ที่มา Thai E-News
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
ที่มา Media Monitor
22 พฤษภาคม 2552
สื่อลืมเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่ตัวเองยืนอยู่ข้างประชาชนแล้วรายงานสิ่งที่รัฐ หรือทหารทำกับประชาชน แต่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคราวสงกรานต์ปีนี้ สื่อเลือกที่จะไปยืนอยู่ฝ่ายทหารแล้วหันมุมกล้อง ไปในทิศทางเดียวกันกับกระบอกปืน
นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor)นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “ฟรีทีวีกับการรายงานข่าว การชุมนุมทางการเมือง ระหว่างวันที่ 8-14 เมษายน 2552” ในการประชุมใหญ่วิชาการวิชาชีพสื่อสารมวลชนระดับชาติ เมื่อวันที่ 16 - 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา
โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจว่า ฟรีทีวีทุกช่องให้พื้นที่เสียงแก่ฝ่ายรัฐบาลมากกว่าฝ่ายนปช. ผลการศึกษาครั้งนี้จึงเสนอแนะให้ สื่อฟรีทีวีทั้งหมด ควรวางตนเป็นกลาง ปราศจากอคติ ไม่มีความลำเอียง ไม่ฝักใฝฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ นำเสนอเฉพาะข้อเท็จจริงของข่าวอย่างรอบด้าน หลากหลาย และเป็นธรรม ไม่ควรชี้นำความคิดของผู้ชมให้ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งโดยเฉพาะ ( อ่านรายละเอียดที่ข่าว ผลวิจัยตอกย้ำทีวีทุกช่องเสนอข่าวสงกรานต์เลือดอคติเอียงข้างรัฐบาล )
นายธีระพล อันมัย สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าววิจารณ์ผลงานศึกษาวิจัยข้างต้น ว่า สื่อทำหน้าที่เพียงแค่รายงานข่าวไม่ต่างจากอาชญากรรม สื่อสนใจเพียงแค่เหตุการณ์ความรุนแรง แต่ไม่ได้บอกสังคมว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมคนเสื้อแดงจึงมาชุมนุม ในขณะที่ผู้ชุมนุมจำนวนมากอยู่ในความสงบ แต่มีกลุ่มหนึ่งออกมาสร้างความวุ่นวาย สื่อเลือกที่จะโฟกัสเฉพาะภาพความรุนแรงเท่านั้น เสียงที่หายไปคืออะไร ภาพที่หายไปคืออะไร เป็นคำถามที่ต้องตอบให้ได้ คนอีสานดูข่าวแล้วรู้สึกแย่เพราะเขาถูกนำเสนอด้วยตัวแทนของภาพความรุนแรง ทั้งที่คนจำนวนมากมาด้วยเจตนาบริสุทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
“สื่อลืมเหตุการณ์พฤษภาฯ ทมิฬที่ตัวเองยืนอยู่ข้างประชาชนแล้วรายงานสิ่งที่รัฐ หรือทหารทำกับประชาชน แต่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสื่อเลือกที่จะไปยืนอยู่ฝ่ายทหารแล้วหันมุมกล้อง ไปในทิศทางเดียวกันกับกระบอกปืน"
กรณีที่สื่อบอกว่า กลุ่มเสื้อแดงไม่รับรองความปลอดภัยจึงออกจากที่ชุมนุมแล้วรายงานเรื่องราว ของเสื้อแดงน้อยลงนั้น ต้องถามกลับไปว่า ในเมื่อสื่อทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาแล้วยังต้องกลัวอะไร คุณกลัวชาวบ้านที่ไม่มีอาวุธ แล้วเลือกไปยืนอยู่ข้างหลังทหารเพราะเชื่อว่าปลอดภัยหรือ นั่นแสดงว่าคุณเชื่อว่าอยู่กับชาวบ้านไม่ปลอดภัยตั้งแต่แรก สื่อเลือกโฟกัสไปที่ความรุนแรง แต่ไม่ได้โฟกัสไปที่หัวใจของคนอีกจำนวนมากที่มาด้วยเจตนาบริสุทธิ์” นายธีระพล กล่าว
รศ.ดร.พีระ จิรโสภณ นักวิชาการอิสระ อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว ว่า วิธีการทำข่าวแบบจับคู่ความขัดแย้งนั้นต้องพิจารณาให้ดี เพราะปัญหาความขัดแย้งของสังคมไม่เหมือนเรื่องบนเวทีมวยที่มีเพียงฝ่ายแดง และน้ำเงินเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ ขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสังเกตว่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านมานอกจากเสียงของฝ่ายที่สามมีน้อยแล้ว ในจำนวนที่มีอยู่ยังเป็นนักวิชาการจากส่วนกลางเท่านั้น
“เหตุการณ์ที่ผ่านมาพบว่า เสียงของนักวิชาการในส่วนภูมิภาคหายไป รายงานข่าวกลายเป็นเรื่องรัฐใช้ความรุนแรงหรือไม่ ทหารใช้กระสุนจริงหรือปลอม ซึ่งไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สื่อต้องเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าว และต้องรายงานข่าวไปตามข้อเท็จจริง รอบด้าน ไม่ปล่อยให้ตัวเองตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด” รศ.ดร.พีระ กล่าว
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพื้นที่ข่าวของ นปช. และรัฐบาลว่า ช่วงก่อนเหตุการณ์รุนแรงนั้น พื้นที่ข่าวของ นปช. มากกว่า แต่หลังจากประกาศ พรก.ฉุกเฉิน รัฐบาลสามารถชิงพื้นที่ข่าวในโทรทัศน์ได้มากกว่า ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวแม้ไม่พบข้อมูลว่าเกิดจากการแทรกของรัฐ โดยรัฐเพียงแต่บอกว่าขอความร่วมมือ แต่จากประสบการณ์ของคนที่เป็นผู้บริหารโทรทัศน์นั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ มักจะมีความระมัดระวังในการรายงานข่าวเป็นพิเศษ
“การรายงานข่าวของสื่อนั้น หากพิจารณาแล้วพบว่าเรื่องใดเป็นความจริงหรือมีข้อมูลที่น่าสนใจ ก็มีโอกาสที่จะรายงานเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากกว่าอยู่แล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญคือ ตัวผู้ชุมนุมเองที่ออกมาประกาศว่า ไม่รับรองความปลอดภัยกับสื่อมวลชน ก็เลยทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ แม้ในช่วงหลังจะมีแกนนำ นปช. ขอให้สมาคมนักข่าวฯ ส่งผู้สื่อข่าวลงไปในพื้นที่ชุมนุม แต่ในเวลานั้นสื่อไม่มีใครกล้าเข้าไปแล้ว”
สำหรับกรณีการนำเสนอภาพความรุนแรงนั้น นายประสงค์ กล่าวว่า เป็นธรรมชาติของสื่อที่ต้องนำเสนอภาพเหตุการณ์รุนแรง ความขัดแย้ง เพราะคนชอบดูสิ่งเหล่านี้ ซึ่งอธิบายได้ด้วยทฤษฎีจิตวิทยามวลชน แต่การรายงานข่าวต้องอธิบายที่มาที่ไป หรือส่วนลึกของเหตุการณ์ว่าเป็นอย่างไร
ส่วนกรณีการรายงานข่าวโดยจับคู่ความขัดแย้งนั้น นายประสงค์ กล่าว ว่า สาเหตุที่ไม่ปรากฏส่วนของนักวิชาการ หรือบุคคลที่สามในการรายงานข่าวนั้น เนื่องจากสื่อไม่ได้มีนักวิชาการให้เลือกมากนัก เพราะนักวิชาการหลายท่านต่างมีความคิดทางการเมืองเป็นของตัวเอง และตนรู้สึกว่านักวิชาการเหล่านั้นเอนเอียงไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง การสัมภาษณ์บุคคลที่ไม่ได้มีความเป็นกลาง รวมถึงประชาชนที่ไม่ได้มีบทบาทในสถานการณ์จึงไม่เกิดประโยชน์มากนัก
นายประสงค์ กล่าวอีกว่า ในสถานการณ์ดังกล่าวสื่อโทรทัศน์ตอบสนองช้าไปในเรื่องของการรายงานเหตุการณ์ รุนแรง และไม่ได้ให้พื้นที่มากพอ ซึ่งเข้าใจได้ว่าการปรับผังรายการเพื่อเกาะติดสถานการณ์นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องของกอง บก.ข่าว เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องของเจ้าของสถานีโทรทัศน์ ฝ่ายรายการ ที่จะมาตัดสินใจร่วมกัน อีกทั้งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นวันหยุดยาว และคาดว่าเหตุการณ์จะสงบแล้ว ทำให้นักข่าวหรือบุคลากรด้านสื่อหายไปกว่าครึ่ง การรายงานข่าวเกาะติดสถานการณ์จึงยังไม่ดีพอ สังเกตได้จากนักข่าวยังตื่นเต้นขณะรายงานข่าว
“นักข่าวต้องหัดตั้งคำถาม ไม่ใช่ปล่อยให้แหล่งข่าวพูดอะไรก็ได้ สื่อต้องทำหน้าที่นายประตูข่าวสาร ไม่ใช่นายไปรษณีย์ที่ทำหน้าที่รับข้อมูลอะไรมาแล้วก็เสนอออกมา ขณะเดียวกันประชาชนต้องดูข่าวด้วยความระมัดระวัง ใช้วิจารณญาณของตัวเอง และรับชมข่าวให้หลากหลายมากขึ้น” นายประสงค์ กล่าว