ที่มา ไทยรัฐ
นิติภูมิ นวรัตน์
ไปบรรยายที่ไหน คำถามของท่านผู้ฟังส่วนใหญ่
แตกต่างจากคำถามเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมามาก
คำถามเดี๋ยวนี้มีแต่ความดุดัน แดกดัน
ต้องการฟาดฟันพวกของสีตรงข้ามอย่างขาดสติ
นั่งนึกถึงความเป็นไปของผู้คนชนในชาติแล้วก็ให้เสียดายมาก
แทนที่จะเป็นชาติพุ่งกระฉูดส่งตูดจัมโบ้เหมือนในอดีต
เรากลับเป็นชาติที่มีสองบุคลิกภาพ บุคลิกภาพแรก
ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศหงอยเหงาเศร้าใจ
ไม่รู้อนาคตของตนและครอบครัวว่าจะเป็นเช่นใด บุคลิกภาพที่สองคือ
ความก้าวร้าวรุนแรง ขาดสติ
คำถามที่นิติภูมิได้รับจากการออกไปบรรยายซึ่งถามถี่มากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ
ในอนาคตจะเอาผู้นำที่ฆ่าประชาชนคนบริสุทธิ์มารับโทษได้อย่างไร?
ผมให้ความเห็นว่า
ขณะที่ผู้กระทำมีอำนาจบาตรใหญ่ ท่านทำอะไรไม่ได้มาก
อย่าดิ้นรนไปให้เสียเวลา
การดิ้นรนจะยิ่งนำทำความแตกแยกภายในชาติของเราให้มีมากขึ้น รุนแรงขึ้น
หากต้องการทวงถามตามความยุติธรรมให้ผู้ตายวายชนม์
กรุณาอย่าไปตะโกนปาวๆ หรือทำบ้าบอคอแตกอะไร วิธีที่ดีที่สุดก็คือ
รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆไว้ให้ได้มากเท่าที่จะมากได้
เมื่อคณะผู้นำชุดนี้ไม่มีอำนาจแล้ว
ท่านถึงค่อยไปใช้วิธีเดียวกับที่มีการจัดการกับอดีตประธานาธิบดี สลอบอดัน มีโลเซวิช
ต่อไปภายหน้า รัฐบาลใหม่อาจจะนำหลักฐาน
ไปฟ้องร้องอดีตผู้นำของไทยต่อศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ
ในความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อประชาชนในดินแดนของราชอาณาจักรไทย
แทนที่ท่านจะไปตะโกนเย้วๆ ปาวๆ
ผมว่า ท่านน่าจะสงบ และตั้งกลุ่มศึกษาความเป็นไปได้
ในการฟ้องร้องของ
คดีสังหารหมู่
คดีการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
คดีทำร้ายพลเรือน ฯลฯ อะไรพวกนี้จะดีกว่า
ท่านควรจะตั้งทีมศึกษากรณีที่
นายแพทย์ ราโดแวน คาราดซิค อดีตประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเซอร์เบีย
โดนศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศฟ้องเมื่อ 24 กรกฎาคม 2538
ในฐานะผู้นำที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อการฆ่าคนมุสลิมจำนวนมากในบอสเนีย
ในวันเวลานาทีเดียวกันกับที่ฟ้องนายแพทย์คาราดซิค
ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศก็ฟ้อง
นายแรทโค มลาดิค อดีตผู้บัญชาการกองกำลังบอสเนีย-เซิร์บ
ผู้ต้องมีความรับผิดชอบต่อการฆ่าประชาชนที่เมืองซรีเบร็นนิกาด้วย
หน้าที่ที่จะชี้ว่า ผู้นำประเทศคนใดคนหนึ่ง หรือคณะผู้นำประเทศคณะใดคณะหนึ่ง
มีความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อประชาชนในดินแดนของตนเองนั้นหรือไม่
เป็นเรื่องของศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ ที่เรียกกันว่า
International Criminal Court หรือ ICC
โดยศาลจะเป็นฝ่ายพิจารณาในเบื้องต้นว่า
อ้า กรณีนี้เป็น Crime against humanity
หรือเป็นการก่ออาชญากรรมต่อความเป็นมนุษย์หรือเปล่า
ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศอาจจะพิจารณาว่า
การฆ่ากันที่ผ่านมาเป็นเรื่องภายในของราชอาณาจักรไทย
ที่สาธารณประเทศไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวดองหนองยุ่งด้วยได้
และศาลก็อาจจะถือว่า การสลายการชุมนุม
โดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในประเทศต่างๆทั่วโลก
ก็อาจจะเป็นไปได้
ย้อนกลับไปในกรณีของนายสลอบอดัน มีโลเซวิช เมื่อหมดบารมี หมดอำนาจแล้ว
แกก็ถูกรัฐบาลเซอร์เบียสั่งให้คุมตัวและเอาไปขังไว้เมื่อ 1 เมษายน 2544
เพื่อรอการดำเนินคดี ภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือน
ก็มีการส่งตัวแกไปขังไว้ในห้องขนาด 3 คูณ 5 เมตร
ที่ศาลอาชญากรรมสงครามระหว่างประเทศ
แกโดนส่งไปขึ้นศาลในครั้งนี้ด้วยข้อหาที่ว่า
กองทัพเซอร์เบียฆ่าคนตายในระหว่างความขัดแย้งที่เมืองโคโซโว
ในขณะที่แกเป็นประธานาธิบดี และบั้นปลายท้ายต่อมา
ก็มีคดีที่ฟ้องร้องแกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึง 66 คดี
โดยแต่ละคดีมีโทษจำคุกตลอดชีวิตทั้งนั้น
ยังไม่ทันมีการพิจารณาคดี
มีโลเซวิชก็ตายกลายเป็นผีอยู่ในคุกด้วยอาการหัวใจล้มเหลว
วันที่เอาศพของมีโลเซวิชไปฝังในแผ่นดินเซอร์เบีย ไม่มีเงาของเมียและลูก
เพราะขืนโผล่มาเมื่อไร รัฐบาลใหม่ของเซอร์เบียจะจับทันที
ยังมีผู้นำอีกมากมายหลายคนที่ก่อกรรมทำเข็ญไว้ในระหว่างมีอำนาจ
เมื่อหมดอำนาจแล้ว ก็ไม่สามารถเดินลงไปใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดาสามัญได้
อย่างนายกรัฐมนตรีผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำในห้วงช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรง
หมดอำนาจลงเมื่อใด
ท่านคงจะไปเดินดินกินข้าวแกงข้างทางอย่างเมื่อก่อนนั้นคงลำบาก
บางคนโมโหโกรธาประกาศว่า
ไม่อยากอยู่ร่วมประเทศกับพวกสองมาตรฐานอีก
ผมขอเรียนถามท่านว่า ถ้าไม่อยู่ด้วยกันแล้ว ท่านจะทำยังไง?
แบ่งแผ่นดินออกไปตั้งเป็นประเทศใหม่หรือ?
ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้คงไม่ยอมแน่
ผมต้องตอบคำถามเรื่องแยกประเทศนี่บ่อยๆ
โดยผมตอบว่าเป็นไปไม่ได้เลย ประเทศเล็ก ชาติน้อยนั้น
ขาดอำนาจในการต่อรองในเวทีระหว่างประเทศ
สู้อยู่กันเป็นปึกแผ่นแน่นแฟ้น เป็นชาติขนาดใหญ่อย่างนี้ดีกว่า
ส่วนปัญหาที่เกิด ก็ต้องช่วยกันแก้
แก้ไขให้ความยุติธรรมอุบัติขึ้นในแผ่นดินไทยให้จงได้.