ที่มา มติชน
จำได้ว่าเมื่อครั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยหาเสียง มีหลายสิ่งที่สังคมหวังว่าจะสามารถเดินหน้าได้ทันที ตามนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้
หนึ่ง ค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ
หนึ่ง ปริญญาตรี 15,000 บาท
หนึ่ง จำนำราคาข้าว 15,000 บาทต่อตัน
หาก แต่เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เข้ามาบริหารประเทศสมบูรณ์แบบ สิ่งที่หลายคนไม่ได้คาดหวังว่ารัฐบาลจะทำทันที กลับเริ่มเดินเครื่องเต็มสูบทันที
หนึ่ง โยกย้ายข้าราชการประจำที่เป็นฝ่ายตรงข้ามแบบ 360 องศา โดยเฉพาะที่เป็นประเด็นร้อนคือการดัน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. ที่เหลืออายุราชการอีกแค่ 1 ปี ขึ้นแท่น ผบ.ตร.
หนึ่ง การเดินเครื่องยื่นถวายฎีกาพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
หนึ่ง การเตรียมการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จในระยะสั้น
นั่นคือความจริงที่ปรากฏ
จริงอยู่แม้ว่านโยบายที่ "สัญญาว่าจะทำ" จะต้องมีกระบวนการ ขั้นตอน ที่ซับซ้อน และยุ่งยาก
อย่าง เรื่อง 300 บาททั่วประเทศ เป็นเรื่องที่จะทำปุ๊บปั๊บคงไม่ได้ เพราะจะต้องมีการเจรจากับ "ไตรภาคี" สิ่งที่ทำได้คือนำร่องไปก่อน 9 จังหวัด ก่อนที่จะทยอยทำไปเรื่อยๆ ให้ครบทุกจังหวัด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอรงงาน "เผดิมชัย สะสมทรัพย์" ว่าอย่างนั้น
หรือ เรื่องปริญญาตรี 15,000 บาท ก็มีโพลที่สอบถามความเห็นของนักศึกษาที่แสดงความกังวลใจว่าบริษัทเอกชนอาจจะ ไม่รับนักศึกษาที่จบใหม่ เพราะไม่มีประสบการณ์ แต่จะต้องจ่ายเงินค่าจ้างสูง
อาจทำให้บริษัทเอกชนปฏิเสธการว่าจ้าง ทำให้อัตราการตกงานมากยิ่งขึ้น
ไม่ ต้องพูดถึงเรื่องการรับจำนำข้าว ที่นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ออกมาวิจารณ์ว่าเป็นการ "โม้" มากกว่า เวลานี้หลักเกณฑ์การรับจำนำก็ยังค้างเติ่งอยู่ที่ ธ.ก.ส.
แม้ในภาพรวม ดูเหมือนว่ารัฐบาลพยายามจะทำตามนโยบายที่ "สัญญาเอาไว้"
แต่ ด้วยรูปแบบ วิธีการ การดำเนินการ รวมทั้งการไม่ออกมาเปิดเผยความคืบหน้าของนโยบายเร่งด่วนจากปากเจ้ากระทรวง ที่รับผิดชอบ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ตรงนี้อาจทำให้สังคมมองและรู้สึกว่ารัฐบาลเชื่องช้า เพิกเฉย ทอดระยะเวลา ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมา "สุมไฟ" ทุกวัน
ในทางการเมือง "ความนิ่ง" อาจทำให้เสียโอกาส
เพราะฉะนั้น นโยบายที่สัญญาว่าจะทำ ก็ควร "รีบทำ"
เมื่อเทียบกับเรื่องการโยกย้ายข้าราชการ การยื่นถวายฎีกา และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดูเหมือนรัฐบาลคึกคักผิดสังเกต
ไม่แปลกที่สังคมอาจจะเกิดความรู้สึก เกิดการเปรียบเทียบว่า "สิ่งที่สัญญาว่าจะทำ กลับไม่รีบทำ..สิ่งที่สัญญาว่าจะไม่รีบทำกลับเร่งทำ"
อย่างเรื่องการโยกย้ายข้าราชการ ความจริงเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นไปตามฤดูกาล
ที่สำคัญพรรคเพื่อไทยเข้ามารับหน้าที่บริหารประเทศแบบพอเหมาะพอดีกับฤดูการโยกย้าย
หากแต่การโยกย้ายครั้งนี้ ดันมีชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะมีการออกแรงดันสุดฤทธิ์ให้ขึ้นเป็น ผบ.ตร.
ตรงนี้เลยกลายเป็น "เป้าใหญ่" ของพรรคประชาธิปัตย์
ที่พร้อมจะรุมขย้ำ
เพียงเพราะ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ คือพี่ชายคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร์ คือพี่เมียของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ก็เท่านั้น แต่นั่นคือประเด็น
ในสมัยพรรคประชาธิปัตย์มาบริหารประเทศ ก็ทำไม่ต่างจากพรรคเพื่อไทยในเวลานี้
ทั้งการมาของ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่มานั่งตำแหน่ง ผบ.ตร.ชนิดอาจไม่เคยจับปลายประบอกปืน
รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ ที่สำคัญทุกกระทรวง
ส่วนเรื่องการยื่นถวายฎีกาพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการสตาร์ตเครื่องที่เร็วไปหน่อย
ความจริงค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอน และควรรออีกระยะ เช่นเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550
เพราะทั้งสองเรื่องหลัง เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องข้อกฎหมาย ที่หลายฝ่ายมี "มุมมอง" ที่แตกต่าง
เป็นความแตกต่างที่หา "จุดลงตัว" ไม่เจอ เพราะต่างฝ่ายต่างมีอคติ
เพราะ ฉะนั้นเรื่องเหล่านี้จึงเป็นเหมือน "ของร้อน" ที่ควรปล่อยให้เย็นลงสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยหยิบขึ้นมาพินิจพิเคราะห์ก่อนจะแก้ไขอย่างเป็นระบบ และฟังเสียงผู้คนในสังคม
แม้นายกฯยิ่งลักษณ์จะพยายามบอกว่า "เรื่องร้อน" เหล่านี้ "ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน" ที่จะต้อง "เร่งทำ"
แต่สิ่งที่เห็นกลับตรงกันข้าม
จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต้องจัดเรียงลำดับให้ชัดเจนว่า "อะไรควรทำก่อน..อะไรควรทำหลัง"