ที่มา มติชน
สัมภาษณ์พิเศษ โดย สุเมศ ทองพันธ์
"ประเทศไทยได้มาอยู่ในจุดที่ไม่มีทางที่จะไม่ทำอะไรหรือทำอะไร แล้วไม่มีความเสี่ยง เพราะหากไม่แก้รัฐธรรมนูญเลย สุดท้ายก็จะพบว่าสังคมไทยยิ่งแตกแยกรุนแรง และจะหนักกว่าตอนนี้มาก"
นับ แต่ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ ได้ประกาศทันทีว่า "รัฐบาล" จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายในปีแรกของการทำงาน
กลายเป็นประเด็น ปัญหาที่ "พรรคประชาธิปัตย์" หยิบจับขึ้นมาโจมตีอย่างเป็นทางการ โดยตั้งข้อสังเกตไปถึงความพยายามที่จะช่วยเหลือ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" พร้อมๆ กันก็มีความเคลื่อนไหวของ "ฝ่ายตรงข้าม" พรรคเพื่อไทย ที่เริ่มก่อตัวขึ้นมาทันที
ซึ่งเรื่องนี้ "จาตุรนต์ ฉายแสง" อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ยอมรับว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องยอมเสี่ยงระหว่างความขัดแย้งในประเด็นการ แก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาจจะเกิดขึ้นกับการแก้ไขวิกฤตประเทศในระยะยาว
"จาตุรนต์" ซึ่งมีชื่อ "นั่งหัวโต๊ะ" พรรคเพื่อไทยแทบจะทุกวงประชุมและล่าสุดมีกระแสข่าวว่าเขาจะมานั่งเป็น "ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี" (ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก) ที่ "ยิ่งลักษณ์" กำลังพิจารณาแต่งตั้งขึ้น ได้เปิดเผยวิธีการในการ "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" ที่เขาได้คิดเอาไว้
ซึ่งจะทำให้เราได้เห็น "เงาร่าง" การแก้ไขรัฐธรรมนูญของ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
- รัฐธรรมนูญ 2550 มีปัญหาอะไร รัฐบาลถึงต้องเร่งแก้ไข?
รัฐ ธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาสำคัญคือความไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่สอดคล้องกับหลัก นิติธรรม ทั้งในเนื้อหาและที่มา คือมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะมีการกำหนดให้องค์กรต่างๆ ที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชนมาหักล้างมติประชามหาชนได้ โดยที่องค์กรต่างๆ ที่มามีอำนาจเหนือประชาชนนั้นไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน ตรวจสอบก็ไม่ได้ ที่สำคัญบางองค์กรก็ยังไม่ได้ใช้ที่มาที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ คือยังคงใช้ที่มาเดิม พูดได้ว่ามาจากคณะรัฐประหาร 2549 และยังมีอำนาจอยู่ในปัจจุบันนี้
อีกส่วนก็คือไม่สอดคล้องกับหลัก นิติธรรม เช่นการทำผิดคนเดียวลงโทษทั้งหมู่คณะ การเปิดโอกาสให้ฝ่ายตุลาการเข้ามาแทรกแซงการเมืองมากเกินสมควร จนในที่สุดกระทบต่อระบบยุติธรรม ทำให้เกิดการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม ซึ่งทั้งหมดเป็นปัญหาทำให้เกิดวิกฤตการเมืองของประเทศ
ส่วนที่มานั้น ก็เข้าใจตรงกันว่ามาจากการรัฐประหาร แล้วฉีกรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมาก ฉบับหนึ่ง แล้วก็ยกร่างขึ้นมาโดยกลุ่มคนที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น มีการลงประชามติภายใต้การบังคับข่มขู่ของคณะรัฐประหารว่าหากไม่รับ ประชาชนจะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นเผด็จการยิ่งกว่า ที่สำคัญคือการลงประชามติเป็นการกระทำภายใต้กฎอัยการศึกในหลายสิบจังหวัด ทำให้มีการรณรงค์ชี้แจงกับประชาชนฝ่ายเดียว แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยไม่สามารถชี้แจงอะไรได้ ที่มาของรัฐธรรมนูญ 2550 จึงไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- เนื้อหาเป็นปัญหาเฉพาะนักการเมืองหรือเปล่า เพราะคนทั่วไปก็ไม่ได้รู้สึกเป็นปัญหาอะไรมากมาย?
คือ ที่ไม่มีปัญหากับประชาชนสักเท่าไร เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าของต้องแพง หรือน้ำต้องท่วมบ้านชาวบ้าน แต่มันเป็นต้นเหตุของวิกฤตการเมืองซึ่งทำให้ประเทศเสียหาย แต่รัฐบาลที่ไม่ได้มาโดยกลไกของรัฐธรรมนูญ มีแนวโน้มที่จะได้รับการเอื้อประโยชน์จากกลไกตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่ตรวจ สอบ รวมถึงการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น องค์กรที่ต้องตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ราชการของรัฐบาล ก็ยังเป็นองค์กรที่มีที่มาจากคณะรัฐประหาร เพราะอยู่ในสภาพลงเรือลำเดียวกัน เพราะฉะนั้นการทุจริตคอร์รัปชั่นในช่วงที่ผ่านมาจึงสูงมาก สิ่งที่ผมเคยเสนอหรือที่รัฐบาลนี้กำหนดเป็นนโยบายแล้วก็ดี ไม่ได้กำหนดว่าจะแก้ประเด็นไหนอย่างไร เพียงแต่บอกว่าจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาแก้ หมายความว่าสุดแล้วแต่ ส.ส.ร. ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและจะต้องให้ลงประชามติ จึงจะสำเร็จและได้รับการยอมรับ ต้องยกเรื่องนี้ให้ ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน ซึ่งเป็นกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย แล้วให้กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยเป็นคนตัดสินแล้วเราจะได้รัฐธรรมนูญที่ ดีแน่นอน
- จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเลยหรือ?
แก้ ทั้งหมด (ตอบสวน) เพราะนโยบายรัฐบาลใช้คำว่ายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้นรัฐบาลจะแก้เฉพาะมาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร.และให้มีการลงประชามติ หลังจาก ส.ส.ร.ได้พิจารณาแล้ว
- เป้าหมายของพรรคเพื่อไทย ดูเหมือนจะเป็นมาตรา 309 มากกว่ามาตราอื่น?
อันนี้ไม่ทราบว่าดูจากอะไร
- แกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย พูดเรื่องนี้บ่อยมาก?
ก็ เคยพูด (ตอบสวนอีกครั้ง) แล้วก็เคยพูดเรื่องจะเอารัฐธรรมนูญ 2540 มาแทนรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมันก็เป็นความจริงว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ดีกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มาก เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 มาจากประชาธิปไตยและมาจากประชาชน แต่รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นเผด็จการ มาตรา 309 ก็เป็นมาตราที่รับรองการกระทำของเผด็จการให้ถูกกฎหมาย แต่เมื่อรัฐบาลเลือกใช้วิธีการที่ได้กำหนดในนโยบายก็ไม่แน่ว่าจะมีการแก้ไข รัฐธรรมนูญ ตามที่พรรคเพื่อไทยและคนในรัฐบาลต้องการหรือไม่ นี่เป็นวิธีการที่แฟร์สำหรับทุกฝ่าย และช่วยแก้ปัญหาเรื่องว่าพรรคเพื่อไทยต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองหรือ คนใดคนหนึ่งหรือเปล่า
- พรรคเพื่อไทยคุมเสียงข้างมากของ ส.ส.เขตอยู่แล้ว ดังนั้นหากจะสนับสนุนใครลงเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อให้สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ตามที่พรรคเพื่อไทยต้องการ?
มัน ก็มีอีกวิธีหนึ่งคือให้คนมาสมัครแล้วก็ให้เลือกกันเอง จากนั้นก็ส่งให้รัฐสภาเลือก เคยทำมาแล้วในช่วงที่คนส่วนใหญ่เห็นไปในทางเดียวกันว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ แล้วไม่มีประเด็นความขัดแย้งอะไรกันมากก็จะพอทำได้ แต่มาครั้งนี้ถ้าไปทำแบบเดิมมันจะยาก เพราะจะถูกมองว่ารัฐสภาเป็นตัวกำหนด จึงมีแนวความคิดของหลายคนที่เกี่ยวข้องว่าให้ใช้การเลือกตั้งมา
"การ เลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตยแล้วจะบอกว่าเดี๋ยวพรรคคุณได้เปรียบอย่างนี้ จะไปแก้ไขให้เลือกตั้งมาแล้วให้เสียงส่วนน้อยชนะไปหรือ คือเราต้องยอมรับว่าคนในสังคมคิดเห็นแตกต่างกันมาก จนถึงขั้นเห็นดีเห็นงามกับการฉีกรัฐธรรมนูญก็มี ต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจพวกสรรหาแต่งตั้งเข้าไปอีก ลดอำนาจพวกเลือกตั้ง แบบพวกการเมืองใหม่ก็มี ต้องการให้เป็นประชาธิปไตยมากๆ ก็มี แต่ความเห็นที่แตกต่างกันนี้จะนำไปสู่การกำหนดรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และเป็นต้นเหตุของวิกฤตประเทศตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมา ทางที่จะออกจากวิกฤตนี้ได้ก็ต้องใช้กระบวนการประชาธิปไตย เราเห็นต่างกันว่าใครจะเป็นรัฐบาล ก็มีการเลือกตั้งมา 5 ครั้ง และประชาชนก็พิสูจน์แล้วว่าต้องการฝ่ายไหน
- แต่กว่าจะถึงจุดนั้นก็คงต้องผ่านฝ่ายต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปให้ได้ก่อน?
แรง ต่อต้านคัดค้านมีมาตลอดอยู่แล้ว พอขยับจะแก้รัฐธรรมนูญก็เป็นประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาแล้วนำไปสู่การยึด ทำเนียบ ยึดสนามบินมาแล้ว เมื่อรัฐบาลหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาก็เห็นแล้วว่าการต่อต้านก็ตั้งเค้าและคงจะ มีขึ้น แต่ปัญหาก็คือว่าถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ บ้านเมืองมีวิกฤตหรือไม่ คนอาจจะไม่เห็นว่ามันมีวิกฤตอะไร แต่จริงๆ แล้วเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้เกิดความไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดหลัก นิติธรรมซ้ำแล้วซ้ำอีก และจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นไป จนสุดท้ายจะหาทางออกตามกระบวนการประชาธิปไตยได้ยาก
ที่ผ่านมาเลือก ตั้งได้รัฐบาลมาก็ล้มรัฐบาลไปด้วยการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การปลดคุณสมัคร สุนทรเวช ผมถือว่าเป็นการตัดสินขัดหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง พอมายุบพรรคพลังประชาชนก็ขัดหลักนิติธรรมอีก ประชาชนก็ไม่พอใจมาก สังคมก็ขัดแย้งรุนแรงจนมีการฆ่าประชาชนไปถึง 91 ศพ เพราะฉะนั้นก็หมายความว่าไม่แก้รัฐธรรมนูญ วิกฤตก็ยังคงอยู่และจะพัฒนาต่อไป สังคมไทยก็จะก้าวไปสู่การปะทะขัดแย้งกันโดยอาจจะไม่มีวิธีการสันติวิธีมาแก้ ดังนั้นการตัดสินใจเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ถ้าไม่แก้จะขัดแย้งรุนแรงในอนาคตและจะเป็นวังวนของความขัดแย้งไม่รู้จบและ รุนแรงมากขึ้น
- รัฐบาลจึงต้องยอมเสี่ยงระหว่างความขัดแย้งรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในช่วงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับความขัดแย้งในอนาคต?
ต้อง ยอมรับว่ามีได้มีเสีย! (หยุดคิด) เพราะประเทศไทยได้มาอยู่ในจุดที่ไม่มีทางที่จะไม่ทำอะไร หรือทำอะไรแล้วไม่มีความเสี่ยง ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญเลย สุดท้ายก็จะพบว่าสังคมไทยยิ่งแตกแยกรุนแรง และจะหนักกว่าตอนนี้มาก
- เวลาที่คาดว่าจะใช้ในการแก้รัฐธรรมนูญ?
ทั้ง หมดน่าจะประมาณสัก 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี คือขณะนี้ก็น่าจะต้องมีคณะบุคคล ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันยกร่างแก้ไขมาตรา 291 ซึ่งก็จะหมายถึงการพิจารณาองค์ประกอบที่มาของ ส.ส.ร. และการกำหนดให้ลงประชามติ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ก็จะไปตรงกับสมัยประชุมหน้าช่วงต้นปี 2555 จากนั้นก็จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. มีการหาเสียงกัน อะไรกันอีกกว่าจะได้ ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จรวมแล้วก็ประมาณ 6 เดือนจากนี้ไป
รัฐ ธรรมนูญฉบับหนึ่งๆ ที่เคยมีการยกร่างกันมาเฉพาะยกร่าง ก็ใช้เวลากันประมาณ 9 เดือนหรือ 1 ปี ซึ่งก็จะรวมเป็นปีครึ่ง หลังจากนั้นก็ลงประชามติ ก็อาจจะต้องใช้เวลาอีกสัก 30 วันหรือ 45 วัน ดังนั้นกว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะประกาศใช้ก็คงประมาณ 1 ปี 9 เดือน ทั้งหมดนี้ก็จะมีช่วงที่เป็นประเด็นทางการเมืองเข้มข้นหน่อย ก็ช่วงแก้ไขมาตรา 291 แต่ก็ไม่น่าจะนำไปสู่วิกฤตการเมืองอะไรมาก หากฝ่ายต่อต้านไม่ตั้งใจที่จะพาลมากจนเกินไป
- เหมือนประเมินกระแสต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ค่อยรุนแรงเหมือนครั้งก่อนๆ?
ใคร ที่คิดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่จะไม่รู้ การต่อต้านคงจะมีไม่น้อย และก็เริ่มมีขึ้นแล้ว โดยมีการหยิบประเด็นอ่อนไหวขึ้นมาโจมตีอย่างดุเดือดทั้งนอกสภาและในสภา ประเด็นชาตินิยมบ้าคลั่งก็ยังมีอยู่ ประเด็นการแทรกแซงสื่อก็ถูกขยายความเกินจริงไปเยอะ ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรเลย ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นจะหวังให้ราบรื่นก็คงจะไม่ได้อยู่แล้ว แต่ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าประเทศยังอยู่ในวิกฤต การเลือกตั้งได้ช่วยแก้ไขไปแค่ปัญหาหนึ่งคือใครจะมาเป็นรัฐบาล แต่วัฒนธรรมทางการเมือง สภาพแวดล้อมที่ผู้มีอำนาจยังไม่เชื่อถือการเลือกตั้งและระบบประชาธิปไตยก็ ยังมีบทบาทกันอยู่ ดังนั้นจะหวังให้รัฐบาลทำงานราบรื่นนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว
- เพราะอะไรถึงต้องเร่งรีบทำตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามาบริหารประเทศ จะทำงานสักระยะให้ประชาชนยอมรับก่อนไม่ดีกว่าหรือ?
การ แก้รัฐธรรมนูญ หากจะเริ่มให้ได้ภายใน 4 เดือนนี้ แล้วทำให้เสร็จภายใน 1 ปีครึ่งหรือ 2 ปี จะเร็วไปไหม ในความเห็นผมว่าไม่เร็วไป รัฐบาลในอดีตเช่นรัฐบาลพรรคพลังประชาชนช้าไปมาก จนไม่ได้แก้เลย ดังนั้นจึงไม่มีประเด็นว่าแก้เร็วไป แล้วก็บังเอิญว่าการจะเริ่มแก้ มันไม่สามารถเริ่มพรุ่งนี้ได้เลย จึงไม่มีปัญหาเรื่องเร็วไป
- แต่คงจะหลบเลี่ยงข้อครหาว่ารัฐบาลเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ?
คือ ถ้าใช้วิธีอื่น เช่นแก้ไขมาตรา 309 หรือแก้มาตราไหนก็ตาม แล้วก็ให้มีผลประโยชน์โดยตรงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างนั้นก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ แต่ถ้าเลือกใช้วิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. และให้ลงประชามติ ไม่มีเรื่องที่ต้องปฏิเสธความรับผิดชอบ เพราะโดยกระบวนการเป็นเรื่องที่ประชาชนเป็นคนตัดสินอยู่แล้ว
- ส.ส.ร.จะปกป้องทุกอย่างอย่างนั้นหรือ?
ส.ส.ร. และประชามติช่วยอธิบายอะไรได้หลายอย่าง แต่จริงๆ แล้วที่คนตั้งประเด็นว่าจะช่วยคนใดคนหนึ่งหรือไม่ หรือทำเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ มักจะลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาจากการยึดอำนาจของพวกที่ใช้กำลังความ รุนแรงอย่างป่าเถื่อนเข้ายึดอำนาจ เขียนรัฐธรรมนูญโดยปราศจากหลักการประชาธิปไตยและนิติธรรม ยังมีการนิรโทษกรรมให้พวกที่ทำลายบ้านเมือง ด้วยการนิรโทษกรรมตัวเองอีก ถือเสมือนว่ากลายเป็นเรื่องชอบธรรม โดยไม่มีข้อสงสัย แต่เมื่อจะมีการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยประชาชนทั้งประเทศ กลับมาตั้งคำถามกัน
ต้นสายปลายเหตุ "ฉายแสง"ดับวูบ!
ในการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 กลายเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 19 ปี ที่ไม่มี "ส.ส." ในตระกูล "ฉายแสง" ใน จ.ฉะเชิงเทรา
เนื่องจากทั้ง "ฐิติมา ฉายแสง" และ "วุฒิพงศ์ ฉายแสง" 2 ผู้สมัคร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย ต้องพ่ายแพ้ให้กับคู่ต่อสู้
"จาตุรนต์ ฉายแสง" พี่ชายใหญ่ของตระกูล "ฉายแสง" ตระกูลการเมืองใน "ฉะเชิงเทรา" มองว่าสาเหตุที่ทำให้ "ฉายแสง" ต้องพ่ายแพ้ไปใน 2 ที่นั่งนั้น เป็นเพราะส่วนหนึ่ง เขาซึ่งถือเป็น "พี่ใหญ่" ต้องออกจากวงจรทางการเมือง เพราะถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี
"ตรงนี้อาจจะมีส่วนบ้าง แต่มันก็มีเหตุอื่นๆ ด้วย (หยุดคิดครู่หนึ่ง) คือเราไปสู้แบบพรรคเพื่อไทยในภาคอีสานสู้ ซึ่งในภาคกลางยังไม่ได้ผลเพียงพอ" จาตุรนต์เล่า
เขา วิเคราะห์ว่า "คู่ต่อสู้" นั้น ไม่ได้ถือว่ามีแต้มบวกในเรื่องของ "ชื่อเสียง" แต่จะมี "คะแนน" ในส่วนของ "พรรคคู่ต่อสู้" ที่ถือว่ามีฐานความนิยมอยู่ในระดับที่สูสีกับ "พรรคเพื่อไทย"
ดังนั้น "จุดวัดผล" แพ้-ชนะ ที่สำคัญคือ "ความแข็งในด้านอื่น"???
"จาตุรนต์" นิยามว่า "ความแข็งในด้านอื่น" ของ "คู่แข่ง" นั้น ถือเป็น "ความสามารถพิเศษทางการเมือง" ที่สามารถจูงใจคนส่วนหนึ่ง ไปในทิศทางที่คู่ต่อสู้ต้องการได้
"ความสามารถพิเศษเหล่านี้ จะสามารถดึงคนส่วนหนึ่งให้ไปในทิศทางที่เขากำหนดได้ ซึ่งจุดนี้เกิดขึ้นในภาคกลางหลายจังหวัด แต่กลับไม่เป็นปัญหาในภาคอีสาน คือในภาคอีสานนั้นประชาชนจะตื่นตัวทางการเมืองมาก จะเลือก ส.ส.เลือกพรรคการเมืองในการเลือกตั้งด้วยเหตุผลทางการเมือง คือเลือกเพราะพรรค เลือกเพราะนโยบาย เลือกเพราะสั่งฆ่าหรือไม่สั่งฆ่า แม้กระทั่งเลือกเพราะชอบทักษิณ หรือไม่ชอบทักษิณ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าทางการเมืองอย่างมาก...
...แต่ นั่นยังไม่เกิดขึ้นในภาคกลาง ซึ่งทำให้มองได้ถึงความตื่นตัวทางการเมืองของคนในภาคอีสานและภาคกลาง ดังนั้น จึงอาจจะต้องกลับมาดูที่ตัวเราว่าเราจะทำอย่างไร ที่จะทำให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น แม้บางพื้นที่อาจจะยาก แต่ก็ต้องพยายาม เพื่อทำให้ประชาชนบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจ ได้เข้าใจมากขึ้น" จาตุรนต์กล่าว
อีกจุดสำคัญคือเขามองว่า การเล่นการเมืองแบบไม่ "สะสมเสบียง" ของ "ตระกูลฉายแสง" ที่เคยคิดว่าเป็น "จุดแข็ง" สำคัญทางการเมืองเหนือคู่แข่ง แต่วันนี้ได้กลับกลายเป็น "จุดอ่อน" ที่ทำให้ต้องพ่ายแพ้คู่ต่อสู้
"เราไม่เคยสะสม เสบียงทางการเมือง แต่ถึงจะมาคิดในวันนี้ก็คงไม่ทันแล้ว เพราะในการเลือกตั้งคู่ต่อสู้เขาใช้เสบียงต่างกับเรานับสิบเท่า เขาจับมือกันด้วย"
นับเป็นบทสรุปทางการเมืองครั้งสำคัญ ของ "ตระกูลฉายแสง"!