ที่มา มติชน
โดย สาวตรี สุขศรี
หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ "นิติราษฎร์" (http://www.enlightened-jurists.com/) มติชนออนไล์เห็นว่ามีเนื้อหาน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ ดังนี้
วันที่ 10 ธันวาคม ที่ผ่านมาในเวลาเดียวกันกับงานสัมมนา "สถาบันกษัตริย์ รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย" ที่จัดโดยนิติราษฎร์ คนในแวดวงภาพยตร์ก็จัดงานเสวนาเชิงวิชาการเรื่อง "พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์กับรัฐธรรมนูญไทย" ที่หอภาพยนตร์ ศาลายา โดยมีปฐมเหตุมาจากภาพยนตร์เรื่อง Insects in the backyard ของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ของกระทรวงวัฒนธรรม สั่งห้ามฉายในราชอาณาจักรไทย ด้วยเหตุผล “มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน” จนเกิดกระแสประท้วงคัดค้าน โปรแกรมเดิมของงาน คือ การฉายภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวแก่ผู้เข้าร่วมเสวนา ในฐานะ "วัตถุแห่งการศึกษา" เพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณาและแสดงความคิดเห็นว่า การใช้ดุลพินิจโดยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯ มีเหตุผลและความชอบธรรมเพียงพอหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ก่อนงานเพียงวันเดียว กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีหนังสือประทับตรา "ด่วนที่สุด" ถึงผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ เพื่อเตือนว่าหากฉายภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวในงานเสวนาจะถือเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ภาพยนตร์ฯ มีโทษตามกฎหมาย สุดท้ายแล้ว การเสวนาจึงต้องดำเนินไปโดยปราศจาก "วัตถุแห่งการศึกษา" ...
ก่อน เริ่มเสวนาผู้จัดจึงจัดการฌาปนกิจศพให้ Insects in the backyard เสียเลย เพราะคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ นั้นมีผลเสมือนหนึ่งคนที่ถูกลงโทษประหารชีวิต
อัน ที่จริงแล้ว กิจกรรมนี้ต้องถือว่ายังทำไม่ครบถ้วน เพราะควรจัดงานญาปนกิจให้ประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ รวมทั้งรัฐธรรมนูญไปเสียในคราวเดียวกัน ซึ่งวันที่ 10 ธันวาคม อันเป็นวันที่คนไทยถูกทำให้ลืมวันที่ 27 มิถุนายน วันแรกของการมีรัฐธรรมนูญของประชาชนโดยแท้จริง น่าจะเหมาะสมที่สุดต่อกิจกรรมเช่นว่า หลายต่อหลายเหตุการณ์ในบ้านเมืองที่ผ่านมาได้แสดงให้ประจักษ์แจ้งแล้วว่าการ อวดโชว์ว่ามี "รัฐธรรมนูญ" ในการปกครอง ไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และใช้กฎหมายเป็นใหญ่ เพราะสุดท้าย "ใครต่อใคร" ก็มักเป็นใหญ่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญได้เสมอ ๆ "ใคร" ในที่นี้ไม่ว่าจะเป็น "ใคร" ในหัวข้อของวงเสวนาที่ธรรมศาสตร์หรือว่าศาลายา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 45 คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนไทยไว้ 2 ประเภท คือ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งควรต้องทราบด้วยว่าสิทธิสองประเภทนี้จำเป็นต้องมาด้วยกันเสมอ เพราะหากรัฐยอมให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ แต่ไม่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนั้น การรับรู้นั้นย่อมเป็นอันไร้ความหมาย "ผู้ส่งสาร" จะกลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือและทรงอิทธิพลทันที เพราะเมื่อสารถูกส่งออกไปแล้วประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ หากจะฝืนวิพากษ์วิจารณ์ก็อาจได้รับผลร้ายบางประการ หรือมิเช่นนั้นก็เกิดการโมเมเหมารวมโดยรัฐว่าประชาชนทุกคนเชื่อถือหรือจงรัก ศรัทธาใน "สิ่งนั้น สิ่งนี้" เหมือน ๆ กันไปหมด ทำนองเดียวกัน หากรัฐรับรองให้แสดงความคิดเห็นได้ แต่ปิดกั้นไม่ให้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็นย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะประชาชนขาดข้อมูลหรือกระทั่งไม่รู้ว่าจะแสดงความคิดเห็นต่อ "อะไร" ฉะนั้น ประเทศใดในโลกนี้ที่รับรองสิทธิไว้เพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ อ้างใช้ตามสถานกาณณ์และความสะดวกของพวกพ้อง จึงไม่ควรบอกว่าตนเป็นประชาธิปไตย เหมือนกับเรื่องที่เกิดขึ้นกับงานเสวนาภาพยนตร์นี้ที่จัดงานเสวนาเพื่อแสดง ความคิดเห็นได้ แต่ห้ามไม่ให้รับรู้ตัววัตถุแห่งการแสดงความคิดเห็น การแสดงความคิดเห็นย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง หรืออย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรา 45 แห่งรัฐธรรมนูญนี้ มีข้อยกเว้นสิทธิเสรีภาพไว้เช่นกัน ซึ่งแม้ในประเทศประชาธิปไตยเอง ก็อาจยอมรับได้หากข้อจำกัดดังกล่าววางอยู่บนหลักการที่ว่า การใช้สิทธิเสรีภาพต้องทำอย่างมีขอบเขต อย่างน้อย ๆ คือไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งประกอบด้วยเหตุ 1. เพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ 2. เพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน 3. เพื่อคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น และ 4. เพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน แต่การจำกัดโดยเหตุผลต่าง ๆ นี้รัฐจะทำลอย ๆ ไม่ได้ ต้องมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจชัดเจนเพียงเท่าที่จำเป็นและไม่กระทบกับสาระ สำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพในเรื่องนั้น (มาตรา 29 รัฐธรรมนูญ) ที่สำคัญก็คือ กฎหมายไม่ควรใช้ถ้อยคำกว้างอย่างเดียวกันกับที่กำหนดในรัฐธรรมนูญเอง เพราะโดยเป้าหมายของรัฐธรรมนูญกับกฎหมายอื่น ๆ แตกต่างกัน รัฐธรรมนูญเป็นธรรมนูญในการปกครองประเทศ มีไว้เพื่อวางกรอบการปกครอง กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ของประเทศโดยรวม จึงคงบัญญัติได้แต่เพียงหลักการกว้าง ๆ เท่านั้น ในขณะที่รายละเอียดของการปกครอง ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกฎหมายเฉพาะเรื่อง ฉะนั้น จึงควรถือเป็นหน้าที่โดยปริยายว่า กฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีโทษลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องบัญญัติให้ชัดเจน
ปัจจุบัน มีกฎหมายหลายฉบับที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมเนื้อหาในสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ฯ พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฯ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ฯ รวมทั้งประมวลกฎหมายแพ่ง หรือประมวลกฎหมายอาญา ที่ว่าด้วยการหมิ่นประมาทบุคคลอื่น แต่ประเด็นสำคัญ ก็คือ ทั้งผู้บังคับใช้กฎหมาย และผู้ถูกกฎหมายใช้บังคับ ต้องแยกแยะระหว่างโทษของผู้กระทำ กับการใช้มาตรการจำกัดเสรีภาพโดยรัฐออกจากกันให้ดี ๆ ทั้งนี้เพราะหากในที่สุดแล้ว เนื้อหาที่เผยแพร่เหล่านั้นเป็นความผิด ผู้เผยแพร่หรือผลิตย่อมต้องเกิดความรับผิดตามกฎหมาย แต่รัฐจะยังไม่สามารถปิดกั้นเนื้อหาใด ๆ ได้โดยอัตโนมัติ เว้นแต่มีกฎหมายเขียนระบุมาตรการนี้ไว้ด้วย ซึ่ง ณ วันนี้ในกรณีที่ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ปกติคงมีเพียง พระราชบัญญัติว่าด้วยกการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 เท่านั้น ที่เขียนให้อำนาจรัฐในการปิดกั้น หรือห้ามเผยแพร่เนื้อหาบางประเภท ได้ทันทีโดยที่ยังไม่ต้องดำเนินคดีกับบุคคลใดก่อน
อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างที่น่าสนใจระหว่างกฎหมายสองฉบับก็คือ การเซ็นเซอร์สื่อออนไลน์ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ (มาตรา 20) เป็นการ "เซ็นเซอร์ภายหลัง" (การเผยแพร่แล้ว) ในขณะที่การเซ็นเซอร์ตามพ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ เป็นการ "เซ็นเซอร์ก่อน" (การเผยแพร่) ซึ่งในทางกฎหมายแล้วให้ผลรุนแรงกว่า และสิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ แม้วัตถุประสงค์แรกเริ่มในการแก้ไข พ.ร.บ. ภาพยนตร์ 2473 คือ ความพยายามของคนในแวดวงภาพยนตร์ที่จะทำให้กฎหมายสอดคล้องกับยุคสมัย ด้วยการเสนอให้รัฐนำ "ระบบการจัดระดับความเหมาะสม" (Rating) มาใช้กับภาพยนตร์แทนระบบเซ็นเซอร์ที่ใช้อยู่เดิม ในขณะที่ฝ่ายรัฐเองก็โหมประชาสัมพันธ์ว่าเราทันสมัยใช้ระบบจัดเรตภาพยนตร์ แล้ว แต่ในความเป็นจริงกลับปรากฏว่า ระบบเซ็นเซอร์ยังคงเป็นระบบหลักที่ใช้กับภาพยนตร์อยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปโฉมโนมพรรณให้ออกมา "เนียน" กว่าเก่าในนามเรต "ภาพยนตร์ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร" (มาตรา 26 (7) พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์) เท่านั้น ทั้งนี้มีเหตุควรเชื่อได้ว่า ถ้าคิดกันเฉพาะประเทศที่อ้างว่าตนใช้ระบบให้เรตภาพยนตร์แทนการเซ็นเซอร์แล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีเรต "ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร" เหตุผลของการไม่อนุญาตให้ฉาย ก็คือ มีเนื้อหาที่บ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ และเกียรติภูมิของประเทศไทย ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 29 พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์
สำหรับกรณีของการห้ามฉาย Insects in the backyard นั้นมีเรื่องที่สมควรพิจารณา 2 ประเด็น คือ
1) ถ้าคนไทยยอมรับว่าการจัดเรตตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ 2551 เป็นเรื่องถูกต้องเหมาะสมแล้ว เท่ากับคนไทยยอมรับว่า หากภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่งมีเนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน (ซึ่งเป็นเหตุผลของการห้ามฉาย Insects in the backyard) คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ฯ ย่อมสามารถห้ามฉายในราชอาณาจักรได้
ปัญหา ที่ต้องพิจารณาในข้อนี้ ก็คือ ถ้าเช่นนั้น Insects in the backyard เป็นภาพยนตร์ที่ "ขัดต่อศีลธรรม" จริงหรือไม่ ? (น่าเสียดาย ที่ท้ายที่สุดมีคนไทยเพียงไม่กี่คนที่ได้ดู และสามารถแสดงความคิดเห็นต่อปัญหานี้ได้) เนื่องจากผู้เขียนมีโอกาสได้ดู พบว่า Insects in the backyard เกือบทั้งเรื่อง นำเสนอฉาก และเรื่องราวที่อาจมิได้สอดคล้องกับศีลธรรมอันดี (ในสายตาของรัฐหรือของคณะกรรมการฯ) ไม่ว่าจะเป็นฉากนักเรียนกินเหล้า สูบบุหรี่ ฉากการร่วมเพศของต่างเพศและเพศเดียวกัน การขายบริการทางเพศ ฯลฯ แต่คำถามก็คือ การนำเสนอฉากเหล่านี้ในลักษณะจำลองภาพ หรือสะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างตรงไปตรงมาถือว่า "ขัดต่อศีลธรรม" ได้กระนั้นหรือ ?
ภาพยนตร์ ถือเป็น สื่อ ประเภทหนึ่ง ดังนั้นย่อมได้รับความคุ้มครอง หรือถูกจำกัดการนำเสนอได้ตามมาตรา 45 รัฐธรรมนูญอย่างมิต้องสงสัย แต่ต้องไม่ลืมว่า ภาพยนตร์ (รวมทั้งศิลปะแขนงอื่น) มีความแตกต่างจากการสื่อสารมวลชน อย่างสำคัญข้อหนึ่ง คือ ในขณะที่การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อสารมวลชน คือการนำเสนอข่าวสารข้อเท็จจริง หรือความคิดเห็นต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามลักษณะวิชาชีพ การบิดเบือนหรือกระทั่งทำให้มีการตีความได้จนเกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น หรือต่อสังคมโดยรวม จึงไม่ควรเกิดขึ้นได้ในความคาดหวังของผู้รับสื่อ แต่ภาพยนตร์หรือศิลปะแขนงอื่นจะเป็นการนำเสนอจินตนาการเพื่อให้ผู้ชมตีความ ได้เองมากกว่า สื่อภาพยนตร์ ไม่ได้หรือไม่จำเป็นต้องถูกคาดหมายจากคนดูหรือสังคมโดยรวมว่าต้องนำเสนอ เรื่องจริงเท่านั้น ส่วนใหญ่จึงมักฉายภาพต่าง ๆ ด้วยวิธีการ มุมมอง และอารมณ์ความรู้สึกของตัวผู้สร้างเอง นอกจากนี้ ยังไม่เคยหรือไม่ควรมีกฎเกณฑ์ใด ๆ ที่กำหนดว่า ภาพยนตร์ต้องเสนอสิ่งที่ทำให้ผู้ชมเกิดความเพลิดเพลิน จำเริญใจ สุขสม หรือส่งเสริมคุณธรรมเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเสนอแง่มุมที่โหดร้ายของสังคม ตีแผ่ความจริง หรือเรื่องราวที่หลากหลายมีทั้งดีและไม่ดี มันจึงเป็นสื่อที่ทำได้หลากหลายหน้าที่ อนึ่ง แม้ศีลธรรมจริยธรรมจะยังเป็นเรื่องจำเป็น และถือเป็นอุดมคติในทุก ๆ สังคม แต่ ทุก ๆ สังคมนั้น ก็ควรต้องยอมรับด้วยว่า การอบรม บ่มนิสัย หรือขัดเกลาคนให้เป็นคนดีมีจริยธรรมศีลธรรมไม่ใช่ภาระหน้าที่ของ "ภาพยนตร์" แต่เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ที่จะให้คำแนะนำกับผู้อยู่ในการปกครอง หรือบุตรผู้เยาว์ ต่างหาก แน่นอนที่ว่า ภาพยนตร์เรื่องใดมีลักษณะเชิญชวนให้คนทำสิ่งผิดกฎหมาย ทำลายจารีตของสังคม ภาพยนตร์นั้นอาจเข้าข่ายมีปัญหา แต่หากภาพยนตร์นั้นเพียงชี้หรือแสดงให้เห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ ในสังคมหนึ่ง ๆ (ดีหรือไม่ดีนั่นอีกเรื่อง แล้วแต่คนดูจะตัดสิน) อย่างตรงไปตรงมา เพื่อนำไปสู่การ "มองเห็น" ปัญหาแล้วหันหน้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหา ภาพยนตร์ลักษณะนี้จะ "ขัดต่อศีลธรรม" ได้อย่างไร ? คนดู Insects in the backyard ไม่อาจรู้ได้ด้วยตัวเองหรือว่า ตัวเอกสามตัวล้วนมีปัญหากับชีวิตบางอย่าง มีทุกข์ มีสุข กับสิ่งที่เขาเลือกทำ ผู้สร้างอาจไม่ได้ทำหนังออกมาในเชิงตำหนิติเตียนพฤติกรรมเหล่านั้นอย่าง ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้ทำออกมาเพื่อบอกกล่าวคนดูว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งดี หรือควรทำ
เป็นเรื่องถูกต้องหากจะกล่าวว่า ความสามารถในการรับสาร ความสามารถในการตีความศิลปะ ไม่ได้มีเท่ากันทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย แต่ขึ้นอยู่กับระดับประสบการณ์ และวุฒิภาวะ ฉะนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องช่วยกำกับดูแลภาพยนตร์บางเรื่องเพื่อ "คุ้มครอง" คนในวัยที่ควรได้รับความคุ้มครองเพราะเหตุ "หย่อนความสามารถ" บางอย่าง เช่น เด็กและเยาวชน ซึ่งยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือมีปัจจัยบางอย่างที่เขายังไม่มีสามารถแยกแยะเรื่องที่ควรทำกับไม่ควรทำ ออกจากกันได้ และนี่เองที่นำไปสู่ระบบการจัดเรตภาพยนตร์ ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว เป็นระบบ "ให้คำแนะนำกับผู้ปกครอง" เพื่อใช้ในการตัดสินใจว่าจะยอมให้บุตรหลานของตนดูภาพยนตร์ได้หรือไม่ ไม่ใช่ระบบบังคับควบคุมแบบเหมารวม
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนฝ่ายรัฐผู้ใช้อำนาจในเรื่องนี้ในประเทศไทยนี้ยัง "หย่อนความสามารถ" หรือขาด "วุฒิภาวะ" อยู่มาก จึงไม่สามารถหรือไม่กล้าพอที่จะนำระบบที่ว่านี้มาใช้อย่างแท้จริง และควรต้องสังเกตด้วยว่า รัฐกลับมีความสามารถพิเศษอย่างยิ่งยวดและสม่ำเสมอในการดูถูกวิจารณญาณ และวุฒิภาวะของประชาชนทั้งมวล
2) ถ้าคนไทยไม่ (หรือไม่ควร) ยอมรับว่า วิธีการกำหนดเรตตามพ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ เป็นเรื่องถูกต้องเหมาะสม นั่นย่อมแสดงว่า ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเรื่องใด แม้มีฉากหรือเรื่องราวที่ไม่สอดคล้องกับศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่ภาพยนตร์เรื่องนั้น ก็ไม่อาจถูกห้ามฉายในราชอาณาจักรได้เลย กล่าวให้ง่ายก็คือ หากยึดถือหลักการของระบบการให้เรตติ้งอย่างจริงจังแล้ว การแบนหนัง หรือการไม่อนุญาตให้ฉายทั้งเรื่องไม่ควรเกิดขึ้นได้
การปรากฎตัวของ "ระดับความเหมาะสม" (Rating) ประเภท "ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร" ตามมาตรา 26 (7) พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ควรถือเป็นสิ่งแปลกปลอมและพิลึกพิลั่นที่สุดในระบบของการจัดเรตติ้ง และการแบน Insects in the backyard ไม่ได้ให้คำตอบอะไรกับสังคมไทยมากไปกว่ายืนยันว่าแท้จริงแล้ว พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ 2551 ที่อ้างว่าปรับปรุงแก้ไขแล้ว ยังคงใช้การ "เซ็นเซอร์" โดยปล่อยให้เป็นอำนาจของคนเพียงไม่กี่คนอยู่เช่นเดิม ซึ่งหากคนไทยมองเห็นปัญหาร่วมกัน และคิดได้แบบนี้ สิ่งที่ต้องช่วยกันหาคำตอบในวงเสวนา พ.ร.บ.ภาพยนตร์กับรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา จึงไม่ใช่ปัญหาว่า Insects in the backyard "ขัดศีลธรรม" หรือไม่ ? หรือการตัดสินใจของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯ ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ? แต่คือปัญหาว่า พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ 2551 ควรถูกแก้ไขอย่างไร ? ในที่สุดแล้วเรตห้ามฉายควรมีอยู่ในกฎหมายต่อไปหรือไม่ ? กระทั่งปัญหาที่ว่า เอาเข้าจริงแล้วกฎหมายฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ? เพราะต่อให้ Insects in the backyard มีฉากหนึ่งฉากใด หรือทั้งเรื่องมีฉากโป๊ะเปลือย การร่วมเพศ ใช้ยาเสพติด ความรุนแรง ฯลฯ หนังเรื่องนี้ก็ยังต้อง "ได้เผยแพร่" หรือฉายในราชอาณาจักรอยู่ดี เพียงแต่ถูกจัดให้อยู่ในเรตที่คนอายุที่เหมาะสมเท่านั้นที่ดูได้
หลัง ดูหนังเรื่องนี้แล้ว เมื่อนำมาประกอบเข้ากับอัปลักษณะของ พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ฯ ประสานกับข้อมูลแนวโน้มของการพิจารณาภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ที่ผ่านมาภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งมักอ่อนไหวมากกับประเด็น "เพศที่สาม" ได้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า หากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หรือหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องอื่นใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายนิติบัญญัติ มองว่า การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับคนเพศที่สาม คือ ปัญหาที่ขัดต่อศีลธรรม หรือมองว่าคนที่มีลักษณะ "สับสนทางเพศ" เป็นปัญหาหรือนำปัญหาต่าง ๆ มาสู่สังคมไทย คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ฯ ก็ควรต้องทราบด้วยว่า ถ้าเราสามารถสมมติ "เพศ" ให้กับสิ่งของได้ พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ คือ ตัวอย่างที่ดีที่สุดของ "ปัญหาสังคม" ที่คณะกรรมการฯคิดและเข้าใจ เพราะกฎหมายฉบับนี้มีความ "สับสนทางเพศ" มากที่สุด เนื่องจากไม่มีความชัดเจนเลยว่า ตกลงแล้วจะใช้ระบบเรตติ้งหรือเซ็นเซอร์กันแน่ แต่ที่แย่ยิ่งกว่ากรณีของคนเพศที่สาม ก็คือ มันดันมีบทลงโทษทางอาญาที่สามารถคุกคามหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนคน อื่น ๆ ได้ด้วย
บทสรุปต่อกรณีนี้
อาจ มีประชาชนบางหมู่เหล่าชี้หน้านักวิชาการ คนดูหนัง หรือแวดวงศิลปะที่ประท้วงการแบนภาพยนตร์ว่า เป็นพวกเสรีนิยมจ๋า เรียกร้องเสรีภาพโดยไม่สนใจหน้าที่ แต่หากพิจารณาให้ดี คำกล่าวหาเหล่านี้มักตั้งอยู่บน อคติ ออกจะเลื่อนลอย และหลายมาตรฐาน สาเหตุมาจากหลากหลายประการ อาทิ ประการแรก อาจเป็นเพราะคนเหล่านี้มิใช่ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของรัฐเสียเอง จึงมิได้รู้สึกร้อนหนาวกับการจำกัดเสรีภาพที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มอื่น ทำนองเดียวกับการไม่รู้สึกสะทกสะท้านกับเหตุการณ์ละเมิดสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง ในช่วงปีที่ผ่านมา ประการที่สอง คนเหล่านี้มักไม่ทราบว่า มีภาพยนตร์ที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยคณะกรรมการพิจารณา ฯ จำนวนไม่น้อย ที่ได้รับอนุญาตให้ฉายได้ด้วยเรต ที่สมควรถูกตั้งคำถาม ทั้งที่มีฉากและภาพความรุนแรงไม่ยิ่งหย่อน หรือเผลอ ๆ อาจมากกว่า Insects in the backyard ที่ถูกแบน นี่ยังไม่ได้กล่าวถึง การที่คนกลุ่มนี้อีกเหมือนกันที่ไม่เคยอินังขังขอบกับ "ละครหลังข่าว" จำนวนมากที่โลดแล่นนำเสนอฉากตบตีระหว่างหญิงสาวเพื่อแย่งชิงชายหนุ่มสู่สาย ตาเด็กและเยาวชนอย่างหน้าตาเฉย ประการที่สาม คนเหล่านี้ชอบทำหูทวนลมว่า กลุ่มผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพส่วนใหญ่ ก็ยังตระหนักทราบในหน้าที่เช่นเดียวกัน อย่างน้อย ๆ คือการใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองโดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ดังกล่าวไปแล้วว่า ตามมาตรา 45 รัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพในเรื่องเหล่านี้อาจถูกจำกัดลงได้ด้วยกรอบต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ แต่ปัญหาที่คนไทยต้องสังเกตและหมั่นพูดถึง ก็คือ กฎหมายลูกฉบับใด ๆ ในที่นี้คือ พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ที่รัฐบัญญัติขึ้นเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ ใช้วิธีการบัญญัติด้วยการล้อเอาถ้อยคำซึ่งเป็นเพียง "กรอบกว้างๆ" มาจากรัฐธรรมนูญ จึงก่อให้เกิดความ "คลุมเคลือ" ไม่ชัดเจนของกฎหมาย ยังผลให้อำนาจในการพิจารณาตัดสินใจชี้ถูกผิดตกอยู่ที่คนเพียงกลุ่มเดียว และเหตุผลที่ตัดสินล้วนเป็น "อัตวิสัย" ส่วนบุคคลทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ข้อหาเป็นภัยต่อรัฐ หรือขัดต่อศีลธรรม (การใช้อัตวิสัยเป็นปัญหาอย่างไร อ่านบทความ "ศิลปะ เสรีภาพและประชาธิปไตย" ของ วันรัก สุวรรณวัฒนา) และประการสุดท้ายคือ คนเหล่านั้นเคยทราบหรือไม่ว่า แม้สิทธิเสรีภาพของประชาชนอาจถูกจำกัดได้โดยกฎหมาย แต่กฎหมายที่ออกมาจะต้องเป็นไปเพียง "เท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้" ตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 29 รัฐธรรมนูญ เท่านั้น คนเหล่านั้นเคยตั้งคำถามหรือฉุกคิดบ้างหรือไม่ว่า การห้ามเผยแพร่ภาพยนตร์ทั้งเรื่อง โดยอ้างอำนาจตาม มาตรา 29 พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ทั้งที่ในความเป็นจริง (1) ภาพยนตร์ไม่ใช่สื่อที่เผยแพร่เป็นการทั่วไป หรือทุกคนเข้าถึงได้ทุกเมื่อ กล่าวคือ ประชาชนสามารถเลือกที่จะดูหรือไม่ดูภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ด้วยตัว เอง ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลข่าวสารในลักษณะอื่น ๆ กับ (2) มีกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐจำแนก หรือกำหนดให้ภาพยนตร์ในลักษณะใด ช่วงวัยใดสามารถดูได้ หรือดูไม่ได้ อันเป็นการ "จำกัด" เสรีภาพลงเท่าที่จำเป็น เอาไว้แล้ว แต่รัฐก็ยังเลือกที่จะออกกฎหมายเปิดช่อง หรือกระทั่งเลือกใช้วิธีการ "ห้ามฉาย" ซึ่งเป็นการ "กำจัด" สิทธิของประชาชนทุกคนโดยเด็ดขาด อยู่ดี ซึ่งลักษณะการใช้อำนาจแบบนี้ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 29 แล้ว เพราะกระทบต่อสาระสำคัญของตัวสิทธิเสรีภาพอย่างชัดเจน
สุด ท้าย พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในยุครัฐบาลคมช. หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ควรถูกสังคายนาใหม่อีกครั้ง และเรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องผลักดันให้ระบบการให้เรตภาพยนตร์ที่แท้จริงใช้ได้ในประเทศไทยเสียที ไม่มีการ "สอดไส้" บทห้ามฉายไว้ได้อีก อย่างไรก็ตาม หากสังคมไทยต้องการเล่นบทประนีประนอม และเห็นว่าควรมีมาตรการดังกล่าวไว้บ้างเพื่อใช้กำกับภาพยนตร์ที่มี "เนื้อหา" เป็นความผิดจริง ๆ หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติไทย ก็คือ ต้องพยายามกำหนดไว้ในตัวกฎหมาย (ไม่ใช่ในคู่มือการพิจารณาภาพยนตร์) ให้ชัดเจนว่า เนื้อหาหรือฉากในลักษณะใดบ้างที่เมื่อมีแล้วผู้สร้างต้องตัดออก หรือดำเนินการแก้ไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าไม่ดำเนินการก็ไม่สามารถให้ฉายได้ อาทิ ภาพลามกอนาจารเด็กและเยาวชน ฉากมนุษย์ร่วมเพศกับสัตว์ ฉากสอนการทำระเบิดหรือวิธีการทำผิดกฎหมาย ฯลฯ เป็นต้น มิใช่ใช้ถ้อยคำกว้างขวาง คลุมเครือ ปล่อยให้เป็นดุลพินิจของฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมาย อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นจุดอัปลักษณ์ที่สุดของกฎหมายฉบับนี้.
--------------------------------------------------------
มาตรา 45 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550
"บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
การ จำกัด เสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน
การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้
การ ห้าม หนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็น ทั้งหมด หรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามวรรคสอง
การ ให้นำข่าว หรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอื่น จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้น ตามวรรคสอง
เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย
การให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชน รัฐจะกระทำมิได้"
มาตรา 29 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550
"การ จำกัด สิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้
กฎหมาย ตามวรรค หนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็น การเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วยโดยอนุโลม"
มาตรา 26 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551
"ใน การตรวจ พิจารณาภาพยนตร์ตามมาตรา 25 ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์กำหนดด้วยว่าภาพยนตร์ดังกล่าวจัด อยู่ในภาพยนตร์ประเภทใด ดังต่อไปนี้
(1) ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู
(2) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป
(3) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบสามปีขึ้นไป
(4) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป
(5) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไป
(6) ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู
(7) ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร
ความใน (6) มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ดูซึ่งบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส
หลักเกณฑ์ในการกำหนดว่าภาพยนตร์ลักษณะใดควรจัดอยู่ใน ภาพยนตร์ประเภทใดให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง"
มาตรา 29 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551
"ใน การพิจารณา อนุญาตภาพยนตร์ตามมาตรา 25 ถ้าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เห็นว่าภาพ ยนตร์ใดมีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทยให้คณะ กรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิ ทัศน์มีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขหรือตัดทอนก่อนอ นุญาต หรือจะไม่อนุญาตก็ได้
ภาพยนตร์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตตามมาต รา ๒๕ มิให้ถือว่าภาพยนตร์นั้นมีลักษณะที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง"