ที่มา Voice TV
การรับน้องใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย หรือที่ีใครหลายๆ คนรู้จักกันในชื่อของระบบ "โซตัส" กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมอีกครั้ง หลังจากที่คลิปภาพการรับน้องของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเผยแพร่ออกไป
จนทำให้ใครหลายๆ คนออกมาแสดงความกังวล โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการรับน้องที่ใช้ความรุนแรง ทั้งทางวาจาและกิริยา อย่างไรก็ตาม ทั้งฝ่ายรุ่นพี่ ที่ถือครองระบบโซตัสไว้กำหราบรุ่นน้อง นับเป็นค่านิยมของสังคมไทย ที่เกิดขึ้นมาจากการรับเอาวัฒนธรรมต่างถิ่น ที่มีต้นกำเนิดมาจากกิจกรรมการละลายพฤติกรรมของนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็ก เพื่อละลายพฤติกรรมและสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการยึดติดค่านิยมการข่มขวัญผู้มีอาวุโสน้อยกว่า ทำให้การรับน้องและระบบโซตัสในสังคมไทย เติบโตและเข็มแข็งจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพการวิเคราะห์โครงสร้างและมายาคติเกี่ยวกับการรับน้องได้ อย่างชัดเจนขึ้น ทางรายการคิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา ขอยกบางช่วงบางตอนของบทความเรื่อง
"การใช้อำนาจข่มเหงเสรีภาพของหนุ่มสาว" ของ พัชณีย์ คำหนัก ซึ่งเ้ป็นนักกิจกรรมรณรงค์สิทธิมนุษยชน ซึ่งเขียนไว้ในเว็บไซต์ประชาไทมานำเสนอ
"ว้ากน้อง ร้องเพลงเชียร์ เต้นรำสนุกสนาน สั่งน้องให้เข้าแถว ยืนตรง นิ่ง นับจำนวนคนที่มาและคนที่ขาด สั่งให้วิ่ง หันซ้ายหันขวาอย่างพร้อมเพรียงกัน สั่งให้นั่งประชุมนิ่งๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง สั่งให้ร้องเพลงดังๆ ที่สุด ตบมือให้ดัง ร้องเพลงหลายๆ รอบให้พร้อมกัน (ทำตามคำสั่ง order) ห้ามคุยกัน ห้ามแสดงความคิดเห็น หรือโต้ตอบการกระทำของรุ่นพี่ ห้ามมองหน้าพี่ ห้ามยิ้ม ห้ามเกา ถ้าไม่ทำตามก็จะมีมาตรการลงโทษเช่น นำตัวไปที่ห้องเรียน ปิดประตูหน้าต่าง ปิดพัดลมให้หมด เพื่อไม่ให้คนภายนอกรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในห้อง จากนั้นก็ด่าทอ ตะโกนใส่อย่างบ้าคลั่ง กักตัวไม่ให้ไปไหน กลับบ้านยังไม่ได้จนกว่าจะถึงเวลาสมควร หรือจนกว่าพี่จะพอใจ กลั่นแกล้งสารพัด โดยอ้างว่าเพื่อส่งเสริมความสามัคคี (unity) ในหมู่คณะและความภาคภูมิใจในสถาบัน กิจกรรมระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง (seniority) ข้างต้นจัดขึ้นในช่วงที่กำลังจะเปิดเรียนปีการศึกษาใหม่ถึงการสอบกลางภาคใน รั้วมหาวิทยาลัย วิทยาลัยทุกปีจนเป็นประเพณี (tradition) ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นฤดูล่าหัวมนุษย์ (ธเนศวร์ เจริญเมือง 2543)
เบื้องหน้าและเบื้องหลังของกิจกรรมรับน้อง-เข้าห้องเชียร์
เมื่อมองดูกิจกรรมเหล่านี้อย่างผิวเผินและไม่คิดอะไรมาก จะรู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่คอยดูแลห่วงใย ให้ความช่วยเหลือ (spirit) แก่รุ่นน้องที่จะเข้ามาศึกษาในสถาบันใหม่ให้เกิดความรู้สึกมั่นคง มั่นใจ อบอุ่นที่มีคนมาให้ความสำคัญแก่เขา ไม่รู้สึกเป็นตัวประหลาดมากนักท่ามกลางคนแปลกหน้ามากมาย และรู้สึกเป็นพวกเดียวกันในที่สุด ตรงนี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ความมั่นคงในจิตใจของนิสิตใหม่หรือความมั่นใจในตัวเองเป็นสิ่งที่ได้มาจาก ปัจจัยภายนอกหรือได้รับจากบุคคลภายนอก แต่ไม่ใช่สิ่งที่ได้มาจากภายในตัวเองอย่างแท้จริง ดังนั้นขั้นต่อไปจะเป็นอย่างไร รุ่นพี่จะทำอะไรกับนิสิตใหม่เพื่อแลกเปลี่ยนกับการให้ความมั่นคงและความ อบอุ่นที่ลงทุนลงแรงไปอย่างมหาศาล และรุ่นน้องจะสูญเสียอะไรไปบ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคงและความ มั่นใจที่ให้โดยบุคคลอื่น
เรามาลองพิจารณาและวิพากษ์วิจารณ์กิจกรรมรับน้อง-เข้าห้องเชียร์นี้ซิว่า มันเป็นสิ่งที่มีเจตนาดีหรือซ่อนเจตนาอื่นเอาไว้ ที่ทำให้มันต้องถูกตั้งคำถามไว้มากมาย ถ้ามันเป็นสิ่งที่ดีทำไมถึงมีอะไรชอบกลที่น่าเคลือบแคลงสงสัยด้วย คำถามที่เกี่ยวกับเบื้องหลังของกิจกรรม มีดังนี้
1.ทำไมนักศึกษามหาวิทยาลัยถึงหลงใหลคลั่งไคล้กิจกรรมรับน้อง ที่ทำให้กิจกรรมนี้เป็นสิ่งที่ดูพิเศษกว่ากิจกรรมของชมรมอื่นๆ ไปได้
2.การรับน้อง-เข้าเชียร์ เป็นการสร้างวงจรของการใช้อำนาจเผด็จการใช่ไหม แล้วใครได้ประโยชน์จากกิจกรรม
3.ทำไมถึงมีการสังเวยชีวิตนิสิตให้กับกิจกรรมนี้ รวมทั้งความเจ็บปวด ความกดดันและความเครียด เช่น สอบตก เป็นลมหมดสติ นอนเป็นเจ้าหญิงนิทรา เสียชีวิตกลางคัน และไม่สามารถเป็นเหตุผลให้ยกเลิกกิจกรรมดังกล่าวอย่างเด็ดขาด ?
4.ความตายของคน 1 คนคุ้มค่าแล้วหรือที่จะแลกกับความสนุกสนานของคนเป็นพันคน แลกกับความสะใจในการใช้อำนาจกลั่นแกล้งผู้อื่นสารพัด และแลกกับความสามัคคีอันจอมปลอม
5.การอ้างว่ากิจกรรมเป็นไปเพื่อสร้างความสมานฉันท์ในหมู่คณะ ความรักที่ให้ต่อกัน การเกื้อกูลกันเป็นการอ้างที่สมเหตุสมผลจริงหรือไม่ เนื่องจากขัดต่อหลักการสิทธิเสรีภาพ
ผู้เขียนจะขอวิเคราะห์เบื้องหลังที่ทำให้กิจกรรมรับน้องดำรงอยู่มาได้ ในระดับจิตวิทยาเชื่อมโยงกับระดับวัฒนธรรม กล่าวคือการพิสูจน์ว่า อิทธิพลของวัฒนธรรมอำนาจนิยมและสถาบันนิยม (หรือเรียกว่าระบบโซตัส) <1> ที่อยู่เบื้องหลังของกิจกรรมรับน้อง ส่งผลต่อการสร้างบุคลิกภาพของเด็กเยาวชนให้เป็นผู้นิยมอำนาจเผด็จการ อันเป็นพฤติกรรมที่ช่วยให้โครงสร้างทางชนชั้นสูง-ต่ำยังคงอยู่ และทำให้การยึดถือในคุณค่าของเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นปัจเจกภาพของคนหนุ่มสาวหดหายไป "
เนื้อหาเพิ่มเติม และบทความฉบับเต็มอ่านได้ใน http://www.prachatai.com/journal/2011/06/35384