ที่มา ประชาไท
จากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ( นปช.) เรียกร้องให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศยุบสภาที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 12 มีนาคม 2553 จนนำมาสู่การที่รัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าทำการสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มี ความรุนแรงหลายต่อหลายครั้ง จนกระทั้งทางแกนนำ นปช.ได้ประกาศยุติการชุมนุมเมื่อ 19 พฤษภาคม 2553
จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีทั้งพยานที่อยู่ในเหตุการณ์และหลักฐานจำนวนมาก ที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในช่วงเหตุการณ์ดัง กล่าว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กสม. (National Humanrights Commision of Thailand NHRC) จึงเป็นจุดที่ถูกจับตาว่าจะมีรายงานข้อสรุปถึงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในกรณีดังกล่าวอย่างไร
หลังจากเวลาผ่านมากว่าปี มีเอกสารรายงานของกรรมการสิทธิ์ ในกรณีดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ออกมาจนเป็นที่สนใจในวงกว้าง มีการตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการ สื่อมวลชน นักสิทธิมนุษยชน และผู้อยู่ในเหตุการณ์ถึงความน่าเชื่อถือทั้งในด้านหลักการสิทธิมนุษยชน และ ข้อเท็จจริง ว่าน่าจะมีความคลาดเคลื่อนอย่างรุนแรง ทำให้กรรมการสิทธิ์ต้องได้ประกาศขอเลื่อนการรายงานผลการตรวจสอบ ของ กสม.ออกไป
กระทั่งในวันที่ 22 ก.ค.54 นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมด้วย น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ และประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ร่วมกันจัดแถลงแถลงข่าว กรณีเหตุผลความล่าช้าในการเปิดเผยรายงาน “การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2553” ขึ้น
นักสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมทางสังคม นักวิชาการและสื่อมวลชนที่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวจึงได้เข้าร่วมรับฟังและ ตั้งคำถามต่อนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ( กสม.)