ที่มา มติชน
โดย จำลอง ดอกปิก
การ บรรจุหัวข้อแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ด้วยการเขียนผูกมัด จัดเป็นเรื่องสำคัญต้องดำเนินการ มิได้เป็นวาระสอดไส้หรือเพิ่งคิดขึ้นมาใหม่อย่างแน่นอน
พรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาล พยายามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาหลายครั้งหลายหนแล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งยังอยู่ในคราบพลังประชาชน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมารณรงค์อย่างต่อเนื่องตลอดห้วงการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน แม้แต่การหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป
เมื่อชูเป็นประเด็นหนึ่งในการหา เสียง ย่อมนำมากล่าวอ้างได้อย่างไม่เคอะเขินว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในหลายเหตุผล จูงใจให้ประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล
การเป็นหนึ่งในประเด็น หลักหาเสียงนี่เอง จึงเท่ากับว่า ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกเพื่อไทยจำนวนหนึ่งเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ และต้องบรรจุเป็นนโยบายตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้
ความจริง เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญนี้ หากมองโดยปราศจากอคติ จะพบว่าเป็นการสมควรยิ่งในอันที่จะแก้ไข ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันนั้นมีรากที่มา จากการรัฐประหาร และบทบัญญัติหลายมาตราไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย
อย่าง มาตรา 111 วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนรวม 150 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน และมาจากการสรรหาเท่ากับจำนวนรวมข้างต้น หักด้วยจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง
การมีสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.มาจากการสรรหา ขัดกับหลักการประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง (ทั้งหมด) แต่หากเห็นว่าสภาสูงยังจำเป็นต้องมีสมาชิกประเภทสรรหา จากภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคอาชีพ ภาคเอกชน ภาคการเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ก็ต้องปรับแก้บทบาทหน้าที่ เนื่องจากขัดต่อหลักการอย่างยิ่งที่ ส.ว.ผู้มาจากการสรรหา มีอำนาจถอดถอน ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง!
ไม่ นับรวมประเด็นหลัก อย่างมาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการ เมือง และกรรมการบริหารพรรคการเมือง บทเฉพาะกาลมาตรา 309 ที่ต้องถกเถียง หักล้างกันด้วยเหตุด้วยผลว่า สมควรปรับแก้ โละทิ้งหรือไม่อย่างไร หรือว่ายังจำเป็นต้องบัญญัติไว้เช่นเดิม
หากจะถามว่า ไม่มีข้อน่าวิตกห่วงใยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญกระนั้นหรือถึงได้ออกมาสนับสนุนให้ดำเนินการแก้ไข ก็ต้องตอบว่า มีแน่นอน
เริ่ม ตั้งแต่เกรงเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ ไล่ไปจนถึงฝ่ายการเมืองอาจเข้าไปแทรกแซง มีอิทธิพลเหนือคณะกรรมการหรือผู้เข้ามาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำกับการร่างเพื่อเอื้อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง แทนการเป็นกฎหมายแม่บทของประเทศตามคำจำกัดความแท้จริง ทั้งนี้เนื่องจากกระบวนการตั้งแต่ต้นธารยันปลายน้ำมีฝ่ายการเมืองเข้ามามี ส่วนเกี่ยวข้องด้วย
แม้จะใช้รูปแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ส่วนใหญ่จากจำนวนทั้งหมด 99 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน
คำถามก็คือ ผู้สมัครเหล่านี้จะหลุดรอดเข้ามาเป็น ส.ส.ร.ได้อย่างไร หากไม่อาศัยฐานเสียงจาก ส.ส.หรือนักการเมืองในพื้นที่ และเมื่ออยู่ใต้ร่มเงาฝ่ายการเมือง ส.ส.ร.จะทำหน้าที่ได้อย่างอิสระหรือไม่ สุดท้ายก็อาจกลายเป็นการวัดจำนวนเสียงกัน ไม่ต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส. เพียงแต่เปลี่ยนเวที จากการขับเคี่ยวกันในสภาผู้แทนราษฎร มาเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนจะไปชี้ขาดกันอีกทีที่รัฐสภา หรือการทำประชามติจะรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในชั้นสุดท้าย
การ แก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นกระบวนการที่ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างกว้างขวาง และต้องใส่ใจต่อความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ หรือเสียงทักท้วงนั้นด้วย ขณะเดียวกันผู้คนทุกภาคส่วนสังคมไทยจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม เฝ้าติดตาม ตรวจสอบ กำกับการยกร่างอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน
เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนออกมาดีที่สุด