ที่มา ประชาไท
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในอีก 17 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้รับรองผลการประชุมอย่างเป็นทางการของการประชุมประจำปี ครั้งที่ 16 และการประชุมทุกสองปีของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจักขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 6- 8 กันยายน ณ โรงแรมแชงกรี-ล่า กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน
สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีการรวมตัวกันในกรอบ ความร่วมมือที่เรียกว่า APF หรือ Asia Pacific Forum of National Human Rights Institutions เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ มนุษยชนระหว่างกัน และร่วมมือกันในประเด็นสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค APF มีสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นสมาชิก 17 สถาบัน ได้แก่ สถาบันสิทธิมนุษยชนของประเทศอัฟกานิสถาน จอร์แดนกาตาร์ ปาเลสไตน์ อินเดีย ศรีลังกา มัลดีฟส์ เนปาล อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย ติมอร์เลสเต้ เกาหลีใต้ มองโกเลีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
การประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปีนี้เป็นโอกาสให้สมาชิก APF ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการ ส่งเสริมสิทธิในเรื่องต่างๆ โดยเปิดเวทีให้ภาคประชาสังคมและหน่วยงานของรัฐเข้าร่วมให้ข้อคิดเห็นด้วย ในโอกาสที่ กสม.เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ กสม. ได้พยายามสนับสนุนให้ NGOs ของไทยได้มีส่วนร่วมให้ข้อคิดเห็นต่อการประชุม โดยจัดเวทีคู่ขนานกับการประชุมให้ NGOs ทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคได้หารือร่วมกันในประเด็นที่มีการพิจารณาในที่ ประชุม ได้แก่ สิทธิในการพัฒนาและสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการส่ง เสริมสิทธิดังกล่าวด้วย
ผลการประชุมที่สำคัญ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นสมาชิก APF ให้คำมั่นที่จะผลักดันให้สิทธิในการพัฒนาเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง การแสดงคำมั่นครั้งนี้เกิดขึ้นในโอกาสครบรอบ 25 ปีที่ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิในการพัฒนาได้รับการรับรองโดยสหประชาชาติ โดยจะดูแลให้ภาคส่วนต่างๆ เคารพสิทธิมนุษยชนในกระบวนการพัฒนาของแต่ละประเทศ เพื่อให้การพัฒนานำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง
ศ.ประเวศ วะสี ประธานสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย และ ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ให้เกียรติมากล่าวเปิดการประชุมและกล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิ มนุษยชนและสิทธิในการพัฒนา ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่ง ศ.ประเวศได้ให้ข้อคิดเห็นว่า มนุษย์จะต้องมีจิตสำนึกที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเคารพสิทธิมนุษย ชน จิตสำนึกดังกล่าวเท่านั้นที่จะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมและนำพามนุษยชาติให้อยู่รอดต่อไปได้ ส่วนประธานศาลปกครองสูงสุดได้กล่าวถึงบทบาทของศาลปกครองในการคุ้มครองสิทธิ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการพัฒนาซึ่งได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สิทธิชุมชนในมาตร 66 และ 67 เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาและถูกละเมิดสิทธิได้ รับความเป็นธรรม
ในการส่งเสริมให้สิทธิในการพัฒนาเกิดผลจริงจัง ที่ประชุมเห็นพ้องว่าสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรดูแลผู้พิทักษ์สิทธิ มนุษยชนที่ปกป้องสิทธิในการพัฒนาให้ได้รับความคุ้มครองจากการถูกข่มขู่คุก คาม ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อให้การพัฒนามีประชาชนเป็นศูนย์ กลาง และสนับสนุนบทบาทของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสังคมแห่งการสื่อสาร ให้เข้ามามีบทบาทตรวจสอบการละเมิดสิทธิและสร้างตระหนักแก่สังคมในเรื่องของ สิทธิมนุษยชนและสิทธิในการพัฒนา
นอกจากการส่งเสริมสิทธิในการพัฒนาแล้ว ที่ประชุม APF ยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิของผู้มีความหลากหลาย ทางเพศในภูมิภาค ที่ประชุมเห็นว่าความหลากหลายทางเพศเป็นความหลากหลายทางธรรมชาติ บุคคลกลุ่มนี้จึงควรได้รับการเคารพและคุ้มครองสิทธิเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป และสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรส่งเสริมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ด้วยเหตุแห่งความหลากหลายทางเพศ ซึ่งในส่วนของ กสม. ได้มีการทำงานร่วมกับเครือข่ายความหลากหลายทางเพศมาอย่างต่อเนื่องและมีแผน จะร่วมมือกับเครือข่ายในการส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้ได้รับการเคารพสิทธิเช่น บุคคลอื่นทั้งในเรื่องของการรับรองสถานะทางกฎหมายและสิทธิในการใช้ชีวิตคู่ ต่อไป
ในการประชุมครั้งนี้ ศ. ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. ได้รับเลือกเป็นเอกฉันท์ให้เป็นประธานการประชุม และนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการ กสม. ยังได้รับความเห็นชอบให้เป็นประธานเครือข่ายผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน ที่สนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ เป็นสมาชิก APF ด้วย
ผลการประชุมอื่นๆ ที่ประชุมได้รับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของบังกลาเทศเข้าเป็นสมาชิก APF ในการประชุมครั้งนี้ และได้เลือกสถาบันสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อเป็นตัวแทนของ APF ไปทำงานร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจากภูมิภาคอื่นๆ ในคณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อการประสานงานระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่ง ชาติ หรือที่เรียกว่า ICC (International Coordinating Committee of National Institutions for the Promotion and Protection of Human Rights) ซึ่งเป็นเครือข่ายของสถาบันสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ จากทุกภูมิภาคทั่วโลก โดย กสม. ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนของ APF ในคณะกรรมการบริหารของ ICC ซึ่งมีบทบาทในการกำกับดูแลการดำเนินงานที่สำคัญๆ ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลกให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่สมาชิก ICC ได้ร่วมให้ความเห็นชอบไว้