ที่มา บางกอกทูเดย์
‘ฉีกบัตร’ให้รู้แล้วรู้รอด!
“ในอดีตการเมืองในธรรมศาสตร์เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศ...
แต่ปัจจุบันการเมืองในธรรมศาสตร์เป็นภาพจำลอง
(ที่แสดงให้เห็นถึงความเน่าเฟะ) ของการเมืองระดับประเทศ”
นี่คือคำพูดของ “อ.วีรวิทย์ เศรษฐวงศ์” อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์
ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กระแทกโดนใจ
เหล่าคณะอาจารย์รวมถึงผู้สื่อข่าว
ซึ่งไปร่วมงานการสรรหา “อธิการบดีมหาวิทยาลัย” เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา
สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามที่ทุกคนอยากรู้และต้องการคำตอบว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับ
“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” โดยเฉพาะ “การเมืองภายใน”
ซึ่งถอดแบบมาจากการเมืองสนามใหญ่ที่ทุกคนหวังเพียงตำแหน่งและหน้าที่...
ใช้ “ระบบอุปถัมภ์” เอาพวกเอาพ้อง ไม่สนใจสิทธิและเสียงเลือกตั้งของคนส่วนใหญ่
โดยบรรยากาศบริเวณชั้น 1 ของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต)
ที่ใช้เป็นสถานที่ “หย่อนบัตร” ลงคะแนนสรรหาอธิการบดี เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา...
บรรยากาศโดยรอบต้องบอกว่าเป็นไปด้วยความเงียบเหงาอย่างมาก...
เพราะมีอาจารย์มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนบางตา...ทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจว่า
นี่หรือคือการให้ความสำคัญของการสรรหาอธิการบดี?
แต่จากการสอบถามเหตุผลของอาจารย์บางท่านทำให้ทราบว่า...
การที่อาจารย์ท่านอื่นๆ ไม่ได้มาลงคะแนน เป็นเพราะพวกเขารู้ดีว่า
เสียงของตนนั้น “ไร้ความหมาย” เพราะกระบวนการสรรหาอธิการบดี กำลังจะเป็นเพียง
พิธีกรรมที่ทำให้เสร็จๆ ไปตามขั้นตอนที่ข้อบังคับกำหนด
ส่วนบุคลากรจะออกไปหย่อนบัตรเสนอชื่อใครก็ไม่มีความหมายอะไร
เพราะท้ายที่สุดใครจะได้เป็นอธิการบดีมหวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก็ขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัยจะกำหนด...
และเวลาที่ผ่านมาร่วม 10 ปี กลุ่มคนเหล่านั้นก็ได้มีการ “ล็อก” หรือ “ล็อบบี้”
ผู้ที่จะขึ้นมาเป็น “อธิการบดี” ไว้เป็นที่เรียบร้อย...
โดยเฉพาะการ “กลับเสียง” ของประชาคม ซึ่งตั้งใจเลือกคนๆ นั้นขึ้นมา...
และผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้ก็คือ การถูกคนเพียงไม่กี่คนมานั่งสุมหัวและชี้นิ้วสั่ง
นี่คือ “วงจรอุบาทว์” ที่เกิดขึ้นจริงภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...
โดยเฉพาะคนกลุ่มคนเหล่านั้นสามารถชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ “ผมจะเอาคนนี้...
ก็ต้องได้คนนี้” ในเมื่อเป็นเช่นนั้น...แล้วการเลือกตั้งจะมีความหมายอะไร?
เพราะนี่คือการปกครองที่อยู่ภายใต้ “อำนาจอันไม่ชอบธรรม” ของคณะบุคคล
“อ.วีรวิทย์ เศรษฐวงศ์” ท่านเป็นอาจารย์คนหนึ่งที่รู้สึกอึดอัดกับการกระทำ
“ซิกแซ็ก” มาเหนือเมฆของกลุ่มคนเหล่านั้น...
ซึ่งท่านก็อยากเห็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เดินไปในทิศทางใหม่ เปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่...
ไม่ติดอยู่กับสีใดสีหนึ่ง...ไม่ผูกใจเจ็บกับใครคนใดคนหนึ่ง...
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่คู่ควรกับการเป็น “มหาวิทยาลัย”
ในการสั่งสอนเยาวชนให้คิดอ่านเป็นในอนาคต
“อ.วีรวิทย์” ได้มาทำหน้าที่ลงคะแนนสรรหาอธิบดี...
เพียงแต่ก่อนหย่อนบัตรลงคะแนนครั้งนี้ ท่านได้ “ฉีกบัตรทิ้ง” ต่อหน้า
คณะอาจารย์และสื่อมวลชน เพื่อต้องการบอกให้ทุนคนรับรู้ว่า
“ผมไม่เห็นด้วย” กับความคิดและการกระทำของคณะบุคคลเหล่านั้น
จากการให้สัมภาษณ์ของ “อ.วีรวิทย์” ทำให้ทราบว่า...
ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ค่อนข้าง Take Side หรือ
“เลือกข้าง - แบ่งสี” กันอย่างชัดเจน...ทุกคนอยากต่อสู้และเอาชนะ...
แต่มันจะมีค่าอะไร
ในเมื่อสุดท้าย “ธรรมศาสตร์” ต้องพ่ายแพ้ย่อยยับ “ประเทศชาติ” ต้องพ่ายแพ้ย่อยยับ
ที่ผ่านมา...
การใช้อำนาจของเสียงส่วนน้อยที่เข้ามา “ข่มเหงรังแก” เสียงคนส่วนใหญ่
ได้เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาร่วมนับสิบปี...
แต่การสรรหาเลือกตั้ง “อธิการบดี”
ปีนี้ได้มีอาจารย์ซึ่งไม่พอใจทำการ “ฉีกบัตรเลือกตั้ง” เป็นครั้งแรก...
เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า “ธรรมศาสตร์”
มิใช้ผู้ส่งเสริมทางความคิดด้านประชาธิปไตยอีกต่อไป
มันเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่งที่ประเทศของเราเปลี่ยนแปลงไปได้มากถึงเพียงนี้...
ไม่เว้นแม้แต่ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”
ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญทางการเมืองของไทยมาโดยตลอด
โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสังคมไทย...
แต่วันนี้ทำไมกลับเปลี่ยนใจมาอยู่ใต้ “อุ้งเท้าเผด็จการ” ไร้จิตวิญญาณความมี “ประชาธิปไตย”
แต่เรื่องดังกล่าวคงจะไปกล่าวหาหรือเหมารวม “บุคลากร”
ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งหมดคงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง...
เพราะเรื่องราว “ฉาวโฉ่” ที่เกิดขึ้น...
เกิดขึ้นจากการกระทำของเผด็จการคณะบุคคลเพียงไม่กี่คน...
แต่การกระทำของคนเหล่านั้นกลับสร้างความเสื่อมเสีย
ให้กับสถาบัน “เหลือง – แดง” เป็นอย่างยิ่ง
“เหลือง - แดง” คือสีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...
ซึ่งผู้บริหารต้องน้อมรับทุกสี...มิใช่แบ่งแยกสีใดสีหนึ่ง
เพราะหน้าที่สำคัญของสถานศึกษาในการประสิทธิ์ประศาสตร์วิชาความรู้ให้แก่เยาวชน...
นั่นคือ การทำให้อนาคตของชาตินั้นคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น...
โดยไม่มีอคติส่วนตัวอันใดเข้าไปรบกวน...
ซึ่งต้องถามว่า...
การกระทำของคณะบุคคลที่กุมอำนาจในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกวันนี้...
เป็นเช่นนั้นหรือไม่?