ที่มา ประชาไท
พฤกษ์ เถาถวิล
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เรื่อง ที่จะพูดไม่ได้เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยตรง แต่จะพูดถึง บริบทของความไร้สิทธิมนุษยชน ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมองผ่านเรื่องการเผาศาลากลางจังหวัด
ขอกล่าวถึง ข้อเท็จจริงกรณีการเผาศาลากลางอุบลฯก่อน โดยจะเน้นไปที่ปฏิกิริยาของชนชั้นกลางชาวเมืองอุบลฯ (อุบลเป็นเมืองใหญ่ คนเหล่านี้ได้แก่ข้าราชการ นักธุรกิจ ผู้ประกอบการค้า ส่วนใหญ่อยู่ในตัวอำเภอเมือง ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เสียงดังกว่าชาวบ้านทั่วๆไป) ต่อเหตุการณ์ครั้งนี้
หลังจากเผลิงสงบลงในเย็นวันที่ 19 พ.ค. 53 ซึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงอุบลฯมีส่วนเกี่ยวข้องกับอัคคีภัยครั้งนี้ แน่นอน ปฏิกิริยาจากชนชั้นกลางชาวเมือง คือความตื่นตระหนก ระคนกับความเสียใจ และโกรธแค้น หลังจากนั้นมีเหตุการณ์น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
-เช้า วันรุ่งขึ้นหน่วยราชการจังหวัด ทำพิธีทำบุญตักบาตร ที่หน้าสถานที่เกิดเหตุ มีข้าราชการและประชาชนมาร่วมคับคั่ง หลังจากนั้นอีก 2-3 วัน มีการทำบุญสะเดาะเคราะห์และสืบชะตาเมืองครั้งใหญ่
-ใน แต่ละวัน โดยเฉพาะตอนเย็น มีประชาชนจำนวนมากแวะเวียนมาดูซากเถ้าถ่านศาลากลาง หลายคนโพสท์ท่าถ่ายรูป ณ สถานที่เกิดเหตุเป็นที่ระลึก ในขณะที่ในเวปไซต์ท้องถิ่นมีการแสดงความเห็นในกระทู้แสดงความเห็น คนส่วนใหญ่ ประณามสาปส่งผู้เผาศาลากลางอย่างสาดเสียเทเสีย
-กลุ่ม ประชาสังคมชาวอุบล จัดการเสวนาร่วมกันออกแบบศาลากลางหลังใหม่ ควรกล่าวด้วยว่า วงเสวนานี้หลีกเลี่ยงอย่างสิ้นเชิงที่จะทำความเข้าใจเบื้องหน้าเบื้องหลัง การเผาศาลากลาง
-ใน เดือน พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากเคลียร์พื้นที่ซากศาลากลางหมดจรด จะด้วยเหตุบังเอิญหรือไม่ไม่แน่ชัด มีการใช้สถานที่ตรงนั้น จัดงานส่งมอบอาคารพิพิธภัณฑ์จังหวัด ในงานที่ต่อเนื่องกันนั้น มีการจัดงานพิธีกรรมรำลึกประจำปีถึงบรรพชนผู้ก่อตั้งเมืองอุบล ในนาม “วัน แห่งความดี” ควรกล่าวอีกด้วยว่า เรื่องศาลากลางจังหวัดถูกเผา กลายเป็นเรื่องเงียบที่ไม่มีการพูดถึง ทั้งที่ส่วนหนึ่งของสถานที่จัดงานเกิดขึ้นบนพื้นที่ตั้งของศาลากลางที่ถูก เผา
-ใน ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่ง การจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับการเผาศาลากลางเกิดขึ้นอย่างเอาการเอางาน ตำรวจ ได้ออกหมายจับทั้งที่ระบุชื่อและใช้ภาพถ่ายแบบไม่ระบุชื่อ จำนวนกว่า 242 ราย ต่อมามีการติดตามจับกุมและมีผู้เข้ามอบตัวบางส่วน มากขึ้นเป็นลำดับ จนตัวเลขสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 42 ราย ปัญหาที่ทราบในเวลาต่อมาก็คือ ว่าผู้ต้องขังส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเป็นธรรมตามหลักกระบวนการยุติธรรม เช่น บางคนไม่เกี่ยวข้องก็ถูกจับ ส่วนใหญ่ถูกตั้งข้อหาสูงเกินจริง ไม่มีโอกาสพบทนายความ จึงไม่มีโอกาสชี้แจง กระบวนการส่งฟ้องศาลเป็นไปอย่างล่าช้า มีการฝากขังไปเรื่อยๆ การประกันตัวเป็นไปได้ยาก และค่าประกันสูงลิ่ว
เหตุการณ์ ทั้งหมดหลังเผลิงพิโรธ ในสายตาของชนชั้นกลางชาวเมือง อาจดูเป็นเรื่องปกติ หรือ เรื่องที่สมควรจะต้องเกิดขึ้น แต่สิ่งที่จะต้องเตือนสติกันแบบขีดเส้นใต้ก็คือ เรื่อง การเผาศาลากลางเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างรัฐบาล (หรือกล่าวอย่างครอบคลุมคือ รัฐ) กับผู้ชุมนุม เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการตอบโต้กันระหว่างสอง ฝ่าย เราไม่อาจมองเหตุการณ์ใดๆแยกจากพัฒนาการของความขัดแย้งทางการเมืองได้
แต่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อุบลฯหลังเพลิงไหม้เมื่อรวมกันเข้า ได้สื่อความหมายว่า การเผาศาลากลาง เป็นโศกนาฏกรรมของชาวอุบลฯโดยรวม เป็นเหตุร้ายที่เกิดจากการกระทำของ พวกเผาบ้านเผาเมือง พวกมวลชนคลุ้มคลั่งผู้ไร้สติ เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่ผิดอย่างไม่ต้องสงสัย และผู้ก่อเหตุก็คือผู้ที่สมควรถูกนำตัวมาลงโทษอย่างสาสม
ความ คิดและความรู้สึกที่ตลบอบอวลของชาวเมืองอุบลฯเช่นนี้ มีส่วนทำให้การตามจับคนเสื้อแดงที่อุบลเป็นไปอย่างกระตือรือร้น คือสิ่งที่ทำให้คนเสื้อแดง ถูกจับกุมคุมขังอย่างไม่ยุติธรรมแต่ก็ไม่มีใครใยดีอย่างที่ผ่านมา และหากมองไปข้างหน้า ทั้งผู้ที่ยังอยู่ในเรือนจำและผู้ที่ประกันตัวออกมาสู้ คดี น่าจะเจอศึกหนักในการต่อสู้ให้ตัวเองพ้นผิด
จึง ขอสรุปไว้ในขั้นนี้ก่อนว่า ที่ผ่านมาในกรณีที่อุบลฯ - ซึ่งก็สามารถเทียบเคียงได้กับที่กรุงเทพ หรือจังหวัดอื่นๆ - คือ ได้เกิดกระบวนการ (ซึ่งไม่ว่าจะมีผู้กระทำด้วยความจงใจหรือไม่ก็ตาม – ดังจะกล่าวในประเด็นต่อไป) ที่พิพากษาความผิดของคนเสื้อแดงไปแล้ว สำหรับคนที่อยู่ในเรือนจำ ได้ประกันตัวออกมาแล้ว และที่จะสู้คดีในชั้นศาลต่อไป สิ่งที่พวกเขาจะต้องต่อสู้เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสมากก็คือ การฝ่าต่อสู้ เพื่อเอาชนะพล๊อตเรื่องที่สังคมได้เขียนไว้แล้วว่าพวกเขาเป็นผู้ร้าย นี่คือ ประเด็นแรกของผม
ประเด็นที่สอง เป็นเรืองสืบเนื่องกัน พล๊อตเรื่องที่ ว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ผิดแต่ฝ่ายเดียวนั้นมาจากไหน ในระดับที่หนึ่ง เมื่อย้อนมองความขัดแย้งทางการเมืองกรณีการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ผ่านมา อย่างพินิจพิเคราะห์ เราจะพบว่า มีแนวคิดสำคัญที่รัฐใช้ลดทอนความชอบธรรมของคนเสื้อแดง 2 แนวคิด แนวคิดหนึ่ง คือ การอธิบายว่าคนเสื้อแดงเป็นมวลชนที่ไร้สติไร้อุดมการณ์ ดังจะเห็นจากการอธิบายว่า เป็นพวกที่ถูกจ้างวานมา เป็นสมุนนักการเมือง อีกแนวคิดหนึ่ง ก็คือทฤษฎีสมคมคิด ดังการอธิบายว่าพวกเขาคิดการใหญ่ คิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน มีนักการเมืองใหญ่บงการอยู่ต่างประเทศ มีกองกำลังติดอาวุธคุ้มกัน แนวคิดทั้งสองถูกใช้ประกอบกัน อธิบายการกระทำของคนเสื้อแดงครั้งแล้วครั้งเล่า จนการชุมนุมตามสิทธิในระบอบประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง กลายเป็นขบวนการก่อการร้ายในสายตาของสาธารณชน
ควร กล่าวด้วยว่า กระบวนการให้ร้ายคนเสื้อแดงนี้ เกิดขึ้นภายใต้การควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จของรัฐ ด้วยการบิดเบือนตอกย้ำข่าวสารผ่านฟรีทีวี ในขณะที่ปิดทีวีของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการตั้ง ศอฉ. ทีวีของรัฐได้กลายเป็นกระบอกเสียงเพื่อการบิดเบือนความจริงอย่างชัดเจน
การ สร้างความหมายให้คนเสื้อแดงเป็นคนผิดแต่ฝ่ายเดียว อาจเห็นได้ในปฏิบัติการระดับที่สอง คือการจัดกิจกรรมและการแสดงความรู้สึกนึกคิดของชนชั้นกลางชาวเมืองอุบลฯ ผมไม่ได้กำลังบอกว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีเจตนาโดยตรงที่จะทำกิจกรรมเพื่อลด ทอนความน่าเชื่อถือของคนเสื้อแดง ตรงกันข้ามกิจกรรมและการแสดงความคิดเห็นต่างๆเป็นไปอย่างธรรมชาติ กล่าวอีก นัยหนึ่งเป็นไปตามจริตของพวกเขาโดยแท้จริง
แต่ บรรดากิจกรรมทั้งหลายที่อุบล หากพิจารณาอย่างวิพากษ์วิจารณ์เราจะพบ ว่า มันคือเครื่องมือในการจัดการความจริง กล่าวคือ กิจกรรมทั้งหลายกำลังทำให้เรื่องเผาศาลากลาง กลายเป็นเรื่องที่ควรถูกลืมไปเสีย “การลืม” คือวิธีการหนึ่ง ที่รัฐไทยใช้มาตลอดในการจัดการกับความจริงที่ยังไม่ลงตัว การลืมที่อุบล ไม่ได้มีความหมายว่าลืมไปให้สิ้น แต่มันมีความหมายว่าเรามาลืมเรื่องเลวร้ายที่ทำให้เราขุ่นข้องหมองใจ ซึ่งมันแสดงนัยของความหมายในทางกลับกันว่า เรื่องเผาศาลากลางคือเรื่องเลวร้ายที่กระทำไปโดยผู้ก่อการร้าย มันคือการสรุป ว่าเรื่องที่ผ่านมาเลวร้ายอย่างไม่ต้องสงสัยและเราไม่ควรไปเสียเวลากับมัน อีก (ปล่อยให้พวกมันติดคุกให้สาสม) การสร้างความหมายต่อเหตุการณ์เผาศาลากลางแบบนี้ ไม่โจ่งแจ้ง แต่มีประสิทธิภาพสูงมากเพราะมันซึมลึกเข้าไปความรู้สึกนึกคิดของสาธารณชน อย่างไม่รู้ตัว
หากเราพิจารณาการจัดกิจกรรมต่างๆ อีกซักนิด โดยใช้ความรู้ทางประวัติศาสตร์มาช่วยอธิบาย เราก็จะเห็นว่า การจัดกิจกรรมต่างๆ มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิด กับสำนึกความเป็นตัวตนของชาวจังหวัดอุบลฯ หรือ อัตลักษณ์จังหวัดอุบลฯ เช่นการจัดพิธีกรรมเนื่องใน “วันแห่งความดี” การบูชา บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งเมือง การเฉลิมฉลองการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์จังหวัด ฯลฯ เมื่อขยายขอบเขตการพิจารณาออกไปอีกเราจะพบอีกว่า สำนึกดังกล่าวนี้มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับประวัติศาสตร์การสร้างรัฐ ชาติไทย ที่เป็นกระบวนการรวมหัวเมืองอีสานเข้ากับส่วนกลาง และก็จะพบว่า รัฐชาติไทย ผูกโยงอยู่กับลัทธิชาตินิยมไทย ที่มีอุดมการณ์หลักคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ภายใต้อุดมการณ์หลักของ ชาตินิยมไทย สังคมไทยจึงไม่ค่อยมีที่ว่างให้กับ ความคิดเรื่อง ความเสมอภาค ความยุติธรรม หรือสิทธิมนุษยชน เพราะอุดมการณ์ของเราเน้นไปที่ ความสงบ (ด้วยการข่มใจ) ความสามัคคี(แบบไม่ต้องตั้งคำถาม) และการมีระเบียบสังคม(ที่มีลำดับชั้นทางอำนาจ) อุดมการณ์หลักนี้เองที่เป็นแก่นแกนหลัก ที่คอยให้จังหวัดต่างๆสร้างอัตลักษณ์โดยผูกโยงตัวเองเข้ากับแก่นแก่นหลัก นั้น กิจกรรมที่อุบลโดยเฉพาะวันแห่งความดี ผูกโยงและสวมเข้ากับอุดมการณ์หลักอย่างแนบสนิท วันแห่งความดี คือความดีที่กระทำเป็นคุณประโยชน์แก่ชาติ (ตามที่ถูกนิยามไว้) การจัดกิจกรรมต่างๆโดยเฉพาะวันแห่งความดีภายใต้อุดมการณ์หลัก ได้ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่ (ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดี) เป็นเรื่องที่ควรถูกลืม เพราะมันรบกวนระเบียบสังคมที่ดีอยู่แล้ว
ลัทธิ ชาตินิยมที่คับแคบนี้เอง ที่เป็นกรอบกำหนดกิจกรรมและความรู้สึกนึกคิดของผู้คน กรณีที่อุบลก็คือกิจกรรมและความรู้สึกนึกคิดของชนชั้นกลางชาวเมืองที่เกิด ขึ้น และให้ความหมายกับกิจกรรมที่เกิดขึ้น ในกรณีนี้ สุดท้ายแล้วลัทธิชาตินิยมคับแคบนี้เอง คือ เครื่องมือที่ซ่อนอยู่ลึกๆแต่สำคัญยิ่งในการให้ความหมายว่า กลุ่มคนเสื้อแดงคือผู้ก่อการร้ายคือผู้กระทำผิด ... ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่จะต้องพูดกันละเอียดกว่านี้ แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ใน เวลาจำกัดนี้ จึงขอกล่าวไว้โดยสังเขป
ดังนั้นผมจึงมาถึงประเด็นที่ 3 ซึ่งจะเป็นการสรุปที่พูดมาทั้งหมด ว่าด้วยความไร้สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับคนเสื้อแดงที่อุบล ทั้งๆที่ เรื่องเผาศาลากลาง สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นการกระทำโต้ตอบกันระหว่างสองฝ่าย แต่มันกลับถูกสรุปว่า คนเสื้อแดงมีความผิดแต่ฝ่ายเดียวอย่างไม่ต้องสงสัย
เหตุ ที่ทำให้ความไร้สิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นที่อุบลฯ ประการแรกมาจากเงื่อนไขในภาวะเฉพาะหน้าในปัจจุบัน ก็คือการคงอยู่ของรัฐบาล (รวมทั้ง ศอฉ.) ที่เป็นคู่กรณีกับอีกฝ่ายหนึ่ง ในฐานนะผู้มีส่วนได้เสีย พวกเขาก็ยังคงตอกย้ำความหมาย ในการให้ร้ายคนเสื้อแดง และทำทุกอย่างให้ตนเองเป็นฝ่ายบริสุทธิ์ ทั้งนี้ด้วยกลไกรัฐทั้งมวลที่ควบคุมอยู่
เหตุที่ทำให้ความไร้สิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นที่อุบลฯ ประการต่อมา มาจากเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง นั่นก็คือลัทธิชาตินิยมอย่างคับแคบ ที่ตีกรอบความคิดและการแสดงออกของชนชั้นกลางชาวเมืองให้หมกมุ่นอยู่กับวิถี จารีตนิยม ขณะที่มองผู้ต้องการความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าในสังคมไทยว่า เป็นฝ่ายผิดไม่คุ้มคลั่งบ้าไร้สติก็เป็นพวกคิดล้มล้างทำการใหญ่
และ ข้อย้ำไว้เป็นประโยคสุดท้ายว่า สิทธิมนุษยชน วางอยู่บนหลักการพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน แต่สังคม ที่ยังให้ความสำคัญหรือเฉลิมฉลองความไม่เท่าเทียมกันของคนอย่างเอิกเกริก ไม่มีทางมีสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นได้ .
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาประกอบการอภิปราย
หัวข้อการเสวนา สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย และสิทธิมนุษยชนอีสาน 10 ธ.ค. 53
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น