ที่มา ประชาไท
ท่าม กลางฝุ่นควันของการรณรงค์เลือกตั้งที่คลุ้งตลบไปทั่วทุกหัวระแหงของ เมืองไทยในขณะนี้ ใครที่ไม่พูดถึงการเลือกตั้งก็จะกลายเป็นคนตกยุคตกสมัยไปในทันที หัวข้อที่สนทนากันก็แล้วแต่ว่าจะอยู่ในวงสนทนาของกลุ่มชนใด บ้างก็ Vote No บ้างก็ No Vote บ้างก็ Vote Yes บ้างก็ Vote Now บ้างก็เชียร์เบอร์ 1 บ้างก็เชียร์เบอร์ 10 ฯลฯ บ้างก็บอกไม่ชอบเพื่อไทยและไม่พอใจประชาธิปัตย์แต่ไม่อยาก Vote No เพราะกลัวจะเข้าทางพันธมิตรฯ ก็ยังเลยไม่ตัดสินใจ
แต่จากข้อความที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะโพสต์ลงในเฟซบุ๊กด้วยการไปเปิดประเด็นพาดพิงถึงนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อบอกเล่าเหตุการณ์เมื่อตอนยุบพรรคพลัง ประชาชน จนเหตุการณ์บานปลายทำให้นายชุมพล ศิลปอาชา ในฐานะคนสำคัญของพรรคชาติไทยที่ถูกยุบตามไปด้วย เลยต้องออกมาเปิดข้อมูลสำคัญในการพลิกขั้วการจัดตั้งรัฐบาลให้นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ โดยบอกว่ามี “พลังที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” มาบีบบังคับ จนต้องมีการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
ที่ สำคัญก็คือการที่นายพสิษฐ์ออกมาขยายความการพบปะกับนายอภิสิทธิ์ใน ครั้งนั้นที่ยังเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านและคดียุบพรรคพลังประชาชนกำลังเข้า ด้ายเข้าเข็ม โดยนายพิสิษฐ์บอกกับนายอภิสิทธิ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญคงไม่มีทางอื่นนอกจากยุบ พรรคพลังประชาชนตามผลของคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์
ซึ่งนายอภิสิทธิ์บอกนาย พสิษฐ์ว่ายุบพรรคเดียวก็คงไม่มีประโยชน์อะไร เพราะพรรคที่เหลือก็คงจับมือกับขั้วเดิม ซึ่งนายพสิษฐ์ได้ฟังดังนั้นก็ขอตัวลากลับ โดยกล่าวว่า “แล้วจะรีบนำความของท่านไปบอกผู้ใหญ่” (ข่าวสด/คอลัมน์ชกไม่มีมุม 13 มิ.ย. 2554)
เราไม่รู้ว่าใครพูดจริง ใครพูดเท็จ แต่ที่แน่ๆทำให้เรารู้ว่าการเมืองไทยนั้นคำว่า “พลังที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงใด้” นั้นมีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็น “พลังพิเศษ” “พลังทหาร” “พลังอำมาตย์” “พลังตุลาการ” หรือ “พลังนายทุน” ฯลฯ ที่คอยบงการ ชี้ชะตาการเมืองไทย จนทำให้วิวัฒนาการของการเมืองไทยนั้นบิดเบี้ยว และนำความยุ่งยากและความแตกแยกมาจนถึงปัจจุบัน
จริง อยู่การเลือกตั้งมิใช่เป็นทั้งหมดของประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง จริงอยู่การเลือกตั้งมิใช่ยาวิเศษที่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือความ แตกแยกของสังคมได้ในพริบตา แต่ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเป็นประตูที่สำคัญที่จะสามารถทำให้ปัญหาความขัด แย้งเบาบางลงยิ่งกว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหา ด้วยความรุนแรงหรือการรัฐประหารซึ่งยังทำให้ปัญหาค้างคามาจนถึงปัจจุบัน
ผม ไม่เชื่อว่าพลังที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ทั้งหลายนั้นจะสามารถแก้ไขปัญหา ความแตกแยกได้ดีกว่าการเลือกตั้ง เพราะประวัติศาสตร์การเมืองของได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพลังของประชาชนที่ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงนั้นเองจะเป็นผู้ตัดสินว่าเขาจะเลือก อนาคตของเขาอย่างไร
เขาอาจจะเลือกเพื่อไทย เขาอาจจะเลือกประชาธิปัตย์ เขาอาจจะเลือกภูมิใจไทย เขาอาจจะเลือกชาติไทยพัฒนา เขาอาจะเลือกพรรคของคุณชูวิทย์ ฯลฯ เขาอาจจะ Vote No หรือ เขาอาจจะ No Vote หรืออาจจะตั้งใจออกไปเลือกตั้งแล้วไม่กาในช่องใดใดเลยเพื่อทำให้เป็นบัตร เสีย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิทธิของประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาเลือกที่จะใช้การเลือกตั้งเป็นการแสดงเจตจำนงของเขาใน การแก้ไขปัญหาการเมือง
ยิ่งจำนวนของผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งหรือ เปอร์เซ็นต์สูงมากเท่าใดยิ่ง จะทำให้ผู้ที่คิดแหกกฎกติกาของการแก้ปัญหาตามวิถีทางประชาธิปไตยคิดหนัก ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงทั้งทางอ้อมหรือทางตรง ซึ่งก็คือการออกมายึดอำนาจและโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องคิดหนัก ถึงความตื่นตัวของประชาชนที่ออกมาแสดงเจตจำนงของเขา
หมดยุคสมัยที่ คนที่ถือตัวเองว่ามีการศึกษา ฐานะ หรือมีอาวุธอยู่ในมือที่คิดว่าบ้านเมืองนี้เป็นของกลุ่มชนของเขาเท่านั้น ประชาชนที่เหลือล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ด้อยการศึกษา เสียงหรือคะแนนที่ได้มาล้วนแล้วมาจากการซื้อสิทธิขายเสียงทั้งนั้น บ้านเมืองจะต้องอยู่อุ้งมือของพวกเขาทั้งนั้น เพราะคนอื่นล้วนแล้วแต่มีจิตสำนึกทางการเมืองต่ำทั้งนั้น
ประเทศไทย สมัยนี้ไม่เหมือนเดิมแล้วครับ ชนชั้นหลงยุคทั้งหลายว่างๆลองเดินไปคุยกับแม่ค้า/พ่อค้าในตลาด แท็กซี่ คนประกอบอาชีพรับจ้าง แม่บ้าน คนใช้ ฯลฯ เดี๋ยวนี้เขาไม่คุยกันแล้วเรื่องละครน้ำเน่าหรือถึงจะคุยกันก็น้อยลง แต่ประเด็นที่พวกเขาคุยกันนั้นล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นการเมือง ทั้งการเมืองในระบบและการเมืองนอกระบบที่ไม่ปรากฏในสื่อกระแสหลักหรือแม้ กระทั่งในสื่อออนไลน์
จริงอยู่การซื้อสิทธิขายเสียงก็คงยังมีอยู่จะ มากบ้างน้อยบ้างก็แล้วแต่ โอกาสของการซื้อเสียงขายเสียงจะเอื้ออำนวย แต่ผมไม่เชื่อว่าคนที่จ่ายมากกว่าจะได้คะแนนมากกว่าคนที่จ่ายน้อยกว่าเสมอไป และผมก็ไม่เชื่อว่าคนที่ตนเองและครอบครัวที่ไม่เคยทำอะไรให้แกสังคมเลยตั้ง หน้าตั้งตามาซื้อเสียงอย่างเดียวจะได้รับการเลือกตั้ง แต่ถึงอย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าคนที่มาจากการซื้อเสียงจะชั่วดีถี่ห่างอย่างไร เขาก็เป็นคนที่ประชาชนเลือกแล้ว มิใช่คนที่มาจากการแต่งตั้งหรือใช้ภาษาสวยๆว่า “สรรหา” จากบรรดาเหล่าเทวดาและคุณพ่อ/คุณแม่รู้ดีทั้งหลาย และผลจากการลงคะแนนของเขาก็ย่อมอยู่ในความรับผิดชอบของเขาที่ได้ตัดสินใจไป แล้ว และไปแก้ตัวด้วยการตรวจสอบถอดถอนหรือการเลือกตั้งครั้งต่อไปหากเกิดความผิด พลาดในการตัดสินใจที่เกิดขึ้น
อย่าลืมว่า “ประชาชนเป็นอย่างไร ผู้แทนไทยก็เป็นอย่างนั้น” ไม่ว่าคุณจะเป็นคนวิเศษวิโสมาจากไหน ในเมื่อคุณอยู่ในสังคมที่คนส่วนใหญ่เป็นอย่างไร คุณอยู่ในสังคมที่คนส่วนใหญ่ตัดสินใจอย่างไร คุณต้องพร้อมที่จะรับผลของการตัดสินใจนั้น หากคุณต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามความประสงค์ของคุณ คุณก็ต้องเสนอแนวความคิดให้คนส่วนใหญ่ในสังคมนี้ตัดสินใจ มิใช่อาศัยช่องทางลัดนอกเหนือจากวิถีทางของระบบประชาธิปไตยดังเช่นที่ผ่านๆ มานี้ ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงหรือใช้กำลังฉีกรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว ตั้งคณะกรรมการมาดำเนินการเอาผิดคนอื่นด้วยการอ้างว่ายอมไม่ได้ที่ปล่อยให้ คนอื่นทำผิดกฎหมาย(แต่ตัวกูพวกกูฉีกกฎหมายไม่เป็นไร)
ผมเบื่อเต็มที แล้วกับการที่บางคนบางกลุ่มออกมาพร่ำสอนให้ประชาชนทำอย่าง นั้น ทำอย่างนี้ มิหนำซ้ำวันดีคืนดีก็ออกมาชี้หน้าผู้คนผ่านทางสื่อมวลชนราวกับว่าประชาชน เป็นข้าทาสบริวารของเขา ทั้งที่กินเงินเดือนจากภาษีอากรของประชาชนอยู่แท้ๆ
ถึง เวลาแล้วที่เราจะต้องออกมาแสดงพลังด้วยการออกไปเลือกตั้งให้มากที่ที่ สุด เพื่อให้อำนาจนอกระบบทั้งหลายได้สำนึกว่าอย่าฝืนเจตจำนงของประชาชนในการ แก้ไขปัญหาตามวิถีทางประชาธิปไตยอย่างเด็ดขาด
ประวัติศาสตร์ การเมืองของโลกได้ให้บทเรียนอย่างเด่นชัดว่า ผู้ใดที่ฝ่าฝืนเจตจำนงของประชาชน ผู้นั้นจะไม่สามารถยืนอยู่ในสังคมนั้นได้ จะต้องถูกกวาดตกเวทีไปในที่สุด
------------------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 15 มิถุนายน 2554