ที่มา Thai E-News
เนื่องจากวันกองทัพไทย โดยประเด็นพื้นฐานของความเข้าใจจากช่วงการเปลี่ยนผ่านสภาพแวดล้อมของกองทัพง่ายๆ สู่อนาคตปรับโครงสร้างทหารไทยนี้รักสงบ เหมือนเพลงชาติไทย ในขณะที่เรากำลังวุ่นวายกับกระแสชาตินิยม
โดย อรรคพล สาตุ้ม
เนื่องจากวันกองทัพไทย(*) ก็มีความสลับซับซ้อนกับความสัมพันธ์เชิงประวัติศาสตร์ไม่น้อย
จากวันที่ 28 กรกฎาคม 2484 คือ กำเนิดวันกองทัพบก เพราะเหตุการณ์ชัยชนะในสงครามอินโดจีน(1)
และต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงของวันของกองทัพบก เป็นวันที่25 มกราคม เชื่อมโยงกับวันยุทธหัตถีของพระนเรศวร
แล้วสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก ในปี พ.ศ.2502 กระทรวงกลาโหมเห็นสมควรรวมวันที่ระลึกของกองทัพบก,กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เป็นวันเดียวกัน คือ วันที่ระลึกกระทรวงกลาโหม คือวันที่ 8 เมษายน และให้เรียกว่า วันกองทัพไทย
จนกระทั่งต่อมา วันที่ 25 มกราคม กลายเป็นวันกองทัพไทยในสมัยพลเอกเปรม
ซึ่งการเมืองของไทยสมัยทักษิณ ก็มาเปลี่ยนวันที่ 25 มกราคม มาเป็นวันที่ 18 มกราคม ในทุกปีเป็นวันกองทัพไทย
โดยเราจะเห็นว่า การเมืองทำหน้าที่เชื่อมโยงวีรกรรมของพระนเรศวรในอดีตนั้นเอง ซึ่งแตกต่างจากวีรกรรมของชนชั้น ในคนธรรมดา สามัญ ซึ่งเราสามารถเข้าใจประเด็นชนชั้นจากวันดังกล่าว มาสู่ประเด็นทางการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่านโครงสร้าง ความเชื่อ อุดมการณ์ ลัทธิทหารนิยม และสภาพแวดล้อมของกองทัพ ที่เหมือนมีบ้าน พ่อ แม่ พี่น้อง แล้วทหารเป็นคนดูแลรั้วบ้าน
ซึ่งอนาคตทหารไทยนี้รักสงบ เหมือนเพลงชาติ ในขณะที่เรากำลังวุ่นวายกับกระแสชาตินิยม ฉะนั้น จากวันที่18 มกราคมเป็นการสะท้อนอดีตในยุคชาติแบบวันยุทธหัตถี ก่อน 24 มิถุนา 2475
ก่อนและหลัง 24 มิถุนา 2475 ถึงกองทัพภายใต้อิทธิพลอเมริกา
เมื่อการเมืองของกองทัพ และยุคสมัยที่ทหารเปลี่ยนรากฐานจากกองทัพของราชา คือ โครงสร้างกองทัพจากอินเดีย ตามความเชื่อและอุดมการณ์ดังกล่าว มาเป็นแบบยุโรป ในสมัยร.5 สู่การปรับโครงสร้างของกองทัพเป็นแบบอเมริกาหลัง 2475
คือ สมัยจอมพล ป. การสร้างชาติ และกองทัพ โดยปี พ.ศ. 2482 "ประเทศสยาม" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ประเทศไทย" รัฐบาลจึงได้จัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติไทยใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ โดยกำหนดเงื่อนไขยังคงใช้ทำนองของพระเจนดุริยางค์อยู่เช่นเดิม แต่กำหนดให้มีเนื้อร้องความยาวเพียง 8 วรรคเท่านั้น และปรากฏคำว่า "ไทย" ซึ่งเป็นชื่อประเทศอยู่ในเพลงด้วย
ผลการประกวดปรากฏว่าเนื้อร้องของพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งส่งประกวดในนามกองทัพบกได้รับรางวัลชนะเลิศ รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศรับรองให้ใช้เป็นเนื้อร้องเพลงชาติไทย โดยแก้ไขคำร้องจากต้นฉบับที่ส่งประกวดเล็กน้อย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
จากเราเรียนรู้เพลงชาติไทย แล้วช่วงรับอิทธิพลอเมริกา และนโยบายการต่างประเทศหลังเข้าร่วมรบกับสงครามเกาหลี เป็นต้นมา โดยเราก็รู้ว่า โมเดลของญี่ปุ่น ด้านการทหารจากสงครามโลก ก็กองทัพหมดบทบาทไป ภายใต้อิทธิพลของอเมริกา แต่ว่าประเทศไทย ไม่ใช่อยู่ในรูปแบบเหมือนญี่ปุ่น ที่แพ้สงคราม จึงทำให้เกิดข้อจำกัด ที่เราจะเป็นโมเดลของญี่ปุ่น และการวิเคราะห์ปัญหาจัดกำลังรบให้มีขนาดเล็ก และจัดการศึกษาร่วมกับพลเรือน รวมทั้งการกระจายอำนาจของการบังคับบัญชา ฯลฯ
นี่เป็นประเด็นปัญหาโดยหลายประเด็นของการปรับโครงสร้างกองทัพ ซึ่งนับตั้งแต่การเมืองหลังปี2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ก็ได้เปลี่ยนวันกองทัพ ดังกล่าว ซึ่งกองทัพ พยายามทำการปรับเปลี่ยนจากระบบโครงสร้างตามอเมริกา ภายใต้การต่อสู้กับกองกำลังคอมมิวนิสต์ สมัยรัฐบาลทหารในช่วงปี2514-19นั้นเอง จนกระทั่ง ช่วงที่มีรัฐบาลพลเรือนขึ้นมา คือ มรว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม(27 สิงหาคม พ.ศ. 2519-23 กันยายน พ.ศ. 2519)โดยพลเรือนคนแรก ก็ยังไม่สามารถควบคุมกองทัพได้
จากการเมืองยุคนั้นต่อมา คือ 6 ตุลา 2519 เป็นต้นมา กรณีวาทกรรม ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป และอุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่มีการฆ่าคนอื่น เป็นญวน หรือเวียดนาม ในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา ซึ่งรัฐทหาร ฆ่าคนไม่ใช่ประชาชนไทย จนกระทั่ง การเปลี่ยนผ่านมาสู่ช่วงสมัย หลังพลเอก เปรม เป็นนายก ก็มาถึงยุคของชาติชาย ซึ่งแสดงความสามารถผ่านแบรนด์ ที่ว่า สามารถควบคุมกองทัพ ได้หลังจากผ่านช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบ และเราได้นายกฯ จากการเลือกตั้ง ซึ่งสมัยนั้น พล.อ.ชวลิต เป็นผบ.ทบ. ก็ไม่มีการปฏิวัติ หรือ รัฐประหารขึ้นมา และชวลิต ก็แสดงออกถึงความเป็นทหารอาชีพ และลดบทบาทกองทัพจำกัด ภายใต้กรอบประชาธิปไตย
ข้อเสนอการปรับโครงสร้างกองทัพก่อนและหลังพฤษภา 2535
การเมืองไทย เกิดภาวการณ์เติบโตอย่างสูง ภายใต้การนำของ ชาติชาย ชูนโยบายเปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า ก็สอดคล้องกับการพยายามดึงทหารกับกรม กอง เพื่อให้ทหารเป็นทหารอาชีพ ไม่ยุ่งกับการปฏิวัติ และรัฐประหาร ในรัฐบาล ซึ่งนโยบายดังกล่าว เกี่ยวโยงกองทัพ และการปรับตัวภายใต้เศรษฐกิจโลก และไทย ก็ถือว่า กำลังจะกลายเป็นนิกส์ คือ เสือตัวที่ 5 ภายใต้โมเดล์นิกส์อันน่าสนใจว่านิกส์ ที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมตามเกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน
ซึ่งประเทศเหล่านี้ เป็นโมเดลหรือตัวแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งช่วงเวลานั้น กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง ก็เคยเชิญพวกพันศักดิ์ และไกรศักดิ์ มาวิเคราะห์เศรษฐกิจในช่วงนั้น ก็มีประเด็นถกเถียงเรื่องโมเดลดังกล่าว ซึ่งน่าสังเกตว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมนั้น ไม่มีทหารมายุ่งเกี่ยวทางการเมืองอีกแล้ว
แต่ว่าการเมืองไทย ก็ยังพลิกผันจากนโยบาย และเศรษฐกิจดังกล่าว ซึ่งต่อมาเราก็รู้ว่า ประเทศไทย กำลังก้าวไปสู่ระบบทุนนิยม โดยทหารไม่สามารถมาบริหารประเทศได้เหมาะสม จากช่วงเหตุการณ์ก่อนพฤษภา 35 พรรคพลังธรรม พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องประชาธิปไตยและหาเสียงลดอำนาจทหาร
โดยต่อมาการเลือกตั้งต้องมีความชอบธรรม และประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะต่อมาไทยก็ได้รับบทเรียนจากวิกฤติการณ์ทางการเมือง ในช่วงพฤษภาปี 2535 ก็ไม่อาจสามารถอ้างว่า ฆ่าคนญวนได้อีกต่อไป เพราะเราก็รู้ว่าในโลกหลังสงครามเย็นทางการเมืองระหว่างประเทศอินโดจีน ซึ่งเราได้เคยเรียนรู้มาจากประวัติศาสตร์เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ทำให้เรารู้ว่า ชนชั้นกลาง และแรงงาน ต่างๆนานา รับไม่ได้กับการย้อนกลับสู่ระบบอำนาจนิยมโดยทหาร ทำให้เผด็จการครองประเทศอีกต่อไป
ฉะนั้น การเมืองไทย จึงมีไอเดียนำเสนอปฏิรูปกองทัพ เช่น แนวคิดนโยบายจิ๋วแต่แจ๋ว(2) โดยชวลิต สมัยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ผู้มีความซับซ้อนทางการเมืองจากฝ่ายกองทัพเกี่ยวพันพลเอก เปรม มาเป็นฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย ในช่วงเหตุการณ์พฤษภา แต่ว่าไอเดียของชวลิต บางด้านก็น่าสนใจ
โดยแนวคิดการลดขนาดกองทัพ ลดงบประมาณ และงดซื้ออาวุธ ยุโธปกรณ์ ซึ่งได้รับอิทธิพลของชูมากเกอร์ และความน่าสนใจของเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธด้วย ในลักษณะของเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ คือไม่ได้เน้นความรุนแรง ซึ่งตรรกะไม่เน้นความรุนแรง ก็ย่อมไม่สนับสนุนการซื้ออาวุธ สำหรับประหารคน และเรือรบ ก็ทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ นั่นเอง
แม้ว่าการปรับโครงสร้างของกองทัพ จะยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยเราอาจจะเห็นในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลชวลิต ซึ่งเกิดการเติบโตทางพัฒนาเศรษฐกิจ เรื่อยมาจากยุคชาติชาย ในไทย ที่ไม่น่าจะย้อนกลับไปสู่ระบบเผด็จการ จากเศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งไม่มีทหารแทรกแซง จนกระทั่ง วิกฤติเศรษฐกิจ ปี2539 และการร่างรัฐธรรมนูญ ปี2540
รวมทั้งแนวคิดกระจายอำนาจ อบต.ต่างๆ ซึ่งรอยต่อ ทางการเปลี่ยนแปลงการเมืองของยุคโลกาภิวัตน์ กำลังเข้ามา ในการแก้ไขเรื่องที่ดิน ความยากจน และประชาธิปไตย โดยวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้กองทัพต้องปรับลดงบประมาณของกองทัพ ตามวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง และกองทัพ ก็เป็นปัญหาของการจัดการงบประมาณของประเทศ ทั้งกรณีทหารกับหุ้นของทีวี ททบ.5 ที่ดิน ทำสนามกอลฟ์ และธนาคาร ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้ทหาร มากกว่าประชาชนทั่วไป
ผู้เขียน ใช้ข้อมูลยกตัวอย่างง่ายๆ ในโครงการเออร์ลี่รีไทร์ จากนายพลจำนวนนับพันคน มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ยอมเข้าโครงการ เมื่อนโยบาย เพื่อรีดไขมันล้มเหลวต่อเนื่องเรื่อยมา กองทัพต่างๆ ก็ไม่สามารถนำส่วนที่ปรับลดได้จากงบฯบุคลากรไปโปะในงบฯเสริมสร้างกำลังกองทัพ โดยปีไหนภาวะเศรษฐกิจดี หรือปีไหนกองทัพมีอำนาจเหนือฝ่ายการเมือง งบฯเสริมสร้างกำลังกองทัพจึงอู้ฟู่ตามปกติ อยากจัดซื้อจัดหาอย่างไรก็ง่ายดาย แต่เมื่อปีไหนเศรษฐกิจฝืดเคือง ไปจนถึงขั้นวิกฤต ถึงกองทัพจะมีอำนาจเหนือฝ่ายการเมืองอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้งบฯเสริมสร้างกำลังกองทัพอู้ฟู่เหมือนเดิม(3)
รัฐประหารโดยกองทัพ นำมาสู่อิทธิพลของทหาร และความเชื่อต่ออนาคต
การเมืองได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เมื่อสมัยรัฐบาลทักษิณ เนื่องจากมีความพยายามสร้างเพลงชาติ ฉบับแกรมมี่ และการปรับโครงสร้างกองทัพ ซึ่งทหาร เป็นเครือญาติของทักษิณ คือ ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ก็ได้ดำรงตำแหน่งทั้ง ผบ.ทบ. และผบ.สูงสุด รวมทั้งไอเดียการพยายามเปลี่ยนโครงสร้างกองทัพเพื่อทันสมัย และดับไฟใต้ กรณีการตั้งสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นผบ.ทบ.เพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้ต่อจากประวิตร(ปัจจุบันเป็นรมต.กลาโหม)
แล้วเหตุการณ์ ก็พลิกกลับสนธิ บุญฯ ตามกระแสปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มฯ มวลชนประชาชนของพันธมิตร สู่รัฐประหาร ทำให้รัฐบาลของทักษิณ ล้มลง และเราก็รู้ว่า คณะรัฐประหารที่ผ่านมานั้น เกี่ยวกับโหราศาสตร์ คือ เชื่อโหรฯคมช.มากและประชาชนต้องมาเห็นอดีตทหาร คือพลเอกสุรยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกฯ และต่อมา สมัยนายกฯ สมัครถึงสมชาย ในฐานะดูแลควบตำแหน่งกระทรวงกลาโหม ก็จัดการกับอิทธิพลของกองทัพ ไม่ได้
จนกระทั่ง การเปลี่ยนรัฐบาลจากที่เรารู้กันมา คือ ข้อมูลว่า อภิสิทธิ์ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร หรือรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งหนีเกณฑ์ทหารต่างๆ และในปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลอภิสิทธิ์ มีความคิดที่จะสร้างแนวทางในการรวมพลังสร้างความสามัคคีของคนไทยทั้งชาติ จึงจัดตั้งโครงการ ไทยสามัคคี ไทยเข้มแข็ง ขึ้น
โดยร่วมมือกับ หน่วยบริหารราชการส่วนท้องถิ่นทุกจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร จัดการแสดงเพื่อคำนึงถึงเอกลักษณ์ของชาติ เสนอประวัติศาสตร์ในแต่ละจังหวัดโดยสังเขป จากนั้นจึงประกอบพิธีเคารพธงชาติ พร้อมบรรเลงและขับร้องเพลงชาติในเวลา 18:00 น. หมุนเวียนไปยังแต่ละจังหวัด โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน - 5 ธันวาคม พ.ศ. 2552 เป็นตัวอย่างชัดเจน
แต่นั่นแหละสิ่งตรงกันข้ามทหารไทยนี้รักสงบ จากการเมืองจากเมษา ปี2552 สู่เมษา ปี2553 โดยการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง โดยเราสามารถทบททวนความทรงจำจากรายนามผู้บัญชาการทหารสูงสุดและกองทัพไทย กับรายนามผู้บัญชาการทหารบกแห่งกองทัพบกไทยได้จากวิกิพีเดียด้วย เนื่องจากการเมือง ก็มีประเด็นต่อการอนุมัติงบประมาณทหารจำนวนมาก และกรณีที่มีประเด็นคอรัปชั่นเชิงนโยบาย หรือข้อโต้แย้งเรื่อง ซื้ออุปกรณ์ ไม่มีคุณภาพ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น จีที 200 ฯลฯ เป็นต้น
ทั้งนี้ การต่อสู้ทางสภา ก็มีการเรียกร้องปรับลดงบประมาณในกระทรวงกลาโหมจำนวน170,285,022,900 ล้านบาท โดยน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายขอปรับลดร้อยละ 10 จากงบทั้งหมด 1.7 แสนล้านบาท เนื่องจากเห็นว่า เป็นงบประมาณที่มากเกินไปทั้งที่สังคมยุคโลกาภิวัตน์ที่เน้นเรื่องการทำสงครามการค้า
นี่เป็นประเด็นหนึ่ง ซึ่งมีหลายประเด็นซับซ้อนในยุคสมัยที่กองทัพ กลับมามีอำนาจจัดซื้ออาวุธ เกี่ยวพันข่าวทั้งพลเอก เปรม และกองทัพต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเราอยู่ในโลก ยุคโลกาภิวัตน์ โดยน่าจะปรับโครงสร้าง แต่ผบ.ทบ.คนล่าสุด กับข้อเสนอโครงสร้างกองทัพ รับมือสู้ภัยพิบัติโลก
เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.มีแนวคิดที่จะปรับโครงสร้างกองทัพใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจเฉพาะหน้า อย่างเช่น ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งใกล้ปี 2012 ที่ภัยพิบัติทวีความรุนแรงมากขึ้น และเป็นไปตามคำทำนายของโหราศาสตร์ที่ทำนายไว้ว่าจะเกิดน้ำท่วมหนักในช่วงเดือนต.ค.และจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น (4)
อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างของกองทัพเคยมีการปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในยุคใหม่ที่เรียกว่า “ยุคโลกาภิวัฒน์” ที่ทุกอย่างจะต้องปรับให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปฏิบัติภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพของกองทัพ ทำให้กองทัพจำเป็นต้องทบทวนและปรับตัวเองพร้อมทั้งเหตุและผลเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
แน่นอน ว่าประเด็นใหญ่ ในความซับซ้อนของกองทัพ และทหาร ก็มีตั้งแต่เรื่องรัฐธรรมนูญ และทหาร ภายใต้โครงสร้าง ซึ่งปรับตามอเมริกา โดยรูปแบบการบังคับบัญชาแบบเสนาธิการเหล่าทัพ ลดอำนาจกองทัพ ในเรื่องงบลับ และสร้างปฏิทินแห่งความหวังจากรัฐสวัสดิการ โดยลดงบประมาณของกองทัพ มาเพิ่มงบจัดทำรัฐสวัสดิการให้ประชาชน เพราะยุคสมัยของการไม่มีสงครามภายนอก และบทบาทของการควบคุมทหารโดยพลเรือน จึงมีความหมายโดยตรงในงานด้านนโยบายในระดับทางยุทธศาสตร์(Strategy) และในระดับยุทธ์ศิลป์(Operational art) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการจัดทำนโยบายและกระบวนการทางด้านงบประมาณ ซึ่งพลเรือนได้เข้ามามีส่วนร่วมนั่นเอง
ดังนั้น ยุคโลกาภิวัตน์ของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสังคมต้องรู้เรื่องทหาร และทหารต้องปรับตัวต่อประชาชน ในอดีตเราเห็นได้ชัดเจน ถึงบทบาทสมัยพรรคไทยรักไทย ซึ่งเราจะเห็นโครงสร้างของรัฐบาล ที่มีความสามารถ ทำให้เห็นการเปลี่ยนผ่าน ที่รัฐบาลเข้มแข็งมาจากประชาชน สามารถควบคุมทหารได้
แต่ว่ารัฐบาลจากพรรคไทยรักไทย ที่เปลี่ยนวันกองทัพไทย ก็กลายเป็นอดีตไปแล้ว ซึ่งการเมือง เศรษฐกิจของการเปลี่ยนรัฐบาลในปัจจุบัน ที่มีการเรียกร้องรัฐบาล และทหารภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะวิกฤติการณ์ต่อเนื่อง จนกระทั่งเหตุการณ์นองเลือดในเมษา-พฤษภา 2553 เป็นสิ่งสะท้อนว่า ทหารจะต้องรักประชาชนอย่างง่ายๆ
โดยทหารไทยนี้รักสงบ ไม่ฆ่าประชาชนไทย ในอนาคต
*หมายเหตุ
ผู้เขียนเลือกเขียนเรื่องวันกองทัพไทย โดยปรับปรุงแนวคิด และข้อมูล ที่นำเสนอ ที่สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ในการสนทนาชุด "เราจะก้าวต่อไปอย่างไรกัน" ครั้งที่ ๕ เรื่อง "สภาวะแวดล้อมสำหรับปรับโครงสร้างกองทัพไทย"สรุปความจากหนังสือ "ยกเครื่องเรื่องทหาร: ข้อคิดสำหรับกองทัพไทย ในศตวรรษที่ 21" เขียนโดย สุรชาติ บำรุงสุข เมื่อวันพุธที่ 15 ธันวาคม 2553 เวลา 13.30 น. โดยก่อนผ่านพ้นปี2010อย่างที่หนังสืออ้างไว้ในปี2540 สู่2011 แล้ว
ดังนั้น ผู้เขียน จึงเรียบเรียงเขียนบทความ ทั้งอ่านหนังสือของสุรชาติ บำรุงสุข เพิ่มเติม คือ สังคมต้องรู้เรื่องทหาร : ทำไม - อย่างไร และ รัฐและกองทัพในประเทศโลกที่สาม : ข้อพิจารณาทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ส่วนประกอบเพิ่มเติมของแนวคิด คือ หนังสือของRoger Kershaw “Monarchy in South East Asia: The Faces of Tradition in Transition”และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล รำลึก "วันปฏิวัติ 24 มิถุนา" : ความเป็นมาของเพลงชาติไทยปัจจุบัน http://www.prachatai.com/journal/2008/06/17161 และผู้เขียนยังทบทวนดูนิตยสารสารคดีฉบับพิเศษรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยข้อมูลช่วงพฤษภา 35(ดูเพิ่มเติมวิกีพีเดียและหนังสือฯลฯ )และพล.อ.ชวลิต หรือบิ๊กจิ๋วถูกวิจารณ์ถึงบทบาทความซับซ้อนทางการเมือง และบทบาทไม่ประสบความสำเร็จด้านลดบทบาทกองทัพ ซึ่งบริบทและรายละเอียดต้องขยายความมากกว่าจะอธิบายเป็นบทความสั้นๆ
อ้างอิง
1.๒๕ มกราคม วันกองทัพบก http://www.rta.mi.th/history/jan_25.htm และวันกองทัพไทย
http://www.rta.mi.th/21100u/collum/kongtap/kongtap.htm และอรรคพล สาตุ้ม"24มิถุนา,28กรกฏา,4ธันวา,10ธันวา"และYoungPADผ่านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมไทย
http://www.prachatai.com/journal/2008/12/19265
2.แนวคิดนโยบายจิ๋วแต่แจ๋ว มาจากหนังสือ Small Is Beautiful: Economics As If People Mattered ที่มีแปลภาษาไทยว่า"จิ๋วแต่แจ๋ว : เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ"หรือ"เล็กนั้นงาม : การศึกษาเศรษฐศาสตร์โดยให้ความสำคัญกับผู้คน"
3.เผยงบกองทัพปี53 ติดลบสูงสุดรอบ 10 ปีกว่าหมื่นล้าน ชี้จะรักษาสถานะต้องรีดไขมัน-หนุนรบ.อยู่ครบวาระ มติชน 13 มิ.ย. 52 22.45 น.
4.ปรับโครงสร้างกองทัพ รับมือสู้ภัยพิบัติโลก เดลินิวส์ วันอังคาร ที่ 26 ตุลาคม 2553 เวลา 19:46 น