ที่มา ประชาไท
ผบ.ฉก.ปัตตานี 23 ชี้ใช้ทหารตำรวจดับไฟใต้ไม่เหมาะ หวังปกครองพิเศษปัตตานีมหานครแก้ปัญหาได้ พรรคประชาธรรมคิดดึงพรรคเล็กรวมกลุ่มหลังเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2554 ที่ห้องน้ำพราว 2 โรงแรม ซีเอส ปัตตานี สำนักคณะกรรมการเลือกตั้ง จัดเสวนาทางวิชาการ “พลเมืองกับการเลือกตั้งที่เที่ยงธรรม : สู่การดับไฟใต้” มีนักการเมือง ข้าราชการ และภาคประชาสังคมเข้าร่วมประมาณ 50 คน
ในเวทีเปิดโอกาสให้ ตัวแทนพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายแก้ปัญหาความไม่สงบใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเพียง 2 ตัวแทนพรรคการเมืองเท่านั้นที่เข้าร่วม คือ พรรคประชาธรรม และพรรความหวังใหม่ จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมแสดงความเห็น
พ.ท.ชาคริต สนิทพ่วง ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ(ฉก.)ปัตตานี 23 กล่าวในการแสดงความเห็นว่า ตนอยากเห็นกติกาใหม่ที่ดีขึ้นมาใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายทหาร และฝ่ายขบวนการต่างทำผิดกติตา จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง
“การใช้ทหาร ตำรวจ ในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เครื่องมือในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม ผมหวังว่า การเสนอเขตปกครองพิเศษปัตตานีมหานคร จะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้” พันโทชาคริต กล่าว
นายอับดุลกอริม เจะแซ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 1 จังหวัดยะลาพรรคประชาธรรม เปิดเผยในวงเสวนาว่า หลังเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พรรคประชาธรรมอาสาเป็นตัวกลางในการพูดคุยกับพรรคขนาดเล็กที่ส่งผู้สมัคร เลือกตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ พรรคความหวังใหม่ มาตุภูมิ แทนคุณแผ่นดิน และอื่นๆ รวมเป็นพรรคเดียว เพื่อให้เกิดพลังในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่
นายอับดุลกอริม เปิดเผยอีกว่า ไม่ว่าพรรคประชาธรรมจะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ พรรคประชาธรรมก็จะอาสาเป็นตัวแทนคนในพื้นที่ไปเจรจากับฝ่ายขบวนการก่อความ ไม่สงบ เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรง
นายแวอุเซ็ง แวอาลี ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 ปัตตานี พรรคความหวังใหม่ กล่าวว่า นโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรค คือ การปกครองพิเศษปัตตานีมหานคร ตามที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เคยเสนอ
สำหรับ องค์กรร่วมจัดงานนี้ ประกอบด้วย สภาพัฒนาการเมือง,มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย,สถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล,สถาบันวิจัยความขัดแย้ง และหลากหลายทางวัฒนธรรมทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สำนักข่าวอามาน และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้