WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, January 23, 2011

ติ่งหูนักล่าแม่มดควรอ่าน

ที่มา thaifreenews

โดย อามูโระ

จากเว็บนิติราษฎร์ โดย จันทร์จิรา เอี่ยมมยุรา

อ้างถึง
ระยะหลังๆ เราได้ยินได้ฟังเรื่องทำนองต่อไปนี้บ่อยๆ ใช่ไหม เช่นว่า “แพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ บางคนออกมาระบุว่าจะไม่รักษาคนไข้ตำรวจ (อันเนื่องมาจากการสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑)” หรือ “กัปตันและแอร์โฮสเตสการบินไทยบางคนปฏิเสธไม่รับ ๓ สส. พปช.ขึ้นเครื่อง” หรือ “ ม.ศิลปากรตัดสิทธิ “ก้านธูป” เรียนคณะอักษรศาสตร์ เนื่องจากมีประวัติหมิ่นสถาบันเบื้องสูง” และ “องอาจ ปัด รัฐบาลกดดันทรู ปลด มาร์ค V11” ฯลฯ

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงข่าวคราวที่การ์ดเสื้อแดงถูกฆ่าตายโดยมีความสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ รวมตลอดไปจนถึงการจับกุม คุมขัง การดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในความมีอคติ เลือกปฏิบัติ กระทำโดยไม่เป็นธรรม กลั่นแกล้งต่างๆ นานา หรือแม้กระทั่งข่าวคราวที่หลุดลอดออกมาว่าบรรดาทหารแตงโมตำรวจมะเขือเทศถูกตรวจสอบประวัติอย่างละเอียดยิบ หากเจ้านายสงสัยว่ามีความเกี่ยวดองสัมพันธ์กับพวกเสื้อแดงไม่ว่าทางใด เป็นถูกแขวนถูกดอง อนาคตมืดมนแน่นอน

ในฐานะนักกฎหมายเมื่ออ่านข่าวลักษณะนี้จบลง ผู้เขียนเห็นว่ามีข้อสังเกตอย่างน้อย ๒ ประการที่ควรกล่าวถึง ประการแรก คือ ผู้ที่ปฏิเสธการให้บริการหรือผู้ใช้อำนาจกระทำในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประการที่สอง ผู้ที่ถูกกระทำได้แสดงออกถึงทัศนะทางการเมืองของตน หรือเป็นนักการเมือง หรือ (ในกรณีตำรวจ) เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานของรัฐบาลจากพรรคการเมืองที่เจ้าหน้าที่ของรัฐคนนั้นมุ่งต่อต้าน ทั้งๆ ที่ในบางกรณี อย่างกรณีของก้านธูปและมาร์ค V11 นี้เป็นเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของเยาวชนไทยธรรมดาๆ สองคน และเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น

ถ้าเราพิจารณาปรากฏการณ์เหล่านี้ในภาพรวม เราเห็นอะไร.....

สำหรับผู้เขียน เห็นสภาวะที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เพราะมีการกดดันคุมคามอย่างหนักต่อผู้ที่พูดแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม หลากหลายรูปแบบวิธีการ แต่ถ้าคนที่กดดันเป็นประชาชนคนธรรมดาด้วยกันนั่นก็เรื่องหนึ่ง แม้ว่าวิธีการจะมีลักษณะกระทำเป็นขบวนการก็ตาม เช่น ลัทธิล่าแม่มด แต่นั่นก็ไม่มีน้ำหนักที่เราจะต้องให้ความสำคัญมากนัก

ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การกดดันคุกคามการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐมากกว่า เพราะว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้วางกฎ ตีความกฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย ให้บริการสาธารณะต่างๆ หรือแม้แต่พิพากษาตัดสินคดีให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่คนที่แสดงความคิดเห็นได้ ในกรณีเช่นนี้หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจรักษาความเป็นกลางในทางการเมืองไว้ให้มั่นคง กลับปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรักคนกลุ่มนี้ โกรธเกลียดคนกลุ่มนั้น หรือหลงไปด้วยแรงจูงใจใดๆ ก็แล้วแต่ สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็จะอยู่ในอันตรายมากทีเดียว

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่ต่อยอดมาจากเสรีภาพในการคิดของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นเสรีภาพตามธรรมชาติ เพราะมนุษย์ย่อมมีความรู้สึกนึกคิดอยู่ตลอดเวลาตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ เสรีภาพในการคิดเป็น “เสรีภาพที่อยู่ภายในและใช้กับตัวเอง” จึงเป็นเสรีภาพที่มนุษย์มีโดยบริบูรณ์ มีสถานะสูงกว่าสิทธิเสรีภาพที่พลเมืองได้มาตามกฎหมายบ้านเมือง รัฐไม่อาจบังคับควบคุมหรือจำกัดเสรีภาพในการคิดได้ ขณะที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็น “เสรีภาพที่แสดงออกภายนอกและแสดงต่อผู้อื่น” กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นวิถีทางในการแสดงออกซึ่งความนึกคิดของคน ไม่ว่าโดยการพูด การเขียน การพิมพ์ การชุมนุมประท้วง หรือโดยวิธีอื่น จึงมีโอกาสไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นหรือสังคมได้ จึงเป็นเสรีภาพที่รัฐอาจจำกัดได้เพื่อความมั่นคงของรัฐหรือประโยชน์สาธารณะที่สำคัญกว่า หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น

การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ในรัฐเสรีประชาธิปไตย แม้ว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะถูกจำกัดได้โดยรัฐ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจใช้ดุลพินิจได้ตามอำเภอใจว่าจะจำกัดหรือไม่จำกัดการแสดงความคิดเห็นของผู้คน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้รับความคุ้มครองทั้งโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย1 และโดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ.19482 (Universal Declaration of Human Rights,1948) การให้ความคุ้มครองปรากฏโดยการตรากฎหมายกำหนดโทษทางอาญา และ การห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเลือกปฏิบัติ หลักทั้งสองประการนี้ล้วนผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับและปฏิบัติตามกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง

ผู้เขียนเห็นว่าในยุคสมัยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่ากระทำนอกเหนืออำนาจ กระทำโดยไม่ถูกต้อง หรือเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม จำเป็นต้องนำเอาหลักทั้งสองประการนี้มาคุยกับท่านผู้อ่านอีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องปรามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยสาเหตุเช่นนี้ได้เรื่อยไป

1. การตรากฎหมายกำหนดโทษทางอาญา ในรัฐประชาธิปไตย การสื่อสารถึงกันได้โดยอิสระซึ่งความคิดเห็นของบุคคลถือเป็นคุณค่าสูงสุดประการหนึ่งของมนุษย์ ดังนั้น บุคคลย่อมต้องสามารถแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องต่าง ๆ ได้โดยไม่จำต้องเกรงกลัวว่าจะถูกลงโทษอาญา ในกรณีนี้รัฐสภาจะถูกห้ามไม่ให้ตรากฎหมายเอาผิดและลงโทษอาญาแก่ผู้แสดงความคิดเห็น เว้นแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริตและเป็นกรณีที่มีกฎหมายห้ามไว้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายเช่นว่านี้จะต้องสอดคล้องกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยและไม่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วน เช่นว่า รัฐสภาจะบัญญัติในกฎหมายให้ใช้กระบวนวิธีพิจารณาความที่รวบรัดตัดความ หรือกำหนดบทลงโทษผู้แสดงความคิดเห็นที่รุนแรงเกินไปจนไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำที่เป็นความผิดไม่ได้ นอกจากนั้น ศาลจะถูกห้ามมิให้ลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยโทษที่รุนแรงเพื่อกำราบผู้นั้นหรือคนอื่น ๆ ให้เกรงกลัวมิกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นต่อไปในอนาคต การตรากฎหมายหรือคำพิพากษาลักษณะนี้ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญของรัฐประชาธิปไตย

เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสยุคสาธารณรัฐที่ 3 (1870 ถึง 1940) ซึ่งรัฐสภาได้ตรากฎหมายออกมาจำนวนหนึ่งระหว่างปี ค.ศ.1893-1894 เรียกว่า “Lois scélérates” เพื่อทำหน้าที่ปราบปรามการเผยแพร่ความคิดทางการเมืองและการต่อสู้ของขบวนการทางการเมืองฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ชื่อว่า “Le mouvement anarchiste” ปัจจุบันคำว่า Lois scélérates กลายเป็นชื่อเรียกกฎหมายที่มีเนื้อหาเผด็จการ

ในประเทศไทย กฎหมายที่อาจยกขึ้นเป็นตัวอย่างประกอบประเด็นนี้ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือที่สื่อมวลชนเรียกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กฎหมายมาตรานี้ได้ถูกแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 โดยกำหนดข้อยกเว้นความรับผิดฐานดูหมิ่นกษัตริย์ รัฐบาล และข้าราชการไว้ว่า ถ้าผู้แสดงความคิดเห็นได้กระทำไปภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด หมายความว่า การแสดงความคิดเห็นซึ่งอาจจะเป็นการดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์หรือต่อรัฐบาล ถ้าได้กระทำไปภายใต้เจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นการกระทำที่สามารถกระทำได้ ไม่เป็นความผิด บทบัญญัติของกฎหมายแบบนี้ถือว่าสอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบอบการปกครองของไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองบ้านเมือง3

แต่กฎหมายมาตรานี้ได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบถอยหลังเข้าคลองสองครั้งภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของคณะราษฎร์ในปี พ.ศ.2490 ครั้งแรกในปี พ.ศ.2499 ได้ตัดเอาข้อยกเว้นดังกล่าวทิ้งไปพร้อมกับโทษปรับ คงเหลือแต่โทษจำคุก เป็นอันว่าการกระทำที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นกษัตริย์หรือรัฐบาล แม้จะเป็นการกระทำที่เป็นไปภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้รับข้อยกเว้น และครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2519 โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินกำหนดโทษจำคุกในมาตรานี้ให้สูงขึ้นจากเดิมไม่เกิน 7 ปี เปลี่ยนให้เป็นโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี จนถึงทุกวันนี้

ขณะเดียวกัน ศาลยุติธรรมก็มีแนวโน้มลงโทษผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ด้วยโทษจำคุกในอัตราสูง ดังกรณีของนางบุญยืน ประเสริฐยิ่ง ศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุก 12 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุก 6 ปี (คดีหมายเลขแดงที่ อ.4308/2551) หรือกรณีนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล (ดา ตอร์ปิโด) ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 คดี ๆ ละ 6 ปี รวม 18 ปี ไม่ลดโทษ (คดีหมายเลขแดงที่ อ.2812/2552) ผู้ถูกลงโทษส่วนใหญ่มักได้รับคำแนะนำให้ยอมรับสารภาพเพื่อให้ได้ลดโทษและใช้วิธีถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษหลังจากคำพิพากษาถึงที่สุดเพื่อให้พ้นโทษโดยเร็ว

จะเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นี้ทั้งมีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย (การตัดข้อยกเว้นออก) และทั้งขัดกับหลักความได้สัดส่วน (กำหนดลักษณะโทษสูงเกินกว่าลักษณะความผิด) เราจะเรียกมาตรา 112 ว่า Lois scélérates เมืองไทยได้หรือไม่ แต่กระนั้นกฎหมายที่เลวก็อาจถูกจำกัดขอบเขตความชั่วร้ายไว้ได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความเที่ยงธรรม ปราศจากอคติในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

2. การห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเลือกปฏิบัติต่อบุคคลโดยเหตุความแตกต่างในความคิดเห็น หลักการข้อนี้มุ่งใช้บังคับกับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชนโดยตรง มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงรักษาความเป็นกลาง และเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน หลักการนี้มุ่งบังคับเหนือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ทุกระดับ ทุกหน่วยงาน ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ ที่จะต้องรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ไม่แบ่งแยกว่ามิตรว่าศัตรูด้วยสาเหตุความแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมืองระหว่างตัวเจ้าหน้าที่กับประชาชนและระหว่างประชาชนด้วยกัน

หน้าที่ไม่เลือกปฏิบัติโดยเหตุความแตกต่างในความคิดเห็น มีรากฐานมาจากหลักความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างบุคคลซึ่งได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ มุ่งบังคับใช้ในกรณีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่จัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน หน้าที่ไม่เลือกปฏิบัติกำหนดห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำเอาความคิดเห็นทางการเมืองหรือความเชื่อทางศาสนาของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้รับบริการสาธารณะมาเป็นเหตุให้มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลผู้นั้น ไม่ว่าในทางที่เป็นผลดีขึ้นหรือเลวร้ายลงกว่าการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามมาตรฐานปกติธรรมดา ในประเทศฝรั่งเศส ศาลปกครองสูงสุดฝรั่งเศสตีความข้อห้ามนี้รวมไปถึงการแสวงหาหรือเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อทราบถึงความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางความเชื่อทางศาสนาของบุคคลด้วย เช่น การออกแบบเอกสารให้ประชาชนต้องกรอกช่อง “ศาสนา” เป็นต้น4

โดยเหตุนี้แพทย์ของโรงพยาบาลรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือมหาวิทยาลัยของรัฐ ตลอดจนหน่วยงานให้บริการของรัฐทั้งหลาย ไม่สามารถปฏิเสธการให้บริการตามหน้าที่หรือตัดสิทธิประโยชน์อันพึงได้ของบุคคลด้วยเหตุผลว่าผู้นั้นได้แสดงทัศนะหรือแสดงออกโดยวิธีใด ๆ ซึ่งความเชื่อโดยสุจริตของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนะเกี่ยวกับการเมืองหรือความเชื่อ (ไม่เชื่อ) ในทางศาสนา หากฝ่าฝืนหลักการดังกล่าว การกระทำนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

มีคำถามที่สมควรพิจารณาในประการสุดท้ายว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือไม่ เพียงใด
ในที่นี้จะขอนำหลักกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสมาเป็นแนวทางเพื่อตอบคำถามนี้ ได้แก่ รัฐบัญญัติลงวันที่ 13 กรกฎาคม 1983 มาตรา 6 บัญญัติว่า “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมได้รับความคุ้มครอง” และเพื่อคุ้มครองเสรีภาพดังกล่าว มาตรา 18 ของกฎหมายฉบับเดียวกันได้บัญญัติห้ามมิให้ผู้บังคับบัญชาเก็บรวบรวมจัดทำข้อมูลใดๆ ไว้ในแฟ้มประวัติของเจ้าหน้าที่รัฐใต้การบังคับบัญชาที่สามารถบ่งชี้ถึงแนวความคิดของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นในทางการเมือง ทางปรัชญาความเชื่อ หรือทางศาสนา รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับ ค.ศ.1946 ให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการถูกกลั่นแกล้ง ถูกโยกย้าย หรือถูกกระทำให้เสียหายในหน้าที่การงานเพราะเหตุจากเชื้อชาติ การแสดงความคิดเห็นและการถือศาสนาของตน ทั้งผู้บังคับบัญชาไม่อาจสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแจ้งรายละเอียดเหล่านี้หากผู้นั้นไม่ยินยอม

เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ศาลปกครองสูงสุดของฝรั่งเศสทำหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชาในกรณีก้าวล่วงเข้าไปในแดนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 กรณี นั่นคือ กรณีการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งงานของรัฐ และกรณีการพักงาน การลงโทษทางวินัยข้ารัฐการ

การสอบคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งงานของรัฐอยู่ภายใต้หลักความเสมอภาคเท่าเทียมของบุคคลเช่นเดียวกัน บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับคัดเลือกให้ทำงานในหน่วยงานของรัฐอย่างเสมอภาคกัน หากรัฐจะเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้น ย่อมเป็นไปโดยเหตุผลเรื่องความรู้ความสามารถและคุณความดีของบุคคลเท่านั้น รัฐไม่อาจตัดสินให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้รับคัดเลือกให้ได้ตำแหน่งงานสาธารณะหรือไม่เพียงเพราะเหตุผลจากความคิดเห็นทางการเมือง ในกรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดฝรั่งเศสจะนำหลักการไม่เลือกปฏิบัติโดยเหตุจากความคิดเห็นที่กล่าวมาแล้วมาใช้บังคับอย่างเคร่งครัด ผู้เขียนเห็นว่าสามารถปรับใช้หลักความเสมอภาคนี้กับกรณีการไม่พิจารณาความดีความชอบหรือไม่เลื่อนตำแหน่งให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดคนหนึ่งด้วยเหตุผลทางความคิดเห็นทางการเมืองได้เช่นเดียวกัน

ท้ายที่สุด ผู้บังคับบัญชาไม่อาจสั่งพักงานหรือสั่งลงโทษทางวินัยด้วยเหตุที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นมีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือความคิดเห็นทางการเมืองอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ศาลปกครองสูงสุดฝรั่งเศสได้เคยสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษให้ออกจากงานผู้ตรวจการสถานศึกษาด้วยสาเหตุที่บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมกิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์5

โดยสรุปแล้ว ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ดำรงรักษาความเป็นกลางทางการเมืองแม้ในกรณีการคัดเลือก บรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง หรือการพักงาน การลงโทษทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย การฝ่าฝืนหลักการไม่เลือกปฏิบัติอาจเป็นเหตุให้คำสั่งและการกระทำของผู้บังคับบัญชาไม่ชอบด้วยกฎหมายและถูกเพิกถอนได้.

--------------------------------------------

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 45 วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น”

2. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ.1948 (Universal Declaration of Human Rights,1948) ข้อ 19 “บุคคลมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความคิดโดยปราศจากความแทรกสอด และที่จะแสวงหา รับและแจกจ่ายข่าวสาร และความคิดเห็น ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน”

3. ดู สมชาย ปรีชาศิลปกุล ใน “หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”, กทม., จัดพิมพ์โดย โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ.2553, หน้า 64-65.

4. CE. 9 juillet 1943, Ferrand, Rec., p.176.

5. CE., 1er octobre 1954, Guille, D., 1955, p.431.


สมควรต้องแจงส่งไปโรเบิร์ต อัมเตอร์ดัมส์ไหม

ไอ้และอีพวกแก๊งติ่งหูไล่ล่าแมด