WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, May 22, 2009

อำนาจที่ทำให้ ‘เหตุผล’ สยบยอม?

ที่มา ประชาไท

ชื่อบทความเดิม: อำนาจพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และอำนาจพื้นที่ศีลธรรม ทำให้ เหตุผลสยบยอม?
นักปรัชญาชายขอบ


เกริ่นนำ
ในสังคมเสรีประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าเราถือว่าประชาชนมีอำนาจในการปกครองตนเอง การมีหลักประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือการใช้เหตุผลในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบกันและกัน ย่อมเป็นการส่งเสริมความงอกงามทางสติปัญญาของประชาชนซึ่งจะส่งผลให้เขาสามารถปกครองตนเองได้ด้วยวิจารณญาณที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย

ดังนั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับการใช้เหตุผลในการอยู่ร่วมกันจึงเป็นข้อเรียกร้องพื้นฐานในสังคมประชาธิปไตย แต่ในสังคมประชาธิปไตยไทย เสรีภาพและการใช้เหตุผลมักถูกทำให้สะดุดหยุดลงด้วยอำนาจตามจารีต (อย่างน้อย) 2 อำนาจหลักๆ คือ อำนาจของ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กับ อำนาจของพื้นที่ศีลธรรม

อำนาจพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
อำนาจของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในระบอบประชาธิปไตยไทย ถูกกำหนดไว้ทั้งโดยรัฐธรรมนูญและจารีตประเพณีว่า ประชาชน (หมายถึง เสรีชนซึ่งตรงกันข้ามกับ ข้า หรือ ไพร่”) ไม่มีสิทธิ์ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ เราจะพูดถึงพื้นที่ศักดิ์สิทธิได้ก็เฉพาะแต่ในทางบวกหรือในทางสรรเสริญเยินยอเท่านั้น การใช้เหตุผล ตัวอย่างเช่น เหตุใดประชาชนจึงไม่มีสิทธิ์ตรวจสอบบุคคลหรือกลุ่มบุคคลบางคนบางกลุ่มผู้ซึ่งดำรงชีวิต ดำรงสถานภาพและเกียรติยศด้วยเงินภาษีของประชาชน? หรือการที่ประชาชนไม่มีสิทธิ์ตรวจสอบเช่นนั้นเป็นการขัดต่อหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของสังคมประชาธิปไตยหรือไม่?

แน่นอนว่า เมื่อต้องเผชิญกับอำนาจของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ การใช้เหตุผลตามตัวอย่างดังกล่าวย่อมถูกกระทำให้สะดุดหยุดลง เพราะง่ายดายมากที่คนในสังคมนี้จะมองว่าคำถามที่มีเหตุผล (Reasonable) ดังกล่าวเป็นสิ่งท้าทายหรือบ่อนทำลายอำนาจของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และโดยที่ไม่ต้องใช้หลักตรรกะอะไรนักก็มักจะสรุปกันอย่างเป็นประเพณีว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นการบ่อนทำลาย ความมั่นคงของชาติ” (นี่เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งหรือไม่ที่ทำให้พัฒนาการประชาธิปไตยในสังคมไทยมักสะดุดหยุดลงด้วยรัฐประหารที่ชอบธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า?)

อันที่จริง ไม่ว่าสังคมใดๆ จะมี พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” (ในนามของสถาบัน พระเจ้า หรืออะไรก็ตาม) เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจหรือเป็นที่เคารพสักการะของสมาชิกแห่งสังคมนั้นๆ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ควรให้อำนาจของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่เหนือการใช้เหตุผล

พูดให้ตรงก็คือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นควรมีอยู่ด้วยเหตุผลที่สาธารณชนยอมรับร่วมกันว่าควรมี และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นก็ควรดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้เพราะทนต่อการพิสูจน์ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบด้วยเหตุผล

แต่ในสังคมไทย อำนาจของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กลับถูกนำไปใช้ในทางยับยั้งหรือทำให้การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการใช้เหตุผลต้องสะดุดหยุดลง เช่น ทำให้เสรีภาพและการใช้เหตุผลทางวิชาการต้องสะดุดหยุดลง (โดยการแจ้งข้อหาหมิ่นฯ กับการออกข้อสอบของอาจารย์ท่านหนึ่ง เป็นต้น) หรือทำให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การกำหนดแนวนโยบายทางการเมืองในเวทีการเมืองของภาคประชาชนต้องสะดุดหยุดลงเมื่ออำนาจของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ถูกนำมาใช้เพื่อกำจัดศัตรูที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ฯลฯ


ที่เลือดเย็นกว่านั้น อำนาจของพื้นที่ศักดิสิทธิ์ยังถูกนำมาใช้ขีดเส้นแบ่งประชาชนในประเทศออกเป็น 2 สี หรือ 2 ฝ่าย จนสร้างความแตกแยกในสังคมอย่างกว้างขวางและร้าวลึกลงไปถึงสังคมระดับเพื่อนร่วมงาน สามีภรรยา หรือกระทั่งพ่อแม่ลูก เพียงแค่ขีดเส้นแบ่งว่า คนสีนี้เอา-ไม่เอาสถาบันพร้อมกับสำทับว่าถ้าคุณไม่อยู่ในสีเดียวกับฉันหรือเห็นต่างจากแนวทางของฉันก็เท่ากับคุณไม่เอาสถาบันการพูดคุยกันด้วยเหตุผลระหว่าง 2 ฝ่าย (หรือแม้แต่จะคุยกันด้วยเหตุผลกับฝ่ายอื่นๆ) ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว


อำนาจพื้นที่ศีลธรรม
เมื่อช่วงก่อนสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมไปเยี่ยมบ้านในหมู่บ้านชนบทอีสานแห่งหนึ่ง แม่เล่าให้ฟังว่าวันสงกรานต์จะมีงานทอดผ้าป่าซื้อที่ดินถวายวัด ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านเดินรับเงินบริจาคโดยกำหนดให้แต่ละครอบครัวตั้งกองผ้าป่า ครอบครัวละ 500 บาท เมื่อวานผู้ใหญ่บ้านบอกแม่ว่าน่าจะตั้งกองผ้าป่าสัก 5,000 บาท เพราะมีลูกเป็นถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมถามว่าที่วัดมีพระกี่รูป มีที่ดินอยู่แล้วกี่ไร่ พระที่วัดทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์อะไรบ้าง (เช่น นำชาวบ้านปฏิบัติธรรม เลิกอบายมุข ส่งเสริมการออมทรัพย์ หรือกิจกรรมการพัฒนาอื่นๆ)

คำตอบที่ได้คือ วัดมีที่ดินอยู่แล้วราว 20-30 ไร่ มีพระหลวงตารูปเดียวเพิ่งมาอยู่ใหม่ ที่วัดนี้มีพระมาแล้วก็ไปเปลี่ยนหน้าอยู่เรื่อยๆ กิจกรรมสอนชาวบ้านหรือพัฒนาอะไรต่างๆ ที่ผมถามนั้นไม่มีเลย ผมจึงบอกกับแม่ว่าเราทำบุญสัก 100-200 บาท ไม่ได้หรือ? แม่ตอบด้วยสีหน้ากังวลว่ามันเป็นงานบุญ เราก็ต้องอยู่ในสังคม

เรื่องที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่าอำนาจของพื้นที่ศีลธรรมหรือความดีงามอย่างเช่นการทำบุญมันทำให้แม่ของผม (รวมทั้งชาวบ้านที่ยากจนอีกมาก) หยุดการใช้เหตุผล เช่น การตั้งคำถามว่าสมควรซื้อที่เพิ่มให้วัดหรือไม่ ผ้าป่าครอบครัวละ 500 บาท ทำให้ชาวบ้านยากจนลำบากเกินไปหรือไม่ ใครคือเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดวัดซึ่งได้ประโยชน์จากการขายที่ดินให้วัด ประโยชน์ที่จะเกิดแก่ชาวบ้านจากการขยายที่ดินวัดเพิ่มขึ้นคืออะไร ฯลฯ

ตัวอย่างที่ยกมาอาจดูว่าผมคิดอะไรหยุมหยิมมากไป แต่เราก็เห็นกันอยู่ทั่วไปว่าอำนาจของพื้นที่ศีลธรรมในนามของบุญ กุศล อะไรต่างๆ นั้น เป็นอำนาจอย่างหนึ่งที่ทำให้การใช้เหตุผลของผู้คนสะดุดหยุดลง (บ้านเราจึงมีการบุญการกุศลแกมบังคับหรือจำใจจำยอมกันอย่างดาษดื่น รวมทั้งที่ทางราชการเชิญชวนแกมบังคับให้ซื้อวัตถุมงคล หรือเสื้อตราสัญลักษณ์ในโครงการของ ท่านผู้หญิงอะไรนั่นด้วย)

แต่ที่น่ากลัวอย่างยิ่ง คืออำนาจของพื้นที่ศีลธรรมในนามของ ความดีคลาสสิกต่างๆ เช่น ความดีในการปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ความดีในการ ตอบแทนบุญคุณแผ่นดินการต่อสู้ทางการเมืองที่ใช้ธรรมนำหน้าฯลฯ เพราะอำนาจของ ความดีคลาสสิกเหล่านี้มันไปรับรองความชอบธรรมอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ (absolute) ของจุดยืน เป้าหมาย และวิธีการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายที่อ้างความดีเช่นนี้ ทำให้ฝ่ายที่อ้างความดีเช่นนี้มีอำนาจตัดสินถูก-ผิดได้ทุกเรื่อง

เช่น ตัดสินว่ากลุ่มคนพวกไหนเป็นพวกฉลาด เป็นพวกโง่ พวกฉลาดมีความชอบธรรมในการประท้วงมากกว่าพวกโง่ 1 เสียงของพวกฉลาดมีค่ามากกว่า 1 เสียงของพวกโง่ พวกฉลาดเป็นม็อบอุดมการณ์ พวกโง่เป็นม็อบรับจ้าง หรือกระทั่งสั่งปลดรัฐมนตรี ผบ.เหล่าทัพ ผบ.สนง.ตำรวจแห่งชาติทางทีวี ฯลฯ

ที่น่าสยดสยอง (ยิ่งกว่าน่ากลัวอีก) ก็คืออำนาจของพื้นที่ศีลธรรมในนามของ ความดีคลาสสิกดังกล่าว มันยังให้ความชอบธรรมกับการเรียกร้องการใช้กำลังทหารหรือการใช้รัฐประหารแก้ปัญหาการเมือง และยังให้ความชอบธรรมกับข้อเสนอมหัศจรรย์พันลึก

เช่น ถ้านักการเมืองทุจริตให้ทหารทำรัฐประหารได้ พระมหากษัตริย์เป็นจอมทัพไทย การแต่งตั้ง ผบ.เหล่าทัพต้องให้เป็น พระราชอำนาจเท่านั้น เป็นต้น ซ้ำยังให้ความชอบธรรมกับการกดข่มฝ่ายตรงกันข้ามให้กลายเป็น คนอื่นซึ่งไม่ใช่คนไทย ไม่จงรักภักดี ผู้ทำลายชาติ กระทั่งเป็นสัตว์เดียรัจฉาน ปีศาจ สัตว์นรก และให้ความชอบธรรมกับการเสียดเย้ยฝ่ายที่สามที่สี่หรือใครก็ตามที่เห็นต่างจากฝ่ายตนให้เป็นเพียงพวกตัวตลกหรือมี ความคิดที่น่าตลกขบขัน

อำนาจของพื้นที่ศีลธรรมดังกล่าว จึงทำให้หยุดการใช้เหตุผลในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบตนเอง และการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบฝ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะการใช้เหตุผลในการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายซึ่งเป็นธรรมชาติของสังคมการเมืองยุคปัจจุบันและอนาคต

การท้าทายการครอบงำของอำนาจทั้งสองและทางเลือก
ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระยะ 3-4 ปีมานี้ อำนาจพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และอำนาจพื้นที่ศีลธรรม (ในนามความดีคลาสสิก”) ถูกตั้งคำถามหรือถูกท้าทายด้วยการใช้เหตุผลมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า อำนาจทั้งสองไม่สามารถสยบการใช้เหตุผลของประชาชนผู้รักเสรีภาพได้จริง ในอดีตการปิดกั้นการแสดงออกอย่างเปิดเผยทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี อาจได้ผล แต่ในปัจจุบันสื่อในโลกอินเทอร์เน็ตไม่อาจปิดกั้นอย่างได้ผล ดังนั้น การทำให้การใช้เหตุผลสะดุดหยุดลงโดยการใช้อำนาจพื้นที่ศักดิสิทธิ์และอำนาจพื้นที่ศีลธรรม จึงไม่ได้ผลอีกต่อไป

ทางเลือกที่ควรจะดีแก่ทุกฝ่ายและสังคมประชาธิปไตยไทย คือ สังคมควรร่วมกันคิดหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันด้วยเหตุผลบนเวทีสาธารณะต่างๆ เพื่อหาทางทำให้อำนาจพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และอำนาจพื้นที่ศีลธรรมปรับตัวให้ดำรงอยู่ได้อย่างน่านับถือ ภายใต้ระบบโครงสร้างและวัฒนธรรมที่มีหลักประกันเสรีภาพในการพูดความจริง การแสดงความคิดเห็น และการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบกันและกันอย่างมนุษย์ที่มีความเป็นมนุษย์เสมอภาคกัน