ที่มา ประชาไท
ช่วงที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศนโยบายประชาวิวัฒน์เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ โดยหนึ่งในนั้นคือการขายไข่ตามน้ำหนัก หรือที่เรียกกันติดปากว่าการขายไข่ชั่งกิโล ปรากฏว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง แต่รายละเอียดบางอย่างได้ถูกมองข้ามผ่าน ที่น่าพิจารณาคือมีการนำเรื่องนี้มาขยายผลทางการเมืองด้วยความเข้าใจที่คลาด เคลื่อน โดยส่วนตัวได้อธิบายความบางอย่างไปบ้างในบางแห่งแล้ว จึงบันทึกความคิดเห็นเรื่องนี้อีกครั้ง
โดยส่วนตัวแล้ว ผมกลับเห็นว่าการขายสินค้าตามน้ำหนักรวมทั้งไข่ เป็นการแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรมมากที่สุดในโลก (ที่ใส่ “ที่สุดในโลก” เพราะหากเราไปชั่งน้ำหนักบนดาวอื่นอื่นความเป็นธรรมนี้ก็จะหายไป เพื่อนเพื่อนที่เรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์น่าจะทราบดี) เพราะในอดีตการแลกเปลี่ยนสินค้ามักจะเอาความพอใจของผู้แลกเปลี่ยนทั้งสอง ฝ่ายเป็นที่ตั้ง จนกระทั่งมนุษย์ต่างดาวช่วยให้เราค้นพบการตวง การวัดและการชั่ง จน “ตาชั่ง” ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรมในที่สุด แม้บ่อยครั้งจะมีการโกงตาชั่งจนตาชั่งเอียงกะเท่เร่ให้เราเห็นอยู่บ่อยบ่อยก็ตาม
ในประเทศที่เจริญแล้วล้วนนิยมใช้การชั่งเป็นการกำหนด ราคาสินค้าเป็นหลักไม่เว้นแม้กระทั่งไข่ สหภาพยุโรปเองก็ออกประกาศเมื่อกลางปีที่แล้วให้ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นไป สินค้าทุกชนิดจะต้องขายตามน้ำหนัก เช่น ไข่ แอปเปิ้ล ฯลฯ การวิพากษ์วิจารณ์โดยเหน็บแนมว่า “ช่างคิดได้”, “ไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน” ฯลฯ จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะการชั่งไข่ขายที่ทำกันอยู่ในเวลานี้ไม่น่าจะใช่วิธีที่ถูกต้อง หากเพื่อนที่เป็นแม่บ้านและต้องไปจับจ่ายใช้สอยในซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็น “โมเดิร์นเทรด” จะเข้าใจดี เพราะที่นั่นเราจะเห็นผัก ปลา ฯลฯ ภายในบรรจุภัณฑ์ที่บอกขนาดน้ำหนักและราคาปรากฏอยู่ ซึ่งหากเป็นไปตามนี้คาดว่าบรรจุภัณฑ์ไข่ขนาดเล็กสุดน่าจะเริ่มที่ 5 - 6 ฟอง ราคาจะแตกต่างกันไปแม้เราดูด้วยตาจะรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรแตกต่างกัน (ซึ่งน้ำหนักและราคามักจะพ่วงด้วยจุดทศนิยมสองตำแหน่งตามส่วนของน้ำหนักและ ค่าเงิน) การขายไข่ชั่งกิโลในประเทศที่เจริญแล้วก็จะเป็นในลักษณะนั้น ไม่ใช่มานั่งชั่งให้ไข่แตกเสียหายแบบที่กรมการค้าภายในสาธิตให้เราดูแบบขอไปที
ดังนั้น ผมจึงขอเรียกร้องความเป็นธรรมของไข่ชั่งกิโลคืนกลับมา แต่.......การชั่งไข่ขายมันก็มีประเด็นที่เราต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน
1. รัฐบาลบอกว่าการชั่งไข่ขายช่วยลดต้นทุนการคัดขนาดไข่ และคนคัดไข่
ใช่ครับ..การชั่งไข่ขายจะช่วยลดต้นทุนการคัดไข่จริง เพราะไม่ต้องคัดแล้วนี่ครับเอาไปชั่งเลย แต่บ้านเราคัดขนาดไข่มานานแล้ว เครื่องไม้เครื่องมือก็เยอะแยะ การชั่งไข่ขายซะอีกที่เพิ่มต้นทุน เพราะเครื่องคัดไข่ต้องโละทิ้ง ต้องซื้อเครื่องชั่งใหม่ และเครื่องชั่งทั้งอัตโนมัติหรืออัตโนมือกลับใช้แรงงานคนมากกว่าเครื่องคัด ไข่มาก และผมเชื่อว่าต้องมีราคาสูงกว่ามาก
หมายเหตุ – เครื่องคัดอัตโนมัติ ไข่จะไหลมาตามรางแล้วลงไปตามช่องขนาด ก่อนที่จะไหลลงถาดบรรจุ หรือให้คนงานบรรจุและแพ็คหีบห่อ ส่วนเครื่องชั่งอัตโนมัติจะเป็นสุญญากาศที่ดูดไข่และยกไปชั่ง ก่อนจะใส่ลงถาดบรรจุและแพ็คหีบห่อ
2. ราคาจำหน่ายไข่จะขึ้นราคาได้ง่าย
"ไข่" นับเป็นสินค้าการเมืองจึงขึ้นราคาค่อนข้างยาก เพราะแม้เวลาจะผ่านไปแต่ไข่นายกฯคนใหม่มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับนายกฯคน เก่าเสมอ เช่น ไข่อภิสิทธิ์แพงกว่าไข่ทักษิณ ดัชนีชี้วัดค่าครองชีพเช่นนี้ไม่เป็นธรรมทั้งต่อเกษตรกร บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตไข่ไก่ รวมทั้งนายกฯ เพราะแต่ละปีต้นทุนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไข่ไก่จะมีการขยับราคาขึ้นทุก ปี แต่ราคาไข่ขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริงไม่ได้ แต่หากเรามีการขายไข่ชั่งกิโล การแอบขึ้นราคาต่อกิโลกรัมจะทำได้ง่ายและเนียนกว่า แม้จะประกาศให้ไข่เป็นสินค้าควบคุมราคาก็ตาม เพราะการระดมให้เกษตรกรออกมาประท้วงขอขึ้นราคาขายไข่โดยอ้างต้นทุนต่างต่าง ไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนใครที่จะสามารถระดมเกษตรกรมาได้มากมากตรงนี้ผมไม่ทราบ (วงจรขึ้นราคาน่าจะอยู่ที่ทุกสองปีตามการนำแม่ไก่ไข่เข้ายืนกรงจนถึงปลด ระวาง)
3. ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะทำลายเกษตรกรรายย่อย
ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาจากค่าบรรจุภัณฑ์เรื่องนี้ไม่ต้องวิตกหรอกครับผู้บริโภค ต้องจ่ายแน่แน่ผมรับรองได้ คำถามข้างต้นมีไว้ถามพ่อค้าคนกลางกับเกษตรกรรายย่อยน่ะครับ สมมติว่าลุงจ่อยเป็นเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงไก่ไข่ 50 ตัว ช่วงที่ไก่ไข่ไข่ดกจะมีไข่ออกสู่ตลาดวันละประมาณ 40 – 45 ฟอง ไข่แค่นั้นลุงจ่อยจะมีปัญญาใส่บรรจุภัณฑ์หรือครับ ก็คงต้องเอาไปขายพ่อค้าคนกลาง ซึ่ง “อาจจะ” หักค่าบรรจุภัณฑ์เอาไว้ด้วยไม่ต่างอะไรกับชาวนาที่เอาข้าวเปลือกไปขายโรงสี สุดท้ายลุงจ่อยอาจจะต้องเลิกเลี้ยงไก่ไข่เพราะแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ ไหว หรือไม่ก็ต้องไปเป็นลูกฟาร์มของบริษัทยักษ์ใหญ่เลี้ยงไก่ไข่ 5,000 ตัวต่อโรงเรือนไปเลย ส่วนการเป็นลูกฟาร์มของบริษัทยักษ์ใหญ่มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้างยังไม่เล่าใน ที่นี้
4. คนจนจะไม่สามารถซื้อไข่กินได้ทุกวัน
"ไข่" เป็นอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและมีราคาถูก จึงเป็นที่นิยมของคนจนและสามารถซื้อหามากินทุกวันได้ แต่หากไข่ชั่งกิโลขาย พี่สร้อยที่มี “เม็ดเงิน” พอจะซื้อไข่เพียง 1-2 ฟองต่อมื้อเพื่อทอดให้ลูกสามคนกินจะทำอย่างไร (เพราะเม็ดเงินที่เหลือต้องรอตอนเย็นตามประสาคนหาเช้ากินค่ำ) หรือว่าจะแอบซื้อไข่แยกขายแบบเด็กเด็กซื้อบุหรี่แบ่งขาย ที่แน่แน่การซื้อไข่แบ่งขายของพี่สร้อยต้องแพงกว่าซื้อยกแพ็คซึ่งพี่สร้อย ไม่มีเม็ดเงินเพียงพอที่จะซื้อแน่ และผมเชื่อเอาเองว่าในอนาคตการแบ่งขายไข่อาจจะผิดกฎหมายก็เป็นได้
5. เศษสตางค์ส่วนต่างจะเข้ากระเป๋าใคร
การขายไข่ชั่งกิโล ราคาที่จำหน่ายจะมีเศษสตางค์ส่วนต่างอยู่เสมอ เช่น 30 สตางค์, 68 สตางค์ เป็นต้น เศษสตางค์นี้จะเข้ากระเป่าใคร แม่ค้าจะปัดเศษคืนเรามาหรือไม่ โมเดิร์นเทรดจะคืนเรามาในรูปลูกอมหรือไม่ผมไม่ทราบ เมื่อครั้งที่เคยอธิบายเรื่องนี้ในบางกลุ่ม มีคนแย้งว่า “เศษสตางค์แค่นี้ฉันไม่สนใจหรอก” ปัญหาคือมันไม่ใช่เศษสตางค์ของเราแต่มันคือเศษสตางค์ของผู้บริโภคทั้งหมดจาก ไข่ที่ออกสู่ตลาดปีละประมาณ 19 ล้านฟอง มันจะเดินทางไปไหน ผมไม่ทราบอีกเช่นเคย (กรณีนี้เปรียบได้กับการจ่ายค่าใช้จ่ายผ่านบัตรพลาสติกหรืออื่นอื่น ผ่านใบแจ้งหนี้ที่ผมมักจะจ่ายเกินอยู่เสมอแม้จะรู้ดีว่านายทุนสามารถเอาเงิน ไปหมุนได้ แต่เม็ดเงินในบัญชียังไงก็ยังอยู่กับผม เช่น ผมต้องจ่ายค่าโทรศัพท์บวกภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนละ 216.87 บาท แทนที่ผมจะจ่าย 217 บาท ผมกลับจ่าย 220 บาท เพื่อให้เม็ดเงินส่วนต่างยังอยู่ที่ผมเป็นไงครับแลดูงกดีไหม)
ตั้งแต่ที่นายอภิสิทธิ์ ริเริ่มนโยบายขายไข่ชั่งกิโล แม้จะทราบดีว่าการขายสินค้าตามน้ำหนักเป็นเรื่องเป็นธรรมที่สุดในโลก แต่ในฐานะ “อดีตเด็กเช็ดไข่ท่านเจ้าสัว” ผมพบว่าเรื่องนี้ไม่ค่อยชอบมาพากล เพราะการขายไข่ชั่งกิโลต้องมีการเตรียมการเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือและการ สร้างความเข้าใจกับเกษตรกรและประชาชนพอสมควร ขนาดสหภาพยุโรปยังประกาศล่วงหน้าถึงครึ่งปี กลัวแต่ว่าจะเป็นเพียง “การเตะไข่เข้าปากเจ้าสัว” เท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตามผมก็ขอนอนยันตรงนี้ว่า การขายสินค้าตามน้ำหนักเป็นเรื่องเป็นธรรมที่สุดในโลก ส่วนการขายไข่ชั่งกิโลแล้วร่ำลือกันว่าไข่อภิสิทธิ์หนักกว่าไข่ทักษิณเพราะ มีไข่เนรวินและไข่เปรมซ่อนอยู่ข้างใน ตรงนี้ผมไม่มีความเห็น.