WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, September 10, 2011

สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากลจี้ "ยิ่งลักษณ์" เร่งดำเนินการส่งเสริมการปกป้องสิทธิฯ

ที่มา ประชาไท

สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล และองค์กรสมาชิกในประเทศไทย คือ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ร่อนจดหมายจี้รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ให้ความสำคัญสูงสุดและดำเนินการอย่างมีประสิทธิผลต่อการส่งเสริมและปกป้อง สิทธิมนุษยชน

9 ก.ย. 54 - สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights: FIDH) และองค์กรสมาชิกในประเทศไทย คือ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ทำจดหมายเปิดผนึก เรื่องขอเร่งรัดให้รัฐบาลของให้ความสำคัญสูงสุดและดำเนินการอย่างมี ประสิทธิผล ต่อการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ จะเป็นครั้งแรกที่จะมีการตรวจสอบรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของ ประเทศไทยภายใต้กลไกการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (รายงาน UPR) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


9 กันยายน 2554
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย
ทำเนียบรัฐบาล
ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต
กทม.10300 ประเทศไทย
โทรสาร +66 (0) 2288-4016

เรื่อง การเคารพหลักนิติธรรม การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการยุติการไม่ต้องถูกลงโทษ

กราบเรียน นายกรัฐมนตรี

สหพันธ์สิทธิ มนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights: FIDH) และองค์กรสมาชิกในประเทศไทย คือ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ขอเร่งรัดให้รัฐบาลของท่านให้ความสำคัญสูงสุดและดำเนินการอย่างมีประสิทธิผล ต่อการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ จะเป็นครั้งแรกที่จะมีการตรวจสอบรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของ ประเทศไทยภายใต้กลไกการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย(รายงาน UPR)ฉบับนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งที่รัฐบาลแสดงให้ประชาคมโลกและประชาชน ไทยเข้าใจการเคารพหลักนิติธรรมได้อย่างชัดเจน ความรับผิดชอบแท้จริงที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ รวมถึงขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมที่จะให้บรรลุเป้าหมายของพันธกิจนี้

ในฐานะประเทศ ภาคีสมาชิกของกติกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 7 ฉบับ ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ไม่เพียงแต่ต้องเคารพและดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน แต่ยังต้องใช้มาตรการที่จำเป็นทุกอย่างที่จะประกันการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อย่างเต็มที่

ถึงแม้ว่าความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อในช่วงหกปีที่ผ่านมา นั้นมีความซับซ้อน องค์กรของเราเชื่อว่าการไม่เคารพสิทธิมนุษยชนและการที่ผู้ตกเป็นเหยื่อไม่ สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้นั้นเป็นสาเหตุและปัจจัยหลักที่ทำให้ ความรู้สึกไร้ซึ่งความยุติธรรมมีอยู่ทั่วไป และขยายไปทั่วประเทศ

การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพสื่อมวลชน

เสรีภาพในการ แสดงความคิดเห็นเป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตยทุก แห่ง เสรีภาพนี้ได้รับการคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 (หมวด 7 มาตรา 45) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 19 ซึ่งประเทศไทยได้ภาคยานุวัติเมื่อปี พ.ศ.2539 โดยในรายงาน UPR ที่จัดทำโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เรียกร้องให้รัฐบาล “ยึดถืออย่างเคร่งครัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในการประกันเสรีภาพของ สื่อมวลชนและประชาชน”

การจำกัด เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นได้รับการยอมรับภายใต้ กฎหมายระหว่างประเทศเพียงในกรณีที่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายที่จะ คุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ของบุคคลอื่นหรือเพื่อความมั่นคงของชาติและความสงบเรียบร้อยของประชาชน เท่านั้น โดยให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เท่าที่จำเป็นและเหมาะสม การจำกัดเสรีภาพเช่นนี้จำเป็นต้องมีข้อยกเว้น และต้องมีคำนิยามที่จำกัดให้แคบและชัดเจน พร้อมการคุ้มครองที่เข้มแข็ง พร้อมทั้งมีมาตรการเยียวยาเพื่อตรวจสอบการละเมิดต่างๆ

ในประเทศไทย พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกนำมาใช้ในลักษณะที่เป็นการละเมิดและไม่โปร่งใส ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และยังสามารถกล่าวได้ว่าการใช้กฎหมายพิเศษที่เกี่ยวกับความมั่นคง อีกหลายฉบับนั้น เป็นไปในลักษณะเดียวกันนี้ กฎหมายเหล่านี้ถูกเขียนอย่างเคลือบคลุมและกว้างมากเกินไป ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวางและไม่ถูกตรวจสอบ ในการที่จะเซ็นเซอร์สื่อโดยพลการ ; ดำเนินคดีอาญาต่อการแสดงความคิดเห็นโดยสงบ และจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกโดยไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายที่เหมาะสมและการ ตรวจสอบโดยอิสระอื่น ๆ กฎหมายเหล่านี้ยังถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อที่จะจำกัดการแสดงความเห็นโดยสงบ และชอบธรรมของผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง ในปี พ.ศ.2553 เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น ๆ นั้น ได้มีการปิดกั้นเว็บเพจจำนวนหลายหมื่นแห่ง การปิดสถานีวิทยุชุมชนของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล มากกว่าหนึ่งร้อยแห่ง การเซ็นเซอร์การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนหลายแห่ง หรือบางแห่งถูกสั่งให้หยุดดำเนินการทุกอย่าง

สหพันธ์สิทธิ มนุษยชนสากล (FIDH) และ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ขอเสนอแนะให้รัฐบาลดำเนินการให้มีการทบทวนอย่างรอบคอบและเคร่งครัดเกี่ยวกับ มาตรการต่าง ๆ ทางกฎหมายและการบริหารราชการที่กระทบต่อเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และให้ดำเนินการแก้ไข หรือยกเลิกมาตรการต่าง ๆ ที่ขัดกับหรือละเมิดกฎหมายและมาตรฐานสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ต้องให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องเปิดเผยรายละเอียดและจำนวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพฯ ต่อสาธารณชน ยุติการพิจารณาคดีลับ และยุติการเซ็นเซอร์และข่มขู่ทุกรูปแบบที่กระทำต่อสื่อมวลชน ผู้ใช้อินเตอร์เนท และผู้ให้บริการอินเตอร์เนท

การปิดปาก ประชาชนที่ใช้สิทธิอันชอบธรรมไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ของ ระบอบอำนาจนิยม แต่ยังเป็นวิธีการสร้างความขัดแย้งและความตึงเครียดในสังคม ขณะนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่รัฐบาลไทยจะดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นรูป ธรรมในอันที่จะยุติและแก้ไขการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

การลงโทษประหารชีวิต

ปัจจุบัน จำนวนสองในสามของประเทศในโลกได้ทำการยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2553 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ได้ลงมติเป็นครั้งที่สาม เรียกร้องให้ทั่วโลกชะลอการลงโทษประหารชีวิต โดยมตินี้ได้รับการรับรองจากภาคีสมาชิก 109 ประเทศ เราบันทึกไว้ว่าประเทศไทยซึ่งเคยลงนามคัดค้านมติสองครั้งก่อนหน้านี้ ได้งดออกเสียงในการลงมติ ปี พ.ศ. 2553 และไม่ลงนามในแถลงการณ์ที่ไม่รับรองมติดังกล่าว

ในข้อ 3.1 ของแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2552-2556) เสนอให้ใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนโทษประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม เรามีความห่วงใยอย่างยิ่งที่รายงาน UPR ของรัฐบาลไม่กล่าวถึงข้อเสนอนี้และไม่ให้คำมั่นใดที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิต การประหารชีวิตเป็นความโหดร้ายโดยแท้และเป็นการลงโทษที่ไร้ มนุษยธรรมซึ่งไม่อาจย้อนคืนได้ พยานหลักฐานสำคัญได้แสดงให้เห็นแล้วว่าโทษประหารชีวิตไม่มีผลในการยับยั้ง อาชญากรรมต่าง ๆ รัฐบาลต้องแสดงภาวะผู้นำที่แท้จริงในการให้ข้อมูลและเปลี่ยนแปลงมากกว่าการ แอบอยู่ข้างหลังมติมหาชนต่อโทษประหารชีวิต

นอกจากนี้ เรายังมีความห่วงใยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมและ ทารุณโหดร้ายที่มีการล่ามโซ่นักโทษชายที่รอการประหารชีวิต การปฏิบัตินี้ยังคงดำเนินอยู่ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ยุติการกระทำนี้ใน ปี พ.ศ. 2548 และศาลปกครองแห่งประเทศไทยได้มีคำวินิจฉัยในปี พ.ศ. 2550 ว่าการปฏิบัติเช่นนี้ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

สหพันธ์สิทธิ มนุษยชนสากล (FIDH) และ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภารับรองโดยทันทีทันใด ต่อมติการชะลอการลงโทษประหารชีวิต ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด ให้ยุติการล่ามโซ่ผู้ต้องโทษประหารชีวิตชาย และร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการที่จะกระตุ้นให้สาธารณชนเห็นถึงความจำเป็น ของการยกเลิกโทษประหารชีวิต เราขอย้ำถึงคำเตือนก่อนหน้านี้ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ มีถึงรัฐบาลไทยว่าการประหารชีวิตอาจกระทำได้กับ“อาชญากรรมที่ร้าย แรงที่สุด” เท่านั้น และความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดไม่นับเป็น “อาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด” ตามความหมายในข้อ 6.2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เป็นเรื่องที่ต้องเน้นย้ำด้วยว่าการผ่อนปรนในข้อนี้ไม่อาจนำมาอ้าง “ที่จะถ่วงเวลาหรือขัดขวางการยกเลิกโทษประหารชีวิต” (ข้อ 6.6 ICCPR)

กฎหมายพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคง

การกำหนดให้มี การใช้กฎหมายพิเศษต่าง ๆ เกี่ยวกับความมั่นคง รวมถึงกฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในจังหวัดชายแดนใต้ และในจังหวัดอื่น ๆ ระหว่างการชุมนุมประท้วงเมื่อไม่นานมานี้ นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง รวมทั้งการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การคุมขังโดยไร้หลักเกณฑ์ การจับกุมโดยไม่มีหมายจับ และการยืดเวลาการควบคุมตัวโดยไม่มีการการแจ้งข้อหา การปฏิบัติเหล่านี้ยังส่งผลให้มีการละเมิดอื่น ๆ ที่รุนแรง เช่น การบังคับให้บุคคลสูญหาย การทรมาน และการวิสามัญฆาตกรรม

ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายพิเศษที่เกี่ยวกับความมั่นคงให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการใช้ ดุลยพินิจอย่างกว้างขวางโดยไม่ถูกตรวจสอบอย่างรอบคอบจากองค์กรอิสระ รวมทั้งฝ่ายตุลาการและองค์กรอื่น ๆ ข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในกฎหมายนั้นคุ้มกันรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ จากการถูกลงโทษในอาชญากรรมที่พวกเขาก่อขึ้น ความคุ้มกันเช่นนี้เป็นผลลบต่อกระบวนการสมานฉันท์ในชาติและก่อให้เกิดความ รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้ง

สหพันธ์สิทธิ มนุษยชนสากล (FIDH) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับการฟื้นฟูสิทธิมนุษยชนโดย เร่งด่วน ตลอดจนกระบวนการทางกฎหมายและสิทธิต่าง ๆ ในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม รวมถึงกฎหมายทั้งปวงที่เกี่ยวกับการคุ้มครองความมั่นคงแห่งรัฐและความสงบ เรียบร้อยของประชาชนและการปฏิบัติที่เป็นผลจากกฎหมายเหล่านี้ ขอให้ดำเนินการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายพิเศษต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงเพื่อทำให้กฎหมายเหล่านี้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิ มนุษยชนและมาตรฐานสากลซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี

อำนาจพิเศษใด ๆ ควรต้องนิยามอย่างแคบ ๆ และระมัดระวัง และให้มีการทบทวนกฎหมายเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอและเคร่งครัดโดยรัฐสภาและได้ รับการตรวจสอบโดยองค์การอิสระอื่น ๆ นอกจากนี้ การนำมาใช้ต้องสอดคล้องอย่างเคร่งครัดกับการพิจารณาคดี ความจำเป็น และความเหมาะสม ความผิดที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐระหว่างที่มีการใช้กฎหมายเหล่านี้ต้องถูก สอบสวนและลงโทษ

การไม่ต้องถูกลงโทษ และการไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม

การไม่ต้องถูก ลงโทษของเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ในกองกำลังรักษา ความมั่นคงแห่งรัฐนั้นยังคงได้รับการคุ้มครองอย่างกว้างขวางและต่อ เนื่อง ทั้งในกฎหมายและในทางปฏิบัติ แม้รายงาน UPR ของรัฐบาลยอมรับว่า “ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงความยุติธรรม” เป็นปัญหา แต่ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐที่พัวพันในความผิดต่าง ๆ เช่น การบังคับให้บุคคลสูญหาย และการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ แทบจะไม่เคยถูกดำเนินคดี ในจำนวนคดีที่มีการลงโทษซึ่งมีไม่มากนัก พวกเขาถูกลงโทษในความผิดลหุโทษที่ไม่ได้สะท้อนถึงความร้ายแรงของ อาชญากรรมที่เกิดขึ้นจริง ๆ หรือไม่ก็ถูกสั่งปล่อยตัวทั้งหมด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือคดีของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายสิทธิมนุษยชนที่ถูกทำให้สูญหายไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นคดีที่มีความผิดร้ายแรงนั้น สิ้นสุดลงโดยจำเลยทุกคนถูกปล่อยตัวไป ภาระความรับผิดต่อการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสังหารผู้ต้องสงสัยก่อ ความไม่สงบ 32 ศพ เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2547 ในมัสยิดกรือเซะ หรือความตายของผู้ชุมนุมประท้วงจำนวน 84 ศพเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2547 ในคดีตากใบยังคงไม่ได้รับการตัดสินเนื่องจากไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐถูก ลงโทษ ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานชัดเจนที่ชี้ให้เห็นถึงความรับผิดทางอาญา

ความตาย 92 ศพ และผู้บาดเจ็บ 1,885 คน ในระหว่างการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเสื้อแดงในเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.2553 ยังคงไม่มีการชดใช้ หรือลงโทษที่เหมาะสมและเป็นธรรม เรายินดีที่ได้ยินคำมั่นสัญญาของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่าจะสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ในการที่จะสอบสวนและหาความจริงในเหตุการณ์รุนแรงของการชุมนุมประท้วงเหล่า นี้ แต่เราผิดหวังอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าฝ่ายความมั่นคงที่มีส่วนในปฏิบัติการทาง ทหารเพื่อสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงนี้ไม่ให้ความร่วมมือกับคณะ กรรมการค้นหาความจริงฯ

ความสมานฉันท์แห่งชาติต้องการความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อหลัก นิติธรรมและสถาบันประชาธิปไตยรวมถึงฝ่ายตุลาการ ความล้มเหลวในการให้ความยุติธรรมและการเยียวยาเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นอุปสรรคใหญ่หลวงของกระบวนการสมานฉันท์ ด้วยเหตุนี้ การไม่ต้องถูกลงโทษเช่นนี้ต้องถูกยกเลิก ความยุติธรรมไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นพันธกรณีและเป็นกฎเกณฑ์บังคับ

สหพันธ์สิทธิ มนุษยชนสากล (FIDH) และ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเยียวยาเหยื่อและครอบครัวโดยเร็วและอย่าง เหมาะสม รวมทั้งดำเนินการทางกฎหมายและอื่น ๆ ตามที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง

การเพิ่มงบประมาณสำหรับการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูก ละเมิดสิทธิมนุษยชนจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และการบังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายทหารต้องให้ความร่วมมือกับการทำงานของ คอป. และองค์การอิสระอื่นๆที่ตรวจสอบหาความจริงเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญยิ่ง รัฐบาลไทยควรเร่งรัดการให้สัตยาบันกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ฉบับอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมิให้บุคคลหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายไทยให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างกลไกฝ่ายพลเรือนที่เข้มแข็งและมี ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกองทัพ เราขอเรียกร้องรัฐบาลไทยให้มีการพิจารณาทบทวนคดีกรือเซะและตากใบเพื่อที่จะ ดำเนินการลงโทษผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น

ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิงเพื่อหลบภัย และผู้ย้ายถิ่น

รายงาน UPR ของรัฐบาลไทยไม่ให้ความสนใจอย่างชัดเจนกับกรณีที่มีการอ้างอิงใด ๆ ถึงการละเมิดหลักการที่ไม่สามารถผ่อนปรนได้ ของการไม่บังคับส่งกลับผู้ลี้ภัย (the non-derogable principle of non-refoulement) การละเมิดเหล่านี้รวมถึงการบังคับให้ชาวม้งลาวจำนวนมากกว่า 4,600 คนกลับสู่ถิ่นฐานในประเทศลาวเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 โดยในจำนวนนี้ มี 158 คนมีสถานะเป็น “บุคคลในความห่วงใย”ของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ; การบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวพม่าหลายพันคนที่หลบหนีการปราบปรามทางทหารมา พักอาศัยในเขตพื้นที่แนวชายแดน ; และกรณีที่กองทัพเรือของไทยบังคับผลักดันชาวโรฮิงยาจากพม่าและบังคลาเทศให้ กลับออกไปในเขตน่านน้ำสากลโดยส่งลงเรือที่มีสภาพทรุดโทรม พร้อมจัดน้ำดื่มและอาหารให้เพียงเล็กน้อยเป็นเหตุให้มีการเสียชีวิต รัฐบาลชุดก่อนสัญญาว่าจะสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวแต่ยังไม่มีการ ดำเนินการใด ๆ

แรงงานย้ายถิ่น ที่ไม่ได้จดทะเบียนจำนวนนับล้านคนจากประเทศเพื่อน บ้านยังคงถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกละเมิดทางเพศ ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และถูกรีดไถ รายงาน UPR ของรัฐบาลได้ให้คำมั่นที่จะปฏิรูปกระบวนการ “พิสูจน์สัญชาติ”ให้มี “ความซับซ้อนและใช้เวลาน้อยลง และมีประสิทธิผลมากขึ้น” โดยรัฐบาลได้ยอมรับว่ากระบวนการจดทะเบียนแรงงานที่มีอยู่นั้นมีข้อบกพร่อง อย่างรุนแรง

สหพันธ์สิทธิ มนุษยชนสากล (FIDH) และ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ขอเรียกร้องรัฐบาลไทยให้นำหลักการไม่บังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหา ที่พักพิง มาจัดทำเป็นนโยบายแห่งชาติ รัฐบาลไทยต้องเคารพบรรทัดฐานระหว่างประเทศและทำให้แน่ใจว่า UNHCR มีอิสระที่จะคัดเลือกและกำหนดสถานภาพของผู้แสวงหาที่พักพิง หรือผู้ลี้ภัยก่อนที่จะมีการตัดสินใจและดำเนินการส่งกลับถิ่นฐานเดิม รัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกในการให้ความคุ้มครองทาง กฎหมายแก่ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิง และผู้ย้ายถิ่น โดยออกกฎหมายที่เหมาะสมและปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 และพิธีสาร พ.ศ.2510 ที่เกี่ยวข้องกับสถานภาพผู้ลี้ภัย และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงานย้ายถิ่นและครอบครัว (พ.ศ.2533) ต้องมีกระบวนการสอบสวนที่น่าเชื่อถือและการลงโทษผู้กระทำผิดที่ทำการละเมิด สิทธิแรงงานย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัย

การให้ความร่วมมือกับกลไกสิทธิมนุษยชนต่างๆ

เรามีความ ห่วงใยอย่างยิ่งต่อความล่าช้าในการจัดส่งรายงานที่ผูกพัน ตามกติการะหว่างประเทศฉบับต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก เราขอเรียกร้องรัฐบาลไทยให้เคารพต่อพันธกรณีโดยการจัดส่งรายงานที่เลยกำหนด มาแล้วโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และขอให้การส่งรายงานในอนาคตเป็นไปตามกำหนดเวลาด้วย ในการจัดทำรายงานเหล่านี้ รัฐบาลไทยควรต้องจัดการประชุมหารือกับองค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมให้กว้าง ขวางและครอบคลุมทั่วประเทศและนำข้อมูลที่ได้มาบรรจุในรายงานของ รัฐบาลด้วย

เมื่อประเทศไทย ส่งผู้แทนเข้าชิงตำแหน่งประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) ได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับกลไกต่าง ๆ ในองคาพยพของสหประชาชาติ แต่ในขณะนี้ ยังมีคำถาม 11 ข้อ ที่ผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติรอคำตอบอยู่ ดังนั้น เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพต่อคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้นี้โดยตอบคำถาม เหล่านี้และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการอนุญาตให้ผู้รายงาน พิเศษสหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้รายงานพิเศษฯ ต่อไปนี้

  • ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของแรงงานย้ายถิ่น
  • ผู้รายงานพิเศษด้านเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการชุมนุมโดยสงบ
  • ผู้รายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความ คิดเห็นและการแสดงออก
  • ผู้รายงานพิเศษด้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่ทารุณโหด ร้าย ไร้มนุษยธรรม
  • คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ
  • คณะทำงานว่าด้วยการบังคับให้บุคคลสูญหาย

ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี รัฐบาลไทยจำเป็นที่จะต้องก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้องไปสู่ประชาธิปไตยที่เข้ม แข็ง มีการเคารพและยึดถือสิทธิมนุษยชนเป็นแกนหลักในการวางนโยบายเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ถ้อยคำเพียงอย่างเดียวไม่อาจปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ คำมั่นสัญญาเพียงอย่างเดียวไม่ทำให้เกิดความแน่ใจในกระบวนการสมานฉันท์ แม้ว่ารายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศที่รัฐบาลจัดทำ นั้น ระบุรายละเอียดของกฎหมาย ข้อบังคับ แผนงาน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม รายละเอียดเหล่านี้ไม่ได้สะท้อน หรือประกันการปกป้องสิทธิมนุษยชน หากนำมาใช้อย่างไม่ถูกต้องและไม่ถูกตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจถึงผลกระทบที่ ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ เป็นเรื่องจำเป็นที่สุดที่รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมที่จะทำให้ เกิดความแน่ใจและสร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและ หลักนิติธรรม โดยการยุติการไม่ต้องถูกลงโทษทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ และทำให้เกิดความยุติธรรมอย่างเสมอภาคโดยทันทีทันใด

ในวันที่ 5 ตุลาคมที่จะถึงนี้ การนำเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน UPR ของรัฐบาลจะเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งของประเทศไทยในการอธิบายให้รายละเอียด เพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงคำมั่นสัญญา เพื่อที่จะบรรลุเป้าประสงค์เหล่านี้

ขอกราบขอบคุณ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่กรุณาให้ความสนใจรับฟังข้อเสนอแนะของเรา หากท่านต้องการรายละเอียดใดเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้เพิ่มเติม เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดเตรียมและให้คำปรึกษาหารือ

ขอแสดงความเคารพอย่างสูง

Ms. Souhayr Belhassen
ประธานสหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH)
นายแดนทอง บรีน
ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
สำเนาถึง :
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการการะทรวงยุติธรรม
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร
พลเอกธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา
ศาสตราจารย์ อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ