อมูลสำคัญ" ได้
เมื่อพล.ต.อ.ปทีป เกษียณอายุราชการ คราวนี้ที่ประชุมก.ต.ช.ไม่มีปัญหาเมื่อนายอภิสิทธิ์เสนอชื่อพล.ต.อ.วิเชียร เพราะเห็นว่าเหมาะสมและที่สำคัญเป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ มาอย่างยาวนาน
การบริหารงานเรื่องผู้นำตำรวจระหว่างนายอภิสิทธิ์ กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เพิ่งจบไปหมาดๆ ด้วยความเรียบร้อย และเป็นไปอย่างละมุนละม่อม
จึงเป็นภาพเปรียบเทียบที่ชัดเจนยิ่ง!??