ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ ชกไม่มีมุม
วงค์ ตาวัน
การให้ประกันตัวแกนนำเสื้อแดงทั้ง 7-8 คนนั้น เป็นดุลพินิจของศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งพินิจพิเคราะห์จากคำเบิกความของเหล่าพยานที่เข้าให้การในวันนัดไต่สวนคำร้อง
พยานในวันนั้นประกอบด้วย นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ที่ออกเดินสายชูแนวทางปรองดอง
พยานสองปากนี้ สนับสนุนการประกันตัวเต็มที่ เพื่อให้เกิดบรรยากาศสันติภาพในบ้านเมือง
แต่น่าสังเกตว่า การผลักดันของพยานสองปากในช่วงก่อนหน้านี้ ไม่ได้รับการสนองจากรัฐบาลเลย
ขณะเดียวกันพยานอีก 2 ปากที่เข้าเบิกความ ซึ่งเป็นข้าราชการรัฐ ได้แก่ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 ในฐานะผู้เข้าเจรจากับแกนนำนปช.ตลอดในช่วงการชุมนุมเมื่อต้นปี 2553
รวมทั้งนายโสภณ ธิติธรรมพฤกษ์ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลแกนนำนปช.ดังกล่าวระหว่างคุมขัง
พยาน 2 ปากหลัง ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่เบิกความเฉพาะส่วนที่ตนเองเกี่ยวข้อง
ผบก.น.1 ให้การว่า แกนนำเหล่านี้ให้ความร่วมมือดีในการเจรจาช่วงที่ยังชุมนุม และไม่พบการสะสมอาวุธในม็อบ ส่วนผบ.เรือนจำก็ว่า ระหว่างคุมขังล้วนมีความประพฤติดีอยู่ในระเบียบวินัย
คำเบิกความเหล่านี้ มีส่วนช่วยแกนนำทั้ง 7 ได้รับอิสรภาพ
หลังศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวได้
ผลที่ตามมา แทบทุกฝ่าย ยกเว้นกลุ่มแนวคิดไดโนเสาร์ ต่างเห็นด้วยว่า ได้นำมาสู่บรรยากาศแห่งสันติภาพอย่างฉับพลันทันที!
รัฐบาลเอง ไม่รอช้า รีบโดดโหนผลงานชิ้นนี้
อ้างว่าผู้ที่เข้าเบิกความดังกล่าวเป็นคนของรัฐ
ขณะที่ประชาชนทั่วไปก็รู้ว่าเป็นคนของรัฐ เพียงแต่เห็นว่าการเสนอแนะให้ยื่นประกันตัว ไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากรัฐมาก่อน
ถึงที่สุดแล้ว ถ้ารัฐบาลไม่มีส่วนร่วมในทิศทางการปรองดองครั้งนี้ ก็น่าคิด!
ทำให้ต้องหวนนึกถึงบรรยากาศช่วงหลังเกิดเหตุฆ่าหมู่กลางเมือง 6 ตุลาคม 2519
หลังเลือดท่วมเมืองคราวนั้น มีรัฐบาลเข้ามาทำหน้าที่กลบเกลื่อนปัญหา
แน่นอนว่าต้องทำหน้าที่ด้วยท่วงทำนองเผด็จการ
ผ่านไป 1 ปี วันที่ 20 ตุลาคม 2520 ก็จบ
นายทหารสายพิราบต้องออกมาปฏิวัติล้มรัฐบาล พลิกสู่ประชาธิปไตย เพื่อลดกระแสการต่อต้าน
รัฐบาลอภิสิทธิ์จะเดินซ้ำรอยรัฐบาลนั้นหรือเปล่า!?