ที่มา มติชน หลังจากเดินสำรวจสถานที่ชุมนุมคนเสื้อแดงในช่วง วันที่ 13 และ19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ลงพื้นที่ชมบรรยากาศ "ตลาดนัดเสื้อแดง" ริมฟุตบาทสองข้างถนนราชดำเนิน พบว่ามีสารพัดสินค้าทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค ฉาบด้วยสีแดงระรานตาเกือบทุกแผงลอย ขนาดของกินยังมีนามสกุล "นปช. , เสื้อแดง "ต่อท้าย อย่าง "เฉาก๊วย" เขียนด้วยตัวอักษรสีแดง หรือ "แหนม นปช."
ยังไม่นับรวมราวแขวนเสื้อสีแดง วางเป็นแนวขายแบบถี่ยิบล้นตลาด สลับกับ ซีดี ดีวีดี หนังสือ ภาพถ่าย รองเท้า หมวก ร่วม กระเป๋า ของกระจุกกระจิก พวงกุญแจ ตุ๊กตา และอีกนานาชนิดแล้วแต่ใครจะมีไอเดียสร้างสรรค์ออกมาในรูปแบบต่างๆ ที่จะมีสินค้าแปลกใหม่เกือบทุกนัด
เมื่อพิจารณาดูรายละเอียดจากสินค้า ถ้าไม่มองเพียงสีที่ติดอยู่ในสิ่งของเหล่านั้น ของแต่ละชิ้น ยังมีความหมายในตัวเอง เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ และเป้าหมายของการเคลื่อนไหว ล้อไปกับการปราศรัยบนเวที เพราะบรรดาพ่อค้าแม่ค้าหัวไวได้จับเนื้อหาการปราศรัยเหล่านั้นมาใส่ในสินค้าในทันทีทันใด นับตั้งแต่การชุมนุมเริ่มขึ้นใหม่อีกครั้งในครานี้
สังเกตจากข้อความสกรีนลงบนตัวเสื้อ มีวิวัฒนาการของความคิดทางการเมืองที่หลากหลาย หนักแน่นขึ้น สะท้อนความรู้สึกเจ็บปวด อารมณ์คับแค้น น้อยใจ ประชดประชัน เสียดสี เชิดชู กระทั่งท้าทาย แบบไม่เกรงกลัว ตัวอักษรที่สกรีนลงบนเสื้อ มีขายในตลาดชุมนุมแดงทุกนัด
แม่ค้ารายหนึ่งบอกว่า "ลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อไปฝากคนที่ไม่ได้มา และบางคนซื้อไปเก็บเพราะไม่กล้าใส่ แต่นั่นมันเมื่อก่อน ตอนนี้ถอดเสื้อเก่าสวมเสื้อใหม่กันตรงนั้นเลย สวมเดินกันทั่วทั้งม็อบ"
นอกจากสินค้าประเภทเครื่องแต่งกายเครื่องประดับแล้ว สิ้นค้าอีกประเภทหนึ่งที่ผู้ชุมนุมให้ความสนใจติดตาม คือ "ซีดี ดีวีดี" รวบรวมเหตุการณ์ความรุนแรงช่วงเดือน "เมษายน- พฤษภาคม" คำปราศรัยของบรรดาแกนนำที่ฝากเสียงไว้ก่อนเข้าเรือนจำ และ "ซีดี ดีวีดี" งาน "เสวนา" เป็นสินค้าขายดีอีกชนิดหนึ่ง ที่ "ชาวบ้าน" เดินมาถามหาเพื่อซื้อกลับไปดูที่บ้าน และแบ่งเพื่อนบ้าน
ดังกรณีของชายผู้หนึ่ง ที่มายืนมองจอมอนิเตอร์ขนาดเล็ก เปิดภาพและเสียงการบรรยายในงานเสวนาที่มหาวิทยาลัย "ธรรมศาสตร์" โดย อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ปี 53 ที่ผู้ขายเปิดวนไปมา ท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุมเดินผ่านมาจับกลุ่มยืนดูอย่างสนใจ และยังมีซีดี "เสวนานิติราษฎร์" ที่มีนักวิชาการมาแลกเปลี่ยนทัศนะกันในเวทีเสวนาถูกถ่ายทอดลงแผ่น "ซีดี ดีวีดี" และอื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์ในอดีตและปัจจุบัน
แผ่นซีดีเสวนาทั้งหลาย ได้รับการสนุนสนุนประชาสัมพันธ์ จากผู้ปราศรัยบนเวที แจ้งให้ผู้ชุมนุมไปหาซื้อกลับไปเปิดดู เพื่อหาความรู้เชิงวิชาการ ที่มีเหตุมีผล มีที่มาที่ไป ในแต่ละเรื่องแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งหมดเป็นซีดีที่ไม่มีลิขสิทธิ์ปั๊มได้ไม่ต้องกลัวถูกจับคดีละเมิด !!
เมื่อสำรวจต่อไปจะพบว่าหมวดสินค้าที่ให้ความรู้ ไม่ได้มีแค่ซีดีเท่านั้น แต่ยังมีหนังสือเก่า-ใหม่ ที่พ่อค้าแม่ค้าขนมาวางจำหน่าย บางเล่มร้านขายหนังสือทั่วไปไม่มีจำหน่ายแต่หาซื้อได้ในตลาดนัดเสื้อแดง
ดังนั้นจะเห็นว่าสินค้าประเภทให้ความรู้ที่มีสาระการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ขายดีแซงหน้าสินค้าประเภท "ล้อเลียน-เหยียบหน้า" ไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว