ที่มา มติชน
ในประเทศ
11 กรกฎาคม 2554 ศาลเยอรมนี มีคำพิพากษาให้อายัดเครื่องบินพระที่นั่งโบอิ้ง 737-400 ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ไว้เป็นของกลางในคดีพิพาทระหว่าง บริษัท วอลเตอร์ บาว กับรัฐบาลไทย
เรื่อง นี้สืบเนื่องจาก บริษัท วอลเตอร์ บาว ของเยอรมนี ที่เข้ามาเป็นหุ้นส่วนรับสัมปทานการก่อสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์เมื่อปี 2543 ได้ดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรมกับรัฐบาลไทย โดยอ้างว่า รัฐบาลไทยทำผิดสัญญา ผ่านคณะอนุญาโตตุลาการที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
1 กรกฎาคม 2552 คณะอนุญาโตตุลาการ ชี้ขาดให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหาย 30 ล้านยูโร (ราว 1,200 ล้านบาท) บวกดอกเบี้ย 6 เดือนในอัตราร้อยละ 2 ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2549
แต่รัฐบาลไทยได้ประวิงเวลาชดใช้ และพยายามหาช่องสู้คดีอยู่หลายปี
บริษัท วอลเตอร์ บาว จึงได้ฟ้องร้องต่อศาลเยอรมนีเพื่อบังคับคดี
จนนำไปสู่การอายัดเครื่องบินพระที่นั่งดังกล่าว
รัฐบาลไทยส่งคณะกฎหมายไทย ประกอบด้วย อัยการสูงสุด และรองอธิบดีกรมสนธิสัญญาเดินทางไปเยอรมนี เพื่อยกเลิกการอายัด
โดย ชี้แจงศาลเยอรมนีว่าเครื่องบินพระที่นั่ง ไม่ใช่ทรัพย์สินของรัฐบาล เป็นเครื่องบินที่กองทัพอากาศไทยได้น้อมเกล้าฯ ถวาย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 จึงถือเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์
วันที่ 20 กรกฎาคม ศาลเยอรมนี เห็นพ้องที่จะถอนอายัดเครื่องบินดังกล่าว
แต่มีเงื่อนไขต้องมีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันตามมูลค่าประเมินของเครื่องบิน 20 ล้านยูโร หรือราว 840 ล้านบาทไว้
รัฐบาล ไทยได้หารือในประเด็นนี้ ที่สุดเห็นว่าไม่ควรวางหลักประกันดังกล่าว เพื่อรอให้ศาลพิจารณาและสืบพยานให้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียว ซึ่งคาดว่ากระบวนการสืบพยานจะมีขึ้นประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2554
นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด แสดงความมั่นใจว่าจะนำเครื่องบินกลับมาได้ โดยไม่ต้องเสียเงินค่ามัดจำแม้แต่บาทเดียว
พร้อมทั้งให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า
"ผม ได้เข้าเฝ้าฯ โดยแรกๆ ที่ถูกอายัดเครื่องบินพระองค์ท่านก็ทรงห่วงความรู้สึกของคนไทย แต่วันที่พระองค์ท่าน เสด็จฯ ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตที่วัดพระแก้ว วันนั้นมีฝนตก และมีประชาชนรอเฝ้าฯ รับเสด็จจำนวนมาก พร้อมกับเปล่งเสียงทรงพระเจริญ แสดงความรู้สึกจงรักภักดี"
"ทั้งนี้ พระองค์ท่านเป็นนักบิน รักการบิน เมื่อถูกอายัดเครื่องบินก็ย่อมไม่สบายพระทัยเป็นปกติ แต่เมื่อคนไทยแสดงความรู้สึกดี พระองค์ท่านก็สบายพระทัย"
"ส่วน เครื่องบินที่ประเทศเยอรมนี พระองค์ท่านมีพระราชวินิจฉัยว่าไม่ต้องวางเงินประกัน แม้รัฐบาลไทยก็พร้อมที่จะเอาเงินวางเพื่อจะนำเครื่องบินออกมาเพื่อ น้อมเกล้าฯ ถวายให้พระองค์ท่านทรงใช้งาน แต่พระองค์ท่านไม่ประสงค์ให้นำเงินของรัฐบาลไทยไปวาง"
อย่าง ไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม สถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ตอกย้ำให้รัฐบาลไทยจ่ายค่าเสียหายชดเชยให้บริษัท วอลเตอร์ บาว
เพราะคำตัดสินถือเป็นสิ้นสุดแล้ว
"เพื่อ การปกป้องการลงทุนที่ประเทศไทยและประเทศเยอรมนีร่วมลงนามกันไว้ รัฐบาลเยอรมนีคาดหวังว่า รัฐบาลไทยจะปฏิบัติตามคำตัดสินนี้อย่างเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้" แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ
และย้ำว่า
"การตัดสินใจของรัฐบาลไทยในเรื่องนี้โดยเร็ว จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเยอรมนีและจากประเทศอื่นๆ"
"รัฐบาล เยอรมนีได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลไทยหลายครั้ง ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นมิตรด้วยการชำระค่าชดเชยอย่างสมเหตุสมผลให้ กับบริษัท แต่แล้วก็ไม่สามารถมีข้อตกลงที่พอใจของทั้งสองฝ่ายได้"
กระทรวง การต่างประเทศไทย ตอบโต้ด้วยการออกแถลงการณ์ ระบุว่า รัฐบาลไทยรู้สึกผิดหวังต่อท่าทีและการดำเนินการของรัฐบาลเยอรมนี ซึ่งรวมถึงการพาดพิง เรื่องการอายัดเครื่องบินส่วนพระองค์ "โดยมิบังควร"
สัมพันธภาพระหว่าง 2 ประเทศ ตึงเครียดขึ้นโดยลำดับ
ท่าม กลางกระแสข่าวลือว่าจะมียึดเครื่องบินส่วนพระองค์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อีกลำหนึ่งที่สนามบินมิวนิก ประเทศเยอรมนี
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยืนยันว่าไม่เป็นความจริง
วันที่ 31 กรกฎาคม
หน่วย ราชการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "การอายัดเครื่องบินพระที่นั่งส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จากกรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับ บริษัท วอลเตอร์ บาว"
ความว่า
"ตาม ที่ศาลสูงสุดแห่งรัฐเบอร์ลินสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2554 ให้ดำเนินการอายัดเครื่องบินพระที่นั่งของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นเครื่องบินส่วนพระองค์ ไว้เป็นของกลางในคดีพิพาทระหว่าง บริษัท วอลเตอร์ บาว กับรัฐบาลไทย และศาลแขวงแลนส์ฮูท ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2554 ให้วางเงินประกันจำนวน 20 ล้านยูโร เพื่อถอนการอายัดเครื่องบินพระที่นั่งดังกล่าวนั้น
ตลอดระยะเวลา ตั้งแต่มีคำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่งรัฐเบอร์ลิน และคำสั่งของศาลแขวงแลนส์ฮูท สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มิได้ทรงตอบโต้แต่ประการใดต่อคำพิพากษาและคำตัดสินดังกล่าว รวมทั้งต่อกระแสข่าวทั้งจากในและต่างประเทศ ทรงเคารพต่อคำพิพากษาของศาล และทรงเชื่อมั่นในความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมด้วยทรงมีความสัมพันธ์ ที่ดีกับรัฐบาลและประชาชนของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในระหว่างที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจและทรงพำนักอยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐ เยอรมนี ทรงได้รับการต้อนรับ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เป็นอย่างดี
แม้ว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จะมิได้มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับ บริษัท วอลเตอร์ บาว และมิได้ทรงเป็นผู้สร้างเรื่องหรือเหตุการณ์ข้อพิพาทขึ้นมา แต่ผลจากข้อพิพาทดังกล่าว ได้นำมาซึ่งความเดือดร้อนพระราชหฤทัย กระทบต่อพระราชกรณียกิจ และเสี่ยงต่อการเสื่อมเสียพระเกียรติยศเป็นอย่างยิ่ง
ในการนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชกระแสและพระราชปณิธานที่จะทรงตอบแทนพระคุณแผ่นดินไทย และทรงใช้หนี้บุญคุณให้กับประเทศชาติในพระราชฐานะที่ทรงเป็นประชาชนชาวไทย พระองค์หนึ่ง และทรงเป็นองค์สยามมกุฎราชกุมารของประเทศไทย อีกทั้งมิให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและสหพันธ์ สาธารณรัฐเยอรมนี และเพื่อให้ข้อพิพาทดังกล่าวจบลงด้วยดีและรวดเร็ว จึงจะพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อนำไปใช้ในการระงับข้อพิพาทดังกล่าว
ทั้งนี้ ไม่ทรงปรารถนาที่จะให้มีพระนามาภิไธยไปเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทและมิให้เป็นที่เสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศ"
วัน ที่ 1 สิงหาคม นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด (อสส.) นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะทำงานหารือกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลอย่างเร่งด่วน
นายอำพน กิตติอำพล เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงผลประชุมว่ารัฐบาลจะยึดหลักในการแก้ไขเรื่องนี้คือ
1.การยุติคดีหลักโดยเร็ว
2.ไม่ให้กระทบสัมพันธภาพของสองประเทศ
และ 3.ให้มีกลไกในการยุติคดีเพื่อไม่ให้เกิดการอ้างเอาข้อพิพาทที่ยังหาข้อยุติ ไม่ได้ ไปมีผลกระทบกับบุคคลที่สามโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันของประเทศไทย
ด้าน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อแก้ปัญหานั้น ขณะนี้ยังไม่ได้พระราชทาน เพียงแต่พระองค์ท่านแสดงพระราชปณิธานที่จะสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แต่รัฐบาลก็จะดำเนินการที่จะแก้ไขปัญหานี้เอง โดยไม่ให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เพราะยังคิดว่ามีหนทางที่จะดำเนินการได้
"พระองค์ท่าน ทรงห่วงในเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น ถ้าหากเหตุการณ์ยืดเยื้อลุกลาม ก็มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์และต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย พระองค์ท่านจึงแสดงพระราชปณิธานที่จะสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งรัฐบาลก็กราบบังคมทูลว่าจะขอไปดำเนินการตามแนวทางด้วยตัวของรัฐบาลเอง ก่อน"
ณ ขณะนี้
คนไทยกำลังเฝ้ารอว่าการ "ดำเนินการตามแนวทางด้วยตัวของรัฐบาล" เองนั้น จะยุติปัญหาที่ ยืดเยื้อตั้งแต่ปี 2543 อย่างไร!