ที่มา ประชาไท
คำ สอนของพุทธศาสนามากไปด้วยลักษณะ “ปฏิทรรศน์” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า paradox หรือ ลักษณะย้อนแย้งในตัวเอง เช่น พุทธศาสนาบอกว่าสรรพสิ่งเป็นอนัตตา ไม่มีอะไรที่อาจยึดถือได้ว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา แต่พุทธศาสนาก็บอกว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”
แต่ที่ จริงลักษณะย้อนแย้งในตัวเองก็มีอยู่ในความรู้อื่นๆ ด้วย เช่นLeontief'sparadox คือ ปัญหาว่าทำไมประเทศที่อุดมด้วยปัจจัยทุนจึงมีการส่งออกสินค้าที่ใช้แรงงาน เป็นหลัก Giffen'sparadox ปัญหาว่าทำไมบางสินค้า ยิ่งขึ้นราคา คนยิ่งซื้อ (เช่น ขนมปัง ในยามสงคราม) Diamond-waterparadox (paradox of value) ปัญหาว่าทำไมน้ำจึงถูกกว่าเพชร ทั้งๆ ที่คนต้องการน้ำมากกว่า
ฉะนั้น ภาวะย้อนแย้งในตัวเองไม่ใช่ปัญหาที่อธิบายไม่ได้เสมอไป และนอกจากจะอธิบายได้แล้ว ดูเหมือนพุทธศาสนาจะยืนยันด้วยซ้ำไปว่า สัจธรรมหรือความจริงมันมีลักษณะปฏิทรรศน์ หรือย้อนแย้งในตัวเองเช่นนั้นเอง (ตถตา)
เช่น โดยความจริงตามกฎธรรมชาติ (ไตรลักษณ์) สรรพสิ่งเป็นอนัตตา ไม่มีอะไรที่อาจยึดถือได้ว่าเป็นตัวฉัน หรือของฉัน เพราะทุกสิ่งเกิดขึ้น แปรเปลี่ยน และเสื่อมสลายไปตามวิถีทางของธรรมชาติ แต่ทว่าการที่จะเข้าถึงหรือรู้แจ้งความจริงตามกฎธรรมชาติดังกล่าวที่มีผลต่อ การสลายความยึดถือว่ามีตัวฉัน ของฉันได้ จำเป็นต้องเดินตามหลัก “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” อย่างเข้มงวด
ถึงตรงนี้มัน มีสิ่งที่เรียกว่า “ตัวตน” ที่พูดถึงได้สามความหมายแล้ว 1) ในความหมายทางอภิปรัชญา หรือ “ปรมัตถสัจจะ” สรรพสิ่งเป็นอนัตตาไม่มีตัวตนที่อาจยึดถือว่าเป็นตัวฉัน ของฉันได้ 2) ในความหมายตามสมมติ หรือ “สมมติสัจจะ” ตัวตนคือ “จินตภาพ” ที่เราสร้างขึ้น และเราก็ยึดมั่นว่าตัวตนตามจินตภาพนั้นคือตัวฉัน หรือตัวตนของฉัน และ 3) ตัวตนทางศีลธรรม (moral self) คือ ตัวตนในความหมายของ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ซึ่งได้แก่คุณลักษณะทางจิตปัญญาบางอย่าง ที่สามารถเข้าใจสัจธรรมตามกฎธรรมชาติ และสลายความยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกว่าเป็นตัวฉัน ของฉัน ได้
ตัว ตนในสามความหมายนี้ มีลักษณะย้อนแย้งในตัวเองอย่างชัดเจน แต่ลักษณะย้อนแย้งมันคือความจริงตามกฎธรรมชาติใช่หรือไม่ เช่น ธรรมชาติสร้างชีวิตเรามาให้ต้องแก่ เจ็บป่วย และตาย อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ธรรมชาติก็สร้างจิตใจเราให้มีเสรีที่จะไม่ยอมรับความจริงนั้น ฝืน หรือต่อต้านความเป็นจริงนั้น คนเรานั้นรู้ทั้งรู้ว่าผลสุดท้ายของการดิ้นรนเพื่อที่จะมีจะเป็น หรือยื้อแย่ง แข่งขัน กดขี่เบียนเบียนกันและกันคือ “ความว่างเปล่า” แต่ชีวิตจริงก็ดำเนินไปเช่นนี้ ขัดแย้งกับวิถีของธรรมชาติเช่นนี้ตั้งแต่เกิดจนตาย และโลกก็ถูกออกแบบให้เป็นเวทีแห่งการดิ้นรน แข่งขันกันเช่นนี้ตลอดมา
ความ จริงแล้ว ธรรมชาติของมนุษย์ก็ยิ่งมีลักษณะย้อนแย้งในตัวเองอย่างซับซ้อนยิ่ง มนุษย์เป็น “สัตว์ที่มีเหตุผล” จริงหรือ? ทำไมในนามของพระเจ้า ในนามของศาสนา ศีลธรรม เราจึงมีสงครามและการเข่นฆ่า บางครั้งมนุษย์ก็ทำสงครามในนามของความรักและสันติภาพ มนุษย์ปรารถนาความมั่นคงและสันติภาพ แต่เขาก็สร้างอาวุธและสิ่งที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงและสันติภาพขึ้นมามาก มาย มนุษย์อาจจะสาดห่ากระสุนและทิ้งระเบิดถล่มฝ่ายตรงข้ามอย่างโหดเหี้ยม ขณะเดียวกันเขาก็หลั่งน้ำตาให้กับการบาดเจ็บและความตายของพวกเดียวกัน
ภาวะ ย้อนแย้งในตัวเองแห่งธรรมชาติของมนุษย์ดังกล่าวเป็นต้นนี้ อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น “ภาวะขัดแย้งในตัวเอง” (self conflict) ที่พุทธศาสนาอธิบายว่าเป็น “ทุกขสัจจะ” ของชีวิตและโลก คือชีวิตและโลกมันก็เป็นของมันเช่นนี้ ดำเนินไปบนความทุกข์หรือความขัดแย้งเช่นนี้
แต่ พุทธศาสนาก็มองว่า ทุกขสัจจะเป็นความจริงที่เราต้องเผชิญ เรียนรู้และอยู่กับมันหรือจัดการกับมันอย่างตรงตามเงื่อนไขหรือเหตุปัจจัย เช่น ทุกข์ในทางจิตใจเป็นเรื่องที่ปัจเจกบุคคลควรสร้างคุณลักษณะทางจิตปัญญา บางอย่างเพื่อสลายความรู้สึกยึดมั่นในตัวฉัน ของฉัน ทุกข์ทางสังคมเป็นเรื่องที่สังคมต้องสร้างระบบหรือกติกาที่ยุติธรรมในการ อยู่ร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม โดยที่พุทธศาสนามีพัฒนาการมาภายในบริบทของสังคมแบบราชาธิปไตย ซึ่งความมั่นคงของพุทธศาสนาขึ้นอยู่กับ “ราชูปถัมภ์” ในเรื่องการแก้ทุกข์ทางสังคม คำสอนพุทธศาสนาจึงถูกนำเสนอ และตีความสนับสนุนความสำคัญของ “ตัวบุคคล” มากกว่าความสำคัญของ “ระบบ” คือความสงบสุขของบ้านเมืองขึ้นอยู่กับคุณธรรมของตัวบุคคลที่เป็น “ธรรมราชา” หรือผู้ปกครองแผ่นดินโดยธรรม
แต่เราอาจเข้าใจได้ ว่า ในยุคที่พระราชามีอำนาจสูงสุด หรือมีสถานะเป็นเสมือน “รัฐ” นั่นอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่พุทธศาสนาจะเสนอหลักศีลธรรมสำหรับผู้ปกครอง เพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองในยุคนั้นๆ
เมื่อ ปัจจุบันนี้ โลกเปลี่ยนไปแล้ว สังคมการเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องการ “ระบบที่ดี” ที่สร้างขึ้นบนหลักเสรีภาพ และความเสมอภาค หากพุทธศาสนายังเสนอหลักศีลธรรมทางการเมืองเหมือนสมัยราชาธิปไตย คือเสนอเพื่อ “ยกย่องตัวบุคคลเหนือระบบ”
เช่น อ้างเรื่อง “เผด็จการโดยธรรม” ที่ถือว่า ผู้ปกครองที่มีคุณธรรมหรือธรรมราชาสามารถใช้อำนาจเผด็จการเพื่อให้เกิดความ ถูกต้อง หรือเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนได้ เป็นต้น ก็จะกลายเป็น “ข้อเสนอผิดยุค” ที่อาจสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา ดังในความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นมา ฝ่ายพันธมิตรมีการอ้างวาทกรรม “เผด็จการโดยธรรม” ของท่านพุทธทาสเป็นวาทกรรมหลักอย่างหนึ่งในการต่อสู้เรียกร้อง “อำนาจพิเศษ” เข้ามาแก้ปัญหาการเมือง เป็นต้น
แท้จริงแล้ว คำสอนของพุทธศาสนามีลักษณะปฏิทรรศน์หรือ “ย้อนแย้งในเชิงความหมาย” ในหลายเรื่องมาก หากไม่พิจารณาให้ดี เราอาจนำสิ่งที่ “ย้อนแย้งเชิงความหมาย” มาสร้าง “ความขัดแย้งกับโลกที่เป็นจริง” หรือ “โลกที่ควรจะเป็น” ได้ง่ายๆ หรืออย่างไม่มีเหตุผลได้เช่นกัน