ที่มา ประชาไท
บันทึกร่องรอย-เรื่องราวกะเหรี่ยงบางกลอยบน (แก่งกระจาน) ตอน 2
หลังจากได้ฟังข้อมูลและคำชี้แจงจากตัวแทนของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยหัวหน้าอุทยานฯ ที่เข้าชี้แจงต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา การรับฟังข้อเท็จจริงจากพื้นที่จึงเป็นเรื่องจำเป็นและต้องทำ เพื่อให้การรับฟังข้อเท็จจริงมีความรอบด้านมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ประเด็นหนึ่งที่มีการโต้แย้งกันก็คือ คนกะเหรี่ยงที่ได้รับคำสั่งให้อพยพโยกย้ายจากบ้านบางกลอยบนลงมายังบ้านโป่ง ลึก-บางกลอย หรือกลุ่มเป้าหมายของปฏิบัติการบางกลอยหรือโครงการอพยพผลักดัน/จับกุม ชุมชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาบุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย–พม่า ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนั้น เป็น “กะหร่าง” “ชนกลุ่มน้อย” “เป็นคนที่มาจากข้างนอก ไม่ใช่คนที่อยู่ที่นี่” ฯลฯ และเป็นกลุ่มบุคคลที่ตัดไม้ ทำลายสภาพความสมบูรณ์ของป่าแก่งกระจาน [1]
จากการลงพื้นที่ [2] การสัมภาษณ์บุคคล การตรวจสอบเอกสาร หลักฐานต่างๆ ในเบื้องต้น พบว่า น่าจะมีสักเจ็ดประเด็นที่อาจยืนยันได้ถึงความเป็นชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิม แห่งบางกลอย (แก่งกระจาน)
1. ท.ร.ช.ข. พยานเอกสารที่แสดงความเชื่อมโยงคนและชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมแห่งบางกลอย (แก่งกระจาน) กับประเทศไทย
นายพันธ์ทิพย์ เจริญวัย อดีตเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์ ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเคยได้รับมอบหมายให้มาสำรวจพื้นที่ใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยในปี 2528 ด้วยเพราะเวลานั้นกรมประชาสงเคราะห์ได้ข่าวว่าบริเวณดังกล่าวมีชุมชน กะเหรี่ยงอาศัยอยู่
ในเวลานั้นนายพันธ์ทิพย์ได้เดินเท้าจากบ้านพุระกำ (อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี) เข้าทางต้นน้ำลำพาชี ผ่านสันปันน้ำและเดินลงมาทางต้นน้ำบางกลอย โดยมีคนกะเหรี่ยงที่ทำหน้าที่ทั้งเป็นลูกหาบและคนนำทางคือนายกระทง จีโบ้ง [3] เท่าที่เดินเท้าไปพบ เขาพบบ้านเพียงหนึ่งหลังที่ใจแผ่นดิน มีคนอาศัยอยู่ด้วยกันประมาณ 12 คน ส่วนที่บางกลอย [4] มีคนกะเหรี่ยงตั้งบ้านเรือนอยู่กระจัดกระจายตามลำห้วยลำน้ำ บางจุดตั้งบ้านเรือนเพียงหนึ่งหลัง บางจุดตั้งบ้านเรือนใกล้ๆ กัน 3-4 ครอบครัว
ภาพที่ถูกถ่ายเมื่อเมษายน 2531 ในระหว่างที่ทีมงานของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา
จังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินการสำรวจและจัดทำท.ร.ชข. ที่ใจแผ่นดิน บ้านบางกลอย
ในปี 2531 ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขา หรือโครงการสิงห์ภูเขา (เป็นการสำรวจชาวเขาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2527) โดยมีส่วนราชการหลายหน่วยงานร่วมกันสำรวจ โดยมีกรมประชาสงเคราะห์เป็นหน่วยงานหลักในการสำรวจและจัดทำ ทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน หรือ ท.ร.ช.ข. พื้นที่ใจแผ่นดิน บางกลอยเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรี ต้องดูแล ครั้งนั้นนายพันธ์ทิพย์ได้ร่วมทีมสำรวจ โดยมีนายสมจิต กว่าบุ [5] เป็นผู้นำทาง พบว่าในเวลานั้นสภาพการสร้างบ้านเรือนของกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน บางกลอยยังมีสภาพเหมือนเดิม โดยส่วนใหญ่จะรู้จักกัน เป็นญาติกัน ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นชุมชนที่นอกจากจะเชื่อมโยงกันด้วยวิถีชีวิต จารีตประเพณีและวัฒนธรรมแล้ว ยังเชื่อมโยงกันด้วยความเป็นเครือญาติอีกด้วย
เท่าที่ตรวจสอบจากเอกสารคือสำเนาท.ร.ช.ข. ที่ถูกจัดทำขึ้นในปี 2531 ในเบื้องต้นพบว่ามีจำนวน 8 เล่ม(แฟ้ม) ด้วยกัน ในเวลานั้นพื้นที่เหล่านี้ขึ้นกับกิ่งอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีประกอบไปด้วยบางกลอย 1 บางกลอย 2 บางกลอย 3 บางกลอย 4 บางกลอย 5 บางกลอย 6 บ้านโป่งลึก 1 และบ้านโป่งลึก 2 รวมแล้ว 71 ครอบครัว 367 คน
ตารางจำนวนคนกะเหรี่ยงในพื้นที่ใจแผ่นดิน บางกลอยและบ้านโป่งลึก ในอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ในปี 2531
สำรวจเมื่อ | พื้นที่ | ครอบครัว | คน |
---|---|---|---|
20 เมษายน 2531 | บางกลอย 2 | 6 | 23 |
20 เมษายน 2531 | โป่งลึก 1 | 14 | 49 |
20 เมษายน 2531 | โป่งลึก 2 | 15 | 74 |
23 เมษายน 2531 | บางกลอย 1 | 4 | 18 |
24 เมษายน 2531 | บางกลอย 5 | 2 | 7 |
24 เมษายน 2531 | บางกลอย 6 | 3 | 28 |
25 เมษายน 2531 | บางกลอย 3 | 7 | 48 |
25 เมษายน 2531 | บางกลอย 4 | 20 | 120 |
71 | 367 |
ที่มา เอกสารทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน จัดทำโดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรี กรมประชาสงเคราะห์ เมษายน 2531 รวบรวมโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) กันยายน 2554
2. สมาชิกของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยถูกบันทึกว่าเกิดในประเทศไทย
จากการตรวจสอบเอกสารท.ร.ช.ข. รายครอบครัวพบว่า เอกสารระบุชี้ชัดเจนว่ากะเหรี่ยง 71 ครอบครัว หรือ 367 คนที่ได้รับการบันทึกชื่อของตัวเองและสมาชิกในครอบครัวใน เกิดที่จังหวัด “เพชรบุรี” ประเทศ “ไทย” เผ่า “กะเหรี่ยง” ศาสนา “ผี”
ส่วนหนึ่งของทะเบียนสำรวจบัญฃีบุคคลในบ้าน หรือท.ร.ช.ข ในภาพเป็นแฟ้มของบ้านบางกลอย 4
อาทิ กรณีของปู่คออี้ หรือนายโคอิ-ชื่อที่ปรากฎตามท.ร.ช.ข. แฟ้มบางกลอย 4 ครอบครัวที่ 3 หรือจออี้-ชื่อที่นายดุลยสิทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หลานชายในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลเรียก โดยนายดุลยสิทธิ์ให้ข้อมูลว่ารู้จักกับปู่โคอิ๊ ในฐานะของสหายของเสด็จตา และเคยพบกับปู่โคอี๊ ในช่วงเวลาที่ติดตามเสด็จตามาเดินป่าใจแผ่นดิน บางกลอย (แก่งระจาน) [6] ซึ่งปู่คออี้เกิดในปี 2454 ที่เพชรบุรี ประเทศไทย เป็นคนเผ่ากะเหรี่ยง มีพ่อชื่อมิมิ และแม่ชื่อพินอคี ปัจจุบันปู่โคอิ๊ เป็นคนที่อายุสูงที่สุดของบ้านบางกลอย
หรือนายจ่อโจ่ เกิดเมื่อปีพ.ศ.2476 มีชื่อปรากฎในท.ร.ช.ข.แฟ้มบางกลอย 6 ครอบครัวที่ 2 เป็นลูกของนายฮะลั๊ว และแม่ชื่อพือริ
นอกจากนี้ นายดู๊อู จีโบ้ง [7] ในวัย 60 ปี ให้ข้อมูลว่านายอำเภอท่ายางที่ชื่อ “ถวัลย์” เคยเดินสำรวจพื้นที่ใจแผ่นดิน บางกลอย และเคยมาแวะพักค้างคืนที่บ้าน โดยผู้ใหญ่กระทง ให้ข้อมูลในเวลาต่อมาว่านายอำเภอถวัลย์ “เดินไปจนถึงบ้านสุดท้ายสุดขอบป่า”
3. กะเหรี่ยงใจแผ่นดิน บางกลอยไม่เคยโยกย้ายบ้านออกนอกผืนป่า เดินทาง(เท้า)บ้าง ก็เพื่อเยี่ยมเยียนญาติ หรือไปรับจ้างที่อื่น ยกเว้นการ(บังคับ)ให้อพยพโยกย้ายในปี 2539 และการอพยพผลักดัน/จับกุมฯ ในช่วง เมษายน 2553 - มิถุนายน 2554
ผู้ใหญ่บ้านกระทง นายลอย จีโบ้ง ผู้ใหญ่บ้านโป่งลึก-บางกลอย หมู่ 2 และนายนิรันดร์ พงษ์เทพ ประธานองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน [8] ได้ให้ข้อมูลว่าคนกะเหรี่ยงที่บ้านใจแผ่นดิน บางกลอย เกิดและอาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ไม่เคยมีการอพยพโยกย้ายไปไหน อาทิ กรณีของปู่คออี้ หรือนายโคอิ หรือจออี้ [9] หรือนายดู๊นุ หรือนายจ่อโจ่
ส่วนกรณีที่ข้ามไปฝั่งพม่า น่าจะเป็นลักษณะเดินข้ามไปเที่ยวเล่น ในส่วนของการข้ามไปเยี่ยมญาติที่อยู่ในฝั่งพม่านั้นเป็นส่วนน้อยมาก แทบจะไม่มีใครได้ยินถึงเรื่องนี้เลย
สำหรับประเด็นนี้ จากประสบการณ์ในการเดินเท้าสำรวจพื้นที่ในแถบจังหวัดตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ระหว่างการทำงานกับศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาฯ นายพันธ์ทิพย์ก็ได้ให้ข้อมูลในเชิงสนับสนุนผู้ใหญ่บ้านกระทง ผู้ใหญ่บ้านลอย และประธานอบต. นิรันดร์
เช่นเดียวกับนายวุฒิ บุญเลิศ นักประวัติศาสตร์ชุมชนและผู้เชี่ยวชาญชาติพันธ์กะเหรี่ยงและรู้จักกับปู่โค่ อี๊ผ่านบันทึกของบิดาของตน [10] โดยยืนยันตรงกันว่ามีคนกะเหรี่ยงที่ใจแผ่นดิน บางกลอย (ทั้งจุดบางกลอยบนและบางกลอยล่าง) จำนวนไม่น้อยจะมีญาติไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านพุระกำ บ้านห้วยน้ำหนัก จังหวัดราชบุรี โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ซึ่งบริเวณบ้านพุระกำ และบ้านห้วยน้ำหนักนี้จะเป็นพื้นที่ที่ใกล้กับจุดหรือพรมแดนของพม่าที่มีการ ข้ามแดนกันสะดวก และใกล้เมืองมากกว่า
หรือเดินตามลำน้ำแม่น้ำบางกลอยลงมายังบ้านโป่งลึก-บางกลอย (อยู่คนละฝั่งของแม่น้ำเพฃรบุรี โดยบ้านโป่งลึกจะอยู่ด้านซ้ายของแม่น้ำ ส่วนบ้านบางกลอยจะอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำ อย่างไรก็ดี บ้านบางกลอยตรงจุดนี้มักถูกเรียกว่า บ้านโป่งลึก-บางกลอย เพื่อความเข้าใจว่าเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง) โดยใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน (แล้วแต่สภาพปริมาณน้ำในพื้นที่ป่า)
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายครอบครัวที่เดินทางลงไปทางใต้ไปยังป่าเด็ง ห้วยสัตว์ใหญ่ ซึ่งจะเป็นจุดหรือพื้นที่ที่ใกล้กับพรมแดนพม่าและมีถนนลาดยางเดินทางสะดวก และใกล้ตัวเมืองเช่นเดียวกับด้านบ้านพุระกำ และบ้านห้วยน้ำหนัก [11]
ดังนั้นต่อข้อสงสัยที่ว่าพื้นที่ใจแผ่นดิน บางกลอยจะเป็นพื้นที่ที่ชนกลุ่มน้อยหรือคนพม่าจะอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน คนในพื้นที่อย่างผู้ใหญ่กระทง ผู้ใหญ่ลอย และประธานอบต.นิรันดร์ มีความเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะกะเหรี่ยงกลุ่มที่อาศัยอยู่ตั้งแต่ก่อนและหลังการจัดทำท.ร.ชข. จนถึงปัจจุบัน ก็ยังเป็นคนกลุ่มเดิมที่รู้จักและมีความสัมพันธ์ผ่านสายเครือญาติและความ เป็นชุมชนกะเหรี่ยงมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ยังไม่พบว่ามีคนภายนอกปะปนเข้ามาตั้งบ้านเรือนอาศัย และคนนอกพื้นที่อย่างนายพันธ์ทิพย์ และนายวุฒิ ต่างให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่าหากคนพม่าหรือชนกลุ่มน้อยต้องการเข้ามาทำ งานการเดินทางผ่านช่องทางป่าเด็ง ห้วยสัตว์ใหญ่ ในจังหวัดเพชรบุรี หรือทางบ้านพุระกำ ห้วยน้ำหนัก จังหวัดราชบุรี ย่อมจะสะดวกกว่า
3.1 ยกเว้นการ(บังคับ)ให้อพยพโยกย้ายในปี 2539 และการอพยพผลักดัน/จับกุมฯ ในช่วง เมษายน 2553 - มิถุนายน 2554
บ้านโป่งลึก-บางกลอย เป็นอีกพื้นที่ที่กะเหรี่ยงกลุ่มนี้เคยอาศัยอยู่ชั่วคราว แม้ภายใต้โครงการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารอย่างถาวรของชาวไทยภูเขาในเขต อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ภายใต้การทำงานของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 29 และจังหวัดเพชรบุรีจะต้องการให้เป็นบ้านหลังใหม่ของพวกเขา
เวลานั้น 57 ครอบครัว จำนวน 391 คน ถูกอพยพลงมาที่พื้นที่ตรงข้ามกับหมู่บ้านโป่งลึก เป็นหมู่บ้านตั้งใหม่คือ บางกลอยหมู่ที่ 1 และบ้านโป่งลึก หมู่ที่ 2 (หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า “โป่งลึก-บางกลอย”) โดยได้รับการจัดสรรที่ทำกิน 7 ไร่/ครอบครัว อย่างไรก็ดีในทางความเป็นจริงแล้วร่วม 25 ครอบครัวไม่ได้รับการจัดสรรที่ทำกิน หลายครอบครัวไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ใหม่แห่งนี้ได้ หลายครอบครัวจึงย้ายกลับไปบ้านหลังเดิมที่บางกลอยบน
จนมีการดำเนินการภายใต้โครงการอพยพผลักดัน/จับกุม ชุมชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาบุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย–พม่า ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่มีการปฏิบัติการทั้งสิ้น 6 ครั้ง (เมษายน 2553 – กรกฎาคม 2554)
ชาวบ้านที่มาให้ข้อมูล อาทิ ปู่คออิ๊และนอแอ, นายดู๊อู จีโบ้ง, นายจ่อโจ่ มิมี เป็นข้อเท็จจริงเบื้องต้นสะท้อนว่าชาวเขาติดแผ่นดิน หรือกะเหรี่ยงดั้งเดิมอย่างพวกเขาได้ตกเป็นเป้าหมายของปฏิบัติการดังกล่าว
4. เหรียญชาวเขา พยานวัตถุที่ควรรับฟัง
..แม้น้ำหนักในความน่าเชื่อถือจะมีน้อย
เหรียญชาวเขาที่กะเหรี่ยงที่ใจแผ่นดิน บางกลอยแห่งนี้มีติดตัว (รวมถึงเคยมีติดตัว แต่สูญหาย จากการที่บ้านถูกเจ้าหน้าที่รัฐเผาทำลายเสียหาย) อาจกล่าวได้ว่าเป็นพยานหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงถึงจุดเชื่อมโยงระหว่าง การอาศัยอยู่ของกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยแห่งนี้กับประเทศไทย
คำบอกเล่าจากพื้นที่ อาทิจาก ดุ๊อู จีโบ้ง [12] นอแอะลูกชายของปู่คออี้ รวมถึงผู้ใหญ่กระทง เล่าว่า ช่วงหลังจากการสร้างเขื่อนแก่งกระจาน (สร้างปีพ.ศ.2509) ประมาณหนึ่งหรือสองปีนายอำเภอถวัลย์ (นายอำเภอท่ายาง) ได้เรียกให้ชาวบ้านไปรับมอบเหรียญจากทางอำเภอ
ผู้ใหญ่กระทงเล่าว่า หลังจากนั้นประมาณช่วงปี 2526 นายอำเภอท่ายางได้เรียกให้ชาวบ้านมาทำบัตรประชาชนคนไทย เขาเป็นคนหนึ่งที่ไปทำบัตรประชาชน เวลานั้นเขาไม่เข้าใจว่าบัตรประชาชนคนไทยหมายถึงอะไร แต่ตอนนั้นเขาลงจากบางกลอยบนมาขายพริกที่อำเภอท่ายาง เมื่อเจ้าหน้าที่เรียกให้ไปทำบัตร ก็ไป เขาจึงมีบัตรประชาชนไทย และต่อมาได้รับการกำหนดเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 3 [13] แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สนใจที่จะลงมาทำบัตรประชาชน เหตุผลนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะหลายคนเห็นว่า “ไม่จำเป็น”
คล้ายกับที่ปู่คออี้ บอกกับนอแอะว่า “มีบัตรประชาชนก็ต้องกินข้าว ไม่มีบัตรประชาชนก็ต้องกินข้าว” ซึ่งนอแอะเข้าใจดีว่าพ่อของเขาต้องการสอนให้เขาเป็นคนขยันทำมาหากิน ยึดถือในวิถีชีวิตของกะเหรี่ยง [14]
ด้าน หน้าและด้านหลังของเหรียญชาวเขาของปู่คออิ้ที่บอกเล่าว่า ได้รับมาในช่วงหลังการสร้างเขื่อนแก่งกระจานประมาณปี-สองปี และเก็บรักษาติดตัวมาตลอด จนนอแอะ ลูกชายอายุได้ 30 ปี จึงยกเหรียญนี้ให้แก่นอแอะ
ในแง่หลักการแล้วเหรียญชาวเขาเป็นหลักฐานแสดงหรือยืนยันว่าเป็นชาวเขาที่ ได้รับการสำรวจและบันทึกในทะเบียนราษฎรชาวเขาแล้ว (ทะเบียนสำหรับชาวเขาฉบับปี 2499) ซึ่งมีการดำเนินการขึ้นในปีพ.ศ.2512-2513 โดยอำเภอ และเมื่อสำรวจแล้วก็จะมีการมอบเหรียญให้กับผู้ถูกสำรวจ กล่าวได้ว่าเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงว่าชาวเขาที่ถูกสำรวจได้อยู่ภายใน ประเทศไทยแล้ว อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตด้วยว่า ภายหลังปรากฎว่ามีชาวเขาจำนวนไม่น้อยนำเหรียญที่ทางราชการมอบให้ไปขายให้แก่ บุคคลอื่นๆ อันก่อให้เกิดปัญหาการสวมตัว [15]
5. เหตุผลที่หลายคนไม่มีบัตรสีฟ้า หรือเขียวขอบแดง?
มีข้อสังเกตด้วยว่าทำไมกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าใจแผ่นดิน บางกลอยแห่งนี้ จึงไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ อีกเลย ทั้งๆ ที่ในระหว่างปีพ.ศ.2533-2534 กรมการปกครองได้มีโครงการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง และบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง (บัตรสีฟ้า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533) [16] รวมถึงโครงการสำรรวจและเพื่อทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวชุมชนบนพื้นที่ สูง (บัตรสีเขียวขอบแดง) ซึ่งมีการดำเนินการในช่วงปีพ.ศ.2542 [17]
คำตอบจากผู้ใหญ่กระทง ก็คือ
“กะเหรี่ยงบ้านเราเป็นคนไทย เลยไม่อยากไปถือบัตรคนต่างด้าว”
อย่างไรก็ดี ในทางข้อเท็จจริงพบว่ามีสมาชิกของชุมชนแห่งนี้มีบ้างเช่นกันที่ถือบัตรเขียว ขอบแดง ซึ่งผู้ใหญ่ลอย ผู้ใหญ่กระทงสันนิษฐาน(เอง)ว่า หลายคนไปได้บัตรเขียวขอบแดงตอนออกจากบ้านบางกลอยบนไปรับจ้างทำงานในต่าง อำเภอ
6. “กะเหรี่ยง” “กะหร่าง” ในผืนป่าใจแผ่นดิน บางกลอยจากมุมของประวัติศาสตร์ [18]
นายวุฒิ บุญเลิศ ได้ให้ข้อมูลว่า ชาวกะเหรี่ยงในเขตภาคตะวันตกนับจากด้านตะวันตกของจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์มีอยู่ 2 กลุ่มสาขาคือกลุ่มที่เรียกตนเอง ปกาเกอะญอ หรือที่คนภายนอกเรียกชื่อพวกเขาว่า กะเหรี่ยงสกอว์ และถูกเรียกอีกชื่อจากคนภายนอกว่า “กะหร่าง”
กะเหรี่ยงกลุ่มนี้อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ป่าเขาตั้งถิ่นฐานอยู่ตลอดแนว ชายแดนไทยพม่าตามแนวเทือกเขาตะนาวศรีอยู่กันอย่างกระจัดกระจายในผืนผ่าและ ต้นที่สำคัญคือ แม่น้ำภาชี แม่น้ำบางกลอย แม่น้ำเพชรบุรี ลำห้วย ห้วยสัตว์ใหญ่ และแม่น้ำปราณไหลผ่าน กะเหรี่ยงอีกกลุ่มหนึ่งเรียกตนเองว่า โพล่ง หรือกะเหรี่ยงโปว์ อาศัยอยู่ในพื้นที่ปลายน้ำราบลุ่ม
เอกสารทางราชการกล่าวถึงการสำรวจเขตแดนระหว่างรัฐบาลสยามกับอังกฤษในรัช สมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เมื่อปีพ.ศ.2407 เพื่อปักปันเขตแดนไทย-อังกฤษ พบว่ามีชาวกะเหรี่ยงและละว้าอยู่ตามชายแดน และต้นน้ำ
ใน รัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ปีพ.ศ.2424 นายคาร์ล บ๊อก นักธรรมชาติชาวนอร์เวย์ ได้มาสำรวจกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรี ได้บันทึกเรื่องราวและเขียนภาพคนกะเหรี่ยงเพชรบุรีไว้
7. ไร่หมุนเวียน-วิถีแห่งกะเหรี่ยง
หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่เชื่อ ก็ต้องพิสูจน์ให้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติก่อน-ไม่ใช่ปฏิเสธ
ถ้อยคำที่ปฏิเสธ ไม่เชื่อถึงระบบไร่หมุนเวียนและวิถีชีวิตที่อยู่กับป่าของคนกะเหรี่ยงในผืน ป่าใจแผ่นดิน บางกลอย ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยอ้างผ่านภาพ “..ไร่ซากหลายแปลง รวมถึงแปลงที่มีตอไม้ใหญ่ขนาดหลายคนโอบพร้อมคำชี้แจงที่ว่าเป็นไม้ใหญ่ที่มี อายุนับร้อยปี ถูกกะเหรี่ยงในพื้นที่ตัดจนเหลือแค่ตอ จึงเป็นการบุกรุกทำลายป่า..” ได้รับการชี้แจงข้อมูลอีกแบบจากชาวบ้านในพื้นที่ระหว่างการประชุมว่า “ต้นไม้ในภาพน่าจะมีอายุเพียง 10 ปีเท่านั้น เนื่องจากต้นไม้มีลักษณะเป็นโพรงขนาดใหญ่ เป็นต้นไม้ที่ไม่มีการเติบโตสมบูรณ์ และด้านบนสุดที่ยังมองเห็นอยู่มีลักษณะเป็นกิ่งขนาดไม่ใหญ่มาก แยกออกเป็นสามกิ่ง ซึ่งเป็นลักษณะของการแตกยอดใหม่ของตอไม้เก่า”
จำเป็นต้องตระหนักด้วยว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 66 รับรองถึงสิทธิของชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติและมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน
ประเด็นที่จะต้องพิสูจน์จึงเป็นเรื่องที่ว่ากะเหรี่ยงแห่งผืนป่าใจแผ่น ดิน บางกลอย (แก่งกระจาน) แห่งนี้เป็น “ชุมชนท้องถิ่น” หรือ “ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” หรือไม่ หรือเป็นผู้ทรงสิทธิในสิทธิชุมชนตามมาตรา 66 นี้หรือไม่ ได้แก่ มีวิถีชีวิต จารีตประเพณี วัฒนธรรมที่มีความเชื่อมโยงกับการดูแลและใช้สอยทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ใน ผืนป่าแห่งนี้อย่างไร อาทิ มีกฎเกณฑ์ หรือรูปแบบ จารีตประเพณีที่อนุรักษ์ บำรุงรักษาผืนป่าไม่ให้ถูกทำลายอย่างไรบ้าง การล่าสัตว์ป่า หรือตัดไม้มีเหตุผลในทางวิถีชีวิต จารีตประเพณีอย่างไร ฯลฯ หากมีหลักเกณฑ์ดังกล่าวย่อมถือว่าเป็น สิทธิของบุคคล(กะเหรี่ยงแห่งผืนป่าใจแผ่นดิน บางกลอย) ในรวมตัวกันเป็นชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ในการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติให้มีความสมดุลและยั่งยืนแล้ว [19]
นอกจากนี้ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงให้อยู่กับป่าและธรรมชาติ ได้กำหนดแนวทางชัดเจนว่า “ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ ดั้งเดิม” ดังนั้นก่อนการปฏิบัติการทั้ง 6 ครั้งภายใต้โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า อุทยานแห่งชาติของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจึงนำไปสู่คำถามที่ต้องถามกลับ ว่าได้มีการปฎิบัติตามขั้นตอน กระบวนการตามกฎหมาย แนวนโยบายจริงหรือไม่ อย่างไร
ดังจะเห็นได้จากกรณีคดีแม่อมกิ ที่ศาลจังหวัดแม่สอดได้มีพิพาษายกฟ้องกะเหรี่ยงที่ถูกส่งฟ้องเป็นคดีอาญาใน ฐานบุกรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติ ด้วยมีการนำสืบตัวชาวบ้านเอง พยานบุคคลรวมถึงพยานผู้เชี่ยวชาญ:
“...สภาพชุมชนที่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ตั้งถิ่นฐานมานาน มีอาชีพทำไร่หมุนเวียน(ต่อมาพื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่ง ชาติ)...มีต้นไม้ใหญ่จำนวนหนึ่ง ที่ชาวบ้านทิ้งไว้ไม่ได้ตัด เพื่อทำให้พื้นที่ดังกล่าวฟื้นตัวเร็วขึ้น ไม้ที่ถูกตัดเป็นไม้ขนาดเล็ก ไม่ใหญ่มาก เป็นไร่ที่ชาวบ้านทำไร่หมุนเวียน โดยให้เหตุผลที่ควรรับฟังว่า “อาศัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 มีพยานหลักฐานรับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทำกินในที่ดินแปลงนี้มาก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ตั้งแต่รุ่นยาวเคยทำกินในลักษณะทำไร่หมุนเวียน เข้าใจว่าทางราชการผ่อนผันให้ทำได้โดยไม่ให้บุกรุกแผ้วถางใหม่ ชุมชนชาวกะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยทำกินกันในบริเวณนี้มานานหลายชั่ว คน.. ข้อที่โจทก์ (อัยการ) พยายามจะนำสืบให้เห็นว่าที่พิพาทไม่ผ่านการทำการเกษตรหรือเข้าทำประโยชน์มา ก่อน เห็นได้ว่าเลื่อนลอยเชื่อถือไม่ได้ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามที่จำเลย (นางน่อเฮมุ้ย)นำสืบว่าที่พิพาทเป็นที่ดินที่ผ่านการทำประโยชน์มาแล้ว สภาพทั่วไปมีแต่ตอไม้ จะมีต้นไม้ขึ้นบ้างเป็นต้นเล็กๆ บริเวณข้างเคียงก็ล้วนมีราษฎรคนอื่นเข้าทำประโยชน์อยู่ทั่วไป และมีการเข้ายึดถือที่พิพาทก่อนที่ทางราชการจะกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยเข้าทำประโยชน์ โดยได้รับตกทอดจากบิดามารดา เช่นนี้ย่อมเป้นพฤติการณ์ที่ทำให้จำเลยซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ไม่สามารถพูด อ่าน เขียนภาษาไทยได้ และตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในหมู่บ้านแม่อมกิมาเป็นเวลานานแล้ว ทั้งได้อาศัยที่พิพาททำประโยชน์ก่อนที่ทางราชการจะประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่ง ชาติ... กรณีจึงทำให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำไปโดยสำคัญผิดเข้าใจว่าสามารถที่จะเข้าไป แผ้วถางที่บริเวณพิพาทได้ เป็นการขาดเจตนา การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
พิพากษายกฟ้อง./”
คำพิพากษาศาลจังหวัดแม่สอด
คดีหมายเลขดำที่ 1770/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 1737/2551
ลงวันที่ 5 เดือนมีนาคม พ.ศ.2553
จะเห็นได้ว่าจำเป็นต้องมีกระบวนการรับฟังความจากผู้เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญที่รอบด้าน รวมถึงศึกษาถึงข้อเท็จจริงแห่งความเป็นชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของแต่ละพื้นที่ โดยควรจะดำเนินการก่อน ไม่จำเป็นต้องให้กระบวนการนี้ไปเกิดขึ้นในชั้นศาล
บทส่งท้าย
บันทึกเรื่องนี้แม้จะเป็นเพียงการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากพื้นที่ การสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ รวมถึงตรวจสอบเอกสารต่างๆ ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า น่าจะมีสักหกประเด็นที่อาจยืนยันได้ถึงความเป็นชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมแห่ง บางกลอย (แก่งกระจาน) และแม้ว่ามันจะยังมิใช่ข้อสรุปที่ฟันธงอย่างชัดเจน แต่ข้อสังเกตฯ ที่ได้กล่าวมา ก็ย่อมมีความเป็นไปได้ หากไม่มีข้อเท็จจริง พยานหลักฐานอื่นๆ มาโต้แย้ง-หักล้าง [20]
อ้างอิง:
- สรุปผลการปฏิบัติงานยุทธการตะนาวศรี โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุมชุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ระหว่างวันที่ 23-26 มิถุนายน 2554 จัดทำโดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เอกสารนำเสนอ (powper point) โครงการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชุมชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาบุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย – พม่า ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จัดทำโดยกรมอุทยานแห่งชาติ
- ลงพื้นที่ร่วมกับอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชน ชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบปากคำผู้เสียหายจากการถูกเจ้าหน้าที่รัฐ(ไม่ ทราบสังกัด)เผาทำลายบ้านและยุ้งฉางของกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 3-4 กันยายน 2554
- กระเหรี่ยงที่เกิดที่บ้านบางกลอยบน เมื่อปี 2501 ปัจจุบันเป็นผู้ใหญ่บ้านบางกลอย-โป่งลึก หมู่ 1
- พื้นที่ที่ใกล้กับใจแผ่นดิน จะมีพื้นที่ที่ถูกเรียกเป็นบางกลอยบน และบางกลอยล่าง โดยจุดที่เรียกว่าบางกลอยบนนั้น จะใกล้กับใจแผ่นดิน ส่วนบางกลอยล่างจะเป็นจุดที่ต่ำลงมาจากบางกลอยบน สามารถเดินถึงกันได้ใช้เวลาประมาณ 1 วัน และหากเดินตามแม่น้าเพชรบุรีลงมาจะเจอกับบ้านโป่งลึก-บางกลอย ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 1-2 วัน
- กระเหรี่ยงที่เกิดที่บ้านบางกลอยบน เมื่อปี 2482 ปรากฎในท.ร.ช.ข. บางกลอย 4 ครอบครัวที่ 1 ต่อมาเคยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่
- ชื่อโคอิ อ้างอิงตามที่ปรากฎในท.ร.ชข. แฟ้มบางกลอย 4 ครอบครัวที่ 3, อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Royal vouches for103-year-oldKaren วันที่ 3 กันยายน 2554 สืบค้นที่ http://www.bangkokpost.com/news/local/254877/royal-vouches-for-103-year-old-karen -- ดูข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง: ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว, บันทึกร่องรอย-เรื่องราวกะเหรี่ยงบางกลอยบน ย่างเข้าเดือนที่ 2 ที่ถูกอพยพโยกย้าย-ไร้บ้าน สืบค้นได้ที่ http://www.statelesswatch.org/node/462 และดู ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, บันทึกถึงปู่คออิ๊-กะเหรี่ยงดั้งเดิมแห่งผืนป่าใจแผ่นดิน บางกลอย (แก่งกระจาน)
- หนึ่งในชาวบ้านที่ถูกเจ้าหน้าที่สั่งให้อพยพ ออกจากบ้านบางกลอยบน โดยบ้านและยุ้งฉางของเขาถูกเผา ทำลาย อย่างไรก็ดีลุงดู๊อู ไม่ได้รับการสำรวจท.ร.ชข. เพราะเวลานั้นนำพริกลงมาขายที่อำเภอท่างยางพร้อมกับลูกชาย อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว, บันทึกร่องรอย-เรื่องราวกะเหรี่ยงบางกลอยบน ย่างเข้าเดือนที่ 2 ที่ถูกอพยพโยกย้าย-ไร้บ้าน สืบค้นได้ที่ http://www.statelesswatch.org/node/462
- เกิดที่บ้านบางกลอยบน ปี 2508 ปรากฎตามแฟ้มเอกสารบ้านโป่งลึก 2 ครอบครัวที่ 4
- ชื่อโคอิ อ้างอิงตามที่ปรากฎในท.ร.ชข. แฟ้มบางกลอย 4 ครอบครัวที่ 3, ส่วนชื่อจออี้ อ้างอิงตามที่นายดุลยสิทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หลานชายในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เรียก โดยในดุลยสิทธิ์ให้ข้อมูลว่ารู้จักกับปู่โคอิ๊ ในฐานะของสหายของเสด็จตา และเคยพบกับปู่โคอี๊ ในช่วงเวลา อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Royal vouches for103-year-oldKaren วันที่ 3 กันยายน 2554 สืบค้นที่ http://www.bangkokpost.com/news/local/254877/royal-vouches-for-103-year-old-karen
- ดูข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง: ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว, บันทึกร่องรอย-เรื่องราวกะเหรี่ยงบางกลอยบน ย่างเข้าเดือนที่ 2 ที่ถูกอพยพโยกย้าย-ไร้บ้าน สืบค้นได้ที่ http://www.statelesswatch.org/node/462 และดู ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, บันทึกถึงปู่คออิ๊-กะเหรี่ยงดั้งเดิมแห่งผืนป่าใจแผ่นดิน บางกลอย (แก่งกระจาน)
- อยู่ระหว่างการทำแผนที่แสดงพื้นที่การเดินเท้าของชุมชนกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน บางกลอย
- อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว, บันทึกร่องรอย-เรื่องราวกะเหรี่ยงบางกลอยบน ย่างเข้าเดือนที่ 2 ที่ถูกอพยพโยกย้าย-ไร้บ้าน สืบค้นได้ที่ http://www.statelesswatch.org/node/462
- ปี 2527 เป็นปีแรกที่มีการตั้งระบบเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก โดยคนที่มีสัญชาติ จะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 1 (กรณีแจ้งเกิดในกำหนด) และเลข 2 (กรณีแจ้งเกิดเกินกำหนด) ส่วนเลข 3 เป็นกรณีของคนไทยที่เกิดและแจ้งชื่อเข้าในทะเบียนบ้าน (ประเภทคนไทย หรือท.ร.14) ก่อนเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2524
- ดู ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, บันทึกถึงปู่คออิ๊-กะเหรี่ยงดั้งเดิมแห่งผืนป่าใจแผ่นดิน บางกลอย (แก่งกระจาน)
- สรินยา กิจประยูร และชุติ งามอุรุเลิศ, “คู่มือปฏิบัติการเพื่อให้คนมีสถานภาพทางกฎหมายที่ถูกต้อง” , จัดพิมพ์โดย คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์, พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง สิงหาคม พ.ศ.2544, สำนักพิมพ์วิญญูชน, น.37.
- โครงการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบน พื้นที่สูงและบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง (บัตรสีฟ้า เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533 เพื่อสำรวจบุคคลที่อยู่บนพื้นที่สูงทั้งหมด กล่าวคือ ไม่จำกัดเฉพาะชาวเขาเท่านั้น แต่รวมถึงชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่บนพื้นที่สูง 20 จังหวัด, อ้างจากเอกสารเผยแพร่ซึ่งจัดทำโดยฝ่ายการทะเบียนชนกลุ่มน้อย ส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, “ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย”, มกราคม 2542
- โครงการสำรรวจและเพื่อทำทะเบียนประวัติและ บัตรประจำตัวชุมชนบนพื้นที่สูง (บัตรสีเขียวขอบแดง) ซึ่งมีการดำเนินการในช่วงปีพ.ศ.2542 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำสถิติจำนวนชาวเขาที่อาศัยอยู่ในประเทศ โดยรัฐบาลกำหนดนโยบายให้มีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยผ่อนผันให้มีสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราว เพื่อรอการพิสูจน์สถานะต่อไป
- วุฒิ บุญเลิศ, เอกสารประกอบการลงพื้นที่ของอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบปากคำผู้เสียหายจากการถูกเจ้าหน้าที่รัฐ(ไม่ ทราบสังกัด)เผาทำลายบ้านและยุ้งฉางของกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 3-4 กันยายน 2554
- ขอบคุณอาจารย์ ลักขณา พบร่มเย็น นักวิจัยอิสระ, สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น, สุรชัย ตรงงาม ทนายความ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม และจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว สมาชิกเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
- การตรวจสอบข้อเท็จจริงยังไม่ยุติ และจะยังคงติดตามต่อไป ในระยะอันใกล้นี้จะมีการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในช่วงวันที่ 14-16 กันยายน 2554