ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ เหล็กใน
อะไรอยู่ในกรอบกติกาและมีประโยชน์ก็ต้องสนับสนุน
อย่างคณะรัฐบาลเงาของพรรคประชาธิปัตย์ที่ตั้งขึ้นมาติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลตัวจริง
นับจำนวนไล่เรียงมาตั้งแต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เงาที่นั่งควบรมว.กลาโหมเงา
บวกกับรองนายกฯ เงา 4 คน รมต.สำนักนายกฯ เงา 3 คน รัฐมนตรีเงาครบทั้ง 19 กระทรวง ซึ่งมีทั้งรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยเงา
เบ็ดเสร็จรวม 29 ตำแหน่ง 35 คน
แถมครั้งนี้ยังมาแปลกเพราะมีการวางคนเป็นเลขาฯ และรองเลขาฯ ครม.เงา ยังไม่นับโฆษกและรองโฆษกรัฐบาลเงาอีกต่างหาก
เรียกว่าตั้งขึ้นมาประกบรัฐบาลจริงแบบตัวต่อตัว กระทรวงต่อกระทรวงกันเลยทีเดียว
หลังจากก่อนหน้านี้ในงานสัมมนาประชาธิปัตย์ มีผู้เสนอไอเดียให้สมาชิกพรรคที่สอบตกเลือกตั้งแต่ละพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นส.ส.เงาด้วย
การ จัดวางทีมสแกนรัฐบาลทุกรูขุมขนนี้ สะท้อนว่าประชาธิปัตย์มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านครั้งนี้ มาก เพื่อไม่ให้เสียชื่อฝ่ายค้านมืออาชีพ
และเป็นไปได้ว่าประชา ธิปัตย์เล็งเห็นจุดอ่อนของ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ที่เริ่มมีโผล่ให้เห็นหลายจุดทั้งที่เพิ่งเข้ามาทำงานไม่ถึง 1 เดือน
ไม่ ว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรีหมื่นห้าที่รายละเอียดไม่เป็นไปตามที่หาเสียง การลดราคาน้ำมันเบนซินจนกระทบต่อแก๊สโซฮอล์
การตั้งคนเสื้อแดงเข้ามา กินตำแหน่งการเมืองจำนวนมาก การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่กำลังถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีวาระการเมือง เคลือบแฝง
การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ยังไม่เด็ดขาดฉับไวพอ
รวม ถึงประเด็นต่างๆ ที่โยงใยเข้ากับชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จริงบ้างไม่จริงบ้างแต่ก็เป็นประเด็น "เรียกแขก" ได้อย่างดี อย่างกรณีปัดฝุ่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นมาใหม่ เป็นต้น
อย่างไร ก็ตามการตั้งครม.เงาขึ้นมา สิ่งที่ประชา ชนจะได้ประโยชน์ก็คือ จะเป็นการบีบบังคับให้รัฐมนตรีแต่ละคน ไม่กล้าทำอะไรบุ่มบ่ามนอกลู่นอกทาง เนื่องจากรู้ตัวว่ามีคนจ้องตรวจสอบอยู่ทุกฝีก้าว
ตามสูตรที่ว่าประเทศจะมีรัฐบาลที่ดีได้ สิ่งสำคัญคือต้องมีฝ่ายค้านที่ดีเสียก่อน