ที่มา ประชาไท
วาน นี้ (24 มิ.ย.54) องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกันจัดโครงการรณรงค์เลือกตั้ง 2554 “เวทีสัญญาประชาคม ประชาชนพบพรรคการเมือง” ณ ห้องประชุมอาคารนันทนาการ มหาวิทยาลัยรังสิต เผยสภาพปัญหาพร้อมร่วมเสนอนโยบายต่อพรรคการเมือง โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนกรณีปัญหาต่างๆ เข้าร่วมกว่า 3,000 คน
กิจกรรม ในช่วงเช้าเป็นการอภิปรายเรื่องการวิพากษ์นโยบายพรรคการเมือง กับการแก้ไขปัญหาของประชาชน จากนั้นในช่วงบ่าย มีการเปิดเวทีให้ภาคประชาชนนำเสนอนโยบายต่อพรรคการเมือง แบ่งเป็น 10 ประเด็นคือ เรื่องภาพรวมข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหาของผู้ใช้แรงงานและผู้ประกันตน ปัญหาภาคการเกษตร ความมั่นคงด้านอาหาร ปัญหาหนี้สินเกษตรกรและหนี้สินประชาชน ปัญหาจากผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐและทุน ข้อเสนอเรื่องสถานะบุคคลและสัญชาติ ข้อเสนอจากเครือข่ายผู้พิการ รวมถึงข้อเสนอด้านรัฐสวัสดิการและสาธารณสุข และสุดท้ายเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
นอก จากนี้ภายในงานยังมีการปราศรัยเกี่ยวกับนโยบายภาคประชาชนโดยตัวแทน พรรคการเมือง ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นางศุภาธินันท์ (สะอิ้ง) ไถวสินธุ์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย, นายสมบัติ เบญจศิริมงคล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคการเมืองใหม่, พล.ต.วีระศักดิ์ นาทะสิริ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคมาตุภูมิ และนายสนธิญา สวัสดี ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคชาติไทยพัฒนา
จากนั้นตัวแทน พรรคการเมืองทั้ง 6 พรรค ได้ร่วมลงนามลงนามสัญญาประชาคมระหว่างพรรคการเมืองกับตัวแทนภาคประชาชน ว่าด้วยการสนับสนุนแนวทางและข้อเสนอในการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ และแก้ปัญหาความยากจน
ปิดท้ายกิจกรรมในครั้งนี้ โดยเครือข่ายประชาชนร่วมอ่านคำประกาศเจตนารมณ์ต่อการเลือกตั้ง 2554 ซึ่งระบุเนื้อหาดังนี้
คำประกาศเจตนารมณ์ เครือข่ายประชาชน 40 องค์กรต่อการเลือกตั้ง 2554 พวกเราในนามเครือข่ายประชาชน 40 องค์กร ซึ่งได้ร่วมกันจัดโครงการรณรงค์เลือกตั้ง 2554 “เวทีสัญญาประชาคมพบพรรคการเมือง” เพื่อนำเสนอปัญหาข้อเรียกร้องของประชาชนต่อพรรคการเมืองตามวิถีของระบอบ ประชาธิปไตย เพื่อตรวจสอบว่านโยบายของพรรคการเมืองเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาปากท้องของ ประชาชน หรือไม่ อย่างไร และรณรงค์ข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศให้พรรคการเมืองนำไปปฏิบัติและ สร้างกลไกเชื่อมประสานเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ในการหนุนเสริมให้เกิดการแก้ไขปัญหาประชาชนและผลักดันให้เกิดการปฏิรูป ประเทศที่สร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียมทางสังคม ในวันนี้ ณ ห้องประชุมนันทนาการ ม.รังสิต เราขอแถลงการณ์ท่าทีและข้อเรียกร้องต่อกรณีดังกล่าวดังนี้ 1.เรา เห็นว่าการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 นั้น ปัญหาของประเทศ ความเดือดร้อนของประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐทั้งหลาย คือสิ่งที่พรรคการเมืองทั้งหมดและรัฐบาลใหม่ที่จะมาหลังจากการเลือกตั้ง จะต้องเผชิญกับความทุกข์ยากของแผ่นดิน และเป็นหน้าที่ในการหาทางออก เพื่อการแก้ไขปัญหาร่วมกับประชาชนอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ บทเรียน 79 ปี ของเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมา ย่อมประจักษ์ชัดแล้ว การเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ได้ดำเนินการไปสู่ความมุ่งมาดปรารถนาของคณะราษฎร อันจะนำพามาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนทั้งแผ่นดินอย่างแท้จริง 2.เรา ขอยืนยันว่า ความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างและความไม่ธรรมทางสังคมย่อมแก้ไขได้ หากพรรคการเมืองที่ได้รับฉันทานุมัติให้เข้ามาใช้อำนาจรัฐการปกครอง ยอมรับและเข้าใจในปัญหา มีนโยบายที่จะเอาปัญหาของประชาชนเป็นตัวตั้ง ปรับโครงสร้างกฎหมายนโยบายให้สอดคล้อง ด้วยการกระจายทรัพยากร สิทธิ โอกาสและรายได้ ภายใต้หลักการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ชุมชนมีอำนาจในการจัดการในทุกระดับ อันจะนำมาซึ่งการพึ่งตนเองได้ในที่สุด 3.เรา เห็นว่า “เวทีสัญญาประชาคมประชาชนพบพรรคการเมือง” ในวันนี้ จะนำมาซึ่งความร่วมมือระหว่างพรรคการเมือง ผู้ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน กับพวกเราเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันหาทางออกในการแก้ไขปัญหาประเทศ ปฏิรูปโครงสร้างทั้งระดับนโยบายและรูปธรรมรายกรณี อันจะนำมาซึ่งความเป็นธรรมและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในประเทศ
ท้าย ที่สุด เราเห็นว่าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของคนจน อันเป็นความทุกข์ของแผ่นดิน และภารกิจการปฏิรูปประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ความเท่าเทียมทางสังคมนั้นจะสำเร็จบรรลุเป้าหมายของระบอบประชาธิปไตยของ ประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชน ได้นั้น ก็ด้วยความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวของพวกเราที่จักต้องร่วมกันต่อสู้จนกว่าชัย ชนะจักเป็นของเราในที่สุด ด้วยจิตสมานฉันท์และเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนต้องกำหนดอนาคตตนเอง ประกาศเครือข่ายองค์กรประชาชน 40 องค์กร ประกาศ ณ ห้องประชุมนันทนาการ มหาวิทยาลัยรังสิต วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2554 ร่วมประกาศเจตนารมณ์โดยเครือข่ายองค์กรประชาชน 40 องค์กร 1.คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) 2.สำนักงานปฏิรูป (สปร.) 3.คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) 4.สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) 5.เครือข่ายศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ 6.สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สคปท.) 7.ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) 8.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) 9.เครือข่ายสลัม 4 ภาค 10.ชมรมปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ (ปสล.) 11.เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คป.สม.) 12.สมัชชาคนจน (สคจ.) กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี 13.เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 14.เครือข่ายกลุ่มสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จังหวัดลำปาง 15.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อุดรธานี 16.กลุ่มผู้เดือดร้อนจากโครงการสวนป่าพิบูล จังหวัดอุบลราชธานี 17.ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกัน 18.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยภาคเหนือ( คปท.เหนือ) 19. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) 20. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) 21.ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน 22.ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) 23.เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 24.เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก 25.กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก-หินกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 26. เครือข่ายคนไทพลัดถิ่น 27.สภาองค์กรชุมชน 28.เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ 29.สภาผู้พิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย 30.กลุ่มเพื่อนประชาชน (FOP.) 31.กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่น (Local Act) 32.กลุ่มปฏิบัติงานคนจนเมือง 33.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ 34.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 35.สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค 36.มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) 37.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 38.ฝ่ายพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต 39.มูลนิธิชุมชนไท 40. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) |
ประมวลภาพ: เครือข่ายปฎิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
กิจกรรมของภาคประชาชนในตอนเช้า ณ หมุนประชาธิปไตย 2475 เพื่อรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2475
ตัวแทนภาคประชาชนขึ้นเวทีพบตัวแทนพรรคการเมือง
นางศุภาธินันท์ (สะอิ้ง) ไถวสินธุ์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทยพูดคุยกับชาวบ้านปากมูน
บรรยากาศด้านล่างเวที
นักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตชูป้ายร่วมแสดงความคิดเห็น
ตัวแทนพรรคการเมืองร่วมลงชื่อสัญญาประชาคม
อ่านคำประกาศเจตนารมณ์เครือข่ายประชาชน 40 องค์กรต่อการเลือกตั้ง 2554
สัญญาประชาคม ลงนามโดยตัวแทนพรรคการเมือง 6 พรรค