ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ เหล็กใน
มันฯ มือเสือ
เพิ่งสิ้นเสียงนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์ไปเมื่อวันศุกร์ว่า
รัฐบาลกำลังหาช่องปรับขึ้นเงินเดือนให้นักการเมือง
ปรากฏ ว่าวันอาทิตย์ก็มีข่าวคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ หรือ กงช. เตรียมเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาจำนวน 9 ฉบับ ปรับขึ้นเงินเดือนทั้งระบบ
ครอบคลุมข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ครู ตุลาการ อัยการ องค์กรอิสระ
รวมถึงนักการเมืองตั้งแต่ประธาน-รองประธานสภาผู้แทนฯ ประธาน-รองประธานวุฒิสภา ไปจนถึงส.ส. ส.ว. และกรรมาธิการ
ให้ครม.พิจารณาเห็นชอบวันอังคารนี้
ข่าวยังระบุในส่วนข้าราชการน่าจะได้ปรับขึ้นเฉลี่ย 5 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่นักการเมืองจะได้ปรับค่าตอบแทนทั้งที่เป็นเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม รวมเกือบ 15 เปอร์ เซ็นต์
ตัวอย่าง เช่น ส.ส.และส.ว.จะมีรายได้ต่อเดือนเพิ่มจาก 104,330 บาท เป็น 113,560 บาท ประธานรัฐสภา 115,920 เป็น 125,590 บาท ประธานวุฒิสภา 110,390 เป็น 119,920 บาท
นอกจากนี้ยังมีร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและ ประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของนักการเมือง ซึ่งทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ เสนอเข้าประกบ
โดยร่างของสำนักงานเลขาฯ สภาผู้แทนฯ นี้จะมีเรื่องปรับเพิ่มสวัสดิการอื่นๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน ค่าเบี้ยประชุม ค่ารักษาพยาบาลอยู่ด้วย
เหมือนเป็นเวรกรรมทุกครั้งที่มีข่าวขึ้นเงินเดือนนักการเมือง
จะต้องถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงคัดค้านไม่เห็นด้วยมาตลอด ด้วยเหตุผลเป็นเสียงเดียวกันว่าที่ผ่านมานักการเมืองทำงานไม่คุ้มเงิน
หลักฐานที่เห็นได้ชัดเลยก็คือการปล่อยให้สภาล่มแล้วล่มอีก
หรือเวลาพร้อมใจกันมาประชุมก็ยังทะเลาะเบาะแว้ง ลุกขึ้นชี้หน้าด่าทอกันด้วยถ้อยคำหยาบคาย
เป็นที่เบื่อหน่ายของชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของเงินเดือน
สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นในหมู่นักการเมืองที่นับวันมีแต่จะรุนแรงมากขึ้น
ล่าสุดเมื่อปลายเดือนพ.ย.นี้เอง ผลสำรวจความเห็นนักธุรกิจและผู้แทนสภาหอการค้าทั่วประเทศ
เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่าต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้นักการเมืองและข้าราชการเพื่อให้ได้สัญญาธุรกิจที่ทำกับภาครัฐ
มากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าสัญญาที่ได้รับงานมา
ผลงานอย่างนี้อย่าว่าแต่ขึ้นเงินเดือนเลย
ไม่ลดเงินเดือนก็บุญเท่าไหร่แล้ว