ที่มา ประชาไท
พฤกษ์ เถาถวิล
เมื่อไม่นานนี้ ผู้เขียนได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในการประชุมของเครือข่ายปฏิรูปประเทศไทย[1] ทำให้ทราบว่า เครือข่ายปฏิรูปกำลังพยายามผลักดันวาระการเคลื่อนไหวในโอกาสใหม่ในชื่อ “โครงการรณรงค์ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม” การไปร่วมงานครั้งนี้ผู้เขียนยังได้รับเอกสารข้อเสนอการปฏิรูปประเทศไทยซึ่ง เป็นผลงานที่สำคัญของคณะกรรมการฯมาด้วย เมื่อได้ทบทวนสิ่งที่ผ่านมาก็พบว่า การเคลื่อนไหวของครือข่ายปฏิรูป - ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ และการเคลื่อนไหวในอนาคตจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนก็ตามที่ - มีนัยสำคัญสูงต่อการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ผู้เขียนยังคิดว่า ประเด็นที่ผู้เขียนนำเสนอในการประชุมครั้งนั้น น่าจะมีประโยชน์ในการกระตุ้นให้ผู้สนใจการเมืองภาคประชาชนได้ทบทวนถกเถียง กัน จึงขอเรียบเรียงมานำเสนอในวงกว้างในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง
ในหมู่ คนทำงานการเคลื่อนไหวภาคประชาชน เมื่อกล่าวถึงความขัดแย้งทางการเมือง จะมีแนวคิดที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ความขัดแย้งทางการเมือง เป็นความขัดแย้งของชนชั้นนำ ซึ่งไม่มีฝ่ายใดดีไปกว่ากัน แนวคิดนี้นำไปสู่สมมุติฐาน ซึ่งแทบจะกลายเป็นทฤษฎี กำหนดการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนว่า ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ภาคประชาชนไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะจะกลายเป็นเครื่องมือของเขาไปเสียเปล่าๆ แต่ภาคประชาชนควรมีการเมืองของตัวเอง คือมีวาระการต่อสู้ และมีจังหวัดการเคลื่อนไหวของตัวเอง จากนั้นในทางปฏิบัติก็พบว่า จังหวะ การเคลื่อนไหวที่ดีที่สุด ก็คือจังหวะที่รัฐ/รัฐบาลอยู่ในฐานะเป็นรองทางการเมือง นั่นคือนาทีทองที่ภาคประชาชนจะช่วงชิงโอกาสเข้าไปกดดันให้รัฐ/รัฐบาลตอบสนอง ข้อเรียกร้องของตน
ผู้ที่มีประสบการณ์ร่วมเคลื่อนไหวกับ ขบวนการชาวบ้านรากหญ้า จะเข้าใจจุดแข็งและสัมฤทธิผลของทฤษฎีนี้ดี กรณีชาวปากมูล และสมัชชาคนจน ซึ่งเคลื่อนไหวภายใต้ทฤษฎีนี้มาโดยตลอด ยืนยันให้เห็นการเป็นขบวนการประชาชนที่ท้าทายอำนาจรัฐไม่ว่าในยุครัฐบาลใด อย่างไม่หวั่นเกรง และแสดงให้เห็นพลังที่เข้มแข็งของภาคประชาชนในยุคที่ผ่านมา ดังคำขวัญที่สะท้อนจุดยืนและเจตนารมณ์ได้อย่างหนักแน่นที่รู้จักกันดีว่า “การเมืองที่เห็นหัวคนจน” และ “ประชาธิปไตยที่กินได้”
แต่ ปรากฏการณ์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้ทฤษฏี “ไม่เป็นเบี้ยล่างในการเมืองของชนชั้นนำ แต่ช่วงชิงใช้ประโยชน์จากสถานการณ์” ซึ่งได้กลายเป็นบรรทัดฐานการเมืองภาคประชาชน จะต้องถูกทบทวน
การ เกิดขึ้นของเครือข่ายปฏิรูปนั้น อาจจะเรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดตามทฤษฎี เราคงจำได้ว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2553 ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่กำลังฮึกเหิม และดูเหมือนจะเป็นต่อทางการเมือง ข้อต่อรองระหว่างคนเสื้อแดงกับรัฐบาลในเรื่องการยุบสภากำลังถูกผลักดันไปสู่ การเป็นคำตอบสุดท้ายของทางออกจากการเผชิญหน้าในครั้งนั้น แต่แล้วในจังหวะนั้นเอง ที่เกิดทางเลือกที่สามที่ว่า การยุบสภาไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง แต่ต้องปฏิรูปประเทศไทย ในช่วงนั้นปัญญาชน นักกิจกรรม และ ngos หลายท่านประสานเสียงกันผลักดันทางเลือกที่นี้ โดยอาศัยสื่อมวลชนคือโทรทัศน์ ช่องทีวีไทยเป็นหนทางสำคัญ
เราอาจถือ ว่านั่นคือจุดก่อตัวของขบวนการปฏิรูป ผู้เขียนคิดว่า การก่อตัวของขบวนการปฏิรูปมีลักษณะเป็นไปเองตามสถานการณ์ และตระหนักว่าเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆมีความสัมพันธ์กันมาก่อนของกลุ่มคน ที่มีความหลากหลาย ไม่ได้เป็นเอกภาพ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มชาวบ้านหลากหลายกลุ่มหลายหลายประเด็นปัญหา ngos นักวิชาการ นักกิจกรรม ปัญญาชนสาธารณะผู้มีชื่อเสียง แต่สิ่งที่นำพวกเขามารวมกันก็คือทฤษฎีดั้งเดิมที่ตกผลึกในความคิด พวกเขามีแนวโน้มไปในทางที่เห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงนั้น เป็นการช่วงชิงอำนาจของชนชั้นนำ พวกเขาจึงไม่เข้าข้างมวลชนสีใดๆ และพวกเขาก็มองเห็นว่าในจังหวะที่รัฐบาลกำลังเผชิญศึกหนัก คือเวลาสำคัญที่จะผลักดันวาระทางการเมืองของตน
แน่นอน คัมภีร์การเคลื่อนไหวทำงานได้สัมฤทธิ์ผลอีกครั้ง ดังที่เกิดขบวนการปฏิรูปที่มีบทบาทสำคัญมาจนทุกวันนี้ แต่ความสำเร็จของขบวน การปฏิรูปได้ทำให้เกิดผลอย่างไรบ้างต่อภาคประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นได้ผลคุ้มค่าหรือไม่ เป็นประเด็นที่เราควรจะประเมินกันให้ชัดเจน
ในด้านสิ่งที่ได้มา ต้องยอมรับว่าได้เกิดผลดีต่อภาคประชาชนอย่างมาก นั่นก็คือวาระของภาคประชาชนได้ถูกผลักดันเข้ามาเป็นวาระสำคัญของสังคมไทย ปัญหาเชิงโครงสร้างที่นำมาซึ่งกรณีปัญหาต่างๆได้รับการรับฟัง เกิดการอภิปรายในโอกาสต่างๆอย่างกว้างขวางจริงจัง เกิดแนวร่วมระหว่างปัญญาชนชนชั้นนำ ชนชั้นกลาง และชาวบ้าน เกิดการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูประดับชาติ กิจกรรมการปฏิรูปได้รับงบประมาณ สนับสนุนก้อนโตจากรัฐ เกิดเครือข่ายการทำงานภาคประชาชนกว้างขว้าง เกิดแกนนำชาวบ้านที่โดดเด่นหลายท่าน และไม่มีครั้งใดที่ภาคประชาชนจะมีพื้นที่ในสื่ออย่างเป็นเรื่องเป็นราวมาก เท่านี้ โดยเฉพาะในรายการของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ต้องนับว่าเป็นภาวะอุดมคติที่ภาคประชาชนอยากจะเห็นมานาน
แล้ว อะไรบ้างที่ภาคประชาชนจะต้องจ่ายไป ประการแรกได้เกิดการแบ่งแยกระหว่างภาคประชาชนสายปฏิรูปการเมือง กับภาคประชาชนคนเสื้อแดง ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นมวลชนชาวบ้านส่วนใหญ่ของสังคมไทย การชูธงปฏิรูปในจังหวะที่การต่อสู้ของอีกฝ่ายกำลังจะออกหัวออกก้อย ผลักให้ชาวบ้านซึ่งที่จริงก็คือผู้มีชะตากรรมเดียวกัน กลายเป็นคนละฝักฝ่าย ไม่ว่าเครือข่ายปฏิรูปจะมีเจตนาให้เกิดสถานการณ์นี้ขึ้นหรือไม่ก็ตาม แต่คนทำงานภาคประชาชนควรคิดเรื่องนี้ให้จงหนัก เฉพาะเรื่องนี้จุดประเด็นถกเถียงหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมโนธรรมสำนึกของการเคลื่อนไหวทางการเมือง การช่วงชิงใช้โอกาสผลักดันวาระทางการเมืองดังที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสมควร หรือไม่ ? ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในทางปฏิบัติของการเคลื่อนไหวภาคประชาชน คำถามคือใครคือภาคประชาชน คนเสื้อแดงเป็นภาคประชาชนหรือไม่? ในภาวะที่ภาคประชาชนเกิดการแบ่งแยกแบบมองหน้ากันไม่ติดนี้ อนาคตภาคประชาชนจะเป็นอย่างไร ?
สิ่งที่ภาคประชาชนต้องจ่าย ในประการต่อมาก็คือ การรับรองความชอบธรรมให้รัฐบาลประชาธิปัตย์ จริงอยู่เครือข่ายปฏิรูป (โดยเฉพาะกลุ่ม P-MOVE) ไม่ได้แสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาล หนำซ้ำยังไปกดดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหลายครั้งหลายครา กระนั้นก็ดีความหมายทางการเมืองมันก็คือการยอมรับสถานภาพรัฐบาลในการเป็นผู้แก้ไขปัญหา ซึ่งก็เท่ากับรับรองการคงอยู่ของรัฐบาล ที่ สมควรจะต้องพ้นจากอำนาจ ในฐานะผู้รับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น (ไม่ว่ารัฐบาลจะมีส่วนทำให้เกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม) แต่การคงอยู่ของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งมีฐานะเป็นคู่กรณีของเหตุความรุนแรง ทำให้การทำงานของสถาบันต่างๆบิดเบี้ยวไปหมด ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันในประการต่อมาก็คือ ภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐที่มีรัฐบาลประชาธิปัตย์เป็นฉากหน้านี้ ประชาธิปไตยไทยได้ถอยหลังไปไกลสุดกู่กองทัพและเครือข่ายอำนาจของชนชั้นสูง กลับมามีบทบาทสูงยิ่ง บรรยากาศทางการเมืองขวาจัดและชาตินิยมคลั่งชาติโหมกระพือ การลิดรอนสิทธิเสรีภาพเพิ่มสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเซนเซอร์และตรวจจับการแสดงความคิดเห็นในอินเตอร์เน็ต การตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ยังไม่นับสิทธิมนุษยชนแบบเลือกปฏิบัติอันน่าอดสู
ทั้งหมดนี้คือราคาที่สังคมไทยต้องจ่าย ซึ่งต้องนำมาชั่งวัดกับสิ่งที่ขบวนการปฏิรูปได้มาว่าคุ้มค่าหรือไม่..
ผู้ เขียนใคร่จะย้อนไปทบทวนสิ่งที่คิดว่าได้มาของขบวนการปฏิรูป เพราะอาจยังมีภาพลวงตาของความสำเร็จ การประเมินความสำเร็จของการเคลื่อนไหวภาคประชาชนควรจะมีเกณฑ์ชี้วัดที่ ชัดเจนและมีเหตุผล ซึ่งผู้เขียนเสนอว่า ความสำเร็จของภาคประชาชนน่าจะชี้วัดกันว่า อำนาจต่อรองของภาคประชาชนสูงขึ้นหรือไม่
ขอยกประเด็นชวนพิจารณา 2-3 กรณี ในฐานะคนนอกที่ไม่รู้ว่าภายในขบวนการมีตื้นลึกหนาบางอย่างไร จึงไม่ขอสรุปตัดสินใดๆ แต่ขอยกเป็นคำถามชวนแลกเปลี่ยน
กรณีแรก เรื่องที่ดินและปากมูล ทราบข่าวว่าผลสรุปทั้งสองเรื่องไม่คืบหน้านัก กรณีที่ดิน ดูเหมือนว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์กลายเป็นผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ แก้ไขปัญหานี้ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีความก้าวหน้านัก โฉนดชุมชนได้รับการรับรองในภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พื้นที่ที่ทำโฉนดชุมชนได้คือพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และกระทรวงทรัพยากรฯก็ยังไม่เอาด้วย ในขณะที่ขบวนการก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนักในการผลักดันหัวใจของปัญหาที่ดิน คือความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน ผู้เขียนเคยได้ยินการเปิดเผยว่ามีนักการเมืองเป็นผู้ถือครองที่ดินจำนวนมาก แต่ก็ไม่เคยได้ยินการกล่าวถึงกลุ่มเจ้าที่ดินที่เป็นตัวปัญหาตัวจริงในเมือง ไทย ในกรณีปากมูล ทราบว่ามีการประชุมใหญ่กันหลายรอบ ท่านสาทิตย์เกือบจะเป็นขวัญใจคนใหม่ของชาวบ้าน แต่เรื่องก็จบเอาดื้อๆ เพราะสั่ง กฟผ. ไม่ได้ และเกิดการเบี่ยงประเด็นไปว่าการเปิดเขื่อนปากมูลอาจทำให้กระทบต่อระดับแม่ น้ำมูล กรณีที่ยกมานี้ เราจะบอกว่าขบวนการชาวบ้านเข้มแข็งขึ้นมีอำนาจต่อรองมากขึ้น หรือเพลี่ยงพล้ำในเกมส์ของรัฐบาล ?
กรณีการ มีพื้นที่ในสื่อ โดยเฉพาะในรายการของสถานีที่เรียกตัวเองว่าทีวีสาธารณะ ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่สถานีโทรทัศน์นำเสนอสารประโยชน์ และให้เวลากับเรื่องราวของประชาชนสามัญ รวมทั้งการพัฒนาทางเลือกอย่างมาก จนมีแซวกันว่าเป็นช่อง NGOs แต่ถ้ามองให้ลึกจะพบว่า สถานีได้ทำหน้าที่ชำระล้างประเด็นทางการเมืองที่พวกเขาเห็นว่าอันตรายออก ไป และก็จะเลือกสรรประเด็นการเมืองที่เห็นว่าสมควร ผู้เขียนอยากจะเรียกว่าการพาสเจอไรส์ (Pasteurization) ประเด็นทางการเมือง
โดย รวมๆ เราจึงเห็นสารคดีชาตินิยมล้าหลังแบบเนียนๆ สารคดีชีวิต/ชุมชน/การพัฒนาทาง เลือกแบบโรแมนติก การสนทนาประเด็นปัญหาที่วิพากษ์การพัฒนาอย่างเป็นนามธรรม ซึ่งมักจะด่าฝรั่งและความหลงผิดของคนไทย หากจะมีการวิจารณ์การเมืองก็จะมุ่ง ไปที่นักการเมือง แต่น้อยนักที่จะแตะต้องกลุ่มอำนาจในวงราชการและเครือข่ายอำนาจของชนชั้นสูง และแขกรับเชิญในรายการก็มักจะเป็นบุคคลสำคัญในแวดวงภาคประชาชนของพวกเขา ทั้งหมดนี้คงจะไม่ผิดถ้าจะบอกว่าสถานีนี้ได้ทำหน้าที่ โรงละครที่ตอบสนองรสนิยมของชนชั้นกลางชาวเมืองผู้มีการศึกษาที่สมาทาน อุดมการณ์ชาตินิยมกระแสหลัก คำถามก็คือพื้นที่ในสื่อแบบนี้ ทำให้ขบวนการชาวบ้านเข้มแข็ง/มีอำนาจต่อรองมากขึ้นจริงหรือ ?
กรณี สุดท้าย ผลงานชิ้นสำคัญของคณะกรรมการปฏิรูป ที่จัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อว่า แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้เลือกตั้ง ซึ่งรวบรวมข้อเสนอการปฏิรูปสังคม ไทยอย่างรอบด้าน ผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อเสนอหลายๆเรื่องในเอกสารนี้ แต่ก็ประหลาดใจว่า ทั้งๆที่เห็นกันชัดๆว่าท่ามกลางวิกฤตสังคมไทยในหลายปีที่ผ่านมา มีการตั้งคำถามกับสถาบันสำคัญที่น่าสงสัยว่ามีการใช้อำนาจอย่างไม่เหมาะสม และขาดความเที่ยงธรรม ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ สถาบันในกระบวนการยุติธรรม องค์มนตรี รวมทั้งกฎหมายที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ อย่างเช่น มาตรา 112 แต่การที่ไม่มีข้อเสนอปฏิรูป หรือแม้แต่กล่าวพาดพิงถึงสถาบันเหล่านี้เลย เครือข่ายปฏิรูปจะอธิบายเรื่อง นี้ว่าอย่างไร ? คำถามสุดท้ายก็คือ เรามีข้อเสนอปฏิรูปอะไรต่อมิอะไรทุกด้านไปหมด แต่เราไม่แตะต้องอำนาจของชน ชั้นนำที่เล่นการเมืองอยู่เหนือระบอบประชาธิปไตยเลย การปฏิรูปแบบนี้ ทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็งได้จริงหรือ?
ก่อนจะปฏิรูปกันต่อไป ใช่หรือไม่ คำถามเหล่านี้ต้องการการใคร่ครวญหาคำตอบอย่างจริงจัง.