ที่มา ประชาไท
รศ.ดร.สุรพร เสี้ยนสลาย
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
กระแส วิวาทะหรือการอภิปรายถกเถียงว่าด้วย “นโยบายประชานิยม” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นนโยบายสำคัญหรือเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของนโยบายของ พรรคเพื่อไทยหรือพรรคไทยรักไทยเดิมมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเชิงภาพรวมและการวิพากษ์วิจารณ์เป็นรายนโยบายไป โดยเฉพาะนโยบายค่าจ้าง 300บาท หากมองลงไปในรายละเอียดจะเห็นว่า กลุ่มคนที่มีการโต้เถียงกันในเรื่องนี้มาก ก็คือกลุ่มนักวิชาการที่นิยมแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก กับกลุ่มคนที่เคยได้รับผลประโยชน์จากแนวคิดการพัฒนากระแสหลักหรือการพัฒนา แบบเดิมๆ และรวมถึงคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทยอีกจำนวนไม่น้อย คนเหล่านี้พยายามชี้ให้เห็นว่า หากรัฐบาลใหม่นำนโยบายประชานิยมมาใช้อย่างจริงจัง (ไม่ได้ดีแต่พูด) ประเทศไทยมีหวังต้องเดินตามรอยของประเทศอาร์เจนติน่า หรือไม่ก็ประเทศกรีซ นั่นหมายถึงเศรษฐกิจของชาติคงจะล่มจม เป็นหนี้เป็นสินล้นพ้นตัว กลายเป็นประเทศชาติที่ล้มละลาย (เชิงภาพลักษณ์) ไปในที่สุด
ปัญหาก็ คือ สิ่งที่คนกลุ่มนี้ รวมไปถึงสื่อมวลชนต่างๆ นำไปวิพากษ์วิจารณ์กันต่อๆ ไปอย่างเผ็ดร้อนนี้ จะกลายเป็นเรื่องจริง หรือเป็นเพียงการดิสเครดิตกันทางการเมืองเท่านั้น ในความเห็นของผู้เขียน มองว่า การอภิปรายโต้เถียงเรื่องนโยบายประชานิยมที่ปรากฏอยู่ส่วนใหญ่สามารถจำแนก เป็นสองแนวทาง
แนวทางหนึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยอย่างแท้จริง แต่อีกแนวทางหนึ่งก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ไปในลักษณะต้องการทำลายความน่า เชื่อถือต่อนโยบายของพรรคการเมืองมากกว่าเป็นการอภิปรายบนพื้นฐานของเหตุผล
พูด ได้ว่าที่ผ่านมานั้นมีความพยายามสร้าง “วาทะกรรมประชานิยม” ขึ้นมา เพื่อสื่อให้เข้าใจว่านโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ นำเสนอ เป็นนโยบายที่เน้นการนำงบประมาณแผ่นดินไปแจกจ่ายให้กับประชาชนอย่างไร้ เหตุผล โดยเฉพาะให้กับคนยากคนจนหรือ “คนรากหญ้า” ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในสังคมไทย เพียงเพื่อหวังผลให้เกิดความนิยมชมชอบหรือหวังเพียงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพียงประการเดียวเท่านั้น ไม่ได้มองเรื่องความจีรังยั่งยืนใดๆ รวมถึงไม่ได้มองความมั่นคงของชาติแต่อย่างใด โทนเสียงการวิพากษ์วิจารณ์แบบหลังนี้ค่อนข้างเสียงดังกว่าแนวทางแรกมาก
ผู้ เขียนไม่เห็นด้วยกับคำวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองนี้ ไม่อยากเห็นการติเรือทั้งโกลน ความจริงนโยบายของพรรคการเมืองทุกพรรค เมื่อถูกประกาศขึ้นมายังคงมีลักษณะเป็นกลางๆ บางนโยบายอาจทำได้จริงทันที แต่บางนโยบายอาจมีอุปสรรคขัดขวางอยู่มากมาย เรายังไม่สามารถบอกได้ว่านโยบายนั้นนโยบายนี้เป็นนโยบายที่ไร้เหตุผลหรือ เป็นนโยบายสิ้นคิด ต้องดูไปถึงขั้นการแปลงนโยบายเป็นวิธีปฏิบัติที่แท้จริงว่าทำกันอย่างไร
อย่าง ไรก็ตามวันนี้หากมองภาพรวมของนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดการพัฒนาประเทศทั้งในอดีตและ ปัจจุบันเป็นอย่างดี จะบอกว่า หลายนโยบายเป็นนโยบายที่ดี สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน นโยบายที่ถูกขนานนามว่าเป็นนโยบายประชานิยมเหล่านี้ส่วนมากเป็นนโยบายที่ มุ่งสร้างความเป็นธรรมในสังคม มุ่งเข้าไปเสริมพลังความเข้มแข็งให้กับคนรากหญ้าที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งในการพัฒนาประเทศในระยะแรกๆ ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่1-7 (รวมเวลา 36 ปี) พวกเขาเหล่านี้ถูกทอดทิ้งให้เป็นประชาชนชั้นสอง เพราะแนวคิดการพัฒนากระแสหลักที่อยู่เบื้องหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ต้องการส่งเสริมให้คนชั้นนำหรือคนชั้นกลางเข้ามามีบทบาทในการผลิตภาค อุตสาหกรรมและการค้าเพื่อการส่งออก เพื่อสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ประเทศชาติ นโยบาย กติกาบ้านเมือง
กฎหมาย ต่างๆ ของรัฐบาลในยุคนั้นจึงมุ่งอำนวยความสะดวกและให้ความสำคัญกับคนชั้นกลางเป็น หลัก คนรากหญ้าจึงถูกทอดทิ้งให้มีสภาพเป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าการเกษตร เป็นแรงงานราคาถูกหรือไม่ก็เป็นกลุ่มคนยากคนจนที่น่าเวทนา จนรัฐต้องยื่นมือเข้ามาสงเคราะห์ช่วยเหลือ ดูแลไปแทบทุกเรื่อง นี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนรากหญ้ากับชน ชั้นสูงชั้นกลางในประเทศไทยอย่างเด่นชัดในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องมรดกหรือเรื่องการถือครองทรัพย์สินอะไรทั้งสิ้น
สิ่งที่ กล่าวมานี้ ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ยอมรับกันทั่วไป แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540 – 2544) ก็พูดไว้ชัดเจน แถมชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาประเทศตามแนวทางแบบนี้ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวดีแต่ก็ มีปัญหา เพราะต้องอิงแอบอยู่กับประเทศอื่นมากเกินไป การพัฒนากระจุกตัวไม่กระจาย คนรวยรวยล้นฟ้า คนจนแม้จะมีชีวิตดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังห่างไกลจากคนรวยคนชั้นกลางมาก คนและสังคมมีปัญหามากมาย ไม่ต้องพูดถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมอย่างเห็นได้ชัด จนเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้สังคมไทยต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการพัฒนา ประเทศกันใหม่ มาเป็นแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือแนวคิดที่พยายามจะปรับเปลี่ยนโครง สร้างเศรษฐกิจของประเทศให้สมดุล ทำให้คนรากหญ้าเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเท่าเทียม เป็นธรรมมาตั้งแต่แผน 8 จนถึงปัจจุบัน
เมื่อแนวคิดการพัฒนาเปลี่ยน แปลง แนวทางการพัฒนาของประเทศ รวมถึงนโยบายทางเศรษฐกิจสังคม การเมือง รวมถึงนโยบายพรรคการเมืองต่างๆก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยไป แต่ที่ผ่านมาเกือบ15 ปี สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรม เพราะกลไกหลักในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาส่วนใหญ่ก็ยังเหมือนเดิม ระบบราชการยังมีโครงสร้างและกระบวนการทำงานแบบเดิม รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศก็เข้าใจเรื่องนี้บ้างไม่เข้าใจบ้าง บางรัฐบาลถึงกับตีความแนวคิดการพัฒนาคลาดเคลื่อนไปเป็นการชักนำให้คนส่วน ใหญ่ยอมรับชะตากรรม ให้มีชีวิตที่พอเพียง ไม่ต้องดิ้นรนต่อสู้อะไรไปทำนองนั้น
ครั้นพอพรรคการเมืองบางพรรค เริ่มมีความเข้าใจ มองเห็นช่องทางที่เป็นรูปธรรมที่จะทำให้แนวคิดการพัฒนาที่เขียนไว้ในแผน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นจริงได้ โดยการนำเสนอนโยบายที่เน้นการผันงบประมาณส่วนหนึ่งของรัฐบาลมาส่งเสริมให้คน รากหญ้า ได้เรียนรู้และสะสมทุนเข้าสู่กระบวนการทำมาหากินเหมือนที่เคยส่งเสริมกับชน ชั้นกลาง รวมถึงสนับสนุนนโยบายที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมแบบตรงไปตรงมาเหมือน นโยบายค่าแรง 300 บาทหรือนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค คนในสังคมที่เคยอยู่ในฐานะได้เปรียบ ได้ผลประโยชน์จากการพัฒนาแบบเดิม กลับพยายามสร้างวาทกรรมนโยบายประชานิยมออกมา ทำให้เกิดการถกเถียงแบบไม่รู้จบ เถียงกันแบบรู้จริงบ้างไม่จริงบ้าง ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายที่ดีของรัฐบาลหลายๆนโยบาย ต้องกลายเป็นหมัน หรือผิดเพี้ยนไปจากที่ควรเป็น ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของชาติหรือการสร้างความ เป็นธรรมในสังคมต้องพลอยชะงักงันไปด้วย
ดังนั้นหากมองกันด้วยสายตา ที่ไม่มีอคติมากเกินไป มองด้วยความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของแนวคิดการพัฒนาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ แผนพัฒนาฉบับที่แปด แต่ยังทำให้บังเกิดผลที่แท้จริงไม่ได้เท่าที่ควร มองด้วยความเข้าใจและมองเห็นถึงความไม่เท่าเทียมกัน ความไม่เป็นธรรมที่ยังมีอยู่มากมายในสังคมไทยเราก็ไม่ควรต่อต้านต่อนโยบาย ที่รัฐพยายามจะเข้าไปเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคนรากหญ้าส่วนใหญ่ของ ประเทศ ซึ่งครั้งหนึ่งเขาได้ถูกบังคับโดยรัฐให้เป็นผู้เสียสละเพื่อความร่ำรวยของ ชาติ(โดยไม่รู้ตัว) การสร้างวาทกรรมประชานิยม หรือ การดิสเครดิตนโยบาย หรือความพยายามของรัฐบาลก็ควรจะมีให้น้อยลง
แทนที่จะคอยวิพากษ์วิจารณ์เพื่อขัดขวาง เพื่อล้มนโยบายที่เราไม่ชอบใจ ไม่ได้ผลประโยชน์ เราควรเปลี่ยนมาเป็นการคอยช่วยกันชี้แนะให้รัฐบาล ว่าควรกำหนดนโยบาย ควรทำกิจกรรม โครงการอะไร แบบใด ที่จะสามารถส่งเสริมให้คนรากหญ้าสามารถเรียนรู้ที่จะเข้าสู่กระบวนการต่อสู้ ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ครอบงำสังคมไทยและสังคมโลกอยู่ทุกวันนี้ได้อย่าง เข้มแข็ง และสามารถช่วยกันขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมที่มีความเจริญเติบโตทาง เศรษฐกิจอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีความเป็นธรรมกับทุกคนทุกฝ่าย โดยไม่กลายเป็นนโยบายที่จะพาชาติให้ล่มจมลงไป