ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
สับไก กระสุนธรรม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในลิเบียที่มีหน่วยสไนเปอร์ และกองกำลังทหารออกปราบปรามผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล เป็นหัวข้อที่พูดกันในเมืองไทยทั้งทีเล่นและทีจริงว่า
ไม่รู้มาเลียนแบบบ้านเราหรือเปล่า
ยิ่งรัฐบาลของโมอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำประเทศ แถลงว่า บุคคลที่ทางการ "จัดการ" นั้นไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็น "ผู้ก่อการร้าย"
ยิ่งชวนให้เปรียบเทียบมากขึ้นไปอีก
มาถึงตอนนี้ ความรุนแรงในลิเบียล้ำเกินไปมาก กลายเป็นการสู้รบระหว่างกองกำลัง ส่อเค้าสู่สงครามกลาง เมือง
ยิ่งรัฐบาลปิดกั้นข่าวสารมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ข่าวลือต่างๆ สะพัดเร็วขึ้น และเป็นผลเสียหายกับรัฐบาลเอง
ข่าวที่ว่ามียอดผู้เสียชีวิตกว่า 300 และอาจถึง 1,000 รายนั้นยังตรวจสอบไม่ได้
แต่ก็ทำให้นานาประเทศพากันวิตก และสหประชาชาตินำเรื่องเข้าคณะมนตรีความมั่นคงจนมีแถลงการณ์ประณามออกมา
ส่วนมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ได้ญาติดีอะไรกับกัดดาฟี ไม่เหมือนกรณีฮอสนี มูบารักของอียิปต์ ก็ไม่รอช้าที่จะเป็นผู้นำการประณามด้วย
เพราะการใช้กำลังทหารต่อพลเรือนนั้นผิดชัดเจน
และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสถานการณ์ที่ทำให้อำนาจของกัดดาฟี ผู้ปกครองประเทศมานาน 40 ปี ต้องสั่นคลอนอย่างคาดไม่ถึง
นางนาวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่แห่งสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า การใช้กำลังต่อพล เรือนถือเป็นการก่ออาชญา กรรมต่อมนุษยชาติ
ประเด็นนี้เป็นอีกหัว ข้อที่ย้อนกลับมาเปรียบเทียบกับกรณีของไทย
หลังจากกลุ่มคนเสื้อแดงส่งทนายฝรั่งยื่นคำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศขอให้มีคณะกรรมการตรวจสอบว่า รัฐบาลสั่งการใช้กำลังทหารต่อผู้ชุมนุม
แม้จำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุ การณ์ของไทยไม่ถึงหลักร้อย
แต่หนึ่งศพก็คือชีวิตเช่นเดียวกัน
หากมีการใช้กำลังทหารสังหารประชาชนของตนเองเกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะมีบทพิสูจน์ในระดับชาติหรือระดับโลก
ผู้สั่งการควรรับรู้ว่า สิ่งนี้ผิดและ...บาป