ที่มา ประชาชาติธุุรกิจ
ทันที ที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้เชิญ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.เข้ามาปรึกษาหารือ ปรับความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล พร้อมกับฝากการบ้าน 4 ข้อให้ ธปท.กลับไปคิดแล้วนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมใหม่ภายใน 1 เดือนข้างหน้า จากนั้นจึงเกิดเหตุการณ์ปะทะเดือดระหว่างคลังกับ ธปท. ทั้งบนหน้าหนังสือพิมพ์และเฟซบุ๊ก เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) การจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (SWF) และการปรับปรุงกรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย จนทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาเบรกว่า เรื่องการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ไม่ใช่นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
เมื่อเร็ว ๆ นี้ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้มีโอกาสพูดคุยกับนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงนำประเด็นความขัดแย้งทั้งหมดไปสอบถามขุนคลัง ตั้งแต่เรื่องของการปรับปรุงกรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย นายธีระชัยตอบว่า มันไม่ค่อยจะเมกเซนส์เท่าไหร่ หากอีกฝ่ายหนึ่งเหยียบคันเร่ง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็คอยดึงเบรกมือ กล่าวคือ รัฐบาลจัดงบฯเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อีกฝั่งหนึ่งคอยขึ้นดอกเบี้ย เท่ากับสิ่งที่ทำไปสลายหมด
และล่าสุดทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน ก็เพิ่งจะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปเป็น 3.5% ต่อปี หลังจากนั้นผมก็ได้ขอให้ ธปท.มาอธิบาย ทาง ธปท.ส่ง ดร.อัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ธปท.มาชี้แจงให้กับสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีผมนั่งฟังอยู่ด้วย จึงถาม ธปท.ว่าจะให้ผมช่วยขยับกรอบเงินเฟ้อกรอบบนไหม ธปท.บอกว่าต้องคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงจากต่างประเทศ ผมจึงจับสัญญาณอะไรบางอย่างได้ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบที่แล้ว น่าจะเป็น การปรับขึ้นครั้งสุดท้ายของปีนี้ งั้นผมจึงขอให้ไปดูกรอบล่างให้หน่อย กรอบเงินมันกว้างเกินไป ซึ่งผมก็จะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมเดือน ธ.ค.นี้
ส่วน แนวความคิดการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ตอนนี้ต้องหยุดไว้ก่อน เพราะไม่ใช่นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่เป้าหมายหลักที่ฝากให้ ธปท. กลับไปช่วยคิด คือ เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF) วงเงิน 1.1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมารัฐบาลต้องจัดงบประมาณไปจ่ายดอกเบี้ยให้กับ FIDF ปีละ 50,000-60,000 ล้านบาท ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จัดงบฯจ่ายไปแล้ว 6.7 แสนล้านบาท ไม่เสียดายหรือเอาเงินไปลงทุนพัฒนาประเทศได้ตั้งเยอะ ผมจึงชวน ธปท.เข้ามาร่วมกันแก้ปัญหามากกว่า พูดจริง ๆ นะผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับผู้ว่าการ ธปท.
เรื่องแนวคิดในการจัดตั้ง กองทุนความมั่งคั่งฯนั้น เป็นแค่มาตรการหนึ่งที่จะทำให้ ธปท.มีผลประกอบการดีขึ้น เมื่อมีกำไรก็สามารถนำเงินชำระหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งมันมีความเกี่ยวโยงกับเรื่องการกำหนดนโยบายดอกเบี้ยสูง พอมีเงินไหลเข้าก็ต้องออกพันธบัตร ไปดูดซับสภาพคล่องในต้นทุนสูงขึ้น ทำให้เกิดผลขาดทุนในหลายด้าน จนส่วนของทุนตอนนี้ติดลบกว่า 4 แสนล้านบาท
ต่อ คำถามที่ว่า เมื่อไรรัฐบาลจะเข้าไปรับผิดชอบหนี้ดังกล่าว นายธีระชัยตอบว่า ธปท.คงไม่มาหรอก เพราะถ้ามาให้คลังรับผิดชอบ ผมก็จะต้องตั้งเงื่อนไขอะไรเยอะแยะ แบงก์ขาดทุน หรือส่วนของติดลบเป็นเรื่องธรรมดา ตราบใดที่ ธปท.ยังไปทำโน่นได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร จนกว่าจะติดลบถึงขนาดที่ไม่มีใครค้าขายด้วย ทำสวอป ทำโน่นทำนี่ก็ติดไปหมด เมื่อถึงจุดนั้นรัฐบาลคงต้องเข้าไปช่วย เพื่อให้ ธปท.เดินหน้าต่อไปได้
"ผมยังมีอีกหลายหมาก แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องรอให้ถึงเดือนหน้าก่อนถึงจะรู้ว่าผมจะทำอย่างไร"
ส่วน เรื่องนโยบายอื่น ๆ ที่พรรคได้หาเสียงไว้ ผมได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังทั้ง 2 ท่านรับไปดำเนินการ ส่วนตัวผมจะดูภาพรวมของเศรษฐกิจ และเตรียมหารายได้ภาษีตัวใหม่ ๆ มาชดเชยกับรายได้ที่ สูญเสียไปจากการลดภาษีน้ำมันและภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งที่คิดไว้จะเป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตและจะเสริม ด้วยการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม พวกคาร์บอนเครดิต เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะต้องเดินหน้าทำนโยบายหาเสียงให้เกิดผลเป็น รูปธรรมโดยเร็ว ตอนนี้ต้องขอเข้าไปลุยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบก่อน