ที่มา ประชาไท
สอบพยานฝ่ายโจทก์วันสุดท้าย พล.ต.ท.บุญเลิศ กัลยาณมิตร เจ้าหน้าที่กองปราบปรามฯ เผย ได้รับแจ้งเบาะแสข้อความหมิ่นในเว็บไซต์ประชาไทดอทคอม จาก ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เมื่อสามปีก่อน พร้อมยืนยัน การดำเนินคดีทำตามหน้าที่ มิได้หวังผลทางการเมือง
9 ก.ย. 54 – เวลา 9.30 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 910 ศาลอาญา รัชดา ศาลออกนั่งบัลลังก์สืบพยานโจทก์ คดีหมายเลขดํา อ.1167/2553 ที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการและผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไท เป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 14 และ 15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กรณีมีผู้โพสต์ข้อความในเว็บบอร์ดที่เข้าข่ายขัดต่อกฎหมายดังกล่าว
จากการสอบพยานโจทก์ปากสุดท้าย พล.ต.ท. บุญเลิศ กัลยาณมิตร พนักงานสอบสวน กองกับกำการ 5 จากกองบังคับการปราบปราม ผู้เป็นพนักงานเจ้าของคดี เบิกความว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับแจ้งเบาะแสจากหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2551 ว่าเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ประชาไท มีข้อความหมิ่นเบื้องสูง
ทั้งนี้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 10 (ชช.) ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบัน ม.ล.ปนัดดา เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
ต่อมา พยานได้รับแจ้งจาก เจ้าหน้าที่สืบสวนจากกระทรวงเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ (กระทรวงไอซีที) ว่ามีลิงก์ยูอาร์แอลจำนวนหลายร้อยแห่งที่มีข้อความหมิ่นเบื้องสูง จากการตรวจสอบ พบว่า มีข้อความดังกล่าวอยู่ในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ประชาไทจำนวน 9 แห่ง
จากการสอบพยาน พล.ต.ท.บุญเลิศยอมรับว่า นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอย่างดี โดยให้ไอพีแอดเดรสของผู้ที่โพสต์ข้อความหมิ่นแก่เจ้าหน้าที่สอบสวน และได้ลบข้อความที่หมิ่นเบื้องสูงออก ตามที่ได้รับคำเตือนจากเจ้าหน้าที่กองปราบปรามฯ ในทันที อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า การที่ข้อความดังกล่าวอยู่ในเว็บไซต์ของประชาไทดอทคอม เป็นเวลา 11 วัน ถือว่ามีเจตนาตรงกับการกระทำความผิดที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
หลังการสอบพยานเสร็จสิ้น พล.ต.ท.บุญเลิศ กัลยาณมิตร เปิดเผยถึงสาเหตุที่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล มิได้มาให้การเป็นพยานในชั้นสอบสวนและชั้นศาลว่า ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เพียงแค่แจ้งเบาะแสการกระทำผิดแก่ตำรวจเท่านั้น แต่มิได้ยื่นเอกสารฟ้องอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
นอกจากนี้ เขาระบุว่า ไม่ได้มีใครอยากทำคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือกฎหมายอาญามาตรา 112 พร้อมยืนยันว่า การดำเนินคดีกับ น.ส.จีรนุช ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองเรื่องสีหรือฝ่าย และไม่ได้เลือกปฏิบัติแต่อย่างใด เพียงแต่ดำเนินการตามความผิดที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายเท่านั้น
อนึ่ง ในวันที่ 20-21 ก.ย. 2554 ศาลนัดสืบพยานฝ่ายจำเลยและจำเลย ทั้งหมดรวม 3 ปาก โดยในวันที่ 20 ก.ย. จะมีการเบิกความ นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ประชาไทดอทคอม และ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาชุมชน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ส่วนในวันที่ 21 ก.ย. จะเบิกความนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท และจำเลยในคดีดังกล่าว
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๕ ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ |