ที่มา มติชน
โดย ปราปต์ บุนปาน
(ที่มา คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2553)
ใคร ที่ติดตามข่าวสารการเมืองไทยอย่างละเอียดในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาคงตระหนัก ถึงปรากฏการณ์ล้นทะลักท่วมทะลุของข้อมูล ความคิดต่างๆ จำนวนมาก
ซึ่งอาจส่งผลทำให้ "ระบบ" ต่างๆ ในสังคมการเมืองไทยดำเนินไปอย่างติดขัดหรือถึงกับไม่ทำงานเอาได้
ปรากฏการณ์เช่นนี้นำไปสู่คำถามที่ว่าวิธีการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ที่สังคมไทยใช้อยู่ตลอดมา
ยังคงมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป?
ทั้ง นี้ วิธีการแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน คงมิใช่การกดทับ ปิดกั้น หรือเมินเฉยต่อข้อมูล ความคิด ความรู้สึกอันแปลกแยก ดังที่เคยทำกันมา
เพราะนั่นจะยิ่งนำไปสู่ "ความกดดัน" ที่ต่างคน ต่างฝ่าย ต่างจะแบกรับไว้ได้ไม่ไหวมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
และยากคาดการณ์ว่า "ความกดดัน" ดังกล่าวจะแปรผันกลายเป็นอะไรอย่างอื่นหรือไม่?
คำถามต่อมาก็คือ แล้ววิธีการใดที่จะสามารถนำมาใช้รับมือกับ "ความไม่แน่นอน" ดังกล่าวได้?
คง เป็นอย่างที่มีผู้หวังดีจำนวนหนึ่งเสนอเอาไว้ว่า สังคมไทยจำเป็นต้องสร้างพื้นที่สาธารณะ เพื่อรองรับการแสดงความคิดเห็นอันแตกต่างของผู้คนในสังคมอย่างเปิดกว้างมาก ยิ่งขึ้นกว่านี้
เราต้องให้การรับรองถึงความชอบธรรมของ พื้นที่สาธารณะดังกล่าวตราบเท่าที่การแสดงความเห็นในพื้นที่เช่นนั้น มีความปรารถนาดีต่อ "ระบบ" หรือ "โครงสร้าง" ของสังคมไทยโดยรวม
นอก จากนี้ ยังจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ได้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผลในพื้นที่สาธารณะซึ่งถูกสร้าง สรรค์ขึ้น
วิธีการเช่นนี้เท่านั้นที่จะสามารถช่วยสร้าง "ภูมิคุ้มกัน" และค่อยๆ ปรับเปลี่ยน "ดุลยภาพ" มิให้คนไทยและสังคมไทยมีศักยภาพอ่อนด้อยจนเกินไป
หากต้องเผชิญหน้ากับ "ความไม่แน่นอน" ในอนาคต
ทั้งยังจะทำให้ "ระบบ" หรือ "โครงสร้าง" ของสังคมการเมืองไทยโดยรวม สามารถปรับตัวและดำรงอยู่ต่อไปได้ในระยะยาว
แทน ที่จะปล่อยให้อำนาจรัฐกดทับทุกอย่างเอาไว้ด้วย ความเคยชิน ทั้งที่ความสามารถดังกล่าวของรัฐไทยเริ่มถูกตั้งคำถามและท้าทายมากขึ้นทุก ขณะ
การเสนอแนวทางเช่นนี้วางอยู่บนพื้นฐานที่ปรารถนาให้ทุกคนในสังคมไทยพอจะอยู่ร่วมกันได้
ท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดที่สามารถอภิปรายโต้เถียงกันอย่างเปิดกว้าง
ไม่ใช่การแสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ต่อความแปลกแยกแตกต่างที่เกิดขึ้น หรือการพยายามยื้อยุดกาลเวลาและหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงของสังคม
เพราะนั่นมิใช่วิธีการที่ดีในการ "ธำรงรักษา" สังคมไทยแต่ประการใด