ที่มา Thai E-News
โดย คุณ กาเหว่า
ที่มา เวบไซต์ สยามรัฐ
4 มีนาคม 2552
การต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทย ณ วันนี้ ได้กระโดดข้ามพรมแดนของคำว่า ประธิปไตยแบบไทยๆ และกระโดดข้ามพรมแดนของการปฏิวัติยึดอำนาจแบบไทยๆ ขึ้นสู่ระดับการเผชิญหน้า เพื่อล้มล้างซึ่งกันและกันอย่างโจ่งครึ้ม ระหว่าง ระบอบอำมาตย์ ซึ่งนำหัวขบวนโดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กับ ระบอบทักษิณ ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวขบวน หลังจากแอบเล่นซ่อนหาและปริศนาอักษรไขว้กันมาหลายปี
การปกครองในระบบอำมาตย์ หรือระบอบอำมาตยาธิปไตยสำหรับคนรุ่นหลัง เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย เนื่องจากมีบัญญัติไว้ในตำราเรียนวิชารัฐศาสตร์ และวิชาการเมืองการปกครองไทย สำหรับชั้นปริญญาตรีทุกสาขามานานแล้ว และทราบว่า ตอนหลังมีการบรรจุไว้ในตำราเรียนของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมกันแล้วด้วย
ถ้าจะตอบเพียงให้ทำข้อสอบได้ ก็ต้องตอบว่า เป็นระบอบการปกครอง ที่อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ เป็นของพวกขุนนางข้าราชการเพียงฝ่ายเดียว ส่วนประชาชน ถือว่าเป็นผู้ถูกปกครอง และผู้รับการสงเคราะห์ ย่อมไม่มีสิทธิ์มีเสียงใดๆ ทั้งสิ้น
แต่ถ้าตอบด้วยประวัติศาสตร์แล้ว ระบอบอำมาตยาธิปไตย พัฒนามาจากพวกเหล่าขุนนางข้าราชการ ที่ได้รับพระราชทานอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน ต่างพระเนตรพระกัณณ์แทนพระมหากษัตริย์ แล้วก็เหลิงแก่อำนาจ ใช้อำนาจเกินขอบเขตที่ได้รับพระราชทาน ข่มเหงรังแกรีดนาทาเร้นเอากับประชาชน จนได้รับความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า
ประวัติศาสตร์สอนเรามานับพันปี แม้ว่าคนพวกนี้ จะถวายสัตย์สาบานต่อคมหอกคมดาบครั้งแล้วครั้งเล่า ก็พ่ายแพ้ต่อลาภยศสรรเสริญ ผลประโยชน์โพดโพย และแม้แต่อีหนูที่อยู่ตรงเฉพาะหน้า คนที่จะเติบโตขึ้นได้ในระบอบนี้ได้ ก็ด้วยการอุปถัมภ์ค้ำจุนของผู้มีอำนาจที่เหนือกว่า ซึ่งนั่นก็ต้องแลกมาด้วยการส่งส่วยทรัพย์สินเงินทองและผู้หญิง
ในยามที่ผลประโยชน์ของเหล่าขุนนางอำมาตย์ทั้งหลายลงตัวกัน บ้านเมืองก็จะดูเหมือนมีแต่ความสงบเรียบร้อย ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข แต่เมื่อใดที่ผลประโยชน์ภายในของพวกเขาไม่ลงตัว เกิดการช่วงชิงอำนาจซึ่งกันและกัน คนที่เดือดร้อนก็คือ พระมหากษัตริย์และประชาชน เพราะจะถูกบีบบังคับและกวาดต้อนให้มาขึ้นกับฝ่ายตนเอง
และเมื่อขุนนางกลุ่มหนึ่งสามัคคีกันมาก มีกำลังเข้มแข็ง ก็มักจะยึดอำนาจนั้นจากพระมหากษัตริย์ มาเป็นของตนเสียเอง ถ้าเป็นเมื่อหลายร้อยปีก่อน ก็จะบริหารราชการในนามพระมหากษัตริย์ พวกเขาจำเป็นจำต้องอำพราง เพราะเห็นว่า ประชาชนยังเคารพศรัทธาพระมหากษัตริย์อยู่มาก แต่แท้จริงแล้ว อำนาจการตัดสินใจ และดำเนินการต่างๆ เป็นของพวกขุนนางอำมาตย์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
แต่ต่อมาในระยะหลังที่เริ่มมีคำว่าประชาธิปไตย คนพวกนี้ก็มักจะยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์กันซึ่งๆ หน้า โดยอ้างว่า เป็นความต้องการของประชาชน และอัญเชิญให้เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทรงอยู่เหนือการเมืองการปกครองใดๆ แยกพระมหากษัตริย์ออกจากประชาชน เพื่อขุนนางอำมาตย์พวกนี้จะได้อำนาจปกครองนั้นเป็นของตัวเอง อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
เพราะฉะนั้นคำว่า “ประชาธิปไตย” ซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ตามปรัชญาประชาธิปไตยที่แท้จริง จึงไม่มีวันเกิดขึ้นในระบอบที่ปกครองโดยพวกขุนนางอำมาตย์
เพราะแม้แต่อำนาจที่เป็นของพระมหากษัตริย์อยู่เดิม และประชาชนให้ความเชื่อมั่นศรัทธามายาวนานนับพันปี ยังถูกคนพวกนี้ปล้นจี้เอาไปได้ ประสาอะไรกับประชาชนตาดำๆ ซึ่งไม่มีทางต่อสู้ พวกนี้จะไม่คิดฉกชิงวิ่งราวเอาซึ่งๆ หน้า
ส่วนการปกครองในระบอบทักษิณ เพิ่งมีบัญญัติขึ้นใหม่ โดยขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก่อนการปฏิวัติยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ได้ไม่นาน และข้อเท็จจริงได้ถูกเปิดเผยออกมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนด้วยว่า บัญญัติขึ้นมาเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย ซึ่งนำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงยังไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในตำราเรียน เหมือนอย่างระบอบอำมาตยาธิปไตย จึงยากที่จะเข้าใจได้ว่าระบอบทักษิณนั้นเป็นอย่างไร
แต่ไม่ว่าจะเรียกระบอบอะไรก็ตาม ประชาชนคนรากหญ้าในหมู่บ้านตามชนบท และคนขับรถแท็กซี่หาเช้ากินค่ำตามสลัมในเมือง ต่างซาบซึ้งดี ก็คือสิทธิและผลประโยชน์ที่เขาได้รับ จากการเสียเวลาออกไปหย่อนบัตรเลือกตั้งนั้น มันมีค่ามหาศาล มีผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัย การประกอบอาชีพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความปลอดภัยจากยาเสพติด และมีโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าครั้งไหนๆ ที่เขาเคยเลือกตั้งมา
ไม่รวมนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาชั่วชีวิต อย่างกลุ่มคนเดือนตุลา กลุ่มปัญญาชนนักคิดนักเขียน กลุ่มกวีและนักประพันธ์ ตลอดจนพ่อค้าแม่ขาย และคนชั้นกลางในกรุเทพฯ ที่ตัดสินใจขึ้นเวทีคนเสื้อแดงมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะนี้
จนถึงวันนี้ คนชื่อทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นเพียงทางผ่านทางหนึ่งของการต่อสู้ฝ่ายประชาธิปไตย เท่านั้นเอง
และเช่นเดียวกันกับคนชื่อ เปรม ติณสูลานนท์ ก็เป็นเพียงทางผ่านทางหนึ่ง ของการต่อสู้ฝ่ายอมาตยาธิปไตยเท่านั้นเอง