ที่มา ประชาไท
14 มิ.ย. 54 – เมื่อเวลา 13.00 น. ณ ห้อง 103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงานเสนอเค้าโครง โครงการวิจัย “ออกแบบประเทศไทยใหม่” (Redesigning Thailand) พร้อมทั้งแนะนำศูนย์ดิเรก ชัยนาม โดยมีคณาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจากหลายสาขาวิชามานำเสนอหัวข้อเค้าโครงวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวกับการ ปฏิรูปสถาบันและประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการเมืองไทย
รศ.ดร.ศิริ พร วัชชวัลคุ คณบดีคณะรัฐศาสตร์กล่าวถึงโครงการ “ออกแบบประเทศไทย” ว่า เป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ มีระยะเวลาดำเนินการ 3-5 ปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อผลิตองค์ความรู้ในการรองรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค เพื่อนำไปผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายสาธารณะต่อไป
ทั้ง นี้ มีโครงการบางส่วนที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วในระยะเบื้องต้น เช่น โครงการการออกแบบระบบการเลือกตั้งโดยใช้องค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยอรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ โครงการศึกษาการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยวรรณภา ติระสังขะ รวมถึงโครงการออกแบบพื้นที่ชายแดนแม่สอด โดยเดชา ตั้งสีฟ้า และโครงการอื่นๆ ในประเด็นความสัมพันธ์ไทย-อาเซียน และผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล เป็นต้น
หลังจากนั้นสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้เสนอความคิดเห็นในวงเสวนาว่า ตนมองว่าในการพูดเรื่องการออกแบบและเปลี่ยนแปลงประเทศไทย จำเป็นต้องพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางในความขัดแย้งของการเมืองไทยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยง ที่จะอภิปรายได้
“ถ้าไม่ต้องการให้โครงการวิจัยแบบนี้เข้าท่าหรือดู เท่แต่หัวข้อ โดยเฉพาะถ้าพูดถึงเรื่องจุดมุ่งหมายที่ว่าด้วยเรื่องการออกแบบสถาบัน และการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ต้อง ‘redesign’ คือสถานะและอำนาจสถาบันกษัตริย์” สมศักดิ์กล่าว
“ต่อให้ไม่เห็นด้วย หรือไม่ยอมรับว่า [เรื่องสถาบันกษัตริย์] เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แต่ไม่มีทางเถียงได้เลยว่า เรื่องนี้สำคัญไม่น้อยกว่าหัวข้อที่กล่าวมาแน่นอน...โดยเฉพาะบริบทที่เกิด ขึ้นในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คือ เรื่องที่ว่าเราจะจัดตำแหน่งแห่งที่ และอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทยอย่างไร หัวข้อที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชายแดน เรื่องอัตลักษณ์ ล้วนได้รับผลกระทบจากหัวข้อนี้ทั้งสิ้น”
“คณะรัฐศาสตร์อันดับหนึ่ง ของประเทศไทย และทำหัวข้อวิจัยที่ใหญ่และทะเยอทะยานขนาดนี้ แต่หัวข้อที่สำคัญ ในการ Redesign Institution กลับไม่มีการพูดเรื่องการรีดีไซน์สถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ เป็นเรื่องที่วิปริตมากๆ จนเกือบจะ Surreal “ สมศักดิ์ แสดงความเห็น
ต่อ ประเด็นดังกล่าว คณบดี คณะรัฐศาสตร์ มธ. ได้ชี้แจงว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงโครงการนำร่องเท่านั้น และชี้ว่านอกจากโครงการ 7 โครงการดังกล่าวที่ได้นำเสนอไป จะมีงานวิจัยในประเด็นอื่นด้วยในอนาคต เช่น ด้านวิกฤติการณ์การอาหาร สิ่งแวดล้อม และด้านกองทัพ
อย่างไรก็ตาม สมศักดิ์อภิปรายต่อไปว่า “ในหัวข้อแบบนี้ ไม่มีเหตุผลโดยสิ้นเชิงที่บอกตัวเองว่าจะไม่พูด (เรื่องสถาบันกษัตริย์) ได้ นอกจากจะเอาความเคารพตัวเองไปเก็บใส่กระเป๋า โดยเฉพาะเมื่อทุกคนรู้ว่าระยะเวลาข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัชกาล และมีความสำคัญแค่ไหน”
“การที่ปัญญาชนทางด้านรัฐศาสตร์ชั้นหนึ่งของ ประเทศ Straight face ขึ้นมาพูดเรื่องการออกแบบสถาบันของไทย และไม่พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์แม้แต่คำเดียว มันยิ่งกว่า surreal และ absurd ลองถามตัวเองว่า มีเหตุผลจริงๆหรือ” สมศักดิ์ตั้งคำถาม