ที่มา ประชาชาติ
สัมภาษณ์พิเศษ "กรณ์ จาติกวณิช" ตอบทุกคำถาม ทั้งกระแสข่าวขัดแย้งนายกฯอภิสิทธิ์ช่วงทำนโยบายประชาภิวัฒน์ ผลงาน2ปีพอใจหรือไม่ ทำไมหว่านประชานิยมไปเยอะ แต่ชาวบ้านไม่รัก ข้อกล่าวหาดีแต่กู้ และนายกฯสำรองอยากเป็นหรือไม่ คลิกอ่าน...
เปิดศักราชใหม่มาได้ไม่กี่วัน รัฐบาลอภิสิทธิ์สามารถช่วงชิงพื้นที่ข่าวได้อย่างเบ็ดเสร็จ ด้วยการโชว์นโยบายอภิมหาประชานิยมชุดใหญ่เป็นของขวัญ 9 ชิ้นให้กับประชาชนฐานราก มาตรการชุดนี้ไม่เพียงแต่จะขย่มขวัญพรรคการเมืองคู่แข่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีกระแสว่าสร้างรอยร้าวเล็ก ๆ จากทำเนียบรัฐบาลไปถึงกระทรวงการคลังว่างานนี้มีคนแย่งซีนนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในการแถลงนโยบาย บ้างก็ว่าอยากเป็นนายกรัฐมนตรี "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สัมภาษณ์ "กรณ์ จาติกวณิช" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึง 2 ปีในเก้าอี้ รมว.คลังกับกระแสร้อน ๆ ข้างต้น
@ มีข่าวลือว่า รมว.คลังขัดแย้งกับนายกฯอภิสิทธิ์ช่วงที่ทำโครงการประชาวิวัฒน์
ใช่...คนกล่าวหาว่าผมขโมยซีนนายกรัฐมนตรี คนที่คิดแบบนี้ ผมคิดว่าน่ามีน้อย คงแกล้งพูดให้พวกเราทะเลาะกันมากกว่า ผมได้นำโครงการประชาวิวัฒน์รายงานให้ท่านนายกฯ คุณกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รับทราบมาตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. 2553 โดยผมขอให้หน่วยงาน 30 แห่งส่งเจ้าหน้าที่มาทำงานร่วมกัน เพื่อศึกษาหามาตรการมาช่วยเหลือประชาชนฐานราก กำหนดหัวข้อที่จะทำ ทั้งในเรื่องของการดูแลค่าครองชีพและสวัสดิการให้กับแรงงานนอกระบบ ปรับโครงสร้างการใช้พลังงาน และแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบ พอความคิดทุกอย่างตกผลึก และเริ่มกระบวนการประชาวิวัฒน์ ก่อนที่จะปิดโครงการในวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา ผมได้เรียนนายกฯอภิสิทธิ์ว่าผมอยากจะเชิญบรรณาธิการสื่อหลัก ๆ มาดูงานที่เราทำกันก่อนจะถึงวันปิดโครงการ 1 วัน จากนั้นพอวันรุ่งขึ้นนายกฯอภิสิทธิ์เดินทางมาเป็นประธานในพิธีปิดโครงการนี้ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าผมไปแย่งซีนนายกรัฐมนตรี ผมเชื่อว่านายกฯอภิสิทธิ์ไม่ได้คิดอะไร @ การตั้งชื่อโครงการประชาวิวัฒน์ก็มีปัญหา
ก่อนที่จะถึงวันปิดโครงการนี้ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ผมได้เรียนนายกฯอภิสิทธิ์และทีมงานว่าโครงการนี้ต้องมีชื่อ (brand) เหมือนกับ "ไทยเข้มแข็ง" แต่พอถึงเวลามาประชุมกันอีกครั้ง ปรากฏว่าทุกคนคิดไม่ออก ผมจึงต้องมานั่งคิดเอง แต่พอผมคิดชื่อออก ผมก็ต้องกราบขอโทษนายกรัฐมนตรีด้วยที่ไม่ได้บอกท่านก่อน ซึ่งประเด็นที่ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นกังวล คือชื่อที่ผมตั้งมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า "ประชานิยม" แต่ตอนนี้ไม่มีปัญหาแล้ว และชื่อก็ติดตลาดดี
ความหมายที่แท้จริงของ "ประชาวิวัฒน์" คือเป็นกระบวนการ การทำงานภายใต้หลักการ "คิดนอกกฎ บริหารนอกกรอบ" นี่คือความหมายที่แท้จริงของคำว่าประชาวิวัฒน์ ไม่ใช่ชื่อตัวมาตรการที่ออกมา
ข้อเท็จจริงประชาวิวัฒน์เป็นกระบวนการเอาไปใช้กับเรื่องอื่น ๆ ได้ อย่างเช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ศูนย์กลางการแพทย์ อุตฯท่องเที่ยว การพัฒนาระบบน้ำซึ่งมีกรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน ภาคเอกชน เกษตรกร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน มาวางแผนกัน เพราะเม็ดเงินเป็นแสนล้านบาท จะมาจัดลำดับความสำคัญกันอย่างไร ซึ่งกระบวนการประชาวิวัฒน์ทำได้ ที่สำคัญต่อไปจะใช้เป็นการขับเคลื่อนนโยบายอื่น ๆ ด้วย @ พอใจกับผลงาน 2 ปีที่ผ่านมาหรือไม่ และคิดอยากจะทำอะไรต่อไป
ทุก ๆ นโยบายที่จะทำต่อไปในอนาคต จะต้องตอบโจทย์ของประเทศได้ 1) ต้องช่วยเสริมสร้างฐานะการคลังให้มีความมั่นคงและยั่งยืน 2) ต้องช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ 3) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร บางคนเรียกว่าเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ 4) เน้นความโปร่งใส และลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่จำเป็นต้องตอบโจทย์ได้ทั้ง 4 เรื่อง แต่ต้องมีอย่างน้อย 1-2 เรื่อง
ยกตัวอย่าง การสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง ก็ได้มีการกำหนดเป้าหมายที่จะจัดทำงบฯสมดุลให้ได้ภายใน 5 ปี จะทำได้หรือไม่ได้ยังไม่ทราบ แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนกระทรวงการคลังระมัดระวังในการใช้จ่ายเงินมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการเข้าไปแก้ปัญหาการเบิกจ่ายงบฯรักษาพยาบาลของข้าราชการ ซึ่งทุก ๆ ปีจะเบิกกันจนเกินงบฯที่ตั้งไว้, ปัญหาภาระดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูฯ 80,000 ล้านบาทต่อปี และการบริหารเงินคงคลังให้ได้รับผลตอบแทน และการบริหารที่ดินราชพัสดุได้รับผลตอบแทนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเชิงสังคมหรือเศรษฐกิจ รวมไปถึงเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม, มีฐานภาษีกว้างขึ้น และมีรายได้ที่ยั่งยืน เป็นโจทย์ที่กระทรวงการคลังตั้งขึ้น และจะมีมาตรการออกมาเรื่อย ๆ
เรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม สังเกตได้ว่าปัจจุบันไม่มีหน่วยงานใดเลยที่เข้ามาทำหน้าที่รับผิดชอบงานในส่วนนี้ ผมจึงจัดตั้งหน่วยงานในสังกัดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เข้ามาพัฒนาการเงินภาคประชาชน คอยประสานงานกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ปล่อยสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ แก้หนี้นอกระบบ การเพิ่มความรู้ทางด้านการเงินพื้นฐานให้กับประชาชนรากหญ้า
@ รัฐบาลชุดนี้ทำประชานิยมไปตั้งเยอะ ทำไมชาวบ้านไม่ค่อยรัก
เรื่องกระบวนการทำงาน และวิธีการสื่อสารของรัฐบาลต้องปรับปรุง ต้องมีพัฒนาการและมีลูกเล่นมากขึ้น เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ.นี้ กระทรวงการคลังจะจัดงานสัมมนาให้กับเครือข่ายวิทยุชุมชน วิทยุท้องถิ่น เคเบิลท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้เข้าใจในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน พูดตรง ๆ พี่น้องประชาชนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาจจะไม่เป็นกลุ่มที่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ได้เล่นเฟซบุ๊ก การเข้าถึงกลุ่มนี้ต้องอาศัยสื่อพื้นบ้าน โดยมีธนาคารของรัฐเข้ามาร่วมกิจกรรมนี้ด้วย เราทำมาตั้งเยอะก็ควรสื่อสารให้ชาวบ้านรู้ ถ้าชาวบ้านไม่รู้ ก็จะไปกู้เงินนอกระบบเหมือนเดิม
@ รัฐบาลชุดนี้ดีแต่กู้เงินมาทำประชานิยมจะชี้แจงอย่างไร
ขอถามหน่อยว่ามีรัฐบาลชุดไหนที่มีนโยบายแล้วไม่ใช้เงินบ้าง คือรัฐบาลมีหน้าที่เข้ามาใช้เงินภาษี แต่ประเด็นคือใช้เงินคุ้มค่า และมีความโปร่งใสหรือไม่ น่าจะเป็นประเด็นคำถามมากกว่า ถ้าถามว่าคุ้มค่าแล้วหรือยัง ขอตอบตรง ๆ ว่ายังไม่คุ้มค่า ยอมรับยังมีรั่วไหลบ้าง แต่ก็จะพยายามแก้ไข
@ มักจะถูกสื่อวางตัวให้เป็นนายกฯสำรองคิดอย่างไร
เป็นการวางตัวโดยสื่อมวลชน แต่ไม่ได้ถูกวางตัวโดยพรรค ถามว่าอยากไหม ต้องพูดดี ๆ น่ะ ผมขอตอบเลยว่าไม่อยาก ทุกวันนี้ผมเข้ามาเล่นการเมืองเพราะอยากเข้ามาช่วยเพื่อน ตอนนั้นเพื่อนกำลังจะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค ยังไม่ได้เป็นรัฐบาลมีภารกิจใหญ่หลวงมาก คือ ต้องต่อสู้กับระบอบทักษิณ ในช่วงปี 2547-48 ยังมองไม่เห็นเลยว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ จนถึงทุกวันนี้ ความคิดนั้นก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ถึงแม้คนเราทุกคนต้องทำอะไรเพื่อตัวเองด้วย แต่ตอนนี้ต้องขอช่วยเพื่อนต่อไป
ผมคิดว่านายกฯอภิสิทธิ์เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีใครหรอกที่จะสมบูรณ์แบบ แต่ในสายตาของผมคิดว่าเขาสมบูรณ์แบบที่สุด ส่วนตัวผมเองก็เห็นข้อจำกัดของตัวเอง ในขณะเดียวกัน ถ้าถามว่าผมอยากทำงานที่ไหน ผมขอบอกตรง ๆ ว่าอยากทำงานที่กระทรวงการคลัง ผมก็เติบโตมาในรั้วของกระทรวงการคลัง คุณพ่อเป็นข้าราชการกระทรวงการคลัง การทำงาน วิชาที่เรียนมาก็อยู่ในแวดวงตลาดเงิน ตลาดทุน พอมาเป็น ส.ส. ได้เพิ่มมิติของชาวบ้าน เรียนรู้ความต้องการของประชาชนเพิ่มขึ้น ได้ทำในสิ่งที่อยากทำอยู่แล้ว เหนื่อยแค่ไหน พอไปคิดถึงนายกรัฐมนตรี พบว่าเหนื่อยมากกว่าเราหลายเท่า ก็รู้สึกดีขึ้น และถ้าไปถามภรรยาผม ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย เธอไม่อยากให้ผมเป็นมากกว่านี้
คนทุกคนก็มีข้อจำกัด ตอนนี้เราอยู่ในงานที่ที่เรามีความมั่นใจในทุก ๆ ด้าน งานของกระทรวงการคลังผมทำได้ แต่ถ้าก้าวขึ้นไปเป็นรัฐมนตรีคุมทุกกระทรวง คือตำแหน่งนายกรัฐมนตรี งานมันร้อยแปดพันเก้าจริง ๆ ผมเชื่อว่าไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนกล้าที่จะพูดออกมาได้อยากเต็มปากว่า มีความมั่นใจที่สุดในทุก ๆ เรื่องที่ตัดสินใจอะไรไป ผมคิดว่าใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นนายกฯอภิสิทธิ์ อันนี้ผมพูดจริง ๆ นายกฯอภิสิทธิ์รู้เรื่องของรัฐมนตรีประจำกระทรวงในบางเรื่องมากกว่ารัฐมนตรีเสียอีก นี่เป็นเรื่องจริง @ คุณกรณ์มีคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่
อย่าให้ผมพูดเลย และขอไม่คิด ขอไปคิดเอาตอนนั้น ตอบยาก คือเพราะว่าเราเลือกทำงานการเมืองตรงนี้ บางทีต้องว่ากันไปตามสถานการณ์ ผมเข้ามาเป็น ส.ส. คาดว่าต้องเข้ามาเป็นฝ่ายค้าน บางช่วงก็หลุดออกจากการเป็น ส.ส. เพราะเกิดการปฏิวัติ แต่ก็ทำงานต่อไป สวมวิญญาณตัวแทนของประชาชนทำงานต่อไป 1 ปี โดยที่ไม่มีตำแหน่ง หลังจากนั้นก็ได้รับเลือกตั้งกลับมาอีก ครั้งนี้ก็หวังว่าจะได้เป็น ส.ส.ฝั่งรัฐบาล พอได้เป็นก็ว่ากันไปตามบทบาท ก่อนเข้ามาเล่นการเมือง ผมก็ขีดเส้นไว้ให้กับตัวเองว่าจะทำงานการเมืองแค่ 15 ปี ตอนนี้ผ่านมา 6 ปีแล้ว ยอมรับว่าเหนื่อย สมัยหน้าก็อยากจะมานั่งที่กระทรวงการคลังอีก มีหลายเรื่องที่อยากจะทำ อย่างแผนการปฏิรูปงานที่กระทรวงการคลัง ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ถ้าไม่มีคนมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนแผน พูดกันตามตรง