ที่มา ประชาไท
กสทช.ลงพื้นที่ภูมิซรอล พบปัญหาซ้ำเดิมยามเกิดเหตุฉุกเฉิน มือถือบอดใช้งานไม่ได้ ขณะที่ ผู้ว่าฯศรีสะเกษเสนอ กสทช. หนุนระบบโทรคมนาคมพื้นที่ชายแดน สร้างช่องทางสื่อสารหลากหลายให้ถึงประชาชนเมื่อภัยมาถึง
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (ผอ.สบท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะตัวแทนจากสำนักงาน กสทช. ประกอบด้วย ผอ. สบท. นายศรีสะเกษ สมาน นางสาวสุภัทรา นาคะผิว อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม นายศรศิลป์ คล่องแคล่ว ตัวแทนจากสำนักงานการบริการอย่างทั่วถึง นายวรุตม์ ว่องโรจนานนท์ ตัวแทนจากสำนักวิศวกรรมและเทคโนโลยี โทรคมนาคม ได้เดินทางไปสำรวจข้อมูลในพื้นที่ บ้านภูมิซรอล และโรงเรียนภูมิซรอลวิทยา และเข้าหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรณีผลกระทบจากการสู้รบระหว่างทหารไทย กับทหารกัมพูชา รวมถึงสำรวจความเสียหายและความต้องการใช้ระบบโทรคมนาคมในพื้นที่ชายแดนจังหวัดศรีสะเกษ
จากการสำรวจความเสียหายพบว่า ชุมสายโทรศัพท์พื้นฐานของ บมจ.ทีโอที ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษณ์นั้น มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน 40 เลขหมาย และลูกค้า ADSL จำนวน 15 Ports ไม่สามารถใช้งานได้และอยู่ในระหว่างการซ่อมบำรุง ส่วนที่โรงเรียนภูมิซรอลวิทยา บ้านภูมิซรอล ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษณ์ ได้รับความเสียหายอย่างมาก โดยอาคารเรียนถูกระเบิดพังเสียหาย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบโทรคมนาคม พบว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ได้รับความเสียหาย และไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เนื่องจากสาย fiber optic ถูกสะเก็ดระเบิดหรือกระสุนปืนใหญ่
นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า ภายหลังหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษมีข้อสรุปว่า ควรจัดให้มี “ศูนย์ประสานงานและแจ้งเหตุป้องกันภัยชายแดน” โดยขอให้ กสทช. สนับสนุนการจัดตั้งระบบโทรคมนาคมเพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉิน แบบหลายช่องทางการสื่อสาร เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารแจ้งให้ทั่วถึงแก่ประชาชนทุกคนได้ทราบในทุกรูปแบบ ซึ่งหากจะดำเนินการต้องมีการทำวิจัยและศึกษาปัญหาความต้องการของประชาชนในพื้นที่ก่อนเสนอแนวทางดำเนินการให้ตรงกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในชายแดน
“จากคำบอกเล่าของประชาชนในพื้นที่พบว่า วันเกิดเหตุประชาชนต่างแตกตื่นวิ่งหนีหลบภัยแบบไม่มีทิศทาง รถติดยาวกว่า 30 กิโลเมตร ขณะที่ โทรศัพท์มือถือไม่สามารถติดต่อกันได้ในบางช่วงเวลา สถานการณ์ปัญหาการใช้บริการโทรคมนาคมเหมือนกับช่วงที่เกิดเหตุการณ์สึนามิ หรือเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ เนื่องจากช่องสัญญาณเต็ม เพราะมีผู้ใช้บริการในคราวเดียวจำนวนมาก และประชาชนในพื้นที่ชุมสายตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษณ์ รวมถึงบ้านภูมิซรอลไม่สามารถใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน และไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้” ผอ.สบท.กล่าว
นายประวิทย์กล่าวอีกว่า การจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแจ้งเหตุป้องกันภัยชายแดน จำเป็นต้องวางระบบให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาของการใช้งานอาจแตกต่างจากการตั้งศูนย์เตือนภัยสึนามิ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป นอกจากนี้ประชาชนในพื้นที่ยังต้องการให้ผู้ประกอบการขยายสัญญาณโทรศัพท์มือถือให้ครอบคลุมพื้นที่ชายแดน และต้องการให้มีการฝึกทักษะการติดต่อสื่อสารด้วยระบบโทรคมนาคมเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติจากการสู้รบในพื้นที่ชายแดนด้วย