ที่มา มติชน
"สุกำพล" เดินหน้าเต็มสูบเมกะโปรเจ็กต์คมนาคม ลั่น 6 เดือนเห็นรูปธรรมชัดเจน เซ็นรถไฟฟ้า 2 สาย ส่วนไฮสปีดเทรนทุ่มแสนล้านนำร่อง "กรุงเทพฯ-โคราช" เปิดทางทุกชาติลงทุน ตัดทิ้ง "กรุงเทพฯ-ระยอง" หลังขยายแอร์พอร์ตลิงก์ไปถึงพัทยา-ชลบุรี เดินหน้ารถไฟทางคู่เฟสแรก 5 สาย 767 ก.ม. ชง ครม.โยกย้าย 6 ตำแหน่งว่าง เปิดทางซี 9 ลงสมัครแข่งคัดเลือกขึ้นอธิบดี 3 กรมใหญ่
พล.อ.อ. สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ใน 6 เดือนนี้มีเป้าหมายจะผลักดันโครงการขนาดใหญ่ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เนื่องจากเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ต้องเร่งให้เสร็จใน 4 ปีนี้ เรื่องแรกคือเร่งเซ็นสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้า 2 สาย ส่วนที่เหลือจะทยอยให้แล้วเสร็จใน 3 ปี หรือ ปี 2557 โดยรถไฟฟ้าทั้ง 10 สายจะใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี พร้อมเปิดบริการ
แต่มีบางสายทางที่กำลัง ก่อสร้างจะเปิดบริการก่อน เช่น สีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) เปิดปี 2557 และสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) เปิดปี 2559 โดยสายสีน้ำเงินมองว่าเป็นส่วนสำคัญสุด เพราะเป็นเส้นวงแหวนที่ต่อเชื่อมทุกสายได้
อีกทั้งจะเร่งศึกษารถไฟ ความเร็วสูง 3-4 สายให้เสร็จ 4 ปีนี้ ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 745 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 229,809 ล้านบาท 2.กรุงเทพฯ-โคราช 256 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 96,826 ล้านบาท 3.กรุงเทพฯ-หัวหิน 225 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 82,166 ล้านบาท และ 4.กรุงเทพฯ-ระยอง 221 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 72,265 ล้านบาท
"ปี 2555 จะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง สายแรก จากกรุงเทพฯ-โคราช เป็นเส้นเดิมของสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ที่คมนาคมศึกษาไว้ แต่จะสร้างไปแค่โคราช เพราะใช้เงินลงทุนสูง แค่โคราช ก็เกือบแสนล้านแล้ว ต้องปรับแนว เส้นทางให้สั้นลง และอยู่บนความจริงมากขึ้น" พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวและว่า
ส่วนกรอบบันทึกข้อตกลง (MOU) กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่รัฐบาลชุดที่แล้วทำไว้ ยังเป็นแค่ความร่วมมือ ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ก็เดินหน้าต่อภายใต้กรอบนี้ แต่อยู่ที่ว่าจะเลือกใครมาลงทุน ล่าสุดมีทูตจากหลายประเทศเข้ามาพบ อาทิ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย
พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวต่อว่า สายที่ 2 คือกรุงเทพฯ-หัวหิน ส่วนสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ยังเร็วเกินไปที่จะตอบ เพราะเงินลงทุนสูงกว่า 2 แสนล้านบาท ขณะที่สายกรุงเทพฯ-ระยอง กำลังดูว่ายังจำเป็นอีกหรือไม่ เพราะได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ศึกษาส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ไปถึงพัทยาและชลบุรี เป็นรถไฟฟ้าวิ่งด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เหมือนรถไฟไฮสปีดเทรนอยู่แล้ว
ขณะที่รถไฟทางคู่จะเดินหน้าในเฟสแรก 5 เส้นทาง 767 กิโลเมตร ได้แก่ 1.ลพบุรี-ปากน้ำโพ 2.มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 3.ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 4.นครปฐม-หนองปลาดุก-หัวหิน และ 5.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ร.ฟ.ท.มีเงินลงทุนไว้แล้วภายใต้กรอบ 1.76 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลชุดที่แล้วอนุมัติไว้ เพราะเป็นความจำเป็นเร่งด่วน จะหารือกับ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยฯ ที่กำกับดูแล และกำลังจะปรับแผนการใช้เงินก้อนนี้อยู่ ให้ยังคงแผนรถไฟทางคู่ เฟสแรกนี้ไว้ เพื่อให้มีทางคู่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีแค่ 300 กิโลเมตร
"ผม วาดภาพอนาคตรถไฟไทยไว้เลย อยากเห็นเขตทางรถไฟสองข้างทาง 80 เมตร มี 5 รางอยู่ในเส้นทางเดียวกัน เป็นทางคู่เล็ก ๆ 2 ราง มีรางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร อีก 2 ราง และมีไฮสปีดเทรน 1 ราง วิ่งขนาบไปกับทางรถไฟทั้งหมด โดยที่ไม่ต้องเวนคืนเลย เพราะมีเขตทางเหลืออยู่แล้ว"
สำหรับนโยบาย การจัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำ "ไทย ไทเกอร์ แอร์เวยส์" พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า การบินไทยยังไม่ได้รายงานมา ยังตอบอะไรไม่ได้ แต่เรื่องของบทบาทสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองมีนโยบายชัดเจนให้ สนามบินสุวรรณภูมิเป็นซิงเกิลแอร์พอร์ต เพราะปีหน้าจะลงทุน 6 หมื่นล้าน สร้างเฟส 2 อยู่แล้ว ต้องใช้ประโยชน์ให้เต็มที่
"หน่วยงานที่เกี่ยว กับการบิน 4 หน่วยงาน คือ ทอท. การบินไทย บพ. วิทยุการบิน ต้องมีความแน่นแฟ้น และมีบอร์ดที่เป็นชุดเดียวกัน เวลาทำงานจะได้ไปในทิศทางเดียวกัน อย่างสนามบินดอนเมือง เจ้าของคือ ทอท.จะนำมาใช้เป็นศูนย์ซ่อมไม่ได้ ผู้ที่ทำได้คือการบินไทย ต้องมาคุยกันให้เข้าใจ"
อีกเรื่องที่จะต้องเร่งโดยเร็ว คือการแต่งตั้งข้าราชการที่เกษียณอายุราชการสิ้นเดือนกันยายนนี้ กระทรวงคมนาคมมี 6 ตำแหน่ง คือผู้ตรวจราชการ 3 ตำแหน่ง กับอธิบดี 3 กรม คือกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และ กรมการขนส่งทางบก ปีนี้จะแตกต่างจากทุกปี คือจะเปิดรับสมัครผู้บริหารระดับ ซี 9 และซี 10 สมัครเข้ามาก่อนถึงจะมีการคัดเลือก จากเดิมจะแต่งตั้งจากระดับ ซี 10 ของแต่ละกรมได้เลย เพื่อเปิดทางข้าราชการระดับซี 9 ขึ้นมานั่งตำแหน่งระดับสูงได้ ตามระเบียบของสำนักงาน ก.พ.ที่ออกมาใหม่