WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, August 23, 2009

สะพัดเอกสารไม่ชอบมาพากลโครงการพอเพียงล่องหน ชุมชนอยุธยาแฉโดน สพช.เปลี่ยนโครงการ "ชัยนาท"ส่อทุจริต

ที่มา มติชนออนไลน์

ลือเอกสารไม่ชอบมาพากลโครงการชุมชนพอเพียงหายวับ จนท.สพช.กลัว สตง.-กองปราบฯ ขอดูไม่มีให้ ชุมชนอยุธยาเผยโดนสพช.เปลี่ยนโครงการ ขณะที่ชัยนาทแจ้งจับกก.ชุมชนส่อทุจริต


ความคืบหน้าหลังนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (ศพช.) และนายประโภชฌ์ สภาวสุ ลาออกจากตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (รอง ผอ.สพช.) เพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตโครงการชุมชนพอเพียง ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม มีรายงานข่าวจาก สพช.แจ้งว่า เกิดกระแสข่าวสะพัดไปทั่ว สพช.ว่า เอกสารสำคัญๆเกี่ยวกับการอนุมัติโครงการชุมชนพอเพียง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุมชนที่มีความไม่ชอบมาพากลนั้นได้หายไปจาก สพช. คาดว่าจะมีผู้นำออกไปโดยไม่แจ้งให้นายสุมิท แช่มประสิทธิ์ ผอ.สพช.ทราบ ทำให้เจ้าหน้าที่หลายคนกังวลว่าจะเกิดปัญหาเมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามเรียกหาเอกสารสำคัญ


อย่างไรก็ดี นายสุมิท แข่มประสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบความผิดปกติเกี่ยวกับเอกสาร แต่เบื้องต้นอยู่ระหว่างให้เจ้าหน้าที่ไปรับมอบงานและเอกสารจากนายประโภชฌ์ สภาวสุอย่างเป็นทางการ ส่วนกรณีพรรคเพื่อไทยอ้างมีข้อมูลระบุความสัมพันธ์ของตนกับผู้ถือหุ้นบริษัท บีเอ็นบี อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)นั้น ยืนยันว่าไม่มีความไม่ชอบมาพากลอะไร เพราะส่วนตัวก็รู้จักกับผู้บริหารบริษัทบีเอ็นบีอยู่แล้ว


นายพิสิฐ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการ สตง. ซึ่งได้รับประสานให้เข้าสอบสวนกรณีทุจริตใน สชพ. กล่าวว่า โดยปกติผู้บริหารที่ถูกโยกย้ายหรือถูกปลดออก มักแอบนำเอกสารสำคัญออกไปพร้อมกับตัวเองอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ไม่ใช่เอกสารทางราชการ แต่เป็นเอกสารสำคัญส่วนตัว เช่น ข้อมูลการติดต่อบริษัทเอกชน เป็นต้น หรือถึงจะเป็นเอกสารทางราชการ โดยหลักการแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องทำสำเนาเก็บเอาไว้ และ สตง.สามารถเรียกสอบได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเรียกแล้วไม่พบ หรือไม่ให้ สตง. เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบก็ต้องมีความผิด ขณะนี้ สตง.ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ สพช.แล้ว


คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะแกนนำภาค กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโครงการชุมชนพอเพียงของพรรคสรุปผลสอบพบสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) 4 คน และสมาชิกพรรค 2 คน ร่วมมือกับภาคเอกชนขายสินค้าให้ชุมชนว่า ไม่คิดว่าเรื่องดังกล่าวจะกลายเป็นปัญหากระทบต่อคะแนนความนิยมของพรรคใน กทม. แต่ถ้ารู้ว่าใครทำผิดก็ต้องจัดการ ทุกองค์กรย่อมมีคนนอกลู่นอกทางบ้างเป็นเรื่องปกติ ส่วนการลงโทษมีลำดับขั้นตอน เริ่มจากไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ไปถึงขั้นขับออกจากสมาชิก แต่เท่าที่อยู่กับพรรคมานาน พบว่า พรรคจะให้คนมีปัญหาพิจารณาตัวเอง แต่ถ้าเป็นปัญหาใหญ่ก็ต้องจัดการ


นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กรรมการสอบข้อเท็จจริงโครงการชุมชนพอเพียง กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้ส่งรายงานผลสรุปการสอบให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค คาดว่าจะถึงมือแล้ว


รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า คณะทำงานพรรคพบบุคคล 2 กลุ่มในพรรคประชาธิปัตย์ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าวแยกเป็น 1.กลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทคู่ค้า ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทแห่งหนึ่งมีหน้าที่ดูแลค่าใช้จ่ายรับรอง ส.ส.ให้นายทุนพรรครายหนี่ง และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ที่มีบทบาทสูงในการจัดตั้งรัฐบาล 2.กลุ่มผู้ผลิตปุ๋ยและสินค้าทางการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจอนุมัติโครงการ แต่หลังจากเรื่องทุจริตแดงขึ้นมา คนในกลุ่มผู้ผลิตปุ๋ยพยายามตัดตอนความผิดให้อยู่ที่คนกลุ่มแรก ส่งผลให้บุคคลในกลุ่มแรกแอบส่งข้อมูลสำคัญบางส่วนให้พรรคเพื่อไทยเล่นงานรัฐบาล


ทางด้านความผิดปกติในขั้นตอนการอนุมัติโครงการของชุมชนหลายแห่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการชุมชนพอเพียง สพช.ตรวจสอบพบในหลายลักษณะ เช่น ชุมชนบางแห่งยื่นขอโครงการแบบหนึ่ง กลับได้รับอีกแบบหนึ่ง มีการเขียนชื่อประธานชุมชนผิด ไม่มีชื่อนายอำเภอรับรองนั้น ผู้สื่อข่าว "มติชน"ลงพื้นที่ตรวจสอบพบปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจริง


นายทองหล่อ ฉัตรแก้ว ประธานชุมชนปลายคลองเก่า หมู่ 13 ต.ไม้ตรา อ.บางไทร จ.อยุธยา ให้สัมภาษณ์ว่า ชุมชนได้รับงบประมาณโครงการ 150,000 บาท ประชาคมเลือกทำโครงการเครื่องพ่นปุ๋ยและยาฆ่าแมลง เนื่องจากเหมาะสมกับชุมชนมากที่สุด ต่อมาได้รับแจ้งว่าชุมชนได้โครงการแล้ว พอเปิดเว็บไซต์ สพช.ดูกลับกลายเป็นได้โครงการติดตั้งขยายเขตไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะ นอกจากนั้นยังพบว่าชื่อประธานชุมชนเป็นชื่อของบุคคลอื่น คือนายชอบ แสงสว่าง ไม่ใช่ชื่อตน เมื่อถามทางอำเภอไปก็ได้รับยืนยันว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงคำขอแต่อย่างใด


"ตอนแรกผมคิดว่าปัญหาอาจเกิดที่กระบวนการจัดทำข้อมูล เนื่องจากโครงการมีมาก คิดว่าแค่ติดต่อไปที่ สพช.ให้แก้ไขข้อมูลคงจะเพียงพอแล้ว แต่เมื่อให้อำเภอช่วยติดต่อยืนยันโครงการที่ต้องการไปยัง สพช. กลับได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ สพช.ว่าถ้าชุมชนคิดว่ามีปัญหาเกิดขึ้น ให้ทำหนังสือร้องเรียนเข้ามาอีกครั้ง ยิ่งสงสัยมากขึ้นว่าเกิดอะไรกัน จนขณะนี้ยังไม่ได้รับอนุมัติเงิน" นายทองหล่อกล่าว


ส่วนนายวิชา สุขทรัพย์ ประธานคณะกรรมการชุมชนบ้านเกาะใหญ่ หมู่ 2 ต.ไม้ตรา อ.บางไทร จ.อยุธยา กล่าวว่า ชุมชนมีปัญหาเช่นกัน หลังจากขอโครงการก่อสร้างและปรับปรุงร้านค้าชุมชน วงเงิน 150,000 บาท แต่กลับได้รับเครื่องพ่นยาและปุ๋ยแทน ที่แรกคิดว่า สพช.คงบันทึกชื่อโครงการชุมชนสลับกับชุมชนปลายคลองเก่า เพราะใช้ชื่อนายทองหล่อ ประธานชุมชนปลายคลองเก่ามาใส่แทนชื่อตน แต่จากการสอบถามไปที่ชุมชนปลายคลองเก่า ทราบว่าชุมชนไม่ได้เสนอโครงการร้านค้าแต่อย่างใด ไม่ทราบว่า สพช.เอาข้อมูลมาจากไหน และว่า ช่วงที่รัฐบาลประกาศทำโครงการ มีบริษัทเอกชนหลายรายส่งไปรษณีย์แนบโบร์ชัวร์สินค้ามาเสนอให้พิจารณา ระบุชื่อตนในฐานะประธานโครงการอย่างชัดเจน ไม่ทราบว่าได้ข้อมูลมาจากไหน เพราะเท่าที่ทราบมีแต่ สพช.เท่านั้นที่มีข้อมูลชุมชน


นายสุมิท แช่มประสิทธิ์ ผู้อำนวยการ สพช. กล่าวว่า ปัญหาที่ จ.อยุธยาน่าจะมาจากมีโครงการเสนอเข้ามามาก เจ้าหน้าที่อาจพิมพ์ข้อมูลผิดพลาด ประกอบกับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่หลายครั้ง ทำให้การทำงานอาจมีปัญหาเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม จะเข้าไปตรวจสอบ หากพบปัญหาเกิดขึ้นในขั้นตอนการทำงาน คงต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ส่วนกรณีที่บริษัทเอกชนเสนอขายสินค้าให้ชุมชนต่างๆ ตั้งแต่ยังไม่ได้เสนอโครงการนั้น ยืนยันได้ว่า ไม่ใช่ข้อมูลจาก สพช.แน่นอน แต่ไม่รู้ว่าได้ข้อมูลจากไหน


ที่ จ.ชัยนาท เป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งมีสภาพไม่ต่างไปจาก กทม. กล่าวคือมีกลุ่มบุคคลไปล็อบบี้ให้ชุมชนส่วนใหญ่จัดซื้อสินค้าพลังงานแสงอาทิตย์จากบริษัทกลุ่มเดียวกับที่ขายสินค้าดังกล่าวให้ชุมชน กทม.ในราคาแพงกว่าราคาท้องตลาดหลายเท่า แยกเป็นชุมชน 36 แห่งซื้อตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญพลังงานแสงอาทิตย์ มูลค่า 9.3 ล้านบาท ชุมชน 51 แห่งซื้อโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ มูลค่า 9 ล้านบาท บางชุมชนเกิดปัญหาส่อไปในทางทุจริต บางชุมชนกรรมการชุมชนแจ้งความดำเนินคดีซึ่งกันและกัน เป็นต้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายสมชาย คงฤทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านปากคลองแพรก หมู่ 3 ต.ชัยนาท อ.เมืองชัยนาท ได้เข้าแจ้งความ พ.ต.ท.สำเร็จ จันทวี พงส.(สบ3)สภ.เมืองชัยนาท ให้ดำเนินคดีกับกรรมการชุมชน 3 คน ซึ่งมีพฤติการณ์ส่อทุจริต สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2552 นายชด คงฤทธิ์ ประธานร่วมกับกรรมการชุมชน ทำบันทึกเสนอโครงการขุดลอกคูส่งน้ำเพื่อการเกษตร วงเงิน 300,000 บาท โดยมีนายสุชาติ แสนดี นายอำเภอเมืองชัยนาท ลงนามรับรองเสนอไปยัง สพช. แต่ต่อมากรรมการทั้งสามกลับร่วมกันจัดทำบันทึกการประชุมประชาคมอีกฉบับเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2552 แล้วแก้ไขเป็นโครงการโคมไฟถนนต้นละ 50,000 บาทจากบริษัทเอ็นเนอร์ยี โปร เทคโนโลยี จำกัด (บริษัทที่ขายโคมไฟใน กทม.) โดยเอกสารมีข้อพิรุธหลายจุด แต่เจ้าหน้าที่ สพช.ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กลับรีบอนุมัติโอนเงินและติดตั้งโคมไฟเสร็จภายใน 3 วันเท่านั้น