ที่มา ประชาไท
วงเสวนาที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ แนะให้สื่อมวลชนเสนอข่าวเชิงให้ความรู้มากกว่าใส่อารมณ์ “สาธิต ปิตุเตชะ” ชี้คดีสาวซีวิค ตำรวจไม่กลัวอิทธิใหญ่ จึงได้ผลน่าพอใจ
เมื่อเวลา 10.30 น. วานนี้ (23 ม.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันอิศรา และมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้จัดเวทีวิพากษ์การทำหน้าที่สื่อมวลชนปัจจุบัน ในหัวข้อ“เจาะลึก หรือ ละเมิด: จริยธรรมบนเส้นขนานสื่อมวลชน” โดยผู้เข้าอบรมหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) รุ่น 2 กลุ่ม 5 ซึ่งมีนายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และนายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.ระยอง และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เป็นวิทยากรร่วมสัมมนา
โดยนายไพโรจน์ กล่าวว่าการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในปัจจุบันถือว่า มีความเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่ผ่านมาอย่างมาก คือ มีรายการของการเล่าข่าวเพิ่มขึ้นมาจากการอ่านข่าว หรือทำงานข่าวภาคสนาม นอกจากนั้นแล้วยังองค์กรสื่อยังเปลี่ยนเป็นองค์กรด้านธุรกิจ และถือว่าข้อเท็จจริงเป็นสินค้าที่ผู้อ่านข่าวต้องใส่อารมณ์เข้าไปในเนื้อหา ให้ประชาชนได้สนใจและติดตาม เพื่อเรียกเรตติ้งของสถานี
“การนำเสนอข่าวของสื่อปัจจุบันจะเน้นในเรื่องการนำเสนอข้อเท็จจริงบวกกับอารมณ์ โดยไม่ได้สอดแทรกสิ่งที่เป็นความรู้ หรือปัญญาให้กับผู้รับชม ผมจึงเป็นห่วงว่าหากสื่อฯ สื่อสารข้อมูลไปพร้อมๆ กับบ่มเพาะความเคียดแค้น ชิงชัง ก็อาจจะทำให้กลายเป็นละเมิดสิทธิของประชาชนในระยะยาว ที่สื่อเป็นส่วนสนับสนุนความรุนแรงที่เกิดจากความเกลียดชัด” นายไพโรจน์ กล่าว
นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่าในข่าวที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตนมีข้อสังเกตว่าทำไมเจ้าหน้าที่ถึงได้นำบุคคลที่ถูกจับในคดีต่างๆ มาแถลงข่าวกับสื่อมวลชน ซึ่งตนได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับเจ้าหน้าที่ก็ได้รับคำตอบว่า เพื่อไม่ให้คนทำตาม หรือเอาเป็นเยี่ยงอย่าง แต่หลักการแล้วตนไม่เห็นว่าเปอร์เซ็นต์การก่ออาชญากรรมหรือค้ายาจะลดน้อยลงจากเดิม หรือแม้แต่นำเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาร่วมแถลงข่าว ทั้งนี้ตนมองด้วยว่าไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะเด็กคือผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกระทำ ทั้งนี้อยากฝากไปยังผู้ที่เป็นสื่อมวลชนหากไม่ยึดหลักกฎหมายแล้วควรใช้มโนธรรมสำนึก ในการนำเสนอข่าวประเด็นที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้านนายสาธิต กล่าวว่าตนมองการนำเสนอข่าวในปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีการนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาด หรือต้องการนำเสนอประเด็นให้เป็นไปตามความคิดหรือความรู้สึกของตนเอง ในแง่ของการทำหน้าที่สื่อมวลชนเช่นการทำข่าวเจาะในประเด็นอาชญากรรมหรือสืบสวนสอบสวน ซึ่งยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยไม่มีมาตรฐานมานานแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากข้อจำกัดบางอย่าง เช่น เทคโนโลยี ความเป็นมืออาชีพ จำนวนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนประชากร ดังนั้นบุคคลที่ทำหน้าที่สื่อควรจะทำหน้าที่เพื่อตรวจสอบ แต่สำคัญไม่ควรตั้งธง หรือมีอคติต่อการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“การเจาะลึกข้อมูลของสื่อเพื่อนำเสนอให้กับสาธารณะรับทราบ มีเส้นแบ่งที่มีปัญหา ว่ามีส่วนกดดันการทำงานเจ้าหน้าที่ให้ตรงไปตรงมา หรือสร้างกระแส เพราะเท่าที่ติดตามข่าวคดีต่างๆ สื่อส่วนใหญ่มักตัดสินว่า คุณนั่นแหละผิด ซึ่งผมอยากให้สื่อยึดผลหรือคำตัดสินของศาลเป็นหลักเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด
นายสาธิต กล่าวอีกว่าก่อนหน้านี้ทางกมธ.การตำรวจได้เชิญเจ้าหน้าที่ที่ทำคดีสาวซีวิคชนรถตู้มาชี้แจง เบื้องต้นได้รับรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้สอบสวนพยานแวดล้อม ผู้เสียหายแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งถือว่าการทำหน้าที่น่าพอใจ เพราะไม่ได้กลัวเรื่องอิทธิพลใหญ่ใดๆ
ทั้งนี้ช่วงสัมมนาได้เปิดให้ผู้ที่เข้าร่วมซักถาม โดยผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย กล่าวว่าเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และองค์กรที่เกี่ยวกับสิทธิ์เด็กในเรื่องการประกาศเคอร์ฟิวเยาวชน ปรากฏว่ามีก้อนหินหลายก้อนเข้ามาทางสื่อ ซึ่งต้องยอมรับว่าองค์กรสื่อมวลชนเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเด็กอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนยืนว่าจะนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด
ด้านผู้สื่อข่าวประจำหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจถามว่า หากสื่อยึดตัวกฎหมายมากเกินไป อาจกลายเป็นว่าเข้าข้างเด็กที่ทำผิด โดยนายไพโรจน์ กล่าวว่าในความเข้าใจของสังคมทั่วไป สื่อฯได้ตอกย้ำคือ คนที่ทำผิดนั้นผิด อย่างเช่นบางสถานีที่ต้องการเพิ่มเรตติ้ง ก็พยายามสร้างอารมณ์ร่วมให้กับสังคม ซึ่งในวันนี้ตนอยากเห็นสื่อมวลชน ทำอะไรที่แตกต่างจากการนำเสนอข่าวแบบสร้างอารมณ์ ด้วยการให้ความรู้ ให้เกิดการเรียนรู้กับสังคม
สำหรับนายสาธิต กล่าวว่า ในตัวอย่างของสาวซีวิค ที่ขับรถชนรถตู้บนโทรลเวย์ แล้วมีผู้เสียชีวิต สื่อทำให้คนเข้าใจว่าสาวซีวิคเป็นฆาตกร แต่หลักที่แท้จริงเป็นการขับรถโดยประมาท ทำให้มีคนตาย และสื่อพยายามโยงว่าคนที่ตายนั้นเป็นคนดี เป็นมันสมองของประเทศ จนทำให้สังคมเกลียดชังสาวซีวิคทั้งนี้เหตุการณ์นั้นเป็นความประมาท ซึ่งต่างจากความหมายของคำว่าฆาตกร