ที่มา ประชาไท
เมื่อ วันที่ 9 มิถุนายน 2554 กลุ่มจับตานโยบาย ปี 2 (Policy Watch) ซึ่งก่อตั้งโดยคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานเสวนา “นักเศรษฐศาสตร์พบนักการเมือง” เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองนำเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยในงานมีตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ คือกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ และพรรคเพื่อไทย คือ รศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช ร่วมนำเสนอนโยบาย และมีนักวิชาการคือ รศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา, รศ.ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ และ ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมตั้งคำถามและให้ความคิดเห็น ดำเนินรายการโดย ปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
เปิดตัวนโยบายเศรษฐกิจ
กอร์ป ศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ และรองประธานพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายหลักคือ เศรษฐกิจเข้มแข็ง ประชาชนเข้มแข็งและธุรกิจเข้มแข็ง และชี้ว่า ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว เช่น การใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจในต้นปี 2552 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นมากในหลายด้าน ทั้งอัตราการจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อ การส่งออก และดัชนีรายได้เกษตรกร
ส่วนนโยบายเศรษฐกิจ ในอนาคต กอร์ปศักดิ์กล่าวว่า จะมุ่งเพิ่มรายได้ของประชาชน โดยเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ลดรายจ่ายด้วยการจัดสวัสดิการ รวมถึงส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการ และจะดำเนินนโยบายที่ทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้เนื่องจากมองว่าเป็นจุดที่ สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นจุดแข็งของประเทศที่มีอยู่แล้ว เช่น การท่องเที่ยว เกษตรกรรม โครงการครัวโลก เป็นต้น
ด้าน สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เน้นว่านโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยมุ่งที่การสร้างความร่ำรวยให้กับ ประชาชนผ่านทางนโยบายต่างๆ เช่น โครงการหมู่บ้านละล้าน โครงการพักหนี้ครัวเรือน รวมถึงการยกระดับราคาข้าว จัดทำบัตรเครดิตการ์ดเกษตรกร และขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ ส่วนในด้านของการพัฒนา จะเน้นสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น รถไฟความเร็วสูง สร้างเขื่อนในภาคกลางเพื่อป้องกันน้ำท่วม โครงการ “เมืองใหม่” โครงการเซาท์เทิร์น ซีบอร์ด และสร้างท่อขนส่งน้ำมัน เป็นต้น
“ฝัน” กับความเป็นจริง
จาก นั้น อภิชาต สถิตนิรามัย นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองและพัฒนา สรุปถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยว่า หลังจากรัฐประหารในปี 2549 พบว่างบประมาณรายจ่ายของไทยขยายตัวขึ้น และเพิ่มขึ้นในอัตราเร็วกว่ารายได้ ทำให้หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยรายจ่ายของรัฐส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการต่างๆ อย่างไรก็ตาม เงินจำนวนมากที่ใช้ตามนโยบายเหล่านี้ก็มิได้ลงไปสู่คนจนอย่างแท้จริง
“ราย จ่ายนโยบายเหล่านี้ จากการสำรวจของสภาพัฒน์ฯ พบว่าเงินตกลงมาถึงคนจนน้อยมาก เช่นในกรณีเบี้ยผู้สูงอายุ ได้รับไม่ถึง 2% ของคนจนทั้งหมด เช่นเดียวกับนโยบายเงินกู้ คนจนเข้าถึงจริงเพียง 1% และเงินกู้การศึกษาเพียง 0.2% เท่านั้น” อภิชาตกล่าว
นอกจากนี้ ยังเพิ่มเติมว่าประเทศไทยจำเป็นต้องหาวิธีเพิ่มรายได้ เพื่อให้สมดุลกับรายจ่าย ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการเก็บภาษีให้เต็มศักยภาพ โดยข้อมูลของธนาคารโลกชี้ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยเก็บภาษีได้ 16% ของรายได้มวลรวมประชาชาติ (GDP) ในขณะที่อัตราการเก็บภาษีดังกล่าวในประเทศโลกพัฒนาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 19% ซึ่งถ้าหากไทยสามารถเก็บภาษีได้เต็มศักยภาพ อาจเก็บภาษีได้ถึง 21% ของจีดีพี
"อัตราภาษีรายได้บุคคลในประเทศไทยยังถือว่ามีอัตราต่ำ และไม่ก้าวหน้า เพราะคนที่มีรายได้สูงสามารถลดหย่อนได้มาก" อภิชาตกล่าวและพูดถึงภาษีสินทรัพย์ ว่าขณะนี้ในไทยเก็บภาษีได้เพียง 0.01% ของรายได้ประชาติ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนาม สามารถเก็บภาษีดังกล่าวในส่วนของรัฐบาลท้องถิ่นได้ 60% ในขณะที่ไทยเก็บได้เพียง 9.2% เท่านั้น
ถามมา ตอบไป
ต่อ มา เป็นช่วงถาม-ตอบระหว่างนักวิชาการและผู้แทนจากทั้งสองพรรค โดยอภิชาตได้ถามถึงภาพรวมว่า โครงการขนาดใหญ่ทั้งหมดที่นำเสนอมานี้มีมูลค่าทั้งหมดเท่าไร และมีวิธีหารายได้เพิ่มเติมอย่างไร และพรรคเพื่อไทยมีเหตุผลอะไรที่จะลดภาษีให้คนซื้อบ้านและรถในช่วงห้าปีแรก ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นคนจน ซึ่งจะทำให้ยิ่งทำให้โครงสร้างภาษีบิดเบี้ยวขึ้นไปอีก
ต่อคำถามดัง กล่าว ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ตนมองว่าคำนิยามของคำว่า ‘คนจน’แตกต่างไปจากที่นักวิชาการมอง ซึ่งตนเองมองว่าในประเทศยังมีคนจนกว่า 55 ล้านคน ซึ่งสมควรได้รับโอกาสที่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และไม่ได้มองว่าคนที่ซื้อบ้านและรถเป็นคนรวย แต่มองว่าเป็นปัจจัย 4 สมัยใหม่ที่จำเป็นต้องมี ส่วนโครงการขนาดใหญ่จะให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ยกเว้นการตัดถนน การสร้างแหล่งน้ำ ประปา จะให้รัฐเป็นคนจัดการ นอกจากนี้ ได้เสนอให้ลดภาษีนิติบุคคลให้สอดคล้องกับอัตราเท่ากับในประเทศอาเซียน เพื่อส่งเสริมการลงทุน และให้บรรษัทจัดสรรเงินได้เพิ่มขึ้นมา ไปกระจายให้กับลูกจ้างให้เหมาะสมและเท่าเทียมกัน
ทางฝ่ายพรรคประชา ธิปัตย์มองว่า ประเทศจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบภาษี เนื่องจากการเก็บภาษีไม่ตรงตามสัดส่วนของรายได้ กลายเป็นว่าผู้ที่มีรายได้น้อยจ่ายภาษีมากกว่า หากว่าเราเก็บภาษีได้รัดกุมขึ้น จะได้รายได้จากภาษี 2แสนล้าน นอกจากนี้ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และส่งผลให้จีดีพีสามารถปรับขึ้นได้รวดเร็ว
นโยบายประชานิยม VS ความยั่งยืนทางการคลัง
ถัด มา สกนธ์ วรัญญูวัฒนา นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การคลังและเศรษฐศาสตร์ท้องถิ่น ถามผู้แทนทั้งสองพรรคในประเด็นของการสร้างสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจใน การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ และความยั่งยืนของนโยบายการคลังในอนาคต เนื่องจากการใช้นโยบายประชานิยมดังที่ทั้งสองพรรคหาเสียงนั้น มักจะสร้างปัญหาให้กับเสถียรภาพการคลัง
ต่อประเด็นนี้ สุชาติ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยมองว่า นโยบายประชานิยมเป็นการให้โอกาสประชาชน และยังคงมีความจำเป็น เนื่องจากนโยบายนี้ไม่ได้ให้เงินใครเปล่าๆ เพียงแต่เป็นการให้เงินกู้ให้ประชาชนนำไปบริหารจัดการต่อ และเมื่อประชาชนมีเงินทุน ก็จะทำให้ผลผลิตสูงขึ้นเนื่องจากจะมีการลงทุนกับเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้า และส่งผลให้จีดีพี่เพิ่มสูงขึ้นด้วย
ในทางกลับกัน กอร์ปศักดิ์กล่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินนโยบายอนุรักษ์นิยมทางเศรษฐกิจ มากกว่า และชี้ว่าปัญหาในนโยบายการคลังคือโครงสร้างการเก็บภาษีที่ผิดพลาด และต้องแก้ไขโดยเก็บเงินจากคนที่ใช้ทรัพยากรประเทศมากที่สุด และชี้ว่านโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่นโยบายประชานิยม นอกจากบางอย่างเช่น การแจกเครื่องแบบและแบบเรียนแก่เด็กนักเรียน
คำถามอื่นๆ ที่น่าสนใจ
จะมีการเก็บภาษีทรัพย์สินภาษีมรดกในอนาคตหรือไม่
สุชาติ กล่าวว่าเรื่องเช่นนี้ไม่สามารถประกาศล่วงหน้าได้ว่าจะมีท่าทีอย่างไร แต่เห็นด้วยว่าต้องทำให้การกระจายที่ดินให้เท่าเทียม ด้านกอร์ปศักดิ์มองว่าการเก็บภาษีดังกล่าวเป็นเรื่องยาก เนื่องจากทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศลดลง และกล่าวว่าจะแก้ปัญหารายได้ที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยการยกระดับรายได้ทั้งหมด เช่นการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การใช้นโยบายการคลังอย่างมีวินัย และเลือกลงทุนเฉพาะในจุดแข็งของประเทศเช่น การเกษตร และท่องเที่ยว
แต่ละพรรคจะมีแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายอย่างไรภายใต้ภาวะที่ยากลำบากและมีขัดแย้งทางการเมือง
ตัว แทนพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีผู้นำเสื้อแดงเป็นผู้สมัคร ส.ส.จึงไม่มีปัญหา และเนื่องจากในหมู่คนไทย ยังมีความเชื่อเรื่องการไม่มีเสียงข้างมากในสภาที่เด็ดขาด แปลว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่เชื่อมั่นว่ามีเสียงข้างมากที่เป็นตัวแทนตนเอง จึงมอบหน้าที่ให้หน้าที่ของ ส.ส.เป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจแทน ฉะนั้น ในการเลือกตั้งที่มาถึง หากว่าไม่มีเสียงข้างมากเลย ก็ต้องให้ ส.ส. เป็นผู้ตัดสิน โดยหากพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมาก ก็ต้องให้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ถ้าหากตั้งไม่ได้ ก็ต้องให้พรรคถัดมาคือ ปชป.เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่ว่าผลออกมาเป็นอย่างไร ทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
ทางด้านตัวแทนพรรคเพื่อไทย ชี้ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังปกครองในระบอบศักดินาอยู่ โดยวางเวลาในการเปลี่ยนผ่านประเทศอยู่ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า โดยกล่าวว่าชนชั้นนำควรจะต้องยอมรับในการเปลี่ยนแปลง และต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่อยู่ที่โครงสร้างการเมืองการปกครองที่ยังเป็น ระบบศักดินา ให้เป็นระบบที่ปกครองโดยประชาชน เนื่องจากประชาชนในสมัยนี้ตื่นรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพตนเองแล้ว
คิดอย่างไรกับงบประมาณทหารที่เพิ่มขึ้นทุกปี มีความจำเป็นมากเพียงใด และควรลดหรือไม่
สุชาติ มองว่า งบประมาณทหารที่สูงขึ้นทุกปี ไม่มีความจำเป็น ควรลดลงไป ในขณะที่กอร์ปศักดิ์มองว่า เนื่องจากทหารเป็นผู้ดูแลประชาชน อยากให้ใช้ของดีๆ เพื่อไม่ให้เสียงบประมาณเปล่า ทั้งนี้งบประมาณทหารยังมีความจำเป็นเพื่อให้ทหารเป็นคนเก่ง มีความสามารถด้านเทคโนโลยี เมื่อออกมาแล้วสามารถไปประกอบธุรกิจกับภาคเอกชนได้ แต่ควรใช้ให้เหมาะสม
ถ้าค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น และทำให้เอกชนอยู่ไม่ได้จำเป็นต้องปิดกิจการ และปลดลูกจ้างออกทางพรรคมีมาตรการรองรับอย่างไร
พรรค เพื่อไทยระบุว่า ต้องแก้กฎหมายให้ค่าแรงขึ้นให้ได้ภายในเวลาสามเดือน และดำเนินควบคู่ไปกับการลดภาษี จริงๆ แล้วในปัจจุบัน ค่าจ้างขั้นต่ำในหลายพื้นที่อยู่ระดับ 300 บาทหรือมากกว่าอยู่แล้ว และมองว่าหากนายจ้างกดค่าแรงให้ต่ำ ก็จะส่งผลให้ผลผลิตต่ำไปด้วย และเสนอแนะให้นายจ้างย้ายโรงงานมาอยู่ชายแดนเพื่อลดต้นทุน
ทางด้าน พรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่าต้องคุยเรื่องนี้กับนายจ้าง เพราะอย่างไรก็ตามต้องให้นักธุรกิจเดินต่อไปได้ เนื่องจากเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และเป็นผู้หารายได้หลัก จริงๆ แล้วจึงไม่สามารถไปบังคับได้ เพราะเป็นการตัดสินใจของเขา