ที่มา ประชาไท
ชื่อบทความเดิม: เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร: การเกิดขึ้นของขบวนการ “คนเสื้อแดง” และลักษณะถึงรากเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
หมายเหตุ: บทความนี้นำเสนอครั้งแรกในการสัมมนาถอดบทเรียน 19 กันยา 49 ถึง 19 พฤษภา 53 หัวข้อ “สังคมไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2553 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“เรา มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? คำถามสำคัญในการเสวนานี้ คงสามารถที่จะตอบได้หลายระดับ เชื่อมโยงกับประเด็นที่สำคัญว่า “เรา” ในที่นี้คือใคร และหลายแนวทางขึ้นอยู่กับจุดเน้นและกรอบทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังในการอธิบาย แต่อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่า สิ่งที่เป็นศูนย์กลางหรือเกี่ยวข้องกับการอภิปราย-ตอบคำถามเรื่องนี้ล้วน เกี่ยวโยงกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการเกิดขึ้นของขบวนการมวลชน (Mass Movement) ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คนเสื้อแดง” ที่ทำให้พวกเราในที่นี้ คือ นักกิจกรรมบางส่วน ที่เป็นกองเชียร์ ผู้สนับสนุน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในบางระดับ รู้สึกตื่นเต้น กระชุ่มกระชวยอย่างมากเมื่อพิจารณาสำนึกบางด้านของพวกเขาที่ปรากฎให้เห็น สัมผัสได้อย่างชัดเจนเมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้นในการเสวนานี้ จึงขอเน้นไปที่การเกิดขึ้นของขบวนการ “คนเสื้อแดง” และย้อนกลับไปสู่การอธิบายปรากฎการณ์ทางการเมืองโดยภาพรวมที่ทำให้ “เรา” มาถึงจุดนี้
แนว คำอธิบายหลักที่สำคัญของนักวิชาการ ทั้งสนับสนุนเสื้อแดงและที่อยู่ในอ้อมกอดอำมหิตในเรื่องการเกิดขึ้นของคน เสื้อแดง มักเน้นไปที่ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมชนบท ซึ่งเป็นฐานมวลชนสำคัญ และนำมาสู่ปัญหาความคับข้องใจของคนเสื้อแดง และดังนั้นจึงไม่แปลกที่เมื่อพูดถึงการปฏิรูปประเทศไทย พวกเขาจึงกล่าวกันเฉพาะเรื่อง “โครง สร้าง” ทางเศรษฐกิจ-สังคม ความยากจน ฯลฯ และไม่มีคำว่า กองทัพ ศาล องคมนตรี หรือพระราชอำนาจของกษัตริย์ภายใต้ระบบประชาธิปไตย ในพจนานุกรมการปฏิรูป
การ อธิบายที่เน้นปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเหล่านี้ กล่าวให้ถึงที่สุด ไม่สามารถที่จะอธิบายการเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวได้จริงๆ เพราะแม้ขบวนการเคลื่อนไหวจะเกิดขึ้นในบริบทมหภาคในระดับกว้าง แต่พัฒนาการของมันจริงๆ แล้ว อยู่บนชุดของพลวัตที่มีลักษณะเฉพาะที่ทำงานในระดับจุลภาคมากกว่า ส่วนนี้จะเป็นตัวกำหนดลักษณะของขบวนการเคลื่อนไหว ดังนั้น จึงควรพิจารณากระบวนการ-พัฒนาการในด้านต่างๆ ของมันอย่างละเอียด เป็นการเฉพาะมากกว่า
จากการเก็บข้อมูลของผู้เขียน โดยการเข้าร่วมสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมและทำแบบสอบถามผู้เข้าร่วมชุมนุมเมื่อกลางปี 2552 จำนวน 253 คน มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้ คือ แม้ว่าคนเสื้อแดงจะมีความหลากหลายในแง่มิติทางเศรษฐกิจหรือสังคม แต่สิ่งหนึ่งมีลักษณะร่วมกันค่อนข้างชัดเจนและมีส่วนในการกำหนดลักษณะของ ขบวนการเคลื่อนไหวที่สำคัญคือ มิติทางด้านการเมือง และความสัมพันธ์กับทักษิณ-พรรคไทยรักไทย
นักวิชาการไทย ผู้ที่สนับสนุน เห็นอกเห็นใจ หรืออย่างน้อยก็ไม่ต่อต้านเสื้อแดง พยายามที่จะอธิบายว่า “คน เสื้อแดง” มีความหลากหลายในมิติต่างๆ รวมทั้งตั้งใจที่จะไม่พูดถึงหรือลดความสำคัญของทักษิณลง โดยทั้งนี้สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้วิจารณ์ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การอธิบายโดยการไม่ใส่ปัจจัยด้านทักษิณลงไปในการอธิบายการเกิดขึ้นของคน เสื้อแดงนั้นเพราะจะทำให้มีความสะดวกสบาย (comfortable) ในการอธิบายกับตัวเอง ที่ก่อนหน้านี้ มีลักษณะ “เกลียดทักษิณ” แต่ในอีกทางหนึ่งผู้เขียนกับพบว่า คำอธิบายในลักษณะนี้ นอกจากในหมู่นักวิชาการแล้ว เกิดขึ้นในหมู่เสื้อแดงเองบางส่วนด้วย โดยสิ่งที่ทั้งสองกลุ่มนี้มีร่วมกันคือ มาจากความคิดที่ว่าการมีลักษณะที่หลากหลาย มีความชอบธรรม หรือชอบธรรมมากกว่าปัจจัยที่มาจากส่วนที่เกี่ยวข้องกับทักษิณเพียงอย่าง เดียว
โดยเมื่อพิจารณาการลงคะแนนเสียงในระบบบัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งทั่วไป 6 กุมภาพันธ์ 2548 พบว่ามีถึง 87.6 เปอร์เซ็นต์ที่เลือก “พรรคไทยรักไทย” ดังนั้น ในแง่ทางมิติทางการเมือง กล่าวได้ว่า คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมอย่างไร เกือบทั้งหมด เป็นผู้สนับสนุน “พรรคไทยรักไทย” (และดังนั้นในความหมายแคบ คือ อดีตนายกรัฐมนตรี) ในการเลือกตั้งก่อนการรัฐประหาร ขณะที่อีกส่วนที่เหลือ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก มีท่าที่ต่อพรรคไทยรักไทย-ทักษิณ ในลักษณะค่อนข้างที่จะเป็นกลางมากกว่าต่อต้านทักษิณ
ตารางพัฒนาการของขบวนการเคลื่อนไหว “เสื้อแดง”
จากตารางพัฒนาการของขบวนการเคลื่อนไหว จะเห็นว่าการปรากฏตัวครั้งแรกของกลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณ คือ ช่วงที่ 1 คือ การออกมาเคลื่อนไหวในนามของคาราวานคนจนและสมาคมพิทักษ์ผลประโยชน์ผู้ขับ แท็กซี่ เพื่อสนับสนุนรัฐบาล ต่อต้านพันธมิตรฯ ที่สวนจตุจักร ซึ่งขณะนั้นระดมผู้เข้าร่วมในระดับหลายพันคน ขณะที่ในช่วงที่ 2 หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในช่วงแรก (2.1) ที่เป็นกลุ่มกิจกรรมอิสระนั้น ระดมคนเข้าร่วมได้ไม่มากนัก กิจกรรมระดมใหญ่ก็เพียงไม่กี่พันคน ขณะที่ช่วงที่สอง (2.2) หลังจากการยุบพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ PTV เพื่อโค่นล้ม คมช. นั้น สามารถระดมคนเข้าร่วมสูงสุดได้ราว 20,000 คน
ช่วงที่ 3 เมื่อพันธมิตรฯ ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลนั้น ช่วงแรก (3.1) การออกมาต่อต้านเริ่มต้นด้วยกลุ่มอิสระและนปช. (ไม่นับร่วมกลุ่ม PTV เก่าที่เข้าไปอยู่ในส่วนรัฐบาล) ที่สนามหลวง ก็ยังไม่สามารถที่จะระดมคนได้มากนัก แต่ช่วงที่สอง (3.2) หลังจากที่พันธมิตรฯ ยึดทำเนียบรัฐบาล การเคลื่อนไหวภายใต้การนำของความจริงวันนี้ สามารถที่จะระดมคนเข้าร่วมได้นับหมื่นคน โดยครั้งแรก 11 ตุลาคม 2551 ที่อาคารธันเดอร์โดม เมืองทองธานี เป็นการจัดชุมนุมครั้งแรกที่มีการประกาศใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ร่วมกันอย่าง เป็นทางการ และครั้งต่อมา 1 พฤศจิกายน 2551 ที่ราชมังคลากีฬาสถาน มีผู้ร่วมงานใส่เสื้อสีแดงเต็มสนามกีฬา อย่างน้อยน่าจะถึง 60,000 คน และช่วงที่ 4 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งช่วงมีนาคม-เมษายน 2552 และมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ภายใต้การนำของ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน มีผู้เข้าร่วมสูงสุด ในแต่ละครั้งอาจจะถึง 1 แสนคน
ข้อสังเกตที่สำคัญที่ได้จากตารางข้างต้น มีดังต่อไปนี้
1.ผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวมีจำนวนเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนเพียงหลักพันถึงแสนคนในครั้งล่าสุด และการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มย่อยหรืออิสระนั้นสามารถที่จะระดมคนเข้าร่วมได้ น้อยกว่าการเคลื่อนไหวภายใต้การนำของเครือข่ายทักษิณ-ไทยรักไทย (คือ PTV-นปก., ความจริงวันนี้สัญจร-นปช. แดงทั้งแผ่นดิน, สามเกลอ-นปช. แดงทั้งแผ่นดิน) ซึ่งแน่นอนด้านหนึ่งมีจากความต่างๆ ในด้านทรัพยากร แต่ด้านหลักมาจากฐานมวลที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวที่มาจากเครือข่ายผู้สนับ สนุนทักษิณ-ไทยรักไทย (และที่น่าสนใจคือ แม้การเคลื่อนไหวจะนำโดยกลุ่มอิสระ แต่ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สนับสนุนทักษิณ)
2. การเปลี่ยนแปลงในด้านปริมาณของผู้เข้าร่วมอย่างก้าวกระโดด คือ ในช่วงที่ 2 ที่พันธมิตรฯ ออกมาขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใหม่ นำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชนและเปลี่ยนขั้วรัฐบาล โดยระหว่างนั้น การชุมนุมใหญ่หลังวันที่ 13 ตุลาคม 2552 มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเต็มสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน
3. การปรากฏตัวของขบวนการเคลื่อนไหวของผู้สนับสนุนทักษิณ-ไทยรักไทย เกิดขึ้นหลังจากหรือต่อต้าน (1) การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ (2) การรัฐประหาร-ยุบพรรคไทยรักไทย, (3) การออกมาต่อต้านรัฐบาลใหม่ของพันธมิตรฯ และ (4) ล้มรัฐบาลพลังประชาชน หากถือว่าทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการล้มทักษิณ-ไทยรักไทย-พลังประชาชน การเคลื่อนไหวของพวกเขาก็คือ การปกป้องรัฐบาลที่พวกเขาสนับสนุน มาจากการเลือกตั้งของพวกเขา หรือ “ทักษิณ-ไทยรักไทย-พลังประชาชน” นั่นเอง
ในแง่นี้ จึงกล่าวได้ว่า คนเสื้อแดงจึงเป็นขบวนการโต้กลับ (Counter-movement) ของขบวนการเสื้อเหลืองและพวก และการประสบความสำเร็จของคนเสื้อเหลืองก็กระตุ้นทำให้พวกเขาอดรนทนไม่ได้ ต้องออกมาเคลื่อนไหว โดยมีเหตุการณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง นอกจากการรัฐประหารที่ทำให้คนส่วนหนึ่งแม้ไม่พอใจแต่ยังไม่ออกมาเคลื่อนไหว คือ การออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลสมัคร และความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลสมัคร-สมชาย
กล่าว เฉพาะการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ อะไรคือปัจจัยที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ แน่นอนที่สุด ปัจจัยภายในองค์กรมีความสำคัญ แต่อย่างที่รู้กันว่า แค่การชุมนุมไม่สามารถที่จะล้มรัฐบาลได้ ไม่นับรวมความเป็นไปได้ในการถูกปราบปรามเมื่อหันไปใช้ยุทธิวิธีการขัดขวาง ระบบการเมืองปกติ เช่น ยึดทำเนียบรัฐบาล-สนามบิน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลไม่สามารถที่จะปราบปราม-สลายได้แม้ว่าจะมีความต้องการก็ตาม นั่นคือ โครงสร้างโอกาสทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ชนชั้นนำอื่นๆ ไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวหรือเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลและ/หรือเป็นพันธมิตร กับพันธมิตรฯ จึงเป็นที่มาของคำอธิบายของ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการตอบกระทู้ถามสด ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 ว่า ”ทุกคนทราบดีว่าพันธมิตรฯ ชุมนุมมา 6 เดือน และใช้เสรีภาพอย่างผิดกฎหมาย ทุกคนก็ทราบดีว่าม็อบนี้เป็นม็อบมีเส้น เพราะหากเป็นม็อบธรรมดาเรื่องจบไปนานแล้ว”
ดังนั้น คนเสื้อแดงจึงต่อต้าน “เส้น” ของพันธมิตรฯ และทุกส่วนที่พวกเขาเชื่อว่ามีส่วนในการโค่นล้มทักษิณและรัฐบาลที่ตนเอง เลือกมา โดยกระบวนการเหล่านี้ พอที่จะสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ด้วยตนเอง เพียงแต่ติดตามข้อมูลข่าวสารและปะติดปะต่อปรากฎการณ์เหล่านั้นเข้าด้วยกัน แม้พวกเขาจะไม่สามารถที่จะอธิบายอย่างละเอียดอย่างเป็นวิชาการว่าเป็นปัญหา ความสัมพันธ์ของสถาบันการเมืองในรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ เป็นประมุขของรัฐได้ก็ตาม
กลุ่มนักเคลื่อนไหวบางส่วน ได้นิยามวันรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่าเป็นวัน “ตาสว่างแห่งชาติ” และจะจัดกิจกรรม “19 กันยา วันตาสว่างแห่งชาติ” ในวันพรุ่งนี้ หากวันตาสว่าง หมายถึง วัน realization สำหรับคนเสื้อแดงจำนวนมากเกี่ยวกับปัญหาของความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหา กษัตริย์กับสถาบันอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย หรือมีด้านที่มีวิพากษ์วิจารณ์ความสัมพันธ์นั้น การนิยามนี้ค่อนข้างที่จะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ประวัติศาสตร์ของการก่อเกิดคำ และพัฒนาการของขบวนการเคลื่อนไหวนัก เพราะหลังรัฐประหาร ประเด็นเหล่านี้มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างจำกัดในหมู่ปัญญาชนเป็น ส่วนใหญ่ ขณะที่คนทั่วไปที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารยังใส่เสื้อเหลือง และอย่างมากก็พุ่งเป้าเฉพาะองคมนตรี และแยกออกกันโดยไม่ได้เสแสร้ง อย่างที่สมศักดิ์อธิบายว่า “ความคิดหรือการแสดงออกที่ภายหลังถูกศัตรูทางการเมืองของพวกเขากล่าวหาว่า “หมิ่นสถาบัน” หรือ “ล้มเจ้า” นั้น หาใช่สิ่งที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในคนกลุ่มนี้ตั้งแต่ต้นแต่อย่างใด” แน่นอน ที่สุดในกระบวนการเคลื่อนไหว ผู้เข้าร่วมย่อมผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรับรู้ปัญหาดังกล่าวบ้าง แต่ 19 กันยา ก็ยังไม่ได้อยู่ในฐานะของหลักหมายของความเข้าใจดังกล่าว แต่กระบวนการเหล่านั้นเกิดขึ้นในช่วงการยึดทำเนียบรัฐบาลของพันธมิตรฯ ที่มีการขยายตัวของผู้เข้าร่วมอย่างมาก และทำให้ปรากฏด้านที่มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์อย่างชัดเจน โดยการอภิปรายถกเถียงในเรื่องนี้ที่สำคัญซึ่งแม้แต่ฝ่ายตรงกันข้ามก็ยากจะ โต้แย้งหรือเกิดอาการตาสว่างไปพร้อมกันด้วย และนำไปสู่การประดิษฐ์คำนี้เกิดขึ้นในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่ง และในอีก 1 ปีต่อมา ก็มีการประกาศ “วันตาสว่างแห่งชาติ” ขึ้นอย่างเป็นทางการ
และสำนึกบางอย่างที่มีลักษณะวิพากษ์-ถึงรากเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงเกิดขึ้นหลังจากนั้น
ถ้า ด้านนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำถามว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร สิ่งที่พอจะตอบได้คือ มาจากการปะทะต่อสู้กันของปัจจัย-ผู้กระทำการจำนวนมาก มากกว่าจะเป็นการวางแผนของใคร หรือกล่าวได้ว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง รวมทั้งการคำนวณผิดของคนสารพัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีส่วนสำคัญในการรัฐประหารและพยายามโค่นล้มทักษิณ (ซึ่งเป็นกระบวนการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน) ไม่เพียงแต่เฉพาะพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ที่ออกมาสารภาพอย่างตรงไปตรงมาว่าประเมินสถานการณ์ผิด
หากมองย้อนกลับไปที่การเมืองโดยภาพรวม โดยใช้ 19 กันยา เป็นหลักหมายสำคัญแล้ว พยายามตอบคำถามว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ความคิดหนึ่งที่น่าจะประยุกต์ใช้เพื่อช่วยอธิบายได้ดีคือ ปัญหาเขาควายด้านความมั่นคง (a security dilemma) แม้ว่าบริบทที่เกิดขึ้นนี้จะไม่ใช่ภาวะ anarchy และสงคราม แต่ด้วยความกลัวที่เกิดจากความรับรู้หรือความเชื่อว่ากำลังถูกคุกคาม พวกเขาตัดสินใจที่จะโจมตีก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงจากตกเป็นผู้ถูกโจมตี กล่าวคือ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทยมากมายก่อนหน้านี้ แน่นอนอย่างที่นักวิชาการพยายามอธิบายกัน แต่ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ นั้น ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง แต่มีความเปลี่ยนแปลงบางด้านที่สำคัญ นั่นคือการที่รัฐสภาหรืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้งได้กลายเป็นศูนย์กลางของ อำนาจทางการเมือง รูปธรรมคือ การปรากฏตัวขึ้นของรัฐบาลทักษิณ และประชาชนที่สนับสนุนเขาจำนวนมหาศาล ในขณะที่สถานการณ์ของกลุ่มที่เคยมีอำนาจ ควบควบคุมกำกับการเมืองก่อนหน้า กำลังอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่าน ทำให้ส่วนหลังรู้สึกว่าอยู่ในภาวะไม่มั่นคง ถูกท้าทาย หรืออาจจะเป็นผู้ถูกโจมตี-ล้มล้าง ด้วยความกลัวนี้ เพื่อรักษาอำนาจของตนเองเอาไว้เหมือนเดิม พวกเขาจึงเลือกโจมตีก่อนเพื่อป้องกันตนเอง หลีกเลี่ยงการถูกโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง นี่เป็นที่มาของการรัฐประหารและอื่นๆ เพื่อกำจัดทักษิณ และอาจกล่าวได้ว่าเป็นที่มาของการกำจัดเสื้อแดงในช่วงที่ผ่านมา