ที่มา Thai E-News
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
25 กุมภาพันธ์ 2554
อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เขียนจดหมายตอบดามพ์ บุญธรรม อดีตผู้อำนวยการกองเขตแดน (ผู้ริเริ่มโครงการเผยแพร่ความรู้เรื่องเขตแดนแก่สาธารณชน) กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และมายังกัลณาณมิตร พร้อมความขอบคุณในกำลังใจและแสดงความห่วงใยผู้คนในเมืองไทยที่ต้องทนอยู่ท่ามกลาง “การเมืองเป็นพิษ”
" เป็นห่วงก็คนที่อยู่ทางบ้านที่ถูกด่ากราด บริภาษ มุสา บิดเบือน และใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ นานา ด้วยภาษาที่หยาบคาย ขาดความเป็นสุภาพชน ขาดความเป็นผู้ดี"
Subject: เห็นใจจริงๆ ครับ
To: charnvitkasetsiri@yahoo.com
Date: Tuesday, February 22, 2011, 7:33 AM
เรียนท่านอาจารย์ชาญวิทย์ฯ ที่เคารพรักยิ่ง
ผมได้เห็นภาพการปราศรัยของพวก พธม. (โดยเฉพาะนายสนธิ ลิ้มทองกุล) โจมตีอาจารย์ฯ อย่างไร้เหตุผลแล้ว รู้สึกอนาจใจแทนจริงๆ ครับ ว่าในยุคสมัยนี้ยังมีแบบนี้อยู่อีก
หากมีอะไรที่ผมจะพอแบ่งเบาความหนักใจจากท่านอาจารย์ได้ ก็ขอให้บอกมานะครับ ผมพร้อมจะช่วยดำเนินการ และผมเห็นใจด้วยจริงๆ และรู้สึกมีส่วนร่วมอย่างมากเนื่องจากเป็นผู้ริเริ่มโครงการ ๗.๑ ล้าน ที่โดนโจมตีจาก พธม. อย่างไม่มีเหตุผล ในขณะที่เราได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นวิชาการโดยไม่มีอคติ
ด้วยความเคารพอย่างสูง
ดามพ์ บุญธรรม
อดีตผู้อำนวยการกองเขตแดน (ผู้ริเริ่มโครงการเผยแพร่ความรู้เรื่องเขตแดนแก่สาธารณชน)
กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย
กระทรวงการต่างประเทศ
ถึงดามพ์ บุญธรรม และกัลยาณมิตร
อีเมล์ของคุณเป็น “กำลังใจ” อย่างยิ่งในยามนี้ ปัญหาของผม ก็คงไม่เท่าไรนัก เพราะตอนนี้อยู่สิงคโปร์ห่างไกลจาก “การเมืองเป็นพิษ” ของบ้านเมืองเรา เป็นห่วงก็คนที่อยู่ทางบ้านที่ถูกด่ากราด บริภาษ มุสา บิดเบือน และใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ นานา ด้วยภาษาที่หยาบคาย ขาดความเป็นสุภาพชน ขาดความเป็นผู้ดี
ผมก็คงขอตอบอีเมล์ของคุณ อย่างที่ได้ตอบไปบ้างแล้ว และขอให้ช่วยเผยแพร่ ดังนี้
(หนึ่ง)
ผมก็เชื่อว่านี่คือสภาพอันย่ำแย่ของชาติบ้านเมืองของเรา ที่อยู่ในสภาวะของ “สงครามที่คนอื่นก่อ” กับ “การเมืองเป็นพิษ” อย่างที่ อ. ป๋วยของเราได้เคยบอกไว้ในข้อเขียน “จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน” (From Womb to Tomb) ว่า
“เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ ๆ อย่างบ้า ๆ
คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น
ตายในสงครามกลางเมือง
ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์
ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ
หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ”
(สอง)
ผมก็เชื่อว่าสักวันหนึ่งใน “อนาคต” ใกล้ๆนี้ คนไทยส่วนใหญ่จะเข้าใจในสิ่งที่ทีมนักวิชาการของพวกเราหลายๆคน พยายามช่วยกันทำในงานวิจัย “เขตแดน..” ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น อ. พนัส-ประสิทธิ์-วิพล-พิเชฐ-สุริยา-พวงทอง-รณพล-มรกต-อัครพงษ์-อรอนงค์-ธนศักดิ์-ดุลยภาค-สุภลักษณ์-อดิศักด์-สมฤทธิ์-พิภพ และผมที่ทำหนังสือ 6 เล่ม กับวีซีดี/ซีดี
- เราภูมิใจที่ได้ทำงานวิชาการนี้ และก็ขอบคุณอย่างยิ่ง ที่ทำให้เราได้ทำงานนี้
- ทั้งนี้ ก็เพื่อความรู้ความเข้าใจใน “ชาติบ้านเมือง” ของเรา ในเรื่องราวของมนุษยชาติ กับ “ความเข้าใจ/understanding” เพื่อนบ้าน และประชาคมอาเซียน/Asean Community
- เราทำงานนี้เพื่อ “วิชาการ/enlightenment” ไม่ใช่ “อวิชชาการ/ignorance”
- เราทำงานนี้เพื่อ “สันติภาพ/peace” ไม่ใช่ “สงคราม/war”
- เราทำงานนี้เพื่อ “สร้างสรรค์-เป็นบวก/constructive-positive ไม่ใช่เพื่อ “ทำลาย-เป็นลบ/destructive-negative”
ดังนั้น ผมและ “ทีมงานวิจัย” ก็เชื่อ เหมือนๆ อย่างที่ อ. ปรีดี พร่ำสอนพวกเราไว้ว่า “ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้ว ย่อมไม่สูญหาย”
(สาม)
และผมก็ยังเชื่ออีกว่าการกล่าวอ้าง “ความรักชาติ” แบบขาดสติสัมปชัญญะ และเต็มไปด้วยกิเลศของ “โลภะ-โทสะ-โมหะ” นั้น ก็คงเหมือนกับที่ปราชญ์อังกฤษ Samuel Johnson 1775 เคยกล่าวไว้ว่า “’False’ patriotism is the last refuge of a scoundrel” “ความรักชาติปลอมๆ คือ หลุมหลบภัยสุดท้ายของอันธพาล” นั่นเอง
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
Make Love not War with ASEAN Neighbors,
Esp. Cambodia and Laos
PS:
(ก) หวังว่าคงมีโอกาสได้พบกันอีก ไม่ที่ปารีส ก็ใน กทม. ฝากความระลึกถึงคุณแม่ด้วย long time no see
(ข) ขอส่งคำชี้แจงของเรามาเพื่อทราบด้วยอีกครั้ง ครับ
“คำแจง” โครงการวิจัย “เขตแดนของเรา-เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา” Our Boundaries-Our ASEAN Neighbors (เรื่องของหนังสือ-สื่อ-ดีวีดี-วีซีดี) ดังต่อไปนี้
อารัมภบท
“หนังสือ-สื่อ-ดีวีดี-วีซีดี” ชุดนี้ประกอบด้วยหนังสือ 6 เล่ม และดีวีดี-วีซีดี 1 ชุด เป็นผลงานค้นคว้าวิจัยที่มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้จัดทำขึ้นตามสัญญา “รับจ้าง” กับกระทรวงการต่างประเทศ
มูลนิธิฯ ของเรานี้ก่อตั้งขึ้นโดย ศ. ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2509 และปัจจุบันมี ศ. เพ็ชรี สุมิตร เป็นประธาน และมี ศ. เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม และ ศ. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นรองประธาน
“หนังสือ-สื่อ-ดีวีดี-วีซีดี” ในโครงการ ““เขตแดนของเรา-เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา””ดังกล่าวนี้ ได้รับความสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้จัดทำขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2553-54 และมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โครงการ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน เรื่องเขตแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสารคดี การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการฝึกอบรม” โดยมี ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับ ดร. พิภพ อุดร เป็นหัวหน้าและรองหัวหน้าโครงการฯ ดังมีรายชื่อ ต่อไปนี้
1. ประมวลสนธิสัญญา อนุสัญญา ความตกลง บันทึกความเข้าใจ และแผนที่ ระหว่างสยามประเทศไทยกับประเทศอาเซียนเพื่อนบ้าน: กัมพูชา–ลาว–พม่า–มาเลเซีย (Collected Treaties – Conventions –Agreements – Memorandum of Understanding and Maps Between Siam/Thailand – Cambodia – Laos – Burma – Malaysia) โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
2. ศาลโลก–ศาลอนุญาโตตุลาการ กับข้อพิพาทระหว่างประเทศ (International Court of Justices– Permanent Court of Arbitration)โดย พนัส ทัศนียานนท์, ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, วิพล กิติทัศนาสรชัย
3. เขตแดนเวียดนาม–จีน–กัมพูชา–ลาว (Boundaries of Vietnam-China-Cambodia-Laos)โดยพิเชฐ สายพันธ์ และ สุริยา คำหว่าน
4. เขตแดนจีน–รัสเซีย–มองโกเลีย (Boundaries of China–Russia and Mongolia) โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์และ รณพล มาสันติสุข
5. เขตแดนฝรั่งเศส–เนเธอร์แลนด์–แม่น้ำดานูบ (Boundaries of France–The Netherlands and The Danube River) โดย มรกต เจวจินดา ไมเออร์ และอัครพงษ์ ค่ำคูณ
6. เขตแดนสยามประเทศไทย–มาเลเซีย–พม่า–ลาว–กัมพูชา (Boundaries of Siam/Thailand–Malaysia – Burma–Laos –Cambodia) โดย อรอนงค์ ทิพย์พิมล, ธนศักดิ์ สายจำปา, ดุลยภาค ปรีชารัชช, สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, อัครพงษ์ ค่ำคูณ
วัตถุประสงค์ของโครงการ “เขตแดนของเรา-เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา” นี้ คือ
1. ผลิตงานวิชาการในรูปแบบที่เป็น “หนังสือ-สื่อ-ดีวีดี-วีซีดี” ที่เข้าใจง่าย ที่ตั้งอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้องทางวิชาการ ครบถ้วนเกี่ยวกับองค์กร (ศาลโลก-ศาลอนุญาโตตุลาการ) สถานะและแนวทางการแก้ไขปัญหา เขตแดน-พรมแดน-ชายแดนระหว่างไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย รวมทั้งกรณีศึกษาที่น่าสนใจของประเทศต่างๆที่มีเขตแดน-ชายแดน-พรมแดนติดต่อกัน ทั้งในทวีปเอเชียและทวีปยุโรป เช่น เวียดนาม จีน รัสเซีย มองโกเลีย ตลอดจนฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และแม่น้ำดานูบ โดยครอบคลุมตัวอย่างทั้งที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลวในการแก้ปัญหาเขตแดน-พรมแดน-ชายแดน
2. นำผลงานวิชาการที่สำเร็จเป็น “หนังสือ-สื่อ-ดีวีดี-วีซีดี” แจกจ่ายอภินันทนาการ (ไม่มีจำหน่าย) ให้กับห้องสมุดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โรงเรียนประจำจังหวัด หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของสังคมและรัฐ ตลอดจนสื่อมวลชน จำนวนหน่วยละ 3,000
3. ดำเนินการจัดการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในรูปแบบของการเสวนา ประชุมปฏิบัติการ การฝึกอบรมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-สุรินทร์-บุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ ภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2554
4. ดำเนินการตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ดีของประชาชนและสังคมไทย และสร้างความตื่นตัวถึงบทบาทการดำเนินงานของภาครัฐและเอกชน กับสถาบันการศึกษา ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการมีความสัมพันธ์อันดีในฐานะ “ประชาคมอาเซียน” Asean Communityร่วมภูมิภาคอุษาคเนย์ด้วยกัน ตลอดจนการหาวิถีทางแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีฉันท์มิตรประเทศที่มีความเท่าเทียมกันในโลกสมัยปัจจุบัน
ปัจฉิมกถา
มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ขอขอบคุณความร่วมมือและความสนับสนุนที่ได้จากองค์กรของรัฐ เอกชน และตัวบุคคล อาทิ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวง การต่างประเทศ ตลอดจนข้าราชการทั้งอดีตและปัจจุบันนิรนามหลายท่าน
ขอบคุณกรมแผนที่ทหาร กองบัญชากองทัพไทย กองบัญชาการทหารสูงสุด สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-สุรินทร์-บุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันการศึกษาชั้นสูงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ตลอดจน “กัลยาณมิตร” ต่างรุ่นต่างวัย ที่มีส่วนทั้งร่วมงานโดยตรง มีทั้งส่วนช่วยเหลือ ช่วยผลักดัน และให้คำแนะนำกับ “กำลังใจ” ในการดำเนินการโครงการฯ ที่ค่อนข้างใหญ่โตและอยู่ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ-สังคม-และการเมืองที่อ่อนไหวและเปราะบางในปัจจุบัน
เราหวังว่า “หนังสือ-สื่อ-ดีวีดี-วีซีดี” ชุดนี้ จะมีส่วนในการเสริมสร้างความคิด สติปัญญาให้กับเราๆ ท่านๆ ทำให้เราสามารถเข้าใจเรื่องราวของ “เขตแดน-พรมแดน-ชายแดน” ของ “รัฐสมัยใหม่” ที่เป็นมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ที่มีมาจากอดีต มาจากการกระทำของบรรพชน ที่มีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ที่เราอาจจะพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่ยังอยู่กับเราในปัจจุบัน
และจะคงยังมีต่อไปในอนาคต ที่เราจะต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขต่อไปทั้งนี้เพื่อเยาวชน-คนหนุ่มคนสาว-ลูก-หลาน-เหลน-โหลน “คนรุ่นใหม่” กับประเทศชาติบ้านเมืองของเรา
เรามีความหวังตามปณิธานของผู้ก่อตั้งของเรา คือ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 (1966) เป็นต้นมา ยึดมั่นเป็นแนวทางของวิชาการตามพุทธภาษิตในภาษาบาลีที่ว่า “นัตถิ ปัญญา สมาอาภา” และแปลเป็นไทยว่า “แสงสว่าง เสมอด้วยปัญญา ไม่มี” นั่นเอง
เวบไซด์ของอาจารย์ชาญวิทย์ สำหรับผู้สนใจศึกษางานของอาจารย์เพิ่มเติม http://www.charnvitkasetsiri.com/
ดูเพิ่มเติม
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลกhttp://thaienews.blogspot.com/2010/08/blog-post_3648.html
ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ:“คำแจง”โครงการวิจัย “เขตแดนของเรา-เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา”http://thaienews.blogspot.com/2011/01/blog-post_6192.html